25 ส.ค. 2022 เวลา 03:56 • นิยาย เรื่องสั้น
妙見菩薩
พระสุทฤษฏโพธิสัตว์ (สันสกฤต : สุทฺฤษฺฏโพธิสตฺว) หรือ
พระสุทรรศนโพธิสัตว์ (สันสกฤต : สุทรฺศนโพธิสตฺว)
จัดเป็นเทวโพธิสัตว์องค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา มีการเขียนพระนามหลายอย่างเช่น 妙見尊星王菩薩丶北辰妙見菩薩丶妙眼丶妙現丶妙見天 เป็นต้น ถือเป็นเทพฝ่ายบู๊ หรือธรรมบาลผู้พิทักษ์
พระสุทฤษฏ หรือพระสุทรรศนะ มีกล่าวนามอยู่ในบทสาธนจุณฑาสุสิทธิขมากรรม 《大準提菩薩焚修悉地懺悔玄文》ว่าเป็นหนึ่งในธรรมบาลของพระจุณฑิโพธิสัตว์ โดยสำแดงกายเป็นวัชรธรรมบาล หัตถ์ขวาทรงรัตนขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือแก้วมณี หรือทำมุทรา สองบาทเหยียบบนตัวงูและเต่า บรรลุธรรมดำรงฐานะในภูมิที่ 5 ของโพธิสัตว์ คือ สุทุรชยาภูมิ แปลว่า ผู้อื่นชนะยาก (五地難勝地)จะพบเห็นพระสุทฤษฏ ในรูปแบบของพระโพธิสัตว์ได้น้อยมากในพุทธศาสนาแบบจีน แต่กลับพบเห็นได้ไม่ยากสำหรับพุทธศาสนาในญี่ปุ่น
💜พระสุทฤษฏโพธิสัตว์ในจีน
พระสุทฤษฏ เข้าสู่จีนมาพร้อมพุทธศาสนา ภายหลังได้ผนวกเข้ากับคติของเต๋า เนื่องจากเทวบดีเสวี่ยนเทียน หรือ เจินอู่ (玄天上帝丶真武丶玄武丶北帝) มีเทวลักษณะละม้ายใกล้เคียงกับพระสุทฤษฏโพธิสัตว์อย่างยิ่ง จนถูกมองว่าคือองค์เดียวกัน และถือเอาวันที่ 3 เดือน 3 ตามจันทรคติของจีน เป็นวันเทวสมภพของ 2 พระองค์นี้ด้วย
💜พระสุทฤษฏโพธิสัตว์ในญี่ปุ่น
พระสุทฤษฏ เข้าสู่ญี่ปุ่นพร้อมกับพุทธศาสนาที่มาจากจีน เมื่อถึงญี่ปุ่นก็ยังผสานรวมกับเต๋า มนตรยาน ชินโตเข้าไปอีก ทำให้มีเทวลักษณะไม่แน่นอน แต่ส่วนมากจะสวมชุดเกราะขุนพล ถือพระขรรค์ ประทับบนงูหรือมังกร และเต่าเป็นสัญลักษณ์เฉพาะที่พบเห็นได้มาก กระแสวัชรยานในอารามของนิกายนิชิเรน นิกายมนตรยาน นิกายเทนได(สัทธรรมปุณฑริก) ระบุว่าท่านมีหน้าที่ปกป้องประเทศชาติ กำจัดภัยพิบัติ และคุ้มครองให้มีอายุยืนยาว ความเชื่อพื้นบ้านยังว่าท่านมีอานุภาพรักษาโรคทางตา
💜เทวบดีเสวี่ยนเทียน (玄天上帝) คือ นิรมาณกายของพระสุทรรศนโพธิสัตว์?
เทวบดีเสวี่ยนเทียน หรือชาวไทยเรียกว่า ตั๋วเหล่าเอี๊ย เป็นเทพเจ้าที่พบเห็นได้มาก มีตำนานมาจากการบูชาเทพเจ้าประจำดวงดาว เป็นมหาเทพที่ดำรงอยู่ในสถานะสูงส่งยิ่ง ประทับอยู่ทางทิศเหนือ ความเชื่อในญี่ปุ่นมีทั้งเรื่องของเทพเจ้าและพุทธศาสนา สำหรับพุทธศาสนาในญี่ปุ่นมีคติบูชาพระสุทฤษฏโพธิสัตว์อยู่ 2 ทางคือ 1.ในฐานะเทพนักษัตรสูงสุดทางทิศเหนือ และ 2.ในฐานะสัปตเคราะห์หรือดาวเหนือทั้ง 7 ดวง ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีล้วนมาจากคติบูชาดาว เมื่อรวมกับความเชื่อของเทวบดีเสวี่ยนเทียน จึงกลายเป็นเรื่องเดียวกันในที่สุด
แต่ทว่าพระสุทฤษฏ หรือพระสุทรรศนะ เป็นธรรมบาล ระดับบารมีธรรมขั้นพระโพธิสัตว์ภูมิที่ 5 ที่เที่ยงแท้ในพุทธภูมิ จึงทำให้มีความแตกต่างจากเทพเจ้าทั่วไป
หลักฐานสำคัญของพระสุทฤษฏโพธิสัตว์ มีอยู่ในพระสูตร 2 เล่มของพุทธศาสนาคือ 1.สัปตพุทธอัษฏโพธิสัตวมหาธารณีมนตรนิรเทศสูตร 《七佛八菩薩所說大陀羅尼神咒經》
ไม่ปรากฎนามผู้แปล มี 4 ปกรณ์ อยู่ในหมวดคุหยะ (密部) ในมหาปิฎกของมหายาน แปลจากภาษาอินเดียสู่ภาษาจีนในสมัยจิ้น (ราวพุทธศักราช 809-963) ใจความว่า “ข้าคืออุตรนักษัตรโพธิสัตว์ นาม สุทฤษฏ (สุทรรศนะ) บัดนี้ปรารถนาจะแสดงมนตร์เพื่อคุ้มครองประเทศทั้งปวง สถิตอยู่ในชมพูทวีป เป็นผู้เลิศที่สุดในหมู่ดาว เป็นฤๅษีในหมู่ฤๅษี เป็นเสนาบดีของโพธิสัตว์ เป็นดวงตาที่รุ่งเรืองของโพธิสัตว์ และอนุเคราะห์สรรพสัตว์ ”
「我北辰菩薩名曰妙見,今欲說神咒擁護諸國土。處於閻浮提,眾星中最勝,神仙中之仙,菩薩之大將。光目諸菩薩,曠濟諸群生」
หากผู้ใดน้อมบูชาจะน้อมนำบัณฑิตและไกลจากพาลชน พระสุทฺฤษฺฏ จะเสด็จพร้อมบรรดาเทวมหาราช ท้าวสักกะ บรรดาเทพแห่งอายุขัยเพื่อลดบาปโทษและเพิ่มพูนอายุขัย ขจัดภัยพิบัติทั้งปวง บันดาลให้ฝนฟ้าต้องตามฤดู พืชพรรณธัญหารอุดมสมบูรณ์ โรคระบาดมลายสิ้น ทวยราษฏร์ร่มเย็น ระงับเภทภัยทั้งปวง แล้วแสดงธารณีมนต์ .......ฯลฯ
เล่มที่ 2 คือ บทสาธนจุณฑาสุสิทธิขมากรรม《大准提菩薩焚修悉地懺悔玄文》กล่าวว่า “อุตรนักษัตรสุทฤษฏ (สุทรรศน) มหาโพธิสัตว์ ดำรงในปัญจมภูมิ ปรากฏวรกายเป็นวัชรเทพ หัตถ์ทรงรัตนขรรค์บำราบมาร” ในพระสูตรระบุว่าพระสุทฤษฏ อยู่ในคณะของพระจุณฑิโพธิสัตว์ (บางตำราว่า พระมัญชุศรีโพธิสัตว์) ทั้งปรากฏกายเป็นวัชรเทพ ถือพระขรรค์ปราบมาร มีลักษณะน่าเกรงขาม ละม้ายกับเทวบดีเสวี่ยนเทียน ยิ่งนัก
พระสูตร 2 เล่มนี้เมื่อเข้าสู่ญี่ปุ่นแล้ว ก็มีการจัดสร้างรูปเคารพขึ้น แต่เนื่องจากความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ ทำให้พระสุทฤษฏโพธิสัตว์ของญี่ปุ่นนอกจากจะถือพระขรรค์หรือกระบี่แล้ว ยังมีถือมีดดาบของซามูไรอีกด้วย บางครั้งก็เหยียบงูและเต่าที่พระบาท หรือนั่งอยู่บนงูหรือเต่า
ดังนั้น คติเรื่องพระสุทฤษฏโพธิสัตว์ และ เทวบดีเสวี่ยนเทียน จะใช่องค์เดียวกันหรือไม่นั้น แม้ว่าวัฒนธรรมที่สอดคล้องกันระหว่างพุทธและเต๋าของจีน ก็ยังไม่อาจสรุปได้ แต่พิจารณาได้ว่า ทั้ง 2 องค์มาจากคติการบูชาดวงดาว และประทับทางเหนือเหมือนกัน ทั้งพุทธและเต๋าก็ตั้งให้เป็นเทพผู้พิทักษ์ทางทิศเหนือ ยังมีคติทิศทั้ง 5 ที่ให้ทั้ง 2 องค์เหยียบงูและเต่า(玄武) ถือกระบี่หรือพระขรรค์ด้วยลักษณะองอาจน่าเกรงขาม
ทางคติของพุทธศาสนา เมื่อครั้งที่ท่านมหาสิทธาคุรุนะนา (諾那呼圖克圖) หรือคุรุนอร่าริมโปเช แห่งนิกายนิงมา แคว้นคาม ปัจจุบันอยู่ในเขตมณฑลชิงไห ของจีน เมื่อครั้งที่ท่านมาเผยแผ่พระธรรมยังแผ่นดินจีน ในยุคแรกของระบอบสาธารณรัฐ ได้กล่าวแก่คณะศิษย์ว่าเมื่อเข้ามาถึงแผ่นดินฮั่นนี้ ได้พบกับเทวธรรมบาลผู้มีศักดิ์และอานุภาพยิ่งใหญ่ คือ เทวบดีเสวี่ยนเทียน จึงได้อัญเชิญมาเป็นหนึ่งในธรรมบาลผู้พิทักษ์ของท่าน และยังรจนาสาธนบูชาอีกด้วย มีประโยคหนึ่งว่า...
擁護諸國土 除災增福壽
妙見尊星王 眾星中最勝
แปลความได้ว่า.... พระผู้ปกป้องดูแลประเทศทั้งปวง ผู้กำจัดภัยและเพิ่มพูนวาสนาอายุขัย
องค์สุทฺฤษฺฏ ผู้เป็นราชันแห่งหมู่นักษัตร และเป็นเลิศที่สุดในหมู่ดาว
กล่าวกันว่าบทสาธนบูชานี้ วัชราจารย์ฮวาจั้ง (華藏上師) นามเดิม อู๋รุ่นเจียง (吳潤江) ได้เคยรับถ่ายทอดที่ใต้หวัน ซึ่งมีนัยยะว่า องค์เทวบดีเสวียนเทียนและพระสุทฤษฏโพธิสัตว์ คือองค์เดียวกัน
ในฝ่ายมนตรยานทางญี่ปุ่นวาดรูปพระสุทฤษฏโพธิสัตว์ เป็นรูปประทับบนมังกร มี 2 กร จนถึง 4 กร ในรูป 2 กรนั้นหัตถ์ซ้ายทรงถือดอกบัว บนบัวนั้นมีดาวเหนือทั้ง 7 หัตถ์ขวากระทำมุทรา บนเศียรประดับรัตนศิราภรณ์ นั่งขัดสมาธิบนเมฆ 5 สี หากเป็นรูป 4 กร จะปรากฏเป็นรูปเทวราช ถือดวงสุริยันจันทรา คันศร ลูกธนู พู่กัน สมุด เป็นต้น
ใน สุทฺฤษฺฏโพธิสัตว์มนตรสูตร 《妙見菩薩神咒經》ยังจัดให้พระสุทฤษฏ ประทับอยู่ที่มณฑลชั้นใน เรียกว่า สุทฤษฏมณฑล “妙見曼荼羅”กลางภาพมีพระจันทร์ดวงใหญ่และมีพระสุทฺฤษฺฏ ประทับอยู่ รายล้อมด้วยหมู่ดาวเหนือทั้ง 7 ส่วนในมณฑลชั้นนอกนั้น วาดเป็นจักรราศีทั้ง 12 คือเทพประจำราศีชวด ฉลู ขาด เถาะ เป็นต้น และในกรอบนอกสุดทั้ง 4 ด้าน เป็นภาพนักษัตรทั้ง 28 กลุ่ม และหมู่ดาวมหาศาลในจักรภพ และพระสุทฤษฏโพธิสัตว์ ยังมีนามในมณฑลลับว่า รัตนนักษัตรวัชระ『寶宿金剛』
(ภาพที่ 1) ภาพกลาง คือมหาวัชรคุรุนอร่าริมโปเช
ซ้ายสุดคือวัชราจารย์ฮวาจั้ง (華藏上師) นามเดิม อู๋รุ่นเจียง (吳潤江)
(ภาพที่ 2) วัชราจารย์ฮวาจั้ง (華藏上師) นามเดิม อู๋รุ่นเจียง (吳潤江) คือบุคคลด้านขวา ยืนติดกับเกี้ยวอัญเชิญส่วนหัวใจที่ไม่เสื่อมสลายของมหาวัชราจารย์นอร่าริมโปเช กลับเมืองนานกิง
#เหี่ยงเทียงเซียงตี่ #ตั่วเหล่าเอี๊ยกงฮุกโจ้ว #เจ้าพ่อเสือ #เทียงบู๊ไต่เต่
โฆษณา