26 ส.ค. 2022 เวลา 02:00 • การตลาด
คอนเทนต์แนว #ล้อเลียนเสียดสีสังคม อาจไม่ตลกหรือคูลเสมอไป ชวนรู้ผลลัพธ์เชิงลบของการเสียดสีในทางจิตวิทยา ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจคนดูมากกว่าที่คิด!
คอนเทนต์แนว #ล้อเลียนเสียดสีสังคม อาจไม่ตลกหรือคูลเสมอไป
ร้อนแรงเขย่าทวิตเตอร์! กับดราม่าโฆษณาไทยชิ้นหนึ่งที่สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลอย่างดุเดือด โดยเนื้อหาในโฆษณาชิ้นนี้เป็นเรื่องราวการเสียดสีสังคมและพฤติกรรมคนยุคใหม่ ผ่านการล้อเลียนรายการออกกำลังกายที่นำเสนอท่าบริหารร่างกายให้แก่หนุ่มสาววัยทำงาน แต่เมื่อมีคอมเมนต์บอกว่าท่ายากเกินไป ก็มีการล้อเลียนเสียดสีว่าให้เปลี่ยนมาเป็นท่ากอดเข่าก้มหน้าร้องไห้ หรือท่านอนคว่ำแล้วหยิบมือถือมาไถฟีดเพื่อช้อปปิ้งออนไลน์แทน
อีกทั้งตลอดความยาว 3 นาทีกว่าๆ ของภาพยนตร์โฆษณาชิ้นนี้ ยังสอดแทรกประเด็นเสียดสีพฤติกรรมคนไทยในมุมอื่นๆ ด้วย ซึ่งจี้จุดคนดูอย่างตรงไปตรงมาสุดๆ จนทำเอาหลายคนเป็นต้องสะอึก
นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ของชาวเน็ตในทำนองว่าเป็นคอนเทนต์ที่อาจไม่ได้ให้อะไรคนดู นอกจากลดทอนจิตใจ หรือเป็นเพียงเทรนด์คอนเทนต์สนุกๆ มากกว่าจะช่วยให้ผู้คนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างคอมเมนต์ของชาวเน็ตบางข้อความ เช่น
📌“เป็นคอนเทนต์ที่ใจร้ายมากเลย ไม่ใช่ว่าทุกคนจะชอบการเสริมแรงทางลบนะ หรือการล้อเลียนและตำหนิ ลองทำคอนเทนต์ในทางบวก ลองเปลี่ยนความคิดตั้งแต่คนเขียนบทนะ”
📌“มันก็เป็นเรื่องจริงในชีวิตของใครหลายคน แต่สิ่งที่สื่อออกมาคือยังไง อาจจะคิดว่าการพูดตรงๆ เป็นความหวังดีแต่
คนเรามีการรับมือกับผลกระทบไม่เหมือนกัน ให้คนอื่นๆ เห็นโฆษณานี้แบบไม่มีคำเตือน มันไม่ใจร้ายไปเหรอ”
📌“ดูจนจบก็ยังไม่เข้าใจเลยว่าจะสื่ออะไร ขนาดตัวเองรีเลทกับเนื้อหาบางอย่างในคลิป แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าคลิปนี้มันจะช่วยผลักดันไปทางไหนได้เลย เหมือนตอกย้ำเฉยๆ”
ทั้งนี้ โฆษณาชิ้นนี้ไม่ใช่กรณีแรกที่ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองดังกล่าว แต่ที่ผ่านมาในสังคมไทยมีคอนเทนต์ลักษณะเสียดสีสังคมมานานแล้ว บ้างก็ให้ผลไปในทางที่ดี บ้างก็เรียกเสียงหัวเราะ บ้างก็เกิดกระแสดราม่าในทางลบ
อย่างไรก็ตาม.. ประเด็นสำคัญน่าจะขึ้นอยู่กับ “ความพอดี” ในการใส่มุกเสียดสีประชดประชันลงไปในคอนเทนต์ เพราะคนดูหลายคนเมื่อดูคอนเทนต์ลักษณะนี้แล้ว อาจไม่ได้รู้สึกว่ามันตลกเสมอไป!
ยืนยันจากข้อคิดเห็นของ Dr. Clifford N. Lazarus นักจิตวิทยาบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันจิตวิทยาบำบัดลาซารัส (The Lazarus Institute) ในสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่า “การเสียดสี คือ ความเกลียดชังที่ปลอมตัวเป็นอารมณ์ขัน”
โดยคำว่า “Sarcasm” (การเสียดสีประชดประชัน) มาจากคำภาษากรีกที่ว่า “Sarkazein” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ฉีกทึ้งหรือการฉีกขาดของนื้อหนัง” ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่การเสียดสีมักทำให้คนฟังรู้สึกเจ็บปวด
ขณะที่ Sarah Swenson นักจิตอายุรเวท และที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตที่ได้รับอนุญาต (LMHC) ในเมืองซีแอตเทิล วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ก็ได้ให้นิยามคนที่มีพฤติกรรมของการเสียดสีไว้ว่า มันคือ Passive-Aggressive ชนิดหนึ่ง ซึ่งคนที่มีพฤติกรรมประชดประชันเหล่านี้ มักจะพูดหรือสื่อสารต่อผู้อื่นด้วยท่าทีที่เป็นกลาง ดูผิวเผินแล้วก็เหมือนไม่มีอะไร แต่สิ่งที่อยู่ข้างใต้คำพูดนั้น มักแฝงความหมายชั้นที่สองที่มีความก้าวร้าวเอาไว้
แม้ว่าบางคน (หรือคอนเทนต์บางอย่าง) จะอ้างว่าการที่พูดหรือนำเสนอเรื่องราวในเชิงประชดประชันนั้น มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความตลก-ความสนุกสนาน แต่รู้หรือไม่? ในมุมของผู้รับสารกลับทำให้รู้สึกหดหู่ รู้สึกกำลังโดนถากถาง และทำให้ดูเป็นคนงี่เง่า
ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากการกระทำเป็นตัวกำหนดความคิดและความรู้สึก เมื่อบุคคลหรือคอนเทนต์ใดๆ แสดงท่าทีหรือถ่ายทอดเรื่องราวที่ใส่ความประชดประชันอย่างต่อเนื่อง การกระทำดังกล่าวก็จะยิ่งเพิ่มความเกลียดชังให้แผ่ขยายออกมามากขึ้น และท้ายที่สุดมันก็จะนำไปสู่การกลั่นแกล้งอีกรูปแบบหนึ่ง (Bully) ที่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อผู้อื่นได้
ในทางกลับกัน เมื่อคนๆ หนึ่ง หรือคอนเทนต์ใดๆ หยุดการถ่ายทอดเรื่องราวในเชิงเสียดสีประชดประชัน แต่ใช้วิธีอื่นๆ ในการสื่อสาร มันจะทำให้คนฟังหรือผู้รับสารรู้สึกมีความสุขได้มากกว่า และช่วยเสริมพลังในด้านบวกได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า “การเสียดสี” ทั้งหมดนั้นไม่ดี แต่มันอาจจะดีกว่าถ้าใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ใช้มากจนเกินไป ยกตัวอย่างเช่น การใช้ไหวพริบในเชิงประชดประชันเป็นครั้งคราวสามารถเติมสีสันและเพิ่มอารมณ์ขันให้การพูดคุยสื่อสารได้ แต่การเสียดสีที่ดูจริงจังให้มากเกินพอดี มักจะครอบงำอารมณ์ของการสื่อสารทั้งหมดและอาจทำให้ผู้รับสารรู้สึกขมขื่นในจิตใจได้
ทางออกที่ดีที่สุดของเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่การ #ลดทอนการเสียดสีให้น้อยลง แล้วใช้ไหวพริบอันชาญฉลาดมาสื่อสารแทน ซึ่งการสื่อสารที่ชาญฉลาดนั้นมักเป็นการสื่อสารปราศจากความเป็นปรปักษ์ ทำให้ผู้รับสารรู้สึกชื่นชมมากขึ้น
โดยพื้นฐานแล้ว การเสียดสีนั้นทำได้ง่าย (เช่นเดียวกับการแสดงความโกรธ การวิจารณ์ และความหยาบคาย) ในขณะที่ความเฉลียวฉลาดที่แท้จริงและไม่เป็นอันตรายนั้น ต้องใช้พรสวรรค์!
ดังนั้น หากดูเหตุผลในทางจิตวิทยาดังข้างต้นคงพอสรุปได้ว่า การสร้างคอนเทนต์สุดคูลให้ผู้คนจดจำ ไม่จำเป็นต้องใส่การเสียดสีประชดประชันลงไปในเนื้อหาเสมอไป แต่หัวใจหลักของการสื่อสารน่าจะอยู่ที่การมีเจตคติที่ดี มุ่งให้ประโยชน์​และสาระแก่คนดูด้วยการเลือกใช้คำพูดที่มีไหวพริบ สร้างอารมณ์ขันอย่างเปิดเผย ด้วยเจตนาไม่เป็นอันตรายต่อทุกคนในสังคม
อ้างอิง :
psychologytoday https://bit.ly/2ALt2z2
กราฟิก : วิชัย นาคสุวรรณ
โฆษณา