25 ส.ค. 2022 เวลา 08:39 • ความคิดเห็น
‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ มหาเศรษฐีอันดับ 1 คนใหม่ของไทย จากเด็กที่ชอบโดดเรียน (แต่หัวดี) ฉีกกฎครอบครัวทหารผันตัวสู่นักธุรกิจเป็น ‘เจ้าพ่อพลังงานแห่ง Gulf’
.
หากพูดถึงมหาเศรษฐีในประเทศไทย เชื่อว่าภาพจำเดิม ๆ ของคนไทยหลายคน เราคงนึกถึงชื่อเจ้าสัวแห่ง CP (ธนินท์ เจียรวนนท์) หรือจะเป็นเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งธุรกิจเบียร์ช้าง (เครื่องดื่มแอลกอฮอล์) แต่เมื่อวานนี้ (18 สิงหาคม 2565) เราได้บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดใน
เมืองไทยคนใหม่ ก็คือ ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ‘เจ้าพ่อธุรกิจพลังงาน’ วัย 57 ปี (หมายเหตุ: การจัดอันดับ 1 และ 2 ยังมีการเปลี่ยนแปลงตลอดบนเว็บไซต์)
.
จากการจัดอันดับในเว็บไซต์ Forbes.com ในส่วนของ ‘The Real-Time Billionaires List’ รายชื่อมหาเศรษฐีประเทศไทยอันดับ 1 กลับกลายเป็นนักธุรกิจที่เคยอยู่เป็นอันดับ 4 จากการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยฉบับเอเชียเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง
.
หลายคนเรียกสารัชถ์ว่าเป็นม้ามืดในวงการธุรกิจไทย เพราะเขาเป็นบุคคลที่อยู่ในมุมเงียบ ๆ ไม่ได้อยู่ในสปอตไลต์มากเท่าเจ้าสัว 2 คนที่ว่ามานั้น
.
ชื่อของสารัชถ์เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นตั้งแต่ในปี 2561 จากการที่เขาโผล่ไปติดอันดับ 7 ของมหาเศรษฐีไทยของนิตยสารฟอร์บสเป็นครั้งแรก
.
นอกจากนี้ สารัชถ์ยังเป็นที่รู้จักในฉายาว่า ‘เศรษฐีหุ้นไทย’ เพราะเขาอยู่เป็นอันดับ 1 ติดต่อกัน 2 ปีซ้อนในปี 2562 - 2563 จากการจัดอันดับของวารสารการเงินการธนาคาร โค่นแชมป์เก่าอย่าง นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ไปได้
.
ม้ามืดม้าเร็วแห่งวงการมหาเศรษฐีไทยอย่าง สารัชถ์ เราคงต้องย้อนไปดูประวัติความน่าสนใจของเขาด้วยกันว่า กว่าจะมาเป็น สารัชถ์ เจ้าพ่อพลังงาน Gulf เขาเริ่มต้นเส้นทางนักธุรกิจได้อย่างไร
.
#เติบโตจากครอบครัวทหาร
.
สารัชถ์ เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2508 (มีพี่น้อง 3 คน และเป็นลูกคนกลาง) เขาเติบโตในครอบครัวที่มีพ่อและปู่เป็นทหาร ถือว่าเป็นนายทหารที่มีชื่อเสียง โดยพ่อของสารัชถ์คือ พล.อ.ถาวร รัตนาวะดี อดีตหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการ กองบัญชาการทหารสูงสุด
.
ส่วนปู่ของเขาคือ พล.ต.พระอุดมโยธาธิยุต (นายสด รัตนาวะดี) นอกจากนี้ แม่ของสารัชถ์ก็คือ ประทุม รัตนาวะดี น้องสาวของนายวาริน พูนศิริวงศ์ นักธุรกิจและเจ้าของหนังสือพิมพ์แนวหน้า
.
[อัพเดท: ทีมงานตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ศึกษาประวัติศาสตร์แล้วพบว่า พล.ต.พระอุดมโยธาธิยุต ไม่ปรากฎชื่อเป็นสมาชิกคณะราษฏร จึงแก้ไขเนื้อหาข้างต้น หากพบข้อมูลเพิ่มเติมจะมาอัพเดทข้อมูลต่อไป ทีมงานขออภัยในความคลาดเคลื่อน]
.
ในวัยเด็กของสารัชถ์ผ่านมุมการเล่าเรื่องในหนังสือรุ่นวชิราวุธ รุ่นที่ 55 (OV 55) ที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกเล่าเกี่ยว
กับสารัชถ์ว่า “ลักษณะนิสัยในวัยเด็กเป็นคนโกรธง่าย แต่ไม่โกรธใครนาน ที่สำคัญเป็นคนเรียนเก่งที่สุดคนหนึ่งของรุ่น จนเป็นเป้าหมายของเพื่อน ๆ เวลาสอบ ทั้งที่ชอบโดดเรียนและนอนหลับระหว่างเรียน”
.
ส่วนครูคนหนึ่งได้เขียนถึงสารัชถ์ว่า “เป็นคนมีเหตุผล เจ้าปัญญา และเป็นผู้ใหญ่เกินวัย”
.
#จุดเริ่มต้นของเส้นทางนักธุรกิจ
.
หลังจากที่สารัชถ์จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทในด้านการบริหารจัดการวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในปี 2537 เขากลับ
มาที่ประเทศไทยเพื่อเปิด บริษัท กัลฟ์ อิเล็คทริก จำกัด ธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า และตอนนั้นเขามีอายุได้เพียง 29 ปี
.
แม้ว่ายังไม่มีข้อมูลมากนักว่าสารัชถ์เป็นใครมาจากไหนก่อนที่จะเป็นมหาเศรษฐีในปัจจุบัน แต่นักวิเคราะห์ของต่างประเทศส่วนใหญ่พูดถึงสารัชถ์ว่าเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จด้วยตัวเอง ไม่ใช่จากการเป็นทายาทธุรกิจพันล้านแล้วสืบทอดรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเป็นโครงสร้างธุรกิจส่วนใหญ่ในไทย
.อย่าง คริส เบเกอร์ นักวิชาการชื่อดังที่อยู่ในประเทศไทยมานาน เขาพูดว่า “สารัชถ์ไม่ใช่เศรษฐีระดับพันล้านธรรมดาๆ ในหมู่เศรษฐีพันล้านของไทยที่มีอยู่มากกว่า 50 คน”
.
หลังจากก่อตั้งบริษัทได้ไม่นาน สารัชถ์ได้ขยายอาณาจักรกัลฟ์ ในแขนงต่าง ๆ เช่น บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น, บริษัท กัลฟ์ โคเจนเนอเรชั่น, บริษัท กัลฟ์ ยะลา กรีน, บริษัท กัลฟ์ ไอพีพี, บริษัท กัลฟ์ ทีเอส1, บริษัท กัลฟ์ วีทีพี, บริษัท กัลฟ์ เจพี ซึ่งหลัก ๆ จะอยู่ใน 5 ธุรกิจภายใต้เครือกัลฟ์ ก็คือ ธุรกิจไฟฟ้า, ก๊าซ, พลังงานหมุนเวียน, พลังงานน้ำ และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน
.
นักวิเคราะห์ต่างประเทศพูดถึงเบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้สารัชถ์กลายมาเป็นมหาเศรษฐีไทยเบอร์ต้น ๆ เกิดจากช่วงปี 2545 ที่รัฐบาลไทยระงับข้อตกลงสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่ง ทำให้สารัชถ์เบนเข็มธุรกิจไปที่ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ ซึ่งก็กลายมาเป็นกระแสหลักในปัจจุบัน มีส่วนทำให้ธุรกิจกัลฟ์เติบโตอย่างต่อเนื่อง
.
อย่างเช่น โรงไฟฟ้าแก่งคอย 1 และ 2 ที่จังหวัดสระบุรี ที่เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าที่เปลี่ยนจากถ่านหินมาเป็นก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบัน กัลฟ์มีโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในไทยประมาณ 25 แห่งและในต่างประเทศด้วย
.
ซึ่งในไตรมาส 1/2565 กำไรสุทธิของกัลฟ์อยู่ที่ 3,395 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจาก โครงการโรงไฟฟ้า GSRC 1 และ 2, ธุรกิจพลังงานลมในทะเลที่เยอรมนี, ส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH (กัลฟ์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่)
.
ทั้งนี้ สารัชถ์เคยพูดในงานเสวนา ‘ปีแห่งการลงทุน ทางออกประเทศไทย’ โดยเครือมติชนในปี 2563 เขาได้พูดว่า “ประเทศไทยมีโอกาสสำหรับการลงทุนตลอดเวลา แต่ปัญหาคือการเติบโตของเศรษฐกิจกับประชาชนฐานรากไม่ไปด้วยกัน SMEs เจอปัญหาเรื่องสินเชื่อ เพราะธนาคารมักเข้มงวดเวลาจะปล่อยกู้มากกว่าบริษัทใหญ่ ๆ” ทั้งยังย้ำว่า “เมืองไทยถึงเวลาต้องกล้าลงทุนเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ในระยะยาว”
.
แม้ว่านาน ๆ ทีเราจะเห็นบทสัมภาษณ์ของสารัชถ์ หรือการพูดบนเวทีงานเสวนาที่ใดที่หนึ่ง แต่ทุกครั้งเขามักจะโฟกัสไปที่ปัญหาของประเทศไทย การเติบโตทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า
.
ขณะเดียวกันธุรกิจในกลุ่มกัลฟ์ ยังมีการเคลื่อนไหวใหม่ ๆ อยู่เรื่อยมา อย่างล่าสุดที่กัลฟ์จัดตั้งบริษัท ‘กัลฟ์ ไบแนนซ์’ ร่วมกับ ไบแนนซ์ (Binance) แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี เพื่อพัฒนากระดานเทรดคริปโตฯ ในไทยให้น่าเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายทรัพย์สินดิจิทัล
.
 
เรื่อง: ประกายพร วงศ์วุฒิ
ภาพ: GULF
.
#ThePeople #Business #Gulf #สารัชถ์_รัตนาวะดี
โฆษณา