24 ส.ค. 2022 เวลา 14:47 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ระลึกถึงสมบัติ เมทะนี
ชุมแพ (2519)
โคตรหนังบู๊ภูธร
ผลงานการสร้างของสันติสุชาภาพยนตร์ มีจรัล พรหมรังษีเป็นผู้กำกับ ถือว่าเป็นหนังไทยเรื่องสำคัญที่คนไทยควรดู และฉากคลาสสิคเป็นที่จดจำมากที่สุดคือฉากการต่อสู้บนหลังคารถประจำทางระหว่างดามพ์ ดัสกรดาวร้ายตลอดกาลที่รับบทเป็น ภู น้ำพอง และลักษณ์ อภิชาติ ราชาหนังบู๊ในบทดอน ผู้ร้ายกลับใจ ผมได้ดูชุมแพหลายรอบมากจากเด็กๆที่ดูจากหนังกลางแปลง ซึ่งต้องยอมรับว่าจำได้แค่ฉากเดียวคือฉากการต่อสู้บนหนังคารถประจำทางเท่านั้น มาจนถึงในยุคม้วนวิดีโอจึงได้มีโอกาสย้อนกลับมารำลึก แต่ก็ยังจำได้แค่ฉากเดียวเช่นเดิม
จนล่าสุดได้มีโอกาสกลับมาดูอีกครั้งอย่างพินิจพิจารณา “ชุมแพ” สมควรเป็นหนังไทยที่คนไทยควรได้ดูอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์หนังไทย เพราะคุณภาพของหนังชุมแพที่เหลืออยู่ถึงปัจจุบันนั้น ถือได้ว่ามีความสมบูรณ์มากทั้งสภาพของหนัง หรือเนื้อหาของหนังที่เป็นเสมือนตัวแทนของหนังในยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะในกลุ่มหนังประเภท “ระเบิดภูเขา เผากระท่อม” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “หนังบู๊ภูธร” ที่มีการสร้างออกมามากนับหลายร้อยเรื่องในช่วงเวลาที่ประเทศไทยยังมีภัยจากการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
ชุมแพสร้างจากนิยายของศักดิ์ สุริยา ซึ่งเป็นนามปากกาของฉัตร บุณยศิริชัย นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ที่มักเขียนเรื่องราวของพระเอกจอมโจรปราบผู้ร้าย ในชุมแพก็เช่นกันเป็นเรื่องของเพิก ชุมแพ ที่กลับมายังอำเภอชุมแพเพื่อล้างแค้นให้กับพ่อที่ถูกพวกของจ่าถม นิยมไถฆ่าตาย ด้วยวิธีตาต่อตาฟันต่อฟัน กลายเป็นเสือเพิกที่ทุกคนครั่นคราม ขณะที่ผู้กองไชโยตำรวจมือปราบประจำพื้นที่ก็คอยตามจับทั้งเสือเพิกและปราบปรามธุรกิจผิดกฎหมายของจ่าถม
ความน่าศึกษาของ ชุมแพ อยู่ที่ความเป็นตัวแทนของยุคสมัยในกลุ่มหนังกระแสหลักของไทยในช่วงเวลาหนึ่ง หนังเปิดเรื่องด้วยรถเมล์กำลังเทียบท่า สมบัติ เมทะนีในบทเพิก ชุมแพ เดินลงมาจากรถเมล์ด้วยเสียงผิวปากเหมือนหนังคาวบอย ขณะที่ลูกน้องเจ้าพ่อนั่งกินกาแฟคอยหาเรื่องที่ท่ารถประจำทาง พร้อมกันกับเสียงเพลงประกอบดังขึ้นด้วยคำร้องทำนองที่ว่า
“เขาเป็นใคร มาจากไหน............ไม่มีใครรู้” แล้วจบฉากแรกด้วยผู้ร้ายนักเลงถูกเตะถูกถีบไปตามระเบียบ
