23 ส.ค. 2022 เวลา 01:59 • ประวัติศาสตร์
รำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 80 ปี ทหารเยอรมันโจมตีทางอากาศเมืองสตาลินกราดและเริ่มเข้าปิดล้อมเมืองจากทางเหนือเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 1942
ในวันนี้เมื่อ 80 ปีที่แล้วมีเหตุการณ์ใหญ่ สองเหตุการณ์เกิดที่เมืองสตาลินกราด
ทหารเยอรมันรุกถึงแม่น้ำวอลก้าทางตอนเหนือของเมืองสตาลินกราด
เหตุการณ์สำคัญที่ 1 คือรุ่งสางของวันที่ 23 สิงหาคม 1942 ทหารเยอรมันได้เคลื่อนพลจากจุดรวมพลแถบแม่น้ำดอน เพื่อมุ่งหน้าเข้าตีเมืองสตาลินกราด
การบุกสตาลินกราดทางบกของเยอรมันนำโดยกองพลยานเกราะที่ 16 และกองพลยานยนต์ที่ 3 บุกทะลวงเข้าประชิดเมืองสตาลินกราด ทางตอนเหนือ
มีการต้านทานของทหารของโซเวียตก็เมื่อใกล้ถึงเมืองสตาลินกราดแล้ว โดยทัพโซเวียตมีกรมปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1077 ป้องกันทางเมืองเหนือ
เกิดการยิงต่อสู้กันระหว่างกองพลยานเกราะที่ 16 ของเยอรมัน กับกรมปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1077 ของโซเวียต(หน่วยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ปืนนั้นสามารถใช้ยิงรถถังได้เช่นกัน)
ผลคือกรมปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่1077 ของโซเวียตถูกบดขยี้อย่างราบคาบ
เมื่อทหารเยอรมันทำการเข้าตรวจสอบพื้นที่พบว่าทหารในหน่วยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1077 เป็นผู้หญิงแทบทั้งหมด
มันทำให้ทหารเยอรมันเองประหลาดใจมาก เพราะผู้หญิงในสังคมเยอรมันนั้นเป็นแม่บ้าน ไม่มีการมาจับอาวุธต่อสู้แบบผู้ชายแบบนี้ แต่ทำไมผู้หญิงชาวสลาฟจึงได้ต่อสู้เหมือนผู้ชายไม่ผิด
หลังจากนั้นกองพลยานเกราะที่ 16 ก็พุ่งตรงตัดแนวตั้งรับของโซเวียตและเข้าประชิดริมฝั่งแม่น้ำวอลก้า และปิดล้อมเมืองสตาลินกราดทางตอนเหนือได้สำเร็จ และเป็นการตัดเส้นทางการขนส่งเสบียง อาวุธ กำลังพล ที่จะเข้าสนับสนุนจากทางตอนเหนือของสตาลินกรานกราด
การที่กองพลยานเกราะที่ 16 บุกถึงริ่มฝั่งแม่น้ำวอลก้าได้รวดเร็วใช้เวลาไม่ถึง1วัน ทำให้ทหารเยอรมันหลายคนคิดว่า การยึดสตาลินกราดคงไม่ยากนัก และตนเองคงจะได้กลับไปพักที่บ้านก่อนวันคริสต์มาส บางคนคิดไปไกลถึงขั้นที่ว่าสามารถยึดสตาลินกราดได้แล้วทัพเยอรมันทางใต้จะตีขึ้นเหนือเพื่อไปล้อมมอสโควต่อไป
เยอรมันสามารถเข้าถึงทางตอนเหนือของเมืองสตาลินกราดนั้น เป็นเพราะฝ่ายโซเวียตประเมินพลาด และคิดว่าทัพเยอรมันจะเข้าตีเมืองสตาลินกราดทางตอนใต้ จึงมีการขนกำลังพล และเกณฑ์คนไปสร้างแนวป้องกันทางใต้ซะเป็นส่วนใหญ่
เหตุการณ์ที่ทหารเยอรมันบุกถึงแม่น้ำวอลก้าทางเหนือก็ทำให้ทางฝ่ายโซเวียตถึงกับขวัญเสียเลยทีเดียว
