22 ส.ค. 2022 เวลา 11:53 • ไลฟ์สไตล์
ข้าวชาวนาวันนี้ ตอบโจทย์พืชเศรษฐกิจมากแค่ไหน
ฤดูกาลนี้ (พ.ศ.2565) นับว่าเป็นปีที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ที่สุดในรอบหลายปีสำหรับภาคการเกษตรกรรมฝั่งพื้นที่ที่ไม่มีคลองชลประทานจากเทือกเขาพนมดงรักจังหวัดศรีสะเกษเรา คำว่าอุดมสมบูรณ์ไม่ได้หมายถึงความมีน้ำท่วมหรือน้ำมาก แต่หมายถึงมีน้ำฝนที่ตกต้องตามฤดูกาลที่สุดไม่เหมือนปีก่อน ๆ ที่แล้งมายาวนานหลายปีติดต่อกันทำให้ภาคการเกษตรจัดการยาก
พื้นที่ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง ชาวนาที่ทำการเกษตรอย่างพืชข้าวนาปี ต่างหน้าชื่นตาบานกันถ้วนหน้าที่ได้เห็นต้นข้าวที่หว่านในพื้นที่ตัวเองไปมีสีเขียวงดงาม ด้วยมีน้ำที่มีอย่างสม่ำเสมอ ไม่ทิ้งช่วง ที่ท่วมหนักนานนักเกินไป แต่ก็มีบ้างที่อยู่พื้นที่ลุ่มแล้วจัดการน้ำไม่ทัน ทำให้เกิดต้นข้าวงอกไม่ทันจากการหว่านเอาไว้ รวมถึงอาจจะถูกหอยกินจนต้นตายทำให้เจ้าของนาต้องมีการซ่อมแซมข้าวบ้าง
  • ผู้เขียนเอง เป็นเกษตรกรมีพื้นที่ทำนาปีประมาณ 4-5 ไร่ ทำนาแบบจัดการตัวเองเพียงเพราะอยากได้ข้าวปลอดภัยไว้กินและแบ่งปัน ส่วนหนึ่งก็ขาย จึงพยายามจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมที่สุด ภายใต้การจำกัดของทุนที่มี ซึ่งหลายปีที่ผ่านมามีการทำนาดำและใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ทุกปีซึ่งไม่ค่อยได้ผลผลิตดีเท่าใดนัก
  • แต่ก็สุขใจที่ได้เห็นผลผลิตที่เราได้ดำเนินการเองแบบปลอดภัยมาทุกปี แต่สำหรับปีนี้ฝนตกดีกว่าทุกปีทำให้จัดการไม่ทัน จำเป็นต้องซื้อกล้าและจ้างญาติพี่น้องมาช่วยปักดำ ซึ่งเป็นการใช้ทุนมากกว่าผลผลิตที่ควรจะได้ 2-3 เท่าตัว
ด้วยที่ไม่ได้มีทรัพย์หรือทุนในการดำเนินการทางการเกษตรที่สามารถจัดการได้เองอย่างเบ็ดเสร็จแบบองค์กรหรือหน่วยงานสนับสนุนปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้ จึงพยายามคิดเพื่อจัดการพื้นที่ตัวเองให้สามารถพอที่แรงทำได้ไหว แต่ด้วยสภาพร่างกายที่ไม่สู้ไหวนักจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการการเพาะปลูกให้ทันกับฤดูกาลของพืชข้าว ซึ่งก่อนหน้านี้ทำการจ้างรถไถทำการไถและปั่นทุบเพื่อหว่านกล้าแล้วไม่เกิดเพราะน้ำท่วม รวมถึงทุบเพื่อหว่านเป็นข้าวก็โดนน้ำท่วมซ้ำซากอีกรอบ
  • รอบที่สามจึงทุบปั่นแล้วซื้อกล้าข้าวที่มีการถอนกล้าเป็นมัดเพื่อมาปักดำในพื้นที่ตัวเอง มัดละ 10 บาท ซึ่งถ้าปักดำในจำนวน 1 ไร่ ใช้กล้าประมาณ 220 มัด ซึ่งเป็นการลงทุนอีกรอบที่ถือว่ามากพอควร แต่นั่นก็ไม่ได้มากพอ จึงเปลี่ยนจากการซื้อมัดกล้า เป็นจ้างญาติพี่น้องมาช่วยถอนกล้าของญาติ ซึ่งเป็นการจ้างเป็นมัดอีกเช่นกันในราคากล้ามัดละ 5 บาท โดยบางพื้นที่มีการจ้างถอนกล้าตัวเองมัดละ 5-8 บาทก็มี จ้างถอนกล้าสองวัน ได้ทั้งหมด 880 บาท โดยมัดละ 5 บาท เป็นเงิน 4400 บาท
กล้าที่มีการจ้างถอนแล้ว ไม่สามารถเก็บไว้นานได้ เนื่องจากต้นกล้าจะเสีย เน่า รากงอก ทำให้ดำไม่สะดวกหรือต้องทิ้งไป จึงต้องเร่งในการปักดำ โดยต้องจ้างญาติพี่น้องมาช่วยอีกครั้งในการปักดำ คิดเป็นวันในช่วงนี้ วันละ 300 บาท / คน สองวัน ๆ ละ 13 คน คิดค่าแรงงานเป็นเงิน 7800 บาท ซึ่งการว่าจ้างนั้นสำหรับในชุมชนเองในช่วงนี้
และจากค่าจ้างแรงงานและค่าดำเนินการในการปักดำข้าวในฤดูกาลนี้แล้ว ยังไม่ได้มีการซื้อปุ๋ย หรือการจัดการวัชพืชต่าง ๆ รวมไปถึงการเก็บเกี่ยว มีค่าใช้จ่ายที่มากโขพอควร หากย้อนดูผลผลิตจากราคาข้าวเปลือกของปีที่ผ่านมาในระยะเวลา 2-4 ปี ข้าวเปลือกหอมมะลิชาวนาสามารถขายให้กับโรงสีข้าวในพื้นที่ได้ในราคาเพียง 7-10 บาท / กิโลกรัมเท่านั้น
  • พืชเศรษฐกิจอย่างข้าวที่ชาวนาต้องปลูกทุกปี แต่สิ่งที่ควบคู่กันไปกลับมีราคาที่แพงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตรงกันข้ามกับราคาค่าข้าวเปลือกที่ขายไปอย่างสิ้นเชิง
ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์
โฆษณา