22 ส.ค. 2022 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
“ความสมดุล” ของกลยุทธ์ เมื่อแผนการจะดีได้ ต้องใช้ใน “เวลา” ที่เหมาะสม
ว่าด้วยเรื่อง “ความสมดุล”
ผมได้มีโอกาสฟังบรรยายในคลาส CXO จาก “โบ๊ท - ไผท ผดุงถิ่น CEO ของ Builk One Group” และเป็นเพื่อนที่เรียนมารุ่นเดียวกันด้วย
ตอนนี้โบ๊ทกำลังเตรียมตัวนำ Builk One Group เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผมติดตามโบ๊ทมานานและดีใจกับความสำเร็จครั้งนี้ด้วย น่าจะเป็นอีกก้าวเดินที่สำคัญและมีความหมายมากทีเดียว
Builk นับว่าเป็นสตาร์ตอัปสัญชาติไทยรายแรกๆ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน จากการเริ่มต้นแบบเล็กๆ โดยมีความมุ่งหวังที่จะแก้ไขสารพัดปัญหาของวงการก่อสร้าง วันนี้เติบใหญ่มาจนจะ IPO แล้ว
แน่นอนว่าการเติบโตแบบนี้ต้องมีเรื่องราวที่น่าสนใจ หรือมีหลักการในการเติบโตที่น่าสนใจแน่นอน
โดยในช่วงหนึ่งของการบรรยายมีสไลด์หน้าหนึ่งที่ผมชอบมาก โบ๊ทบอกว่าเขาได้สไลด์หน้านี้มาจากตอนไปฟังบรรยายของสมาคมการตลาด ซึ่งว่าด้วยเรื่องของ “ความสมดุล” ครับ
1
ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมากในการวางกลยุทธ์ขององค์กรที่กำลังเติบโต เพื่อไม่ให้มีอะไรที่เยอะหรือน้อยจนเกินไป และเพื่อให้จังหวะเวลาของแต่ละเรื่องเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม
ต้องขอเน้นก่อนว่าสิ่งที่ผมเขียนในบทความนี้ แปลมาจากความเข้าใจของผมจากสิ่งที่ฟังมาอีกทีนะครับ
โดยความสมดุลที่เรากำลังจะพูดถึงกันนี้ จะมาเป็นคู่ ซึ่งมี 4 คู่ด้วยกัน
1. คู่แรก – C = Creativity | P = Productivity
Creativity ความคิดสร้างสรรค์
ในบางช่วงขององค์กรโดยเฉพาะการขยายหาธุรกิจใหม่ การใช้ “ความคิดสร้างสรรค์” ที่อาจจะหมายถึงการลองทำไอเดียใหม่ การสื่อสารแบบใหม่ การออกสินค้าและบริการใหม่ๆ หรือแม้แต่กระทั่งการทำการตลาดแบบกล้าหาญ ที่เราอาจจะไม่เคยทำมาก่อน ส่วนใหญ่เรามักจะเห็นผลลัพธ์ออกมาเป็นงาน “หน้าบ้าน” ซะส่วนมาก ยกตัวอย่างเช่นงานโฆษณาที่แปลก แหวกแนวที่เราไม่เคยทำมาก่อนเป็นต้น
แน่นอนว่าของใหม่ๆ แบบนี้มีความเสี่ยงครับ เพราะไม่ว่าเราจะเตรียมตัวมาดีแค่ไหน มันอาจจะดังไปเลย หรือแป๊กไปเลยก็ได้
1
เมื่อเป็นเช่นนั้นเรื่องของ “Timing” หรือ “เวลา” จึงสำคัญ ถ้าเป็นเวลาที่บรรยากาศทางธุรกิจดี การเงินของบริษัทแข็งแกร่ง กำลังคนพร้อม หากเป็นแบบนี้ก็ค่อนข้างที่จะน่าทำสิ่งที่แปลกแหวกแนว เพราะถ้าพลาดก็ไม่ส่งผลกระทบมาก
อาจเรียกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการ “ปล่อยของ” ก็ว่าได้
Productivity ประสิทธิภาพ
การสร้าง Productivity ก็เปรียบเสมือนเหมือนการขันนอตให้แน่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพราะการทำให้องค์กรมี Productivity สูงๆ บางทีความคิดสร้างสรรค์ก็ยังสำคัญอยู่ แต่แค่ไม่ได้ใช้สร้างสิ่งใหม่ๆ เหมือนแบบแรก เพราะความคิดสร้างสรรค์แบบนี้คือการพลิกแพลงกระบวนการที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โหมดของการสร้างประสิทธิภาพนั้นเหมาะกับตอนที่เรารู้สึกว่าองค์กรหนืดๆ พนักงานอาจจะสร้างสรรค์ผลงานได้ไม่เต็มศักยภาพ ทำให้นี่จึงเป็นเวลาที่เหมาะกับการอุดรอยรั่ว และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำงาน เช่น การกลับมาทบทวนว่าเราสามารถร่นระยะเวลาในกระบวนการทำงานทั้งหมดได้หรือไม่