แต่ทางโซเวียตเองก็มีการระดมพลของประชาชน ตลอดจนคนงานจากโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ทางตอนเหนือของเมืองสตาลินกราด เช่นโรงงานผลิตรถแทรกเตอร์ โรงงานหลอมเหล็ก และโรงงานผลิตอาวุธ ร่วมกันจับอาวุธ พร้อมด้วยทหารประจำการไปวางแนวป้องกันทางเหนือสุดของสตาลินกราด เท่านั้นยังไม่พอ ทหารโซเวียตยังขนอาวุธเช่นปืนต่อสู้รถถัง ปืนกล หรือแม้กระทั่งรถถังที่พึ่งจะถูกซ่อมแซมเสร็จจากโรงงานแทรกเตอร์ออกมาทำการสู่รบกับทหารเยอรมันที่กำลังบุกมาประชิดจากทางเหนือ
กองทัพโซเวียตทำการต่อสู้กับกองทัพเยอรมันมีการผลัดกันรุกรับในสมรภูมิทางตอนเหนือของสตาลินกราด
ทหารเยอรมันไม่สามารถบุกขยายแนวลงมาทางใต้เพื่อยึดเขตโรงงานอุตสาหกรรมทางเหนือของเมืองสตาลินกราดได้ แต่ทางโซเวียตเองก็ไม่สามารถผลักดันทหารเยอรมันให้ออกไปจากพื้นที่แถบนั้นได้เช่นกัน
การทิ้งระเบิดทำลายเมืองสตาลินกราด
เหตุการณ์สำคัญที่2
การทิ้งระเบิดที่หนักหน่วงที่สุดในแนวรบตะวันออก เกิดที่เมืองสตาลินกราด
ในสงครามแนวรบตะวันออก เยอรมันทิ้งระเบิดทำลายล้างเมือง เพื่อทำลายขวัญกำลังใจศัตรูและเป็นการลดทอนศักยภาพของโรงงานและกำลังคนของฝ่ายโซเวียต
ครั้งที่รุนแรงที่สุดคือการระดมทิ้งระเบิดที่เมืองสตาลินกราดในวันที่ 23 สิงหาคม 1942
เครื่องบินทิ้งระเบิดนับพันเที่ยว ระดมทิ้งระเบิดเมืองอย่างหนัก คำถามว่าหนักแค่ไหน ก็มาดูคำตอบครับ ในช่วงเพียงไม่กี่วันประชาชนในเมืองสตาลินกราดกว่า 40,000 คนเสียชีวิตครับ อาคารบ้านเรือนเหลือแต่ซาก
เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกันกับแนวรบตะวันตกคือ เหตุการณ์ The blitz ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทหารเยอรมันทิ้งระเบิดถล่มอังกฤษ ในช่วงจากกันยายน 1940 - พฤษภาคม 1941 ประมาณ 8 เดือน คนอังกฤษเสียชีวิตไป 40,000 กว่าคน (แต่สตาลินกราดไม่กี่วันครับตายไป 40,000 คน) จะเห็นได้ว่าความหนักหน่วงของการทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศเยอรมันที่ใช้ถล่มเมืองสตาลินกราดเป็นอย่างไร
กองทัพอากาศเยอรมันได้เริ่มการโจมตีทางอากาศต่อเมืองสตาลินกราด วัตถุประสงค์คือทำลายบ้านเรือนในเมือง รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายโรงงานในเมืองนี้ และที่สำคัญคือทำลายแนวตั้งรับของโซเวียตที่ปกป้องเมือง
แต่ที่ทางเยอรมันคาดการไม่ถึงคือการทิ้งระเบิดทำลายเมืองก็เป็นผลเสียสำหรับการรบของยานเกราะของเยอรมันเองในเวลาต่อมาครับ กล่าวคือ ยานเกราะของเยอรมันไม่สามารถวิ่งผ่านเข้าไปในเมืองได้สะดวกเนื่องจากเศษซากอาคารนั้นกระจัดกระจายทั่วท้องถนนเป็นอุปสรรคในการเคลื่อนที่ของยานเกราะและรถถัง จึงทำให้ฝ่ายเยอรมันที่ได้เปรียบในเรื่องยานเกราะและรถถังไม่สามารถใช้ความได้เปรียบข้อนี้ในการทำการรบได้อย่างเต็มที่
และด้วยในการทิ้งระเบิดถล่มเมืองสตาลินกราดในเหตุการณ์นี้ จึงทำให้เกิดภาพ ภาพหนึ่งคือภาพวงเวียนน้ำพุเด็กยืนเต้นล้อมวงกัน และมีจรเข้อยู่ตรงกลาง ที่คนรัสเซียเรียกว่า Chidren's Khorovod ท่ามกลางอาคารที่เกิดเพลิงลุกไหม้จากการทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศเยอรมัน ภาพนี้ถูกเผยแพร่ออกไป จนทำให้ใครเห็นภาพนี้ก็จะนึกถึงเมืองสตาลินกราดทันที
โฆษณา