Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ท
ทฤษฎีมีที่มา THE THEORY
•
ติดตาม
24 ส.ค. 2022 เวลา 09:03 • การศึกษา
ทฤษฎีการตกเป็นเหยื่อ ๒ Theories of Victimization
ทฤษฎีการตกเป็นเหยื่อ ๒ Theories of Victimization
ทฤษฎีการตกเป็นเหยื่อ เมื่อลองศึกษาค้นคว้าก็พบว่าในวิชาอาชญาวิทยามีหมวดวิชาย่อย เรื่องเหยื่อวิทยา(Victimology) ซึ่งเป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับการตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม ผลกระทบทางจิตวิทยาที่ส่งผลต่อเหยื่อ ความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อและผู้กระทำความผิด และปฏิสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อกับขบวนการทางสังคม
ในยุคแรกของการศึกษาเหยื่อวิทยา นักวิชาการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่ออาชญากรรมกับผู้กระทำความผิดเป็นส่วนใหญ่ เพราะเชื่อว่าเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาอาชญากรรม โดยมิได้สนใจศึกษาการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับเหยื่อและละเลยผู้ตกเป็นเหยื่อที่ควรจะได้รับการเยียวยา แก้ไขฟื้นฟูจิตใจ หรือการศึกษาถึงสาเหตุของอาชญากรรม
ผู้บุกเบิกวิชาเหยื่อวิทยาคือ เบนจามิน เมนเดลซอห์น (Benjamin Mendelsohn) ที่ได้ให้ความหมายของ Victimology ไว้ว่าคือการศึกษาทางวิทยาศาสตร์อันเกี่ยวกับเหยื่อทุกประเภทและเสนอแนวคิดว่าเหยื่อเป็นผลผลิตของโครงสร้างทางสังคม การเมือง เทคโนโลยีสมัยใหม่ และอุบัติภัยต่างๆ
ต่อมา ฮานส์ ฟอน เฮนติก (Hans von Hentig) ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของวิชาเหยื่อวิทยา ได้กำหนดขอบเขตของความหมายคำว่าเหยื่อวิทยาให้แคบลง โดยจำกัดความเฉพาะว่าเป็นเหยื่ออาชญากรรม ในการศึกษาของเขานั้นเน้นไปที่ผู้ตกเป็นเหยื่อ การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ เขาเริ่มจากการตั้งสมมติฐานว่า ด้วยเหตุอันใดถึงทำให้บุคคลตกเป็นเหยื่อ และทำการศึกษาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากอาชญกรรมต่างๆ
ผลการศึกษา (1941) ของเขาพบว่าเหยื่อมักจะเป็นผู้มีส่วนทำให้เกิดการกระทำความผิด หรือเป็นผู้ริเริ่มให้เกิดการกระทำความผิด หลังจากนั้น สตีเฟน ชาร์เฟอร์ (Stephen Schafer) ได้นำผลงานของนักวิชาการทั้งสองกลับมานำเสนอ อีกครั้งในผลงานของเขาที่ชื่อว่าเหยื่ออาชญากรรมกับผู้กระทำผิด (the Victim and His Criminal) โดยสตีเฟนได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบของเหยื่อในการเกิดอาชญากรรม
ต่อมาได้มีนักวิชาการหลายท่านได้เสนองานวิจัยที่มีผลการศึกษาไปในทิศทางเดียวกับพวกเขา อย่างเช่นในปี 1958 วิน อี โวลฟ์แกง (Marvin E. Wolfgang) ได้นำเสนอผลงานการศึกษาคดีฆ่าคนตายจากข้อมูลจริงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับรายงานในเมืองฟิลาเดลเฟียในช่วงปี 1948-1952 การศึกษาคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเหยื่อเป็นผู้เริ่มต้นการกระทำก่อน จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงและเป็นผลให้เหยื่อเสียชีวิตในเวลาต่อมา
การศึกษาของโวลฟ์แกง ทำให้เมนาเคม อามีร์ (Menachem Amir) สนใจและทำการศึกษา รูปแบบการข่มขืนโดยใช้กำลัง จากคดีข่มขืนที่เกิดขึ้นในเมืองฟิลาเดลเฟียระหว่างปี 1958-1960 โดยใช้การรวบรวมข้อมูลของเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นเดียวกัน
อามีร์ได้นำข้อมูลจากสำนวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาวิเคราะห์และสรุปผลการศึกษาได้ว่าร้อยละ 19 ของคดีข่มขืนเกิดจากเหยื่อเป็นผู้กระตุ้นให้เกิด การข่มขืนเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่เหยื่อตกลงจะมีความสัมพันธ์ทางเพศด้วย แต่ก่อนที่จะมีการกระทำเกิดขึ้นจริงเหยื่อได้เปลี่ยนใจไม่ยินยอม หรือมิได้มีการต่อต้านขัดขืนอย่างเพียงพอ
นอกจากนี้คดีข่มขืนยังเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงจากการถูกกระทำทางเพศ โดยเฉพาะการแต่งกาย การใช้วาจา และท่าทางที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจว่าเป็นการเชิญชวนให้มีความสัมพันธ์ทางเพศด้วย
ตอนเขียนเรื่องนี้ เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมขึ้นในหัวใจ ถึงแม้การศึกษาหรือผลงานทางวิชาการส่วนใหญ่จะนำเสนอว่าเหยื่อเป็นส่วนหนี่งที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมแต่เรากลับคิดว่าไม่มีใครหรอกที่อยากจะตกเป็นเหยื่อ และก็ไม่ใช่ทุกคนหรอกนะที่จะเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดอาชญากรรมกับตนเอง ทฤษฎีมีที่มาให้ครั้งถัดไปจะนำเสนอเกี่ยวกับทฤษฎีที่จะมาสนับสนุนทฤษฎีการตกเป็นเหยื่ออย่าง ทฤษฎีกิจวัตรประจำวัน ทฤษฎีการมีส่วนร่วมของเหยื่อ และทฤษฎีรูปแบบของวิถีชีวิต
ที่มา :
พัฒนาการของวิชาเหยื่อวิทยา : การศึกษาเหยื่ออาชญากรรม
พิสิฐ ระฆังวงษ์.2561.การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพมหานคร
ทัศนีย์ แสวงสุข.2552.การสร้างความปรองดองในครอบครัวโดยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ : ศึกษาในกรณีความรุนแรงในครอบครัว
แนวคิด
หนังสือ
ความรู้รอบตัว
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย