23 ส.ค. 2022 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
Snooze เพื่อ “ตื่น” ไม่ใช่ “นอนต่อ” ตั้งเลื่อนปลุกอย่างไรให้สดชื่นตลอดทั้งวัน
2
กริ๊งๆๆๆ
เสียงนาฬิกาปลุกยามเช้า เป็นสัญญาณที่บอกว่าเราควรลุกออกจากเตียงเสียทีเพื่อเตรียมตัวเริ่มต้นวันใหม่ แต่ทว่าหากเรายังไม่พร้อมล่ะ ไม่พร้อมที่จะเริ่มต้นวันใหม่ ไม่พร้อมที่จะลุกไปล้างหน้าแปรงฟัน ไม่พร้อมที่จะเตรียมตัวไปทำงานที่ออฟฟิศ ด้วยอารมณ์ชั่ววูบนั้น เราก็ตัดสินใจกดปุ่ม Snooze ปุ่มนั้น เพื่อเลื่อนเวลาตื่นของเราออกไป ขอนอนต่ออีกแค่ 5 นาทีก็ยังดี
การกดปุ่ม Snooze นี่มันช่างฟินเสียนี่กระไร
4
เชื่อว่าเช้าวันใหม่ของใครหลายๆ คนคงมีภาพที่ใกล้เคียงกับคำอธิบายด้านบนนี้ ซึ่งก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่า การ​​กดปุ่ม Snooze แล้วนอนต่อนั้น มักส่งผลเสียให้แก่ร่างกายมากกว่าผลดี ทำให้สมองทำงานช้าลง สะลึมสะลือ ร่างกายไม่สดชื่นตลอดวัน แถมที่สำคัญที่สุด มันอาจทำให้เราเผลอนอนต่อนานเกินไปจนตื่นสายในวันสำคัญ
แต่อันที่จริงแล้ว การกดปุ่ม Snooze เองก็มีข้อดีของมันนะ เพียงแค่เราต้องเรียนรู้ที่จะใช้มันอย่างถูกวิธีเท่านั้นเอง
กดปุ่ม Snooze เพื่อ “ตื่น” ไม่ใช่เพื่อ “หลับต่อ”
แน่นอนว่าเมื่อเวลาที่เรากดปุ่ม Snooze ไปอีก 5 หรือ 10 นาที เชื่อว่าแทบจะทุกคนจะใช้ช่วงเวลาอันน้อยนิดแสนล้ำค่านั้น “นอนต่อ” ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้เรารู้สึกสดชื่นขึ้นแล้ว อาจจะส่งผลแย่ต่อร่างกายเราไปทั้งวันอีก แต่วิธีการที่ถูกต้องในการกดปุ่ม Snooze อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ไม่ใช่เพื่อนอนหลับ แต่เพื่อเป็นการทำให้ร่างกายของเราค่อยๆ ปรับสภาพในการ “ตื่น” อย่างช้าๆ และค่อยเป็นค่อยไปต่างหาก
โดย David Dinges หัวหน้าแผนก Sleep and Chronobiology แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย อธิบายกับ The Wall Street Journal ว่า มันก็จริงอยู่ที่เราไม่ควรจะกดปุ่ม Snooze เพื่อนอนต่อจนเลยเวลา แต่ทุกคนควรกดปุ่ม Snooze เพื่อทำให้เรามี “ช่วงเวลาในการตื่น” ได้นานขึ้น
โดย Dinges ได้อธิบายต่อว่า เมื่อเรากดปุ่ม Snooze แล้ว เราไม่ควรที่จะกลับไปนอนต่อทันที แต่ก็ไม่ควรฝืนตัวเองในการรีบลุกขึ้นมาไปอาบน้ำแต่งตัวทั้งๆ ที่ร่างกายยังไม่พร้อม โดยเมื่อเรากดปุ่ม Snooze นั้น ก็ควรใช้ช่วงเวลาประมาณ 5-10 นาทีตรงนั้นในการลุกขึ้นมานั่ง ตั้งสติ ดึงตัวเองออกมาจากภวังค์ของการนอนหลับด้วยการยืดเส้นยืดสาย ขยับเขยื้อนร่างกายสักหน่อย
4
ให้เวลาร่างกายของเราได้มีการปรับตัวเล็กน้อย และเมื่อเสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้นมาอีกครั้ง ก็ค่อยลุกไปอาบน้ำแปรงฟัน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เราไม่จำเป็นต้องฝืนเริ่มต้นเช้าวันใหม่อย่างเร่งรีบ แถมยังช่วยเพิ่มความสดชื่นให้เราตลอดทั้งวันได้อีกด้วย
3
แต่ถ้าให้ดีที่สุด ก็ควรหยุด Snooze
1
แต่ถึงแม้ว่าเราจะเรียนรู้วิธีการกดปุ่ม Snooze ตื่นอย่างมีประสิทธิภาพไปแล้ว แต่สำหรับหลายคน การกดปุ่ม Snooze เองก็ยังเป็นอะไรที่สะดวกสบายเกินไปและไม่สามารถห้ามใจตัวเองไม่ให้ลงไปนอนต่อได้จนติดเป็นนิสัย ซึ่งการทำแบบนี้บ่อยๆ จะทำให้ร่างกายของเราอยู่ในอาการ “เฉื่อย” และอาจส่งผลเสียทางด้านสุขภาพได้ในระยะยาว เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่คิดว่าตัวเองกำลังมีนิสัยเสียชอบกดเลื่อนปลุกเพื่อนอนต่อแบบนี้แล้วอย่างจะเปลี่ยนพฤติกรรม ก็สามารถลอง 5 วิธีนี้ เพื่อที่จะช่วยให้เราเลิกนิสัยเสียนี้ได้
1. ปรับปรุงสุขอนามัยการนอนหลับ
อาการ “เฉื่อย” ที่เกิดขึ้นจากการนอนไม่พอนั้น ป้องกันได้ด้วยสุขอนามัยการนอนหลับที่เหมาะสม โดยมีวิธีมากมายที่เราสามารถทำได้เพื่อปรับปรุงสุขอนามัยในการนอนหลับของเราให้ดีขึ้น เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เข้านอนเวลาเดิมทุกคืน ตื่นนอนเวลาเดิมทุกเช้า ทำความสะอาดห้องนอนเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำปริมาณมากก่อนนอน และอีกมากมาย
3
2. ตั้งเวลาปลุกตามความเป็นจริง
หลายคนชอบตั้งนาฬิกาปลุกแบบถี่ๆ เพื่อ “เผื่อเวลานอนต่อ” เช่น 06.00, 06.05, 06.10 ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตื่นจริงๆ ก็ 07.00 เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้ว่าเราจะตื่นนอนจริงๆ ตอน 7 โมงเช้า เราก็ควรตั้งนาฬิกาปลุกตอน 07.00 หรือไม่ก็ 06.55 เพื่อเผื่อเวลาในการ Snooze หนึ่งครั้ง เพื่อให้ร่างกายค่อยๆ ตื่นอย่างช้าๆ
1
3. ลุกขึ้นนั่งทันทีที่ตื่น
เมื่อเสียงนาฬิกาปลุกดัง การเปลี่ยนท่าทางง่ายๆ จะช่วยปลุกร่างกายให้ตื่นและป้องกันไม่ให้เราเอื้อมมือไปกดปุ่ม Snooze และกลับไปนอนอีก
4. เปิดไฟทันทีเมื่อนาฬิกาปลุกดัง
แสงไฟ หรือแสงแดด เป็นการส่งสัญญาณว่าถึงเวลาที่ร่างกายจะต้องตื่นและยับยั้งการผลิตเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่งเสริมการนอนหลับ การเปิดเผยตัวเราให้ถูกแสงทันทีที่เสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้นจะสามารถช่วยปลุกเราให้พ้นจากความเฉื่อยในการนอนหลับและเข้าสู่สภาวะตื่นตัวมากขึ้น
ถ้าหากเรายังไม่สามารถห้ามใจตัวเองได้ ลองเปิดม่านทิ้งไว้เพื่อให้แสงแดดส่องเข้ามาโดนเราแบบอัตโนมัติ อาจลองใช้หลอดไฟอัจฉริยะและตั้งเวลาให้ตรงกับเวลาปลุกของเราก็ได้เช่นเดียวกัน
5. วางโทรศัพท์หรือนาฬิกาปลุกไว้ไกลๆ
เป็นเคล็ดลับง่ายๆ ที่ใครหลายคนก็คงเคยลองใช้กันมาบ้าง นั่นก็คือการวางโทรศัพท์หรือนาฬิกาปลุกให้ไกลจากเตียง พอเสียงปลุกดังก็จะต้องลุกจากเตียงขึ้นไปเพื่อปิด โดยวิธีนี้จะช่วยให้เราต้องมีการขยับร่างกายเล็กน้อยไปปิดนาฬิกาปลุกเพราะรำคาญเสียง และพอเราได้มีการขยับเขยื้อนร่างกายนิดหน่อย เราก็จะรู้สึกตื่นตัวขึ้นมาเอง
2
อย่างไรก็ตาม การกดปุ่ม Snooze เองนั้นก็ยังคงเป็นแค่เครื่องมือที่เราใช้เป็นตัวช่วยเท่านั้น ถ้าเรารู้ข้อดีของการนอนหลับให้เต็มอิ่มและรู้ข้อเสียของการนอนไม่พอแล้วนั้น เราเองก็ควรฝึกนิสัยตื่นนอนให้ตรงเวลาและพยายามไม่กดปุ่ม Snooze บ่อยๆ เพื่อสุขภาพร่างกายที่ดี
ถ้าใครเคยมีปัญหาชอบกดปุ่ม Snooze แล้วปรับนิสัยของตัวเองได้ ก็อย่าลืมมาแชร์ให้พวกเราฟังในคอมเมนต์ด้วยนะ
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#sleep
#snooze
#นอนต่อ
โฆษณา