24 ส.ค. 2022 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
Vanguard Group บริษัทที่เปลี่ยนแปลง โลกการลงทุน ไปตลอดกาล
รู้หรือไม่ว่า Vanguard Group เป็นบริษัทแรกในโลก ที่คิดค้นกองทุนอิงดัชนีขึ้นมา
โดยกองทุนกองแรกนี้ มีการลงทุนอิงดัชนี S&P 500 ของสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า Vanguard 500 Index Fund
ปัจจุบัน Vanguard มีทรัพย์สินทั้งหมดภายใต้การบริหารจัดการ เท่ากับ 8.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
คิดเป็นมูลค่ามากถึง 286.8 ล้านล้านบาท มากกว่า GDP ของประเทศญี่ปุ่นทั้งประเทศเสียอีก..
นอกจากนั้น 6 ใน 10 ของกองทุน ที่มีทรัพย์สินใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ยังเป็นของ Vanguard ด้วย
โดยตัวกองทุนที่ใหญ่ที่สุดก็คือ Vanguard Total Stock Market Index Fund ซึ่งมีทรัพย์สินประมาณ 46 ล้านล้านบาท
แล้วทำไม Vanguard ถึงได้รับการขนานนาม ว่าเป็นผู้ที่เข้ามาเปลี่ยนโลกการลงทุนไปตลอดกาล ?
BillionMoney จะมาสรุปให้ ในแบบฉบับง่าย ๆ
ย้อนกลับไปในสมัยปี 1974 หรือราว 48 ปีก่อน ตลาดเงินทุนของประเทศสหรัฐอเมริกา
ได้เผชิญหน้ากับทั้งช่วงที่รุ่งเรือง และช่วงที่ตกต่ำ สลับกันไปมาอยู่โดยตลอด
โดยหนึ่งในธุรกิจที่เข้ามามีบทบาทต่อตลาดทุน ก็คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
หรือที่เรียกว่า บลจ. เพราะพวกเขาดำเนินธุรกิจ จากการนำเงินของเราไปสร้างผลตอบแทน
หลัก ๆ แล้ว ก็คือการลงทุนในหุ้น โดยมีดัชนี Standard and Poor’s 500
หรือที่เรารู้จักกันว่าดัชนี S&P 500 เป็นตัวเปรียบเทียบผลงาน
ในขณะเดียวกัน บริษัทเหล่านี้ก็จะคิดค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการรายปี
หรือที่เรียกกันว่า Expense Ratio ในอัตราเฉลี่ยในสมัยนั้นราว 0.6% ต่อปี
สำหรับผู้จัดการกองทุน ส่วนใหญ่ก็จะมีเป้าหมายเพียงซื้อและขายหุ้น เพื่อเอาชนะผลตอบแทนตลาด
ในเวลาต่อมา เราเรียกกองทุนที่มีแนวทางการลงทุนแบบนี้ว่า Active Fund
ทีนี้ คำถามที่ตามมาเลยก็คือ กองทุนอิงดัชนี มันเกิดขึ้นเมื่อไร ?
สำหรับจุดเริ่มต้นของกองทุนอิงดัชนีกองแรกของโลกนั้น
ก็ได้รับแรงบันดาลใจ จากงานของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันคนแรก ที่ได้รับรางวัลโนเบล
โดยเขามีชื่อว่า “คุณ Paul Samuelson”
โดยคุณ Samuelson พบว่าเมื่อได้ศึกษาย้อนหลัง
ไปถึงผลตอบแทนของกองทุน ที่ต้องการเอาชนะตลาดแล้ว
พบว่า มีผู้จัดการกองทุนใน Wall Street เพียงแค่หยิบมือเดียว
ที่สามารถสร้างผลตอบแทนเอาชนะดัชนี S&P 500 ได้
และเมื่อมาพิจารณาถึงค่าธรรมเนียมที่สูงแล้ว
นักลงทุนก็จะยิ่งได้รับผลตอบแทนที่น้อยลงเข้าไปอีก
ดังนั้นคุณ Samuelson จึงมีความคิดว่า นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์อย่างมาก
ถ้ามี บลจ. สักแห่งหนึ่งที่ทำกองทุน โดยลงทุนเลียนแบบดัชนี S&P 500 และเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการ ในอัตราที่ต่ำลง และนั่นจะทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีที่สุด
จุดนี้เองที่ทำให้ “Vanguard” หนึ่งในบริษัทบริการจัดการกองทุนยักษ์ใหญ่ ในสหรัฐอเมริกา
กลายมาเป็นเจ้าแรก ที่ทำให้คำแนะนำของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เกิดขึ้นจริง
Vanguard ก่อตั้งขึ้นในปี 1975 โดยคุณ John C. Bogle ผู้ล่วงลับ
หรือที่คนในวงการโลกการเงิน และคุณ Warren Buffett ชอบเรียกว่าคุณ Jack Bogle
โดยจุดเริ่มต้นของบริษัทแห่งนี้ ก็มาจากในช่วงปี 1974
คุณ Bogle โดนไล่ออกจากการเป็นซีอีโอ ของบริษัท Wellington Management Company
ในช่วงที่ชีวิตของคุณ Bogle ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคหลายอย่าง ทางหน้าที่การงานที่มารุมเร้านั้น คุณ Bogle ก็พยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อยังให้ตัวเองมีอนาคตทางหน้าที่การงานที่ดี
และนั่นก็นำมาสู่การก่อตั้ง Vanguard Group
คุณ Bogle เองก็มีความเชื่อที่เหมือนกับคุณ Samuelson ที่ว่า ในเมื่อถ้าเราไม่สามารถลงทุน แล้วสร้างผลตอบแทนเพื่อเอาชนะดัชนีได้ในระยะยาวแล้ว ทำไมเราจึงไม่เข้าร่วมด้วยการลงทุนในดัชนีเองเสียเลยล่ะ เพราะนั่นเป็นวิธีที่ง่าย และสร้างผลตอบแทนในระยะยาวอย่างยั่งยืนได้
มีวาทกรรมในตำนานของคุณ Bogle ที่นักลงทุนสายกองทุนอิงดัชนี ยังสามารถนำมาใช้ได้จนถึงทุกวันนี้ ก็คือ “อย่ามัวมามองหาเข็มในมหาสมุทร ให้ซื้อทั้งมหาสมุทรนั้นเลย”
นักลงทุนที่ไม่มีความมั่นใจ และไม่มีความสามารถที่มากพอ ในการเลือกหุ้นรายตัวเพื่อเอาชนะดัชนี จะได้ประโยชน์อย่างมาก ในการลงทุนในกองทุนอิงดัชนี ที่ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี
รู้ไหมว่า ถ้าเราลงทุนในกองทุนอิงดัชนี S&P 500 ของ Vanguard ที่คิดค่าธรรมเนียมในการจัดการทั้งหมดที่ 0.03% ต่อปี ด้วยเงินต้นจำนวน 1,000,000 บาท ตั้งแต่ปี 1975 จนถึงปี 2021 ผลตอบแทนรวมกับเงินต้นจะเป็นเท่าไร ?
1
คำตอบคือ 258,739,024 บาท นั่นเอง
โดยผลตอบแทนเฉลี่ยของดัชนี S&P 500 โดยรวมจะเป็นการเอาเงินปันผลที่ได้กลับไปลงทุนเพิ่ม แล้ว
ในระหว่างปี 1975 ถึงปี 2021 จะได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 12.55%
และเมื่อ Vanguard คิดค่าธรรมเนียมในอัตราที่ต่ำ โดยอยู่ที่ 0.03% ต่อปี ก็ยังทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยของนักลงทุน ที่ลงทุนในกองทุนอิงดัชนี S&P 500 ตกเฉลี่ยอยู่ที่ 12.52% ต่อปีนั่นเอง
เมื่อดูจากค่าธรรมเนียมที่ต่ำแล้ว ในระยะเวลา 47 ปีนี้
นักลงทุนก็ยังเสียค่าธรรมเนียมให้กับทาง Vanguard ในจำนวนแค่ 3,000,000 บาทเท่านั้น
ซึ่งนับว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ได้รับ ที่มากกว่า 255 เท่า
เมื่อลองมาคำนวณดูแล้ว ก็จะพบว่า เงินจำนวน 3,000,000 บาท ที่เสียไปเป็นค่าธรรมเนียม
คิดเป็นแค่ 1.16% เท่านั้น จากผลตอบแทนของดัชนี S&P 500
2
โดยขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น
เงิน 1,000,000 บาท ที่ลงทุนในดัชนี S&P 500
โดยไม่มีค่าธรรมเนียมมาคำนวณ จะได้รับผลตอบแทน เท่ากับ 258,739,024 บาท
แต่เมื่อโดนเก็บค่าธรรมเนียมทั้งหมดที่ 0.03% ต่อปี ผลตอบแทนของนักลงทุน จะเท่ากับ 255,739,024 บาท
ซึ่งเสียค่าธรรมเนียมทั้งหมดไปแค่ 3,000,000 บาทเท่านั้น
โดยมูลค่าดังกล่าว คิดเป็นเพียงแค่ 1.16% จากเงินจำนวน 258,739,024 บาท เท่านั้นเอง
จะเห็นได้ว่า เมื่อมีการคิดค่าธรรมเนียมในอัตราที่ต่ำมาก
นักลงทุนย่อมจะได้รับประโยชน์ที่สูงมากตามไปด้วย
ด้วยความเชื่อของ Vanguard ที่ว่า ยิ่งกองทุนขยายใหญ่ขึ้น
โดยมีปริมาณเงินจากนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น กองทุนควรจะมีการลดค่าธรรมเนียมลง ไม่ใช่เพิ่มค่าธรรมเนียมขึ้น
ในช่วงที่เริ่มต้นก่อตั้งกองทุน Vanguard เอง ก็เคยคิดค่าธรรมเนียมในการจัดการทั้งหมด ที่ประมาณ 0.43% ต่อปี
แต่เมื่อผลตอบแทนจากกองทุนอิงดัชนีเริ่มมากขึ้น และมีนักลงทุนจำนวนมาก สนใจมาลงทุนในกองทุนอิงดัชนีของ Vanguard
ทำให้ Vanguard มีปริมาณเงินในการบริหารจัดการที่มากขึ้น Vanguard จึงได้ทำการลดค่าธรรมเนียมลง จนในปัจจุบัน กองทุนอิงดัชนียอดฮิตของ Vanguard 3 กอง คือ
- Vanguard S&P 500 Index Fund
- Vanguard Total Bond Index Fund
- Vanguard Total Stock Market Index Fund คิดค่าธรรมเนียมในระดับที่ต่ำกว่า 0.05% ต่อปีเข้าไปแล้ว
นอกจากจะมีกองทุนอิงดัชนี ที่เลียนแบบดัชนี S&P 500 แล้ว
Vanguard ก็ยังมีกองทุนที่ลงทุนในดัชนีของประเทศอื่น ๆ
ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป กลุ่มตลาดเกิดใหม่ บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงดัชนีหุ้นกู้ด้วย
แม้ว่า Vanguard จะขึ้นชื่อเรื่องกองทุนแบบอิงดัชนี
แต่ Vanguard เองก็ยังมีกองทุนแบบ Active ด้วยเช่นกัน ซึ่งคิดค่าธรรมเนียมมากที่สุดเท่ากับ 1.31%
ในขณะที่ค่าธรรมเนียมต่ำสุดจะเท่ากับ 0.07% เท่านั้น
ด้วยรูปแบบการทำธุรกิจ ที่มองว่านักลงทุนทุกคน ที่นำเงินมาลงทุนในกองทุนของ Vanguard ก็คือผู้ถือหุ้นของ Vanguard ดังนั้น การคิดค่าธรรมเนียมที่ต่ำ จึงจะทำประโยชน์ให้กับเหล่าผู้ถือหุ้นของ Vanguard มากที่สุดตามไปด้วย
