Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
KODEFIX Safe
•
ติดตาม
24 ส.ค. 2022 เวลา 06:57 • ไอที & แก็ดเจ็ต
Software License คืออะไร และมีกี่ประเภท ?
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือชุดคำสั่งที่ถูกเขียนเพื่อให้ทำงานอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือศัพท์เทคนิคเรียกว่า ซอฟต์แวร์ (Software) ซึ่งโดยปกติซอฟต์แวร์ทั้งหมดล้วนมีลิขสิทธิ์คุ้มครองอยู่ การจะนำมาใช้งานต้องเกิดจากการยินยอมของผู้พัฒนา ซึ่งผู้พัฒนาจะมอบสัญญาอนุญาตให้สิทธิ์การใช้งานแก่ผู้ใช้ โดยสัญญาเหล่านั้นมักเรียกทับศัพท์กันว่า ซอฟต์แวร์ไลเซนซ์ (Software License)
สัญญาอนุญาตซอฟต์แวร์ หรือ Software License คือเอกสิทธิ์ที่ให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์มีสิทธิ์ควบคุมการใช้ หรือเผยแพร่ซอฟต์แวร์ที่เป็นเจ้าของได้ ซึ่งผู้ใช้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญา ไม่สามารถนำไปทำซ้ำ เผยแพร่ ดัดแปลงเพื่อหากำไรได้ หรือการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยผู้ที่มีเอกสิทธิ์สามารถกำหนดข้อจำกัด และข้อตกลงกับผู้ใช้ได้ (License Agreement) เช่นมีไว้ขายให้ใช้ในเชิงพาณิชย์ (Commercial Software) หรือมีไว้ให้ใช้ฟรี (Freeware) เป็นต้น
โดยซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องเป็นซอฟต์แวร์ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างเดียว เพราะบางซอฟต์แวร์ผู้ใช้ทั่วไปสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้ฟรี แต่บางซอฟต์แวร์ก็มีข้อจำกัดเรื่องการใช้งาน หรืออายุการใช้ที่ถูกจำกัดไว้โดยผู้พัฒนา ซึ่งประเภทของสัญญาอนุญาตซอฟต์แวร์ มีอยู่หลายตัวมาก แต่ละ License ก็ยังไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงสามารถแบ่งได้เป็นประเภทหลักๆ ตามเงื่อนไขการใช้งานดังต่อไปนี้
1.Public-domain software (ซอฟต์แวร์สาธารณะ)
เป็นหนึ่งในประเภทสัญญาอนุญาตซอฟต์แวร์ ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว หรือหมดอายุการคุ้มครองสิทธิ์ไปแล้ว เป็นซอฟต์แวร์ประเภทที่สามารถแก้ไข แจกจ่าย หรือจำหน่ายได้โดยไม่ต้องอ้างอิงที่มา ส่วนมากเป็นโปรแกรมที่เก่า ถูกเผยแพร่ในยุคที่กฎหมายลิขสิทธิ์ยังไม่มีการคุ้มครองเรื่องของซอฟต์แวร์ หรือประเทศที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ เช่นพวกโปรแกรม "ELIZA" ในปี ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) หรือเกม "Spacewar!" ในปี ค.ค. 1962 (พ.ศ. 2505)
2.Proprietary Software (ซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์)
เป็นซอฟต์แวร์ใดก็ตามที่มีลิขสิทธิ์ และมีข้อจำกัดในการใช้งาน, แจกจ่าย หรือดัดแปลง ขึ้นอยู่กับผู้พัฒนาและผู้ขายจะเป็นผู้กำหนด เพราะซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์นั้นยังเป็นทรัพย์สินของเจ้าของโดยตรง โดยผู้ใช้งานหรือองค์กรต้องใช้ซอฟต์แวร์ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น
ซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์ ส่วนมากจะมีลักษณะเหมือนซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ ที่สามารถเช่า ซื้อ หรือ ขายไลเซนส์ได้ และจะไม่เปิดเผยซอร์สโค้ดให้แก่ผู้ใช้งาน ซอฟต์แวร์ดัง ๆ ส่วนมากจัดอยู่ในประเภทซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์ทั้งนั้น เช่น โปรแกรมบีบอัดไฟล์ WinRAR หรือ โปรแกรมพูดคุย Skype และระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows เป็นต้น
ซึ่งข้อจำกัดหรือเงื่อนไขที่ถูกกำหนดโดยผู้เป็นเจ้าของซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์นั้น จะมีอธิบายไว้ในข้อตกลงสิทธิ์การใช้งานของผู้ใช้ หรือ End-user license agreement (EULA) และ Terms of service agreement (TOS) ที่เราไม่เคยได้อ่านระหว่างกำลังจะติดตั้งซอฟต์แวร์ต่าง ๆ นั่นเอง และถ้าเราละเมิดข้อตกลงเหล่านั้นก็ถือเป็นการทำผิดสัญญาอนุญาต หรือ ไลเซนส์ ที่ได้รับนั่นเอง
3.Commercial Software (ซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์)
คือซอฟต์แวร์ที่จัดทำเพื่อขาย หรือวัตถุประสงค์ทางการค้าเท่านั้น เป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถเช่า หรือซื้อไลเซนส์จากทั้งตัวแทนขาย และผู้พัฒนาได้ โดยที่ผู้พัฒนาหรือผู้ขายมักจะออกแบบเงื่อนไขของการใช้งานให้กับผู้ซื้อว่าจะให้นำไปใช้ทำอะไร, จำกัดจำนวนผู้ใช้เท่าไหร่ ,ตัดทอนฟีเจอร์อะไรบ้าง หรือถ้าเป็นชุดซอฟต์แวร์ ก็จะมีการจำกัดจำนวนซอฟต์แวร์ที่ให้ใช้ นอกจากนี้แต่ละไลเซนส์ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันไป และแน่นอนว่าไม่สามารถทำซ้ำ หรือแจกจ่ายได้
สำหรับตัวอย่างที่เราเห็นก็มีอยู่ในซอฟต์แวร์ดังๆ เช่น สินค้า Microsoft อย่าง โปรแกรม Microsoft 365 และ ระบบปฏิบัติการ Windows ซึ่งซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์เหล่านี้มักทำออกมาขายเป็นแพ็กเกจสำเร็จรูป
และอย่างพวก โปรแกรมขายหน้าร้าน (POS Software) หรือ โปรแกรมบัญชี (Accounting Software) หรือโปรแกรมบริหารจัดการฐานข้อมูล (Database Management Software) และโปรแกรมบริหารจัดการเครื่องลูกข่าย (Desktop Management Software) ก็ถือเป็นซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ เช่นกัน
ซึ่งซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ จริง ๆ ก็คือซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์ เป็นชื่อเรียกที่ใช้เรียกต่างกันไปแล้วแต่บริษัท อย่างที่ Microsoft เองก็เรียกซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์ ของตัวเองว่าเป็นซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ เพื่ออธิบายถึงโมเดลธุรกิจซอฟต์แวร์ของตัวเองว่าเป็นการจัดทำเพื่อเชิงพาณิชย์นั่นเอง
4.Demo (ซอฟต์แวร์ทดลองใช้)
คือ ซอฟต์แวร์ที่ให้ทดลองใช้ ไม่จำกัดเวลา แต่ฟังก์ชันบางอย่างจะถูกปิดเอาไว้ ก่อนเราจะซื้อตัวเต็มมาใช้ ซึ่งในเวอร์ชัน Demo จะไม่จำกัดฟังก์ชันการใช้งานที่น่าเกลียดเกินไป เรายังสามารถใช้ฟังก์ชันหลักๆ ของโปรแกรมได้ไม่จำกัด เช่นพวก โปรแกรมจำลองไดร์ฟ Daemon Tool หรือโปรแกรมจำลอง Drive แผ่น DVD/CD เป็นต้น
แต่ถ้า Demo มาในรูปแบบของเกม ก็จะถูกจำกัดในเรื่องของด่านเอาไว้ เช่นเกมนี้มี 10 ด่าน แต่ตัว Demo อาจจะออกมาให้เล่นเรียกน้ำย่อยกันก่อนแค่ 2 ด่านแรก และถ้าอยากเล่นด่านที่เหลืออีก 8 ด่าน ก็ต้องเสียเงินซื้อเกมตัวจริง เป็นต้น
5.Freeware (ซอฟต์แวร์เสรี)
คือ ซอฟต์แวร์ที่ให้ดาวน์โหลดฟรี ซึ่งผู้ใช้ไม่ได้รับอนุญาตให้ดัดแปลง แก้ไข หรือนำไปขายเพื่อหากำไร แต่ส่วนมากผู้พัฒนามักทำ Freeware ออกมาคู่ขนานกับซอฟต์แวร์ตัวเดียวกับที่เป็น เวอร์ชันเสียเงิน พูดง่ายๆ ก็คือ ทำมาล่อให้เราติดใจเพื่อจ่ายเงินซื้อของที่ดีกว่าหลายเท่าตัว โดยเรามักเห็นได้ในพวกโปรแกรม แอนตี้ไวรัส หรือ โปรแกรมดูหนังฟังเพลง GOM Player หรืออื่นๆ
6.Shareware (ซอฟต์แวร์ทดลองใช้อีกรูปแบบ)
คือ โปรแกรมที่ผู้พัฒนา สามารถแจกจ่ายได้ทั่วไป เป็นซอฟต์แวร์ที่ก้ำกึ่งระหว่าง Freeware และ Commercial อาจจะคล้ายกับ Demo คือให้ใช้ได้ฟรี แต่จะมีเงื่อนไขเรื่องระยะเวลา เช่น 15 วัน หรือ 30 วัน และบางซอฟต์แวร์อาจมีจำนวนฟังก์ชันที่ไม่ครบ และอาจจะมีโฆษณาเข้ามากวนใจด้วย
ซึ่งถ้าอยากจะใช้แบบไม่ติดเงื่อนไข ก็ต้องซื้อตัวเต็ม ส่วนมากจะพบเห็นได้ในโปรแกรม อย่าง โปรแกรมดูหนัง PowerDVD หรือ โปรแกรมช่วยดาวน์โหลด Internet Download Manager (IDM) จุดสังเกตที่เราดูได้ว่าเป็น Shareware คือหน้าดาวน์โหลด ผู้พัฒนามักเขียนไว้ว่า Trial Free (หรือ Trial Version) ซึ่งก็แสดงว่าเป็น Shareware ไม่ใช่ Demo ที่จำกัดฟีเจอร์
7.Open-Source Software (ซอฟต์แวร์เปิดเผยซอร์สโค้ด)
คือ ซอฟต์แวร์ที่อนุญาตให้ใช้งานได้ฟรีเช่นเดียวกับ Freeware แต่จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถ ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ซอร์สโค้ดของโปรแกรมได้อย่างอิสระ จะเอาไปต้มยำทำแกงอะไรก็ได้ เช่น นำโค้ดไปสร้างโปรแกรมใหม่อีกโปรแกรมหนึ่งและแจกจ่ายหรือขายต่อ เป็นต้น (ระบบ Android ก็เป็น Open Source)
แต่ทั้งนี้การนำไปเสริมแต่ง และใช้งานต้องอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตเดียวกันกับซอฟต์แวร์ต้นฉบับ เพราะซอฟต์แวร์ประเภทนี้มักมีองค์กรคอยควบคุม ในการรวบรวมพัฒนาการที่ผู้ใช้ทำเอาไว้ และจับมารวมกันเป็นเวอร์ชันใหม่ นั่นเอง เขาก็ไม่ได้ปล่อยให้ใช้ตามใจชอบทุกอย่าง
ตัวอย่างของ Open Source Software ที่เราเห็นคือ ระบบปฏิบัติการ Linux หรือ โปรแกรมบีบอัดไฟล์ 7-Zip และ โปรแกรมรับส่งไฟล์ FileZilla เป็นต้น
สุดท้ายแล้วการทำความเข้าใจเรื่องของสัญญาอนุญาตซอฟต์แวร์ เชื่อว่าหลายคน คงสับสนกันอยู่มากมาย เพราะเรื่องของกฎหมายมีความซับซ้อนและมีข้อกำหนดที่ละเอียดยิบย่อยเต็มไปหมด แต่อย่างน้อยวันนี้ก็หวังว่าทุกคนจะสามารถทำความเข้าใจกับซอฟต์แวร์ที่ตัวเองใช้อยู่ได้บ้าง ว่าตอนนี้ใครใช้ซอฟต์แวร์อะไรอยู่ และซอฟต์แวร์ของทุกคนที่ใช้อยู่นั้น ตรงตามเงื่อนไขสัญญาอนุญาตที่ผู้พัฒนากำหนดไว้ให้หรือเปล่า
ที่มา
thaiware.com
www.kodefix.com/software-license
Fanpage :
www.facebook.com/KODEFIXThailand
Blockdit :
www.blockdit.com/kodefix
Blogger :
kodefix.blogspot.com
Website :
www.kodefix.com
=========================
ให้คำปรึกษา แจ้งซ่อม ผ่าน Line OA ได้ที่ : @kodefixth
หรือคลิก :
https://lin.ee/68GuhTJ
=========================
ธุรกิจ
พัฒนาตัวเอง
cryptocurrency
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย