23 ส.ค. 2022 เวลา 03:40 • การศึกษา
“หนุมาน”...เป็นลิงเผือก มีสีขาวเป็นสีประจำกาย เมื่อสำแดงฤทธิ์จะมี 4 หน้า 8 มือ นอกจากนี้ ยังมีลักษณะพิเศษอื่นๆอีก เช่น สวมกุณฑล มีขนเพชร มีเขี้ยวเป็นแก้ว ที่สำคัญยังหาวเป็นดาวเป็นเดือน ดังคำกลอนที่ว่า...
“ลอยอยู่ตรงพักตร์ชนนี รัศมีโชติช่วงในเวหา มีกุณฑลขนเพชรอลงการ์ เขี้ยวแก้วแววฟ้ามาลัย หาวเป็นดาวเดือนระวีวร แปดกรสี่หน้าสูงใหญ่ สำแดงแผลงฤทธิ์เกรียงไกร แล้วลงมาไหว้พระมารดร”
ความพิเศษของเทพหนุมานนั้นมีมากล้นเหลือคณา เป็นลิงเผือกที่มีฤทธิ์มากนัก หากจะขยายความในเรื่องสำแดงเดชออกไปอีกก็มีได้หลายประการ เช่น ขยายร่างกายให้ใหญ่โตได้ การยืดหางให้ยาวได้
ประการสำคัญก็คือหนุมานยังมีความเป็นอมตะ...ไม่มีวันตาย
ครั้งเมื่อมีอันตรายถึงตายแล้ว เพียงแค่มีลมพัดผ่านมา “หนุมาน” ก็สามารถกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ หนีจากความตายได้อย่างน่าอัศจรรย์
“หนุมาน”...เป็น “เทพลิง” เชื่อว่าไม่ว่าใครก็น่าพอจะรู้ว่าหนุมานนั้นมีพละกำลังมีพลังมากมายมหาศาลยิ่งนัก ทั้งยังมีความว่องไวเป็นสำคัญ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ด้วยว่ามีพระบิดาเป็น “พระวายุ” เทพแห่งลม...อาจจะกล่าวได้ว่าหนุมานนั้นมีชาติกำเนิดที่สลับซับซ้อน
ใน “รามเกียรติ์” หนุมานเป็นบุตรของพระพาย เทพแห่งลม กับนางสวาหะ ซึ่งเป็นมนุษย์ โดยพระอิศวรเป็นผู้สั่งให้พระพายนำอาวุธ ได้แก่
คทาเพชร ตรีเพชร จักรแก้ว รวมไปถึงกำลังของพระอิศวร ไปซัดเข้าปากนางสวาหะซึ่งถูกสาปให้ “อ้าปากยืนตีนเดียว เหนี่ยวกินลม” อยู่ที่เชิงเขาจักรวาล โดยให้พระพายเป็นพระบิดาของวานรที่เกิดมา ซึ่งวานรนั้นก็คือหนุมานผู้ได้รับอำนาจพิเศษจากบิดาสามารถฟื้นคืนชีพได้เมื่อถูกกระแสลม
ส่วนในเรื่อง “รามายณะ” ที่ประพันธ์โดย ฤาษีวาลมีกิ กล่าวถึงกำเนิดของหนุมานว่าเป็นลูกของลิงแท้ๆ คือ วานรเพศเมียชื่ออัจนา สามีของนางอัจนา ก็เป็นวานรชื่อเกสรี ผู้มีกำลังมากจนสามารถฆ่าช้างได้ แต่ไม่ใช่พ่อของหนุมาน เพราะนางอัจนานั้นเดิมเป็นนางอัปสรผู้มีความงามลือเลื่องอยู่บนสวรรค์...
แต่ต้องคำสาปให้ลงมาเกิดเป็นวานรบนโลกมนุษย์ จะพ้นคำสาปก็ต่อเมื่อให้กำเนิดองค์อวตารของพระอิศวร กระทั่งในวันหนึ่งขณะที่นางอัจนากำลังสวดอ้อนวอนขอให้พระอิศวรอวตารลงมาถือกำเนิดกับนาง ก็บังเกิดลมพัดมา และพระพายได้นำขนมมาใส่ในมือของนางอัจนา
เมื่อนางกินขนมนั้นเข้าไปก็ตั้งครรภ์ และต่อมาก็ได้ให้กำเนิดเป็น “หนุมาน”
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็มีความเชื่อกันอีกว่า... หนุมานนั้นยังเป็นตัวแทนของชายหนุ่มทั่วไปที่มีรูปงาม...มีนิสัยเจ้าชู้ มีภรรยามาก...ตามตำนานเรื่องเล่าก็อย่างเช่น นางสุพรรณมัจฉา
โดยทั้งคู่มีพยานรักด้วยกันหนึ่งตนก็คือ “มัจฉานุ”...ลูกผสมของลิงเผือกกับปลา รูปลักษณ์ สำคัญคือมีกายเป็นลิงเผือกเหมือนหนุมาน แต่หางนั้นกลับเป็นปลา
อีกคนก็คือ “นางเบญจกาย” บุตรีพญาพิเภก ทั้งคู่สานสัมพันธ์รักด้วยกัน ตอนที่นาง
เบญจกายจำแลงเป็นศพของนางสีดาลอยทวนน้ำมา เพื่อหลอกให้พระรามเสียพระทัย แต่ภายหลังถูกจับได้พระรามจึงให้หนุมานพานางเบญจกาย ไปส่งกลับเมือง ซึ่งทั้งคู่มีพยานรักด้วยกันก็คือ “อสุรผัด”
คาถาบูชาหนุมานตามหลักชาวอินเดีย
ที่มีความเชื่อว่าเป็นภาคอวตารหนึ่งของพระศิวะนั้น เชื่อศรัทธากันว่า...เมื่อหนุมานนั้นมีพละกำลังมาก จึงสามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างได้ง่ายสะดวกรวดเร็วแบบพลิกฝ่ามือ
ทำให้ในธุรกิจก่อสร้างที่ศรัทธาบูชาด้วยผลไม้ อาหารเจ โดยมีคาถาบูชาว่า...“โอม เจ หนุมานะ ก็ เจ” โดยมักบูชากันในวันอังคาร
อีกบทหนึ่งเป็นคาถาบูชา “พระหนุมาน” ขอพรให้เข้มแข็ง ชนะศัตรู ไม่มีพ่ายแพ้ต่อสิ่งใด อีกทั้งยังเป็นการขอพรให้ท่านประทานพรแห่งความซื่อสัตย์จากเจ้านาย ผู้บังคับบัญชา ให้มีความรักใคร่เอ็นดู
นับรวมไปถึงเป็นการให้พรเจ้านาย...หัวหน้า... ลูกน้อง...บริวาร มีแต่ความกลมเกลียวสามัคคี ไม่เกลียดชังกัน โดยมีบทสวดเป็นบทๆ เช่น บทที่ 1... “โอม ศรี หนุมาน นะมะห์”, บทที่ 2 “โอม ศรีหนุมัทเต นะมะห์”, บทที่ 3 “โอม ศรี รามะ ชยะ ชยะ รามะ”, บทที่ 4 “โอม ศรี หนุมานะ ชยะ ชยะ หนุมานะ”
คาถาบูชาหนุมานโดยย่อ “นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ จะภะกะสะ หะนุมานะ”
คาถาหัวใจหนุมาน “หนุมานะ นะสังสะตัง”, คาถาปลุกกำกับหนุมาน “นะมัง เพลิง โมมัง ปากกระบอก ยะมิให้ออก อุทธัง โธอุด ธังอัด อะสัง วิสุโรปุสะพุพะ มะอะอุ โอมยะพุทธาทะโยสตรี สตรี นิสังโห” เป็นต้น
ศรัทธาความเชื่อของคนจำนวนไม่น้อยที่มีต่อ “หนุมาน” นั้นหลักใหญ่ใจความอาจจะเป็นเรื่องของความคงกระพันชาตรี การต่อสู้ที่เข้มแข็ง ...รวดเร็วประดุจสายลมพัดผ่าน อีกทั้งมีความมุ่งหวังที่จะประสบความสำเร็จสมหวังในเรื่องราวต่างๆ ดุจดั่งชัยชนะของหนุมานเทพวานรผู้ที่ไม่เคยพ่าย
“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้... “ลบหลู่”.
#P_JOB_PROFESSIONAL ◀️◀️ สามารถกดเช็คเครดิตได้ที่นี่.. 🙏🙏
โฆษณา