22 ส.ค. 2022 เวลา 07:00 • กีฬา
FOOTBALL CLUB E-WASTE CHALLENGE AWARD
เมื่อสีเขียวไม่ใช่แค่พื้นสนาม ชัยชนะนอกสนาม
จุดเริ่มต้นสู่การสร้างจุดเปลี่ยนในวงการฟุตบอลไทย
แม้การแข่งขันฟุตบอลจะจบลงใน 90 นาที และในบางครั้งอาจมีช่วงเวลาทดบาดเจ็บอีก 3-5 นาที แต่วินาทีของโลกใบนี้ที่พวกเราอยู่กัน แม้จะมีอายุมานานหลายศตวรรษ แต่ในระยะหลังเริ่มมีสัญญาณเตือนจากเหตุการณ์ต่างๆ อาทิ ภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate change มาแล้วว่า เวลาของโลกใบนี้เริ่มลดลง ด้วยความสำคัญดังกล่าว ทุกวงการจึงขันอาสาเข้ามาช่วยลด แก้ปัญหา รวมทั้งหาวิธีต่างๆ เพื่อร่วมกันจัดการกับภาวะโลกร้อน และหนึ่งในนั้นคือ วงการฟุตบอล
ข้อมูลจากนิตยสาร GQ ขยายความว่า พรีเมียร์ลีกอังกฤษ หรือ การแข่งขันฟุตบอลระดับสูงสุดของระบบลีกฟุตบอลอังกฤษ ซึ่งมีผู้รับชมเป็นลำดับต้นๆของโลก ได้เริ่มผลักดัน การปล่อยก๊าซเรือนกระจสุทธิเป็นศูนย์ครั้งแรกของโลก ผ่านการสร้างความร่วมมือกับแฟนบอล อาทิ เดินทางมายังสนามด้วยจักรยานหรือขนส่งสาธารณะ การใช้พลังงานในสนาม รวมทั้งการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ขายในสนาม มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
สำหรับในประเทศไทย หรือ ฟุตบอลไทยลีก ในฤดูกาล 2021-2022 ที่ผ่านมา ก็ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ รุกสู่การยกระดับการแข่งขันฟุตบอลลีกให้เป็น “Green THAI LEAGUE” ซึ่งวิธีคิดดังกล่าวถูกขยายผลสู่การปฏิบัติจริง เกิดเป็นโครงการแฟนบอลไทยไร้ E-Waste ที่มีหลากหลายภาคส่วนเข้ามาสร้างความร่วมมือ ทั้งจากไทยลีก , AIS ในฐานะ Official Broadcaster หรือผู้ได้รับสิทธิถ่ายทอดสดศึกไทยลีกอย่างเป็นทางการ รวมทั้ง WMS ผู้นำด้านการจัดการของเสียทุกประเภทอย่างครบวงจร
โครงการแฟนบอลไทยไร้ E-Waste มีแนวคิดการขับเคลื่อนแบบง่ายๆ โดยใช้หัวใจของกีฬาฟุตบอลที่สำคัญ คือ แฟนบอล เป็นแกนกลางในการร่วมกันนำเอาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ในวันนี้หากทิ้งไม่ถูกที่ถูกทางจะกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อันตราย ซึ่งโครงการนี้ได้นำเอาถังขยะ E-Waste ไปจัดตั้งตามจุดต่างๆของสนามรวม 20 แห่ง จากนั้นรวบรวมมาจัดการอย่างถูกวิธีและผลิตเป็น “เหรียญจากขยะอิเล็กทรอนิกส์”
เหรียญดังกล่าว ถูกสนับสนุนจากไทยลีกให้กลายเป็นรางวัล FOOTBALL CLUB E-WASTE CHALLENGE AWARD เพื่อสร้างต้นแบบและเชิญชวนให้แฟนบอลของแต่ละสโมสรนำเอาขยะอันตรายนี้มาทิ้งให้ถูกที่และได้ในจำนวนที่มากที่สุด ซึ่งรางวัลดังกล่าวนอกจากเป็นการประกาศครั้งแรกในเวทีของ FA Thailand Awards ที่จัดโดยสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ยังถือเป็นเหรียญจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ครั้งแรกของวงการกีฬาไทย และทีมแรกที่คว้ารางวัลนี้ไปครอง คือ ปราสาทสายฟ้า หรือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด
แน่นอนการมุ่งสู่การเป็น กรีนไทยลีก จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่นเดียวกันกับกีฬาฟุตบอลที่ไม่สามารถเล่นคนเดียวได้เช่นกัน ต้องอาศัยการทำงานแบบทีม โดยเฉพาะผู้เล่นคนที่ 12 อย่างแฟนบอลถือเป็นหนึ่งกำลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนทั้งเสียงเชียร์ที่พร้อมสร้างกำลังใจและเป็นส่วนหนึ่งของทุกกิจกรรมที่พร้อมสนับสนุนทีมรัก
ใช่ครับ ลูกฟุตบอลใช้งานไปนานๆ ก็มีเสื่อมสภาพ ไม่ต่างโลกของเราที่อาจไม่กลมเท่าลูกฟุตบอล แต่เมื่อใช้มานานๆ แล้วไม่ได้ดูแลรักษา มีโอกาสเกิดปัญหาได้ไม่ต่างกัน ฉะนั้นแล้ว โลกของฟุตบอลในวันนี้ ไม่ได้แข่งขันแค่เพียงในสนาม และไม่ได้สิ้นสุดการแข่งขันเพียง 90 นาที รวมทั้งสีเขียวของวงการนี้ ไม่ได้มีแค่พื้นหญ้า แต่กลายเป็นการตกผลึกแนวคิดใหม่ โดยมีเป้าหมายใหญ่ที่ตรงกันคือ การสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้
น่าติดตามต่อไปว่าในฤดูกาลการแข่งขันไทยลีกใหม่นี้ โครงการแฟนบอลไทยไร้ E-Waste จะถูกขยายผลออกไปในรูปแบบไหน เพิ่มช่องทางการรับขยะ E-Waste ไปยังไทยลีก 2 และ 3 หรือไม่ ตลอดจนแฟนบอลจะเข้ามาเติมเต็มการมีส่วนร่วม ทั้งในแง่ของการบอกต่อ เชิญชวน ผ่านช่องทางไหนเพื่อให้ทีมที่เรารัก สโมสรที่เราเชียร์ ได้ทั้งแชมป์การแข่งขันฟุตบอลไทยลีกและได้แชมป์นอกสนามจากรางวัล FOOTBALL CLUB E-WASTE เพราะในวันนี้สีเขียวไม่ใช่แค่พื้นสนาม แต่สีเขียวที่แท้จริงคือการมีส่วนร่วมในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีไปพร้อมๆกัน
โฆษณา