ผมยอมรับเลยว่าตอนดูรอบนี้ต้องตบมือซี๊ดปากเลยทีเดียว ฉากแบบนี้เราเห็นมามากในหนังระเบิดภูเขา เผากระท่อม แต่พอมาดูอีกทีใน พ.ศ. นี้มันกลับให้ความรู้สึกที่แปลกออกไป และกลับเห็นความงดงามในรูปแบบหนังภูธรจริงๆ
เสน่ห์อีกแบบหนึ่งในหนังไทยทำนองนี้คือการเล่าเรื่องแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมาก นางเอก นางรองเวลาเจอบทเข้าพระเข้านางถูกจูบนี่ตัวอ่อนระทวยกันไปหมด หรือผู้ร้าย ลูกสมุนก็จะมีความสัมพันธ์แบบนายบ่าวชั้นเดียว ไม่ได้มีมิติความลึก แต่กลับส่งผลให้เข้าใจง่าย ให้ผู้ชมในยุคนั้นโดยเฉพาะตามภูธรที่เสพความบันเทิงแบบนี้เข้าใจเรื่องราวได้ง่ายๆ
ที่ผมชอบมากๆอีกประการหนึ่งคือการตั้งชื่อตัวละครแต่ละมันให้ความรู้สึกเท่แบบนักเลงจริงๆ ไล่มาอย่างเพิก ชุมพร / ผู้กองไชโย /ภู น้ำพอง /ดอน/ ลุงพลอย /จ่างึม/ ผู้ใหญ่เสือ /พิณ ภูเขียว /แววดาว /ดวงพร หรือผู้ร้ายของเรื่องนี้ผมชอมมาก “จ่าถม นิยมไถ” สมตามพฤติกรรมของแกจริงๆ
หลายๆ ฉากในหนังชุมแพแสดงให้เห็นถึงสภาพของสังคม สภาพการใช้ชีวิตของคนในยุคนั้นๆ ได้แบบไม่น่าเชื่อเช่นกัน เราจะเห็นถึงความเป็นภูธรในทุกส่วนของหนังเลยทีเดียว ทั้งการสัญจรด้วยรถประจำทาง ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกับประชาชน
มีหลายฉากที่อดอมยิ้มไม่ได้คือการนั่งรถเมล์ เพราะนอกจากพระเอกจะมาโดยรถเมล์แล้ว ดาวร้ายของเรื่องอย่าง ภู น้ำพอง(ดามพ์ ดัสกร)เมื่อถูกตามมาจัดการเพิก ชุมแพ เขาก็นั่งรถเมล์มาเช่นกัน (ถ้าเป็นเรื่องจริงผมว่าคนโดยสารในรถคนอื่นๆ คนบอกว่าทั้งไอ้เพิกและภู น้ำพองท่าจะบ้า อากาศก็ร้อน ฝุ่นก็คลุ้ง แต่ดันใส่เสื้อผ้าราวหลุดออกมาจากอีกโลกหนึ่ง แจ็คเก็ตหนาๆ มีผ้าพันคอเข้าไปอีก)
ส่วนจ่าถมเจ้าพ่อคนดังทั้งๆ ที่มีรถเก๋งขับ แกก็ชอบนั่งรถสามล้อถีบเวลาจะไปไหนมาไหน จนลูกน้องร้องถามบ่อยๆว่า “จ่าไม่ขับรถไปเหรอ” จนสุดท้ายก็ถูกจับตัวไปเพราะชอบนั่งสามล้อ ผมคิดว่าเสน่ห์แบบนี้หาได้จากหนังระเบิดภูเข้าเผากระท่อมเท่านั้น
เรามักมีมุกมาล้อเล่นกันถึงทุกวันนี้ว่า “ ผม....เป็นร้อยตำรวจเอกปลอมตัวมา” ส่วนนี้ก็เป็นผลมาจากหนังไทยตระกูลนี้นี่เอง ซึ่งมันเป็นเรื่องของยุคสมัยที่หนังไทยเรายังอยู่ในคมกรรไกรของเจ้าพนักงานเซ็นเซอร์ แล้วมีข้อกำหนดมากมายในการบังคับให้หนังไทยต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะ “ข้อห้าม” สำคัญ คือ ห้ามแสดงให้เห็นว่าเจ้าพนักงานของรัฐประพฤติชั่ว เป็นผู้ร้าย แล้วก็ห้ามยกย่องพฤติกรรมของผู้ร้ายให้เป็นพระเอก
เราจึงเห็นหนังไทยตระกูลนี้ในตอนจบที่เห็นว่าพระเอกที่ส่วนใหญ่จะทำตัวเป็นนักเลงนอกกฎหมายมีประกาศตัวเป็น ร้อยตำรวจเอกปลอมตัวมา บางทีก็เป็นนายอำเภอปลอมตัวมา
สำหรับในชุมแพก็เช่นกัน ซ้อนกันเข้าไปอีกหลายชั้น ในช่วงไคลแมกซ์ที่ยิงกันหูดับแววดาวซึ่งมาช่วยตำรวจยิงผู้ร้าย ผู้กองไชโยหันมาบอกกับแววดาวขณะหลบห่ากระสุนว่าพอยิงกันจบลงผมจะจับคุณในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา จังหวะนั้นเองผู้กำกับก็พูดโพลงขึ้นมาว่า
“ขอแนะนำให้รู้จักร้อยตำรวจโทหญิงแววดาว จากกองปราบปราม”
ขำไหมครับท่าน กำลังยิงกันจะตายอยู่แล้ว อีกฝ่ายหนึ่งจะจับ ตาท่านผู้กำกับก็มาแนะนำตัว ช่างไม่รู้กาลเทศะเลย 555
ยังไม่นับรวมเพิก ชุมแพ ที่ตอนท้ายก็คือนายอำเภอคนใหม่ปลอมตัวมา
สำหรับคุณวิสันต์ สันติสุชา นั้น พื้นเพเดิมทำธุรกิจร้านทอง แล้วได้รับการชักชวนเป็นนายทุนทำหนังไทยในยุค 16 มม. แต่พอมาเป็นหนังในยุค 35 มม. ก็ได้ตั้งสันติสุชาภาพยนตร์ขึ้นมา ก่อนหน้าชุมแพก็ได้ทำ คมเคียว(2517) และ ไอ้เหล็กไหล(2518) ออกมา ดังระเบิดทั้งสองเรื่อง ยิ่งพอชุมแพออกฉาย ยิ่งทำให้สันติสุชากลายเป็นค่ายหนังบู๊ภูธรที่สายหนังก็อยากเอาเงินมาให้ทำหนังทั้งนั้น เพราะชุมแพเข้าฉายที่ไหน โรงแทบแตกทุกที่
ต่อมาทางสันติสุชาก็ได้ไปร่วมทุนทำหนังกับชอว์บราเดอร์สด้วยในเรื่องนักสู้ 2 แผ่นดิน ที่มีเดวิด เจียงแสดงนำ รวมถึงหนังไทยเรื่อง “หงส์หยก” ที่ร่วมทุนกับเจริญ พูลวรลักษณ์ มี หมีเซี๊ยะ เป็นนางเอกด้วย
ในส่วนของการสร้างหนังนั้นลิขสิทธิ์นิยายชุมแพอยู่ที่จริงเกชา เปลี่ยนวิถี เพราได้ซื้อลิขสิทธิ์เอาไว้ แต่วิสันต์ชอบนิยายมากจึงติดต่อไปที่เกชา ทั้งคู่คุยกันถูกคอจนเกชามอบให้วิสันต์มาทำหนัง แล้วตนเองก็มาเล่นเป็นจ่าถม นิยมไถ
สำหรับฉากบู๊บนหลังคารถประจำทางอันลื่อลั่นนั้น ถ่ายทำกันที่ช่องเขาขาดสระบุรี โดยคุณจรัลไม่ได้บอกกล่าวกับนักแสดงก่อนว่าจะถ่ายฉากอะไร เพียงแต่เมื่อถึงโลเกชั่นแล้วจึงบอกพร้อมกับเสนอค่าตัวให้กับลักษณ์ อภิชาตและดามพ์ ดัสกรว่าถ้ายินดีเล่นจะให้ค่าตัวคนละหนึ่งแสนบาท ทั้งคู่ยินดีเล่น โดยดามพ์ไม่เอาค่าตัว และลักษณ์ขอแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น
ด้วยองค์ประกอบทั้งหมดที่สมบูรณ์มากๆ ทั้งบทแอกชั่น วิธีการเล่าเรื่อง การนำเสนอ และองค์ประกอบย่อยๆของหนังตระกูลหนังบู๊ภูธร จึงทำให้ชุมแพคืองานคลาสสิคที่คนไทยควรดูจริงๆ
โฆษณา