จะเห็นได้ว่าในบางช่วงเวลาเราอาจจะต้องเน้นความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) แต่ในบางช่วงเวลา การเน้นเรื่องประสิทธิภาพ (Productivity) จะช่วยองค์กรได้มากกว่านั่นเอง
2. คู่ที่สอง – I = Innovation | I = Improvement
Innovation นวัตกรรม
แน่นอนว่าในเวลาปกติ การหานวัตกรรมใหม่ๆ เป็นเรื่องสำคัญ และการลงทุนในนวัตกรรมเป็นสิ่งที่จะพาองค์กรให้เดินไปข้างหน้าอย่างแข็งแรง อย่างไรก็ตาม การสร้างนวัตกรรมที่มีผลกระทบมากๆ ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาและทรัพยากรเยอะ โดยเฉพาะเวลา ที่หลายครั้งต้องรอหลายปีกว่านวัตกรรมที่คิดขึ้นมา จะออกดอกออกผล แต่ถ้าหากสภาวะทางการเงินของบริษัทยังไม่พร้อม การลงทุนในนวัตกรรมในช่วงเวลาที่ไม่ถูกต้องก็อาจส่งผลต่อบริษัทเช่นกัน
Improvement การพัฒนา
การพัฒนาในที่นี้ คือการปรับของที่มีอยู่ให้ดีขึ้น เช่น เราอาจจะตั้งคำถามว่าของเดิมที่เรามีอยู่แล้ว ขายดีประมาณหนึ่งอยู่แล้ว จะทำอย่างไรให้สามารถไปขายให้กับลูกค้าใหม่ๆ ได้ หรืออาจจะตั้งคำถามว่าทำอย่างไร ให้ลูกค้าเดิมที่เราขายอยู่ ซื้อของเรามากขึ้น และเพิ่ม Customer Lifetime Value ได้ ในอีกทางหนึ่ง การพัฒนาก็อาจจะเป็นเรื่องของการลดต้นทุนของของเดิมที่เราทำอยู่ก็ได้
ถึงแม้ว่ากระบวนการพัฒนา (Improvement) อาจจะดูไม่น่าตื่นเต้นเท่ากับการสร้างนวัตกรรม (Innovation) แต่ในบางเวลา เช่นช่วงที่มีวิกฤตซ้อนวิกฤตแบบตอนนี้ ทั้งต้นทุนสูง เงินเฟ้อสูง กำลังซื้อต่ำ การพัฒนาอาจจะเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายของหลายองค์กรเลยก็ว่าได้
3 คู่ที่สาม – E = Entrepreneurship | P = Professionalism
Entrepreneurship ผู้ประกอบการ
ต้องบอกว่าคำว่า Entrepreneurship ในบริบทนี้จะหมายถึง Founder’s Spirit ซะมากกว่า ตอนองค์กรยังมีขนาดเล็ก ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารต้องหาทางทำยังไงก็ได้ให้บริษัทอยู่รอดก่อน ซึ่งหลายอย่างก็อาจจะไม่ถูกต้องตามหลักมืออาชีพซะทีเดียว เช่น ช่วงแรกๆ การหารายได้อาจจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และผู้ก่อตั้งก็ต้องทุ่มพลังทั้งหมดไปที่นั่น ทำให้หลายๆ เรื่องอาจถูกละเลยไป เช่น ระบบการจัดการภายในที่ดี หรือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี เป็นต้น
ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการบริหารแบบมวยวัดก็ได้ ถึงขั้นมีคนมักนิยาม CEO ของบริษัทเล็กๆ ว่าไม่ใช่เป็น Chief Executive Officer แต่เป็น “Chief Everything Officer” ต่างหาก ซึ่งมีนัยสื่อว่าผู้บริหารต้องทำทุกอย่าง เกิดไฟไหม้ที่ไหนก็ต้องตามไปดับที่นั่น
Professionalism ความเป็นมืออาชีพ
เมื่อองค์กรโตขึ้นเรื่อยๆ เราจะมาคาดหวังว่าการบริหารแบบมวยวัด จะมาแก้ปัญหาขององค์กรขนาด 300-400 คน ก็คงเป็นไปไม่ได้
ดังนั้น “ระบบ” จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และคนที่วางระบบเก่ง ก็คือบรรดา “มืออาชีพ” นี่แหละ เพราะเขาเหล่านี้มีความสามารถเฉพาะทางที่ลึกไปในประเด็นนั้นๆ
1
ยกตัวอย่าง ในช่วงเวลาที่องค์กรมีคน 10-20 คน ตัว CEO สามารถดูการเงินของบริษัทเองได้เพราะมันยังไม่ซับซ้อนมาก แต่เมื่อไรมีคนสัก 300-400 คน การมี CFO เก่งๆ ก็จะช่วยให้การจัดการทรัพยากรเรื่องเงินดีขึ้นมาก
หรืออีกตัวอย่างที่ชัดเจน คือตอนจะ IPO เวลาแบบนี้ต้องคนที่มีความเป็นมืออาชีพมากๆ ครับ เพราะว่าเรื่องการระดมทุน, การเงิน, กฎหมาย โครงสร้างเทคโนโลยี และอีกมากมาย พวกนี้ถ้าไม่ได้มืออาชีพเก่งๆ รับรองว่าไม่เรียบร้อยแน่นอน
แต่แน่นอนว่าพอคนเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ บางทีตัวผู้ก่อตั้งเองจะอึดอัด เพราะจะทำอะไรแบบที่ตัวเองอยากทำเหมือนสมัยก่อนไม่ได้แล้ว หรือบางทีตัวผู้ก่อตั้งเองอาจพบว่า เขาเก่งมากในการสร้างและบริหารองค์กรที่พึ่งเริ่ม แต่เมื่อมันขนาดใหญ่ขึ้น เขาอาจจะไม่เหมาะอีกต่อไป ทำให้ต้องหา CEO มืออาชีพที่เหมาะกับการบริหารองค์กรที่ใหญ่ขึ้นมาแทน ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม ซึ่งเราก็เห็นกรณีแบบนี้อยู่ในแวดวงธุรกิจบ่อยๆ เช่นในกรณีของ Lululemon เป็นต้น
4. คู่สุดท้าย – L = Leadership | M = Management
Leadership ความเป็นผู้นำ
การมีผู้นำองค์กรที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน สร้างพลังให้องค์กร และมีวิสัยทัศน์ที่แหลมคมในการพาองค์กรไปข้างหน้าเป็นสิ่งที่ดีและต้องมี แต่ถ้าเน้นเรื่องพวกนี้มากเกินไป ภาพของการเดินทางมันจะหลวมๆ ซึ่งเป็นความอันตรายอีกแบบ ถ้าผู้นำทั้งหมดในองค์กรเป็นสายนี้เราจะได้องค์กรที่วิสัยทัศน์แข็งแกร่ง แต่กระบวนการลงมือทำ (Execution) กลับไม่แข็ง ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ความฝันทำไม่ได้จริง
แต่ Execution ที่แข็งแรง ก็ต้องมาจาก Management ที่แข็งแรง
Management ทีมบริหาร
ทีมบริหารหรือ Management คือคนที่จะเอาความฝัน, แรงบันดาลใจ, วิสัยทัศน์ และพลังงานต่างๆ ในองค์กร มาเปลี่ยนให้กลายเป็นกระบวนการลงมือทำจริง เพราะความฝันหรือแรงบันดาลใจนั้นมีพลังมากก็จริง แต่ถ้าขาดซึ่งรายละเอียดในการปฏิบัติ ก็ไม่สามารถที่จะไปถึงเป้าหมายได้
1
ซึ่งเรื่องนี้แหละ เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ โดยทีมบริหารที่แข็งแกร่งจะสามารถทำภาพใหญ่ๆ กลายเป็นการกระทำ เป็นรายละเอียด เป็นการวัดผล และเป็นของที่จับต้องได้จริง
คุณกระทิง พูนผล เคยบอกว่า “Big dream without great execution, it’s just an illusion” ซึ่งตรงกับข้อนี้มาก
9
ผมหวังว่าอักษรทั้ง 8 ตัวนี้ จะถูกนำมาเลือกใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลาของทุกคนครับ
เหมือนดังที่ Dan Millman เคยกล่าวไว้ว่า
“I learned that we can do anything, but we can't do everything... at least not at the same time. So think of your priorities not in terms of what activities you do, but when you do them. Timing is everything.”
4
รับฟังบทความนี้แบบพอดแคสต์ได้ที่ : https://bit.ly/3ccmJrO
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#business
โฆษณา