Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Sal Forest - ป่าสาละ
•
ติดตาม
24 ส.ค. 2022 เวลา 16:34 • สิ่งแวดล้อม
#ข่าวความยั่งยืน เมื่อเหล่ารายงาน ESG แทนที่ความยั่งยืนที่แท้จริงไม่ได้
ผู้นำบริษัททั้งหลายกำลังเผชิญหน้ากับสัญญาณแห่งความขัดแย้งเรื่องความจำเป็นในการจัดทำรายงาน ESG ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล เมื่อเหล่านักการเมืองฝ่ายขวาต่างพากันถล่มนักลงทุน ESG ที่โปรโมทสิ่งที่ตัวเองคิด ว่าเป็นวาระแห่งการตื่นตัว (woke agenda) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) เองก็กำลังหาวิธีจัดการกับผู้จัดการทรัพย์สินต่างๆ เรื่องการฟอก ESG (ESG-washing)
ทว่าในขณะที่ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในรายงาน ESG มากขึ้น ผู้นำองค์กรและนักลงทุนที่สนใจเพียงข้อมูลที่ปรากฏในรายงาน ESG ก็กำลังหลงประเด็น เพราะข้อมูลที่เปิดเผยในรายงาน ESG ควรใช้มาตรวัดจากผลผลิตที่เกิดจากการดำเนินงานเป็นหลัก เช่น บริษัทมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสารเคมีหรือไม่
แต่มาตรการเหล่านี้กลับระบุไว้แบบกว้างๆ ไม่ได้มีการติดตามผลลัพธ์ ทั้งๆ ที่มีข้อแตกต่างมหาศาลระหว่างบริษัทที่มีนโยบายการจัดการสารเคมี กับบริษัทที่ผลิตหมึกย่อยสลายเองได้เพื่อลดของเสียและการใช้น้ำ ซึ่งเป็นธุรกิจที่นำไปสู่โอกาสใหม่ๆ ในทางการค้า
ทุกคนเริ่มเห็นพ้องตรงกันขึ้นเรื่อยๆ ว่าประเด็น ESG มีความสำคัญในการสร้างความยืดหยุ่นต่อการปรับตัวและความสามารถในการแข่งขันขององค์กรในปัจจุบัน งานวิจัยเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนเพื่อความยั่งยืน (return on sustainability investment : ROSI)
ดังที่มีรายงานใน Harvard Business Review แสดงให้เห็นว่า การฝังแก่นเรื่องความยั่งยืนลงไปในกลยุทธ์ทางธุรกิจสามารถสร้าง competitive moat หรือ การคุ้มกันของความได้เปรียบในการแข่งขัน ให้กับผู้นำทางธุรกิจได้ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงาน นวัตกรรม การมีส่วนร่วมของพนักงาน ความยืดหยุ่นต่อการปรับตัวในห่วงโซ่อุปทาน การจัดการความเสี่ยง การเพิ่มยอดขาย และผลประโยชน์เชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ความได้เปรียบทางการแข่งขันในทุกๆ กิจกรรมทางธุรกิจผ่านแนวคิดความยั่งยืนนั้นงอกเงยมาจากกลยุทธ์ที่ดี วัฒนธรรม KPIs และการลงมือทำ การรายงานมาตรฐานต่างๆ ถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย ไม่ใช่ขั้นตอนแรก ดังนั้นทำอย่างไรบริษัทจึงจะไม่ตกหล่มของการเปิดเผยข้อมูล ESG และพัฒนากลยุทธ์ด้านความยั่งยืนอย่างจริงจังเพื่อผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดีขึ้น
แผนและกลยุทธ์ของแต่ละบริษัทย่อมแตกต่างกันไป แต่มีเครื่องมือหรือแนวทางที่มีประโยชน์บางอย่างในการใส่เรื่องความยั่งยืนเข้าไปเพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ ดังนี้
- ขั้นตอนที่ 1 : ระบุสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของประเด็น ESG และเชื่อมเข้ากับมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
มองหามาตรฐานความยั่งยืนที่มีอยู่แล้ว เช่น SASB หรือ GRI เพื่อค้นหาความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเบื้องต้น การประเมินทางธุรกิจและการประเมินผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถควบรวมไว้กับแผนที่สาระสำคัญ (materiality matrix) ซึ่งจะช่วยจัดลำดับความสำคัญให้กับทั้ง 2 ฝ่าย และนำไปสู่ความได้เปรียบของการแข่งขันทางธุรกิจในท้ายที่สุด
- ขั้นตอนที่ 2 : ดำเนินการวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ผ่านเลนส์ ESG
เมื่อคุณมี materiality matrix อยู่ในมือ พร้อมกับเครื่องมือวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกในมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี กฎหมาย และสิ่งแวดล้อม (PESTLE analysis) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความยั่งยืน หลังจากนั้นจึงทำ SWOT ขององค์กร ก็จะมีประโยชน์มากต่อการสร้างกลยุทธ์ธุรกิจในขั้นต่อไป
PESTLE analysis จะช่วยทำให้คุณเข้าใจเทรนด์ของ ESG ที่เกี่ยวข้องกับ สาระสำคัญด้านความยั่งยืน เช่น การเปลี่ยนแปลงขอบข่ายของกฎหมายเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกว่ากระทบกับธุรกิจของคุณอย่างไร จากนั้นการทำ SWOT จะช่วยประเมินการจัดการ ESG material และเทรนด์ในหน่วยธุรกิจต่างๆ ของคุณ เช่น คุณจะรับรู้ว่า ตอนนี้คุณกำลังตามหลังคู่แข่งที่สัญญาว่ากำลังจะเลิกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแล้ว
- ขั้นตอนที่ 3 : ลงรายละเอียดว่าจะจัดการกับความเสี่ยงทางธุรกิจและหาโอกาสในแผนธุรกิจได้อย่างไรบ้าง
ถ้าการใช้น้ำคือโจทย์ท้าทายในการทำธุรกิจของคุณ คุณต้องเข้าใจว่าความเสี่ยงนี้อยู่ตรงจุดไหนในห่วงโซ่อุปทานและมองหาทางออกที่น่าจะเป็นไปได้ ลองวางสถานการณ์ในอนาคตว่าคุณอยากไปสู่จุดไหนและจะไปถึงได้อย่างไร
จากนั้นให้นิยามเป้าหมาย พร้อม KPIs เช่น ต้องลดปริมาณน้ำลงถึงเท่าไหร่ action plan คืออะไร คุณต้องทำความเข้าใจสถานการณ์การใช้น้ำในปัจจุบัน เกณฑ์มาตรฐานที่ใช้สู้กับคู่แข่งต่างๆ ลองหาเทคโนโลยีที่ช่วยเรื่องการใช้น้ำ หรือไม่ก็เข้าหาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักๆ เช่น NGO ภาคประชาชน และหน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องการจัดการน้ำในพื้นที่
ความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจจะเพิ่มขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบริษัทพัฒนาผลงานหรือมี KPIs ที่วัดตามผลกระทบ (Impact-based KPIs) เช่น ถ้าบริษัทอยากพัฒนาเรื่องความหลากหลายและยอมรับความแตกต่าง อาจจะทำได้ด้วยการเริ่มใส่ปัจจัยนำเข้า (input) โดยการจ้างหัวหน้าฝ่าย
หลังจากนั้นเมื่อ หัวหน้าฝ่าย ออกนโยบายเรื่องความหลากหลาย ความเสมอภาค และการไม่แบ่งแยกออกมา รวมถึงฝึกอบรมพนักงาน 50 คนเรื่องความหลากหลายและความเสมอภาค ถือเป็นผลผลิต (output) แล้วเมื่อพนักงานเริ่มให้ความสำคัญหรือไม่แบ่งแยก และยอมรับในความหลากหลายมากขึ้น นั้นคือ ผลลัพธ์ (impact)
การสร้างเป้าหมายและกลยุทธ์ด้าน ESG ในแก่นของแผนธุรกิจ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น การใช้น้ำภายในโรงงาน ซึ่งโดยมากโรงงานจะมีเป้าหมายในภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับ ต้นทุนในการดำเนินงาน คุณภาพของสินค้า การวางแผนการลงทุน ฯลฯ การนำเรื่องการปรับปรุงการจัดการน้ำมาเป็นหนึ่งในเป้าหมายการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของโรงงาน จึงสามารถช่วยลดต้นทุนได้ เพราะเมื่อใช้น้ำน้อยลง น้ำเสียก็ลดลง โอกาสที่โรงงานจะปิดตัวจากปัญหาการขาดน้ำก็ลดลงด้วย
- ขั้นตอนที่ 4 : วางโครงสร้างธรรมาภิบาลที่เน้นไปที่ ESG
การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก ขั้นตอนแรกคุณต้องจัดระเบียบ ESG KPIs อย่างกว้างๆ ที่บอร์ดบริหารไฟเขียว มีผู้บริหารสนับสนุน และต้องควบรวมแผนการจัดการพนักงานและค่าตอบแทนเข้าไปในสมการด้วย
ในมุมมองของการกำกับดูแล การมีคณะกรรมการด้านความยั่งยืนที่ทำงานข้ามหน่วยงานได้หลากหลายมีส่วนสำคัญมากในการขับเคลื่อนประเด็น ESG เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ต้องทำข้ามฝ่าย (cross-divisional)
หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนควรช่วยประสานกับฝ่ายต่างๆ ทั้งบริษัท และช่วยสนับสนุนความพยายามของทุกฝ่ายในฐานะทีเป็นศูนย์กลาง ESG เพื่อทำให้เกิดความคิด เทคโนโลยี และเครื่องมือใหม่ๆ ภายในบริษัท ภาคประชาสังคมสามารถทำงานกับฝ่ายบุคคล และทีมผู้บริหารระดับสูงเพื่อสร้างวัฒนธรรมของแนวคิดความยั่งยืนผ่านบริษัทต่างๆ รวมถึงการจัดอบรมคณะกรรมการ และสามารถทำงานใกล้ชิดกับฝ่ายการเงิน ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง และหน่วยธุรกิจที่สำคัญต่างๆ เพื่อจัดการ ESG KPIs
- ขั้นตอนที่ 5 : ทำความเข้าใจและตรวจสอบการลงทุนเพื่อความยั่งยืน (ROSI)
การจะสร้างความได้เปรียบของการแข่งขันทางธุรกิจนั้น ผู้นำองค์กรจะต้องเริ่มตรวจสอบผลตอบแทนทางการเงิน (financial returns) ทั้งแบบจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ความยั่งยืนที่มีในบริษัท หนึ่งในข้อบกพร่องก็อย่างเช่น ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน (CFO) ไม่ได้ตรวจสอบต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้
การตรวจสอบเหล่านี้จะสามารถนำไปสู่การประเมินผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นได้โดยใช้โมเดล เช่น ROSI การพัฒนามาตรวัดต่างๆ และการติดตามกิจกรรมทางการเงินตลอดระยะเวลา เพราะธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการให้กับผู้บริโภคที่นำเสนอทางเลือกด้านความยั่งยืนด้วย จะได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าเป็นรางวัล และธุรกิจที่ขายสินค้าให้กับลูกค้าองค์กร ก็จะช่วยให้บริษัทผลิตสินค้าและบริการที่ห้อยป้ายความยั่งยืนตามไปด้วย
บริษัทวิจัยด้านการตลาดที่เก็บข้อมูลบาร์โค้ดสินค้าเพื่อการบริโภคในชีวิตประจำวัน (Consumer Packaged Goods (CPG)) ในสหรัฐอเมริกาให้ข้อมูลว่า สินค้าที่มีการทำการตลาดด้านความยั่งยืนเติบโตถึงร้อยละ 32 ของสินค้าในเครือ CPG ในปี 2021 และบริษัทใหญ่ๆ อย่าง Unilever, Nestle, General Mills, PepsiCo หรือ Coca-Cola ก็กำลังลงทุนพัฒนาเรื่องความยั่งยืนและคุณค่าทางโภชนาการให้กับผลิตภัณฑ์ หลังจากเห็นเทรนด์เหล่านี้
บริษัทที่ต้องการกุมชัยชนะในตลาดจึงต้องตาสว่างที่จะใส่แก่นความยั่งยืนลงไปในกลยุทธ์ทางธุรกิจ ดำเนินการให้เกิดขึ้นจริง จัดการ ESG KPIs ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงตรวจสอบผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนด้านความยั่งยืน และประกาศให้โลกรู้ว่าการเปิดเผยข้อมูลเรื่องมาตรฐานต่างๆ เป็นเพียงส่วนที่เสริมให้ดีขึ้นเท่านั้น
ที่มาบทความ:
https://hbr.org/.../esg-reports-arent-a-replacement-for
...
ที่มารูปภาพ:
https://www.pexels.com/.../a-close-up-shot-of-letter.../
(Photo by Nataliya Vaitkevich)
ข่าวรอบโลก
เรื่องเล่า
ธุรกิจ
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย