24 ส.ค. 2022 เวลา 13:00 • สิ่งแวดล้อม
หายนะโลก ภาวะเรือนกระจก ห่าฝน คลื่นความร้อน อีก 40 ปี มนุษย์อาจอยู่ไม่ได้?
เชื่อว่าเวลานี้หลายๆ คนอาจจะคิดแบบเดียวกับผู้เขียนคือ อากาศบ้านเรามันร้อนขึ้น เวลาฝนตกหนัก ก็มาแบบหนักเสียเหลือเกิน... ซึ่งความจริง คือ คุณคิดถูกแล้ว เพราะเวลานี้ถือว่าโลกเราเข้าใกล้วิกฤติเต็มทีแล้ว...
ปัญหาที่เกิดขึ้น ฝนตกหนัก ภาวะคลื่นความร้อน มาจากเรื่องใกล้ตัวที่เรียกว่า “ภาวะเรือนกระจก” หรือ Greenhouse effect ที่มาจากปัญหาโลกร้อน
เราไม่ได้เพิ่งเผชิญปัญหาโลกร้อน แต่ปัญหาโลกร้อนมันเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น และเป็นผลสะท้อนเกิดภัยธรรมชาติมากมาย ที่ล้วนมาจาก “ฝีมือมนุษย์” ทั้งสิ้น
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสคุยกับ นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) “TEAMG” หรือทีมกรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการน้ำ
และติดตามปัญหาโลกร้อนมาหลายสิบปี ได้สรุปข้อมูลที่น่าสนใจในรอบ 1 ปี ดังนี้
• 1 ปี หายนะโลก จากภาวะ Greenhouse Effect
17 ก.ค. 64 เบลเยียม : เกิดฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก ภัยพิบัติหนักในรอบ 50 ปี เสียชีวิตมากกว่า 100 ศพ
20 ก.ค. 64 เมืองเจิ้งโจว ประเทศจีน ฝนตกหนัก 1 ชั่วโมง มีปริมาณฝน 201 มิลลิเมตร รวม 3 วัน 617 มิลลิเมตร หายนะนี้หลายคนตั้งฉายาให้เป็นฝนพันปี แต่ความจริงก็ไม่ถึงขั้นนั้น แต่ก็เรียกว่าหายนะในรอบ 100 ปี ก็ว่าได้...
1-2 ก.ย. 64 รัฐลุยเซียนา สหรัฐฯ : พายุเฮอริเคน ไอด้า ที่สหรัฐฯ ทำให้บ้านเรือนเสียหายกว่า 1 ล้านหลัง
22 พ.ย. 64 บริติชโคลัมเบีย แคนาดา : ฝนตกหนัก 600 มิลลิเมตร น้ำป่าไหลหลาก หายนะในรอบ 100 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ 5 เดือนเจอคลื่นความร้อน (สาเหตุจากคลื่นความชื้นในทะเล ประกอบกับภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ทำให้มีการยกตัว และเกิดฝนตกหนักในเมือง)
8-10 ส.ค. กรุงโซล เกาหลีใต้ : ฝนตกหนัก 525 มิลลิเมตร หนักที่สุดรอบ 80 ปี
15-17 ส.ค. เมืองเนลสัน นิวซีแลนด์ : อิทธิพลจากพายุโซนร้อน ฝนตกหนักในรอบ 100 ปี
นี่ยังไม่รวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยฝนตกหนักที่สุด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2564 เคยเกิดฝนตกหนักที่สุด ที่ อ.คลองใหญ่ จ.ตาก 643 มิลลิเมตร ใน 24 ชั่วโมง ในขณะที่ อ.สิชล จ.สุราษฎร์ธานี เคยเกิดฝนตกหนักถึง 300 มิลลิเมตร
• ผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจก โลกร้อน ฝนตกหนัก และจะหนักมากขึ้นเรื่อยๆ
นายชวลิต กล่าวว่า ก๊าซเรือนกระจก มีส่วนประกอบหลักมาจาก คาร์บอนไดออกไซค์ (Co2) 75% ก๊าซมีเทน (CH4) 16% และอีก 9% มาจากก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) และอื่นๆ
ผลกระทบที่เกิดขึ้น จากภาวะเรือนกระจก นักวิทยาศาสตร์ของโลก จากการประชุม COP26 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้วได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและน่าตกใจว่า หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ โอกาสที่มนุษย์จะอาศัยบนผิวโลกไม่ได้อาจจะเร็วขึ้น จาก 80 ปี ในปี ค.ศ. 2100 จะเร็วขึ้น 40 ปี เป็นปี ค.ศ. 2060
เวลานี้ชั้นบรรยากาศโลก มีภาวะเรือนกระจกที่ 411 PPM ซึ่งภาวะเรือนกระจกที่คนจะอาศัยอยู่บนผิวโลกได้ ต้องไม่เกิน 478 PPM ซึ่งค่าวัดดังกล่าว ถือว่าอยู่ไม่ไกลแล้ว เรียกว่าตอนนี้ถึง “ขอบๆ” แล้ว
สิ่งที่เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นในเวลานี้ คือ ฝนตกหนัก และจะหนักขึ้นและถี่ขึ้น นอกจากนี้ ยังมีภาวะ “คลื่นความร้อน” ที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ
โดยที่ผ่านมา เกิดคลื่นความร้อนจากแอฟริกา ส่งไปถึงประเทศอิตาลี กรีซ สเปน จนมาถึงประเทศอังกฤษ สำหรับประเทศสเปนถือว่าหนัก เพราะมีคนเสียชีวิต มากกว่า 500 ศพ ในการเผชิญความร้อนอุณภูมิสูงถึง 42 องศาเซลเซียส ส่วนที่อังกฤษยังดี ที่เจอความร้อนไม่ถึง 40 องศา แต่แค่ 38 องศา เขาก็หนักแล้ว ทำให้คนที่สูงอายุถึงขั้นเสียชีวิต
ขณะที่ “นิวซีแลนด์” เจอคลื่นความร้อน และอีก 2 สัปดาห์ ก็เจอฝนตกหนัก เรียกว่าเป็นอะไรที่โหดร้ายมาก
ขณะที่ กรุงเทพฯ ของเรา ก็โดนไปเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ฝนตกหนักตั้งแต่ 6 โมงเย็น ไปหยุดตอนตี 1 โดยมีประมาณฝนสูงถึง 180 มิลลิเมตร
• นอกจากฝนตกหนักแล้ว กทม. อาจจะเจอปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง...
กูรูด้านการจัดการน้ำ บอกว่า ถ้าใครสังเกต ก็จะทราบว่าปัจจุบัน “น้ำทะเลหนุน” ก็เริ่มจะถี่ขึ้น โดยในวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็หนุนสูง และจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ในวันนี้ ( 24 ส.ค.) ถึงวันที่ 27 ส.ค. (พระจันทร์เต็มดวง) ซึ่ง กทม. ก็เริ่มเตือนอีกครั้ง โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำ หรือบางพื้นที่ที่เป็นฟันหลอ
เนื่องจากคนในพื้นที่ต่อต้านไม่ให้ทำ เพราะกลัวเสียทัศนียภาพ ซึ่งเวลานี้ ต้องนำกระสอบทรายไปปิดกั้นได้แล้ว แต่ยังดีคือ น้ำทะเลหนุนสูงครั้งนี้ไม่เท่ากับวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยจะหนุนที่ประมาณ 2.10 เมตร เมื่อเทียบกับคันกั้นน้ำที่มีความสูง 2.5 เมตร
สิ่งที่ ลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวในงาน COP26 ว่า ปัญหาในเวลานี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดา ถึงเวลาที่ต้องต้อง “ชักธงแดง” ขึ้นแล้ว และได้กล่าวเตือนไปยังนานาชาติ ให้ร่วมกันลดปัญหาเรือนกระจกนี้
นายชวลิต กล่าวในช่วงท้ายว่า สิ่งที่ต้องทำเวลานี้ คือ การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไปสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ด้วยการใช้รถยนต์ให้น้อยลง เพราะการเผาไหม้ของน้ำมัน ส่งผลให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ ลดใช้ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ จากการประหยัดไฟฟ้า ประปา เพราะกระบวนการผลิตไฟฟ้า ใช้ถ่านหินจำนวนมาก
ส่วนการผลิตประปา ก็ใช้ไฟฟ้าจำนวนมากในการสูบน้ำ หรือบางขั้นตอนอาจจะมีการใช้ถ่านหินด้วย นอกจากนี้ สิ่งที่ควรทำ คือ การลดปัญหาขยะ ประเทศไทย มีค่าเฉลี่ยต่อหัวในการก่อขยะมูลฝอยเป็นอันดับ 7 ของโลก และยิ่งช่วงโควิดที่ผ่านมา ขยะก็ยิ่งเพิ่ม ก็ยิ่งเสียพลังงานเพื่อกำจัดมากขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา เพราะหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ อุณหภูมิของโลก จะร้อนขึ้นเรื่อยๆ และอาจจะร้อนกว่าสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม ปี ค.ศ. 1880 ซึ่งจะร้อนเพิ่มขึ้นกว่าปกติ 1.5 องศาเซลเซียส
แค่เวลานี้ ปริมาณฝนตก ก็เพิ่มขึ้นจากสมัยก่อนแล้ว 7% และมีโอกาสตกบ่อยขึ้นอีก 10% หมายความว่า ฝนที่ควรตกปกติ 100 มิลลิเมตร ฝนก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 107 มิลลิเมตร และปีนี้มีโอกาสฝนตกหนัก 10 วัน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 11 วัน
นอกจากนี้ ยังมีภาวะแล้ง และน้ำทะเลหนุนสูงอีก ซึ่งปกติแล้ว น้ำทะเลจะหนุนเพิ่มขึ้นปีละ 3.3 มิลลิเมตร ดังนั้น ในประเทศไทยในอีก 40 ปี ก็อาจจะหนุนสูงขึ้นอีก 6-7 เซนติเมตร
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : Anon Chantanant
👇อ่านบทความเพิ่มเติม👇
โฆษณา