โดยคุณ Bogle มองว่า เมื่อกองทุนขยายใหญ่ขึ้น โดยมีปริมาณเงินจากนักลงทุนเข้ามามากขึ้น แต่ทีมงานของ Vanguard Group ไม่ได้ขยายใหญ่ขึ้นมาก การลดค่าธรรมเนียมการจัดการที่เรียกเก็บต่อปีลง ก็ไม่ได้ทำให้ Vanguard ขาดทุนแต่อย่างใด แถมยังทำให้ผู้คนอยากเข้ามาลงทุนใน Vanguard มากขึ้น เพราะคิดค่าธรรมเนียมถูก
เงินส่วนใหญ่ของคุณ Bogle เอง ก็ลงทุนแค่ในกองทุนอิงดัชนีของ Vanguard
มีคำแนะนำอันชาญฉลาดจากคุณ Bogle ถึงนักลงทุนทุกคน ก็คือ ให้ลงทุนแค่ 2 กองทุนอิงดัชนีเท่านั้น ได้แก่ Vanguard Total Stock Market Index Fund ที่เป็นกองทุนอิงดัชนีหุ้น และ Vanguard Total Bond Index Fund ที่เป็นกองทุนอิงดัชนีหุ้นกู้ และเลือกปรับพอร์ตแค่ปีละ 1 ครั้งก็พอ
ในระยะยาว กองทุนอิงดัชนีหุ้น จะสร้างความมั่งคั่งให้กับเรา
แต่ในระยะสั้น กองทุนอิงดัชนีหุ้นกู้ จะสร้างรายได้และปกป้องความมั่งคั่งให้เรา
และจากความสำเร็จเป็นอย่างสูงของ Vanguard จึงทำให้ บลจ. อื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกาเริ่มปรับตัว
โดยการสร้างกองทุนอิงดัชนี ที่เก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่ต่ำออกมามากขึ้น
และจากความสำเร็จของการลงทุน ในรูปแบบของกองทุนอิงดัชนี
ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของกองทุนประเภทนี้ ต่อกองทุนทั้งหมด
เติบโตขึ้นจาก 2% ในปี 1993 มาเป็น 43% ในปี 2020 เข้าไปแล้ว
รู้ไหมว่าในช่วงที่เริ่มก่อตั้ง Vanguard นั้น เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะเงินลงทุนที่ระดมมาได้จากนักลงทุน สามารถหามาได้แค่ 389.6 ล้านบาทเท่านั้น จากที่เคยคาดหวังว่าจะระดมเงินได้ 5,314 ล้านบาท
สามารถพูดได้ว่า Vanguard ที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเคยมองว่า จะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ กลับสร้างปาฏิหาริย์ในโลกของการลงทุน และทะยานขึ้นมาเป็น บลจ. ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อนที่จะโดนทาง BlackRock แย่งตำแหน่งไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง
ในปัจจุบันนี้ Vanguard เป็น บลจ. กองทุนรวมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ตามหลัง BlackRock ที่มีทรัพย์สินภายใต้การดูแลทั้งหมด 354.4 ล้านล้านบาท
และทั้งหมดนี้แหละคือ Vanguard บริษัทที่มองลูกค้า
มองเงินของนักลงทุน เสมือนกับพวกเขาเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัท
และการคิดค้นกองทุนอิงดัชนี รวมถึงการตั้งค่าธรรมเนียมจัดการกองทุนให้ต่ำลง เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของนักลงทุน ก็ได้กลายมาเป็นสุดยอดการค้นพบ ที่ได้เปลี่ยนแปลงโลกของการลงทุนไปตลอดกาล
1
References
-หนังสือ The Bogle Effect: How John Bogle and Vanguard Turned Wall Street Inside Out and Saved Investors Trillions (2022) โดย Eric Balchunas
-หนังสือ Stay The Course (2018) โดย John C. Bogle
-หนังสือ The Little Book of Common Sense Investing (2011) โดย John C. Bogle
-หนังสือ Common Sense on Mutual Funds: New Imperatives for the Intelligent Investor (1999) โดย John C. Bogle
-หนังสือ In Pursuit of the Perfect Portfolio: The Stories, Voices, and Key Insights of the Pioneers Who Shaped the Way We Invest (2021) โดย Andrew W. Lo และ Stephen R. Foerster
โฆษณา