25 ส.ค. 2022 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
ชวนย้อนรอยฝันสู่ “ยูนิคอร์น” ของ #Bitkub เบอร์ 1 กระดานเทรดคริปโทฯไทย หลัง SCB-bitkub พร้อมใจประกาศ “ไม่ไปต่อ” ปิดฉากดีลยักษ์ 1.785 หมื่นล้านบาท
1
ชวนย้อนรอยฝันสู่ “ยูนิคอร์น” ของ #Bitkub
ทันทีที่ข่าว "แยกทาง" ระหว่าง SCB-bitkub เผยแพร่เมื่อช่วงบ่ายของวันนี้ (25 ส.ค. 65) หลังจากเคยจับมือประกาศดีลยักษ์ โดยกลุ่ม SCBx ให้บริษัทลูก คือ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) เข้าซื้อหุ้นใน บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ซึ่งเป็นกระดานเทรดคริปโทฯ ในสัดส่วน 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดจากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด คิดเป็น มูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท
เรียกได้ว่า สั่นสะเทือนแวดวงคริปโทฯ อย่างมาก เพราะพ้นจากข่าวความง่อนแง่นของ zipmex ไม่ทันไร อีกเจ้าใหญ่อย่าง bitkub ก็เกิดข่าวใหญ่ตามมาติดๆ
ขณะที่ราคาเหรียญ #kub ก็ร่วงตาม ราวๆ 20% ภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง (ระหว่าง 13.00-14.00 น.) ก่อนจะดีดกลับขึ้นมาเล็กน้อย
สำหรับดีลยักษ์ มูลค่า 1.785 หมื่นล้านบาท ที่ประกาศออกมาเมื่อเดือน พ.ย. 2564 โดยถึงแม้ดีลดังกล่าวที่ประกาศตอนนั้น ยังไม่ได้มีการซื้อขายจริง แต่จาก "มูลค่าหุ้น" ที่ตกลงกันไว้ ไม่ต่างจากการ "ประทับตรา" มูลค่าธุรกิจที่ 3 หมื่นล้าน สู่สถานะ #ยูนิคอร์น ไปโดยปริยาย
จากเดือน พ.ย. 2564 สู่วันนี้ เวลาก็ล่วงมาแล้ว 10 เดือนที่นักลงทุนเฝ้ารอการปิดดีล ทำการซื้อขายอย่างเป็นทางการ และที่สุดก็ถึงคำตอบสุดท้าย คือ ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะ #ไม่ไปต่อ ดังที่เป็นข่าวใหญ่วันนี้
1
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนย้อนรอยกลับไปดูที่มาที่ไป เส้นทางของ bitkub เพื่อให้ทำความเข้าใจอย่างง่าย ๆ ดังนี้
📌 bitkub กางแผนขาย IPO
 
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2564 ท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Group CEO เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เบื้องต้นอยู่ระหว่างพิจารณาการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหุ้นแนสแด็กในสหรัฐ เนื่องจากมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ระดมทุนของตลาดหุ้นทั้ง 2 แห่ง ปัจจุบันบริษัทได้จ้างที่ปรึกษาทางการเงินเข้ามาช่วยเตรียมความพร้อมเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)
“เหตุผลที่อยากจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะเราอยากเป็นตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเมืองไทย อยากทำให้ทุกคนภูมิใจว่าคนไทยก็เก่ง เราก็สร้างบริษัทเทคโนโลยีได้ เราไม่จำเป็นต้องเป็นแค่คนใช้เทคโนโลยีเท่านั้น แต่เราจะเป็นผู้สร้างและผู้ให้บริการเทคโนโลยีด้วย ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ของไทยเองก็ยังไม่มีบริษัทเทคโนโลยี ดังนั้น เราจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีรายแรกที่เข้าระดมทุน” จิรายุส กล่าวไว้ในตอนนั้น
📌 ประกาศดีล 1.785 หมื่นล้านบาท
วันที่ 2 พ.ย. 2564 เกิดข่าวใหญ่ กรณี SCB ประกาศเตรียมเข้าถือหุ้นใน bitkub โดยจะเป็นการเข้าลงทุนใน “บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด” ซึ่งเป็นกระดานเทรดคริปโทฯ เบอร์หนึ่งของเมืองไทย ผ่านการเข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วนร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดจากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท โดยมี “บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด” (SCBS) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
2
ขีดเส้นตาย "เงื่อนไข" ที่นำมาสู่การ "ไม่ไปต่อ"
ในแถลงการณ์ครั้งนั้นของกลุ่ม #SCBx ได้ให้รายละเอียดกำกับไว้ในการแถลงข่าวครั้งนั้นว่า การเข้าทำธุรกรรมการซื้อขายหุ้นจะอยู่ภายใต้การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์
1
โดยมีเงื่อนไขว่า ผลการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) ของ Bitkub ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญต้องเป็นที่น่าพอใจ และคู่สัญญาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาซื้อขายหุ้นครบถ้วน โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปี 2565
📌 SCBx ประกาศชะลอซื้อ bitkub
1
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2565 อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบีเอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า การเข้าทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นใน Bitkub ดังกล่าวอยู่ภายใต้การปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง และมีเงื่อนไขว่าผลการสอบทานธุรกิจของ Bitkub ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญต้องเป็นที่น่าพอใจ และคู่สัญญาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาซื้อขายหุ้นครบถ้วน
ทั้งนี้ ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างกระบวนการสอบทางธุรกิจ และระหว่างการหารือกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง โดยมีการ "ขยายเวลา" การเข้าทำธุรกรรมออกไปจากกำหนดการเดิม
กระทั่ง ล่าสุดวันนี้ (25 ส.ค.65) ก็ถึงเวลาปิดฉากอย่างเป็นทางการ ของดีลยักษ์ 1.785 หมื่นล้านบาท โดยทั้งสองบริษัทอ้างว่า "การสอบทานธุรกิจ" ไม่มีปัญหา แต่ยังมีประเด็นคงค้างกับ ก.ล.ต. ที่อาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการธุรกรรมดังกล่าว จึงตกลงร่วมกันที่จะล้มเลิกข้อตกลงนี้ในที่