25 ส.ค. 2022 เวลา 11:00 • ธุรกิจ
เนื้อสัตว์จากพืช : การลงทุนเพื่อการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ดีที่สุด
Boston Consulting Group (BCG) หนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ระบุว่า การลงทุนในเนื้อสัตว์จากพืช (Plant-based meat) จะช่วยลดการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนมากกว่าการลงทุนสีเขียวอื่น ๆ
รายงานจาก BCG พบว่า การพัฒนาและเพิ่มกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์และนม ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อผลิตปูนซีเมนต์สีเขียวถึงสามเท่า มากกว่าการลงทุนในสิ่งก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อมถึง 7 เท่า และมากกว่าการลงทุนในรถที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ถึง 11 เท่า
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจากกระบวนการผลิตเนื้อและผลิตภัณฑ์จากนมก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าการปลูกพืชมาก เช่น เนื้อวัวจะปล่อยมลพิษมากกว่าเต้าหู้ 6-30 เท่า
ในปี 2021 มูลค่าการลงทุนในโปรตีนทางเลือก รวมถึงอาหารหมักหรือเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (cell-based meat) เพิ่มขึ้นจาก 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 เป็น 5 พันล้านดอลลาร์ โดยในปัจจุบันการบริโภคโปรตีนทางเลือกคิดเป็นร้อยละ 2 ของสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนมทั้งหมด แต่คาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 11 ในปี 2035 ซึ่งกระแสของโปรตีนทางเลือกจะช่วยลดการปล่อยมลพิษเทียบเท่ากับมลพิษจากการขนส่งทางอากาศ
นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มคุณภาพและอัตราการผลิตเนื้อสัตว์ทางเลือก รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงการกำกับดูแลที่ส่งผลให้การทำตลาดและการจัดจำหน่ายง่ายขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ที่เนื้อสัตว์ทางเลือกอาจโตเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
Malte Clause หุ้นส่วนของ BCG กล่าวว่า การยอมรับโปรตีนทางเลือกอย่างแพร่หลายมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือเรียกได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญที่ยังไม่ถูกใช้ในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลงทุนในโปรตีนทางเลือกช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกได้มากกว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในโลก หากคุณเป็นนักลงทุนที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม ธุรกิจเกี่ยวกับโปรตีนทางเลือกเป็นธุรกิจที่คุณควรทำความเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง
ปัจจุบันการผลิตเนื้อและผลิตภัณฑ์จากนมใช้พื้นที่เกษตรกรรมร้อยละ 83 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากร้อยละ 60 ของภาคเกษตรกรรม แต่ให้พลังงานและโปรตีนแก่ร่างกายเพียงร้อยละ 18 และ 37 ตามลำดับ ของอาหารทั้งหมด หากมนุษย์ปรับโภชนาการโดยเปลี่ยนจากการรับประทานเนื้อสัตว์เป็นพืชแทน ป่าจะถูกเปลี่ยนเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์น้อยลง นอกจากนี้การลดจำนวนลงของวัวและแกะจะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญลงด้วย
ในปี 2021 BCG ได้รายงานว่า ยุโรปและอเมริกาจะบริโภคเนื้อสัตว์สูงสุดในปี 2025 จากนั้นจะค่อย ๆ ลดลง นอกจากนี้ AT Kearney บริษัทให้คำปรึกษาชื่อดัง ก็คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ส่วนใหญ่ที่มนุษย์บริโภคในปี 2040 จะไม่ได้มาจากการฆ่าสัตว์
บรรดานักวิทยาศาสตร์พบว่า การหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเป็นวิธีลดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ในประเทศร่ำรวย ส่วนกลุ่ม The Project Drawdown ซึ่งทำหน้าที่ประเมินแนวทางการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็ยกให้อาหารจากพืชเป็นหนึ่งในสามอันดับแรกจากเกือบ 100 แนวทาง
รายงานของ BCG ระบุว่า ภาคการก่อสร้างได้รับเงินทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบมากกว่าอุตสาหกรรมอาหารถึง 4.4 เท่า แม้ว่าการก่อสร้างจะปล่อยมลพิษน้อยกว่าอุตสาหกรรมอาหารถึงร้อยละ 57 ขณะที่โปรตีนทางเลือกได้รับเงินเพียงเศษเสี้ยวของการลงทุนในภาคส่วนอื่น ๆ แม้ว่าการเปลี่ยนจากการบริโภคโปรตีนดั้งเดิมเป็นโปรตีนทางเลือกจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคน้อยกว่าการลดการเดินทางทางอากาศและการปรับปรุงบ้านก็ตาม
Bjoern Witte จาก Blue Horizon บริษัทที่ลงทุนในโปรตีนทางเลือก กล่าวว่า กระแสโปรตีนทางเลือกเพิ่งเริ่มก่อตัว ในอนาคตผู้บริโภคจะได้เห็นนวัตกรรมโปรตีนทางเลือกที่สะอาดขึ้น ดีต่อสุขภาพมากขึ้น และรสชาติดีขึ้น จากเทคโนโลยีที่ดีขึ้น
Dr Jonathan Foley จาก Project Drawdown กล่าวว่า ประมาณหนึ่งในสี่ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากอุตสาหกรรมอาหาร การใช้ที่ดิน และเกษตรกรรม โดยมากกว่าครึ่งมาจากการผลิตเนื้อวัว ดังนั้นโปรตีนทางเลือกจึงเป็นจุดสำคัญที่ควรให้ความสนใจ และเป็นจุดที่ยังมีการลงทุนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นโดยเปรียบเทียบ
"แม้โปรตีนทางเลือกคือวิธีแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีศักยภาพ แต่ไม่ควรมองว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาเดียว ควรนำโปรตีนทางเลือกมาแก้ปัญหาร่วมกับวิธีอื่น ๆ รวมถึงการลดขยะจากอาหาร เปลี่ยนไปรับประทานพืชมากขึ้น และลดการทำฟาร์มเนื้อและผลิตภัณฑ์จากนมด้วยจะดีกว่า" Foley กล่าว
Malte กล่าวว่า หากเราหยุดบริโภคเนื้อสัตว์ หรือตัดสัตว์ซึ่งเป็น “ตัวกลาง” จากห่วงโซ่การบริโภคทิ้ง แล้วหันมาบริโภคอาหารจากพืชเป็นหลักจะช่วยให้เราต้องการพืชน้อยลง เพราะไม่ต้องปลูกพืชเพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ การเดินหน้าไปสู่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จากพืชจึงสามารถช่วยบรรเทาวิกฤตการณ์ทางอาหารได้
จากผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 3,700 คน ในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน และสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 30 ต้องการเปลี่ยนไปใช้โปรตีนทางเลือกหากสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่ปัญหาสภาพภูมิอากาศได้ และร้อยละ 90 ชอบผลิตภัณฑ์จากโปรตีนทางเลือกที่ได้ลองชิม แต่ก็คาดหวังว่าราคาของผลิตภัณฑ์ทางเลือกเหล่านี้จะไม่สูงกว่าโปรตีนแบบดั้งเดิม
โฆษณา