Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Digital Technology for Military
•
ติดตาม
23 ส.ค. 2022 เวลา 06:33 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
"การปฏิบัติการร่วมทุกมิติและอนาคตของระบบป้องกันขีปนาวุธ"
(Joint all domain operations and the future of missile defence)
โดย Samuel Cranny-Evans
เผยแพร่บนเว็บไซต์ ARMY TECHNOLOGY. 30 พ.ค.2565
แปลและเรียบเรียง : พ.อ. ชัยยศ ศุภมิตรกฤษณา
ส่วนประกอบของระบบบัญชาการการรบป้องกันภัยทางอากาศและขีปนาวุธแบบบูรณาการของ บริษัท Northrop Grumman ถูกติดตั้ง ณ ที่ตั้งขีปนาวุธ White Sands เพื่อทดสอบกับกองทัพบกสหรัฐฯ
การขับเคลื่อนไปสู่สงครามที่ใช้ข้อมูลเป็นศูนย์กลาง (data-centric warfare) สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของเครือข่ายการป้องกันภัยทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสําหรับกองกําลังที่มีขีดความสามารถในการป้องกันทางอากาศภาคพื้นดินที่จํากัด
สงครามในยูเครนได้แสดงให้เห็นถึงภัยคุกคามที่เกิดจากประเทศเพื่อนบ้านที่ตั้งใจใช้อาวุธโจมตีระยะไกลที่แม่นยำเพื่อทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญของชาติ รัสเซียได้ยิงขีปนาวุธนําวิถี 2,154 ลูกไปยังยูเครนในกลางเดือนพฤษภาคม ประธานาธิบดีเซเลนสกีกล่าวว่า ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญและกองทัพของยูเครน
การโจมตีด้วยขีปนาวุธครั้งแรกนั้นค่อนข้างง่าย เป็นการโจมตีด้วยขีปนาวุธประเภทเดียวกัน 1-2 ลูกที่เป้าหมายเดียว การป้องกันภัยทางอากาศของยูเครนสามารถต่อต้านขีปนาวุธเหล่านี้บางส่วนได้ แต่ต่อมาประสิทธิภาพก็ลดลง ยุทธวิธีของรัสเซียมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น
ตามรายงานของ Microsoft การโจมตีหอส่งสัญญาณโทรทัศน์ที่เมืองเคียฟในเดือนมีนาคม มีการประสานการปฏิบัติร่วมกับการโจมตีทางไซเบอร์ต่อสถานีโทรทัศน์ของยูเครน มีการโจมตีด้วยขีปนาวุธหลายประเภทที่มีเส้นทางการบินที่แตกต่างกันและมาถึงเป้าหมายพร้อมกัน เพื่อสร้างความสับสนให้กับการป้องกันภัยทางอากาศของยูเครน
■ ขีปนาวุธยิงได้ทุกที่
รัสเซียไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีขีดความสามารถเหล่านี้ โดยความช่วยเหลือของอิหร่าน กลุ่มกบฏฮูตี (Houthis) ในเยเมนยังได้พัฒนาขีปนาวุธนำวิธีที่หลากหลายและอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ที่สามารถโจมตีเป้าหมายในซาอุดิอาระเบียได้ จรวดร่อน Quds-2 หลายลูก ขีปนาวุธพิสัยกลาง Zulfiqar และ UAV โจมตีโดยตรง Samad-3 ถูกใช้ในการโจมตีแบบประสานงานกับเป้าหมายหลายแห่งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในเดือนมกราคม 2565 รวมถึงการโจมตีโรงงานน้ำมันมูซาฟฟาห์ (Musaffah)
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Patriot และ THAAD เพื่อต่อต้านขีปนาวุธบางส่วน แต่ขีปนาวุธบางส่วนก็สามารถผ่านการป้องกันภัยทางอากาศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และโจมตีเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้ การโจมตีในปี 2562 ที่โรงงานน้ำมัน Abqaiq–Khurais ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดของขีดความสามารถของกลุ่มกบฏฮูตีที่เอาชนะการต่อต้านของซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ภาพอธิบายการใช้โดรนโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของประเทศซาอุดิอาระเบียจากกลุ่มกบฏฮูตีในประเทศเยเมน ที่มา DAILYMAIL
ความสำเร็จของกลุ่มกบฏฮูตีน่าจะได้รับความสนใจมากกว่าความล้มเหลวของพวกเขา อย่างไรก็ตามพวกเขาแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของการทำให้การป้องกันทางอากาศมีประสิทธิผลต่อภัยคุกคามหลายแบบที่เกิดจากฝ่ายตรงข้าม
ขีดความสามารถหลายอย่างของกลุ่มกบฏฮูตี ถูกนําเข้าหรือจัดหาผ่านประเทศอิหร่านซึ่งมีคลังอาวุธโจมตีระยะไกลที่แม่นยำของตัวเอง ประเทศอิหร่านยังได้ช่วยเหลือกลุ่มฮามาส (Hamas) ในการพัฒนาและขยายคลังจรวด ทําให้กองกําลังติดอาวุธสามารถโจมตีประเทศอิสราเอลได้เป็นจํานวนมาก
แอลเอไทมส์ (The LA Times) ระบุว่ามีการยิงจรวดมากกว่า 4,000 ลูกเข้าไปในประเทศอิสราเอลในช่วงสงครามครั้งที่ 4 ระหว่างประเทศอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในปี 2564 ซึ่งจําเป็นต้องมีการตอบสนองการป้องกันภัยทางอากาศที่แข็งแกร่งจากกองกําลังป้องกันประเทศอิสราเอล (IDF : Israeli Defence Forces)
ความสําเร็จของ IDF ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และยูเครน ในการสกัดกั้นภัยคุกคามจากขีปนาวุธที่มีความสามารถและมีจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าการลงทุนในการป้องกันภัยทางอากาศนั้นคุ้มค่าและสามารถปกป้องโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญของชาติในความขัดแย้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรการป้องกันภัยทางอากาศที่มีจํานวนจํากัดส่งผลให้รัฐมีขีดความสามารถอย่างจำกัดในการปกป้องพื้นที่ทั้งหมดภายในพรมแดนของตน การปฏิบัติร่วมทุกโดเมน (JADO : Joint all domain operations) สามารถให้โอกาสในการตอบสนองต่อภัยคุกคามประเภทนี้ได้ดีขึ้น
■ การปฏิบัติร่วมทุกโดเมนและการป้องกันภัยทางอากาศ
โดยเนื้อแท้แล้ว การป้องกันขีปนาวุธและภัยทางอากาศเป็นการปฏิบัติการหลายมิติ (Multi-domain operations) : เรดาร์ที่ใช้สําหรับการตรวจจับและติดตามเป้าหมายทํางานในแถบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยทั่วไปตัวดักรับจะถูกยิงจากพื้นดินและสร้างผลกระทบในอากาศ การป้องกันภัยทางอากาศภาคพื้นดิน (GBAD : Ground-based air defense) อาจได้รับความช่วยเหลือจากระบบที่เหนือชั้นกว่าทางอากาศ ซึ่งสั่งการโดยเครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือนภัยทางอากาศ (AWAC) เช่น Boeing E-3 Sentry
โดยทั่วไป การดําเนินการเหล่านี้ต้องการสถาปัตยกรรมการควบคุมบังคับบัญชาที่ซับซ้อน ซึ่งช่วยให้เซ็นเซอร์ในอากาศสามารถส่งผ่านข้อมูลผ่านศูนย์บัญชาการไปยังกองพัน GBAD เพื่อให้สามารถค้นหาและต่อต้านเป้าหมาย ในขณะที่แยกห้วงอากาศเพื่อป้องกันการยิงพวกเดียวกันเอง (fratricide) กระบวนการนี้อาจใช้เวลาและอาศัยความพยายามของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม การทดลองที่ดําเนินการโดยกองทัพบกสหรัฐฯ และหุ้นส่วนภาคอุตสาหกรรมได้แสดงให้เห็นถึงวิธีการเร่งกระบวนการนี้ในขณะเดียวกันก็เพิ่มขีดความสามารถด้วย
การประสบความสำเร็จในการรวมเซ็นเซอร์ทั้งหมดเข้ากับเครือข่ายแบบรวมศูนย์ สามารถแบ่งปันข้อมูลเป้าหมายอย่างรวดเร็วระหว่างเซ็นเซอร์และหน่วยรบ ทําให้ระบบป้องกันภัยทางอากาศมีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อภัยคุกคามที่ซับซ้อน
ในปี พ.ศ. 2564 กองทัพบกสหรัฐฯ และบริษัท Northrop Grumman ได้ทําการทดสอบระบบสั่งการต่อสู้ป้องกันขีปนาวุธและภัยทางอากาศแบบบูรณาการ (IBCS : Integrated Air and Missile Defense Battle Command System) โดยต่อต้านจรวดร่อนขณะที่ถูกรบกวนทางอิเล็กทรอนิกส์
การทดสอบเกี่ยวข้องกับเซ็นเซอร์ที่หลากหลายจากหลายมิติ เรดาร์สำหรับภารกิจภาคพื้นดินและอากาศ AN/TPS-80 (G/ATOR) 1 เครื่อง จากนาวิกโยธินสหรัฐฯ, F-35 สองลํา, เรดาร์ป้องกันภัยทางอากาศ AN/MPQ-64 Sentinel 2 เครื่อง จากกองทัพบกสหรัฐฯ และเรดาร์ AN/MPQ-65 จากกองพัน Patriot การทดสอบดังกล่าว รวมถึงจรวดร่อน 2 ลูก โดยลูกหนึ่งทําการโจมตีทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อเรดาร์ของระบบและอีกลูกหนึ่งพุ่งเป้าไปที่กองกําลังฝ่ายเดียวกัน
เรดาร์ G/ATOR Photo by Lance Cpl. Tyler Harmon
เรดาร์ G/ATOR เชื่อมโยงกับ IBCS โดยใช้ขีดความสามารถของการติดตามเป้าหมายร่วม (Joint Track Manager) ซึ่งเชื่อมต่อจากขีดความสามารถการรบร่วม (Cooperative Engagement) ของกองทัพเรือ และการใช้เรดาร์ G/ATOR เพื่อให้ข้อมูลเป้าหมายสําหรับกองพัน Patriot-3 ผ่านเครือข่ายควบคุมการยิงรวม (IFCN : Integrated Fire Control Network) ของ IBCS
นี่เป็นขั้นตอนสําคัญเนื่องจากเรดาร์ G / ATOR สามารถให้ข้อมูลเป้าหมายในรูปแบบที่เครื่องยิง Patriot สามารถนำใช้ประโยชน์ได้ F-35s สนับสนุนการติดตามเป้าหมายร่วม ซึ่งรวมเข้ากับ IFCN ผ่านเซ็นเซอร์ของเครื่องบิน
เมื่อสามารถระบุเป้าหมายที่ถูกรบกวนทางอิเล็กทรอนิกส์ กองพัน Patriot สามารถสกัดกั้นภัยคุกคามที่มีเป้าหมายต่อฝ่ายเราได้ การใช้เซ็นเซอร์หลายตัวยังช่วยให้ระบบป้องกันภัยทางอากาศลดผลกระทบจากการถูกรบกวนและประเมินว่าขีปนาวุธใดเป็นภัยคุกคามหลัก การประสบความสำเร็จในการรวมเซ็นเซอร์ทั้งหมดเข้ากับเครือข่ายแบบรวมศูนย์ สามารถแบ่งปันข้อมูลเป้าหมายอย่างรวดเร็วระหว่างเซ็นเซอร์และหน่วยรบ ทําให้ระบบป้องกันภัยทางอากาศมีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อภัยคุกคามที่ซับซ้อน
The IBCS ให้ขีดความสามารถในการควบคุมบังคับบัญชาร่วมทุกมิติ
■ การปฏิบัติการหลายมิติ (Multi-domain operations) และหนทางข้างหน้า
การทำให้ระบบอาวุธสามารถทํางานด้วยความเร็วของเครื่องและแบ่งปันข่าวสารจากเซ็นเซอร์ไปยังเซ็นเซอร์และจากเซ็นเซอร์ไปจนถึงยานรบเป็นองค์ประกอบหลักของการปฏิบัติการหลายมิติ ประโยชน์ของการแบ่งปันข้อมูลโดยตรงระหว่างระบบอาวุธได้แสดงให้เห็นโดยการทดลองของ IBCS ที่มีรายละเอียดข้างต้น
คุณค่าในการปรับปรุงให้การป้องกันภัยทางอากาศทนทานต่อการถูกรบกวนทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นชัดเจนเช่นเดียวกับความสามารถในการระบุภัยคุกคามที่หลากหลาย ในขณะเดียวกันก็ให้การเข้าถึงตัวเลือกในการโต้ตอบที่มากขึ้น สิ่งสําคัญที่สุดคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยให้หัวหน้าหน่วยมีตัวเลือกเพิ่มขึ้นและมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับภัยคุกคามที่กำลังมา
สําหรับกองกําลังป้องกันประเทศอิสราเอล การปฏิบัติการหลายมิติถูกมองว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่เพียงแต่ต่อต้านการโจมตีด้วยจรวดของฮามาสโดยการค้นหาการยิงจรวดแต่เนิ่น และต่อต้านตั้งแต่ระยะแรก แต่ยังเป็นวิธีเอาชนะฮามาสด้วย นักทฤษฎี IDF บางคนหวังว่าการระบุฐานปล่อยจรวดอย่างรวดเร็วจะช่วยให้การตอบสนองที่ใช้การดำเนินกลยุทธ์เป็นศูนย์กลาง (manoeuvre-centric) ซึ่งออกแบบมาเพื่อโจมตีที่ศูนย์การควบคุมที่สําคัญภายในระบบฮามาสและทำให้ความขัดแย้งสั้นลง
ตามมาด้วยการประสานงานการป้องกันภัยทางอากาศเป็นสิ่งสําคัญและเป็นเป้าหมายที่คู่ควรกับหลักนิยมการปฏิบัติการหลายมิติ นอกจากนี้ยังอาจเป็นไปได้ที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านั้นเพิ่มเติมในการดำเนินกลยุทธ์และการปฏิบัติการภาคพื้นดินซึ่งจะต้องการการวางแผนที่สําคัญในทศวรรษที่ผ่านมา
ที่มา :
https://www.army-technology.com/analysis/joint-all-domain-operations-and-the-future-of-missile-defence/
ดิจิทัล
military
data
บันทึก
4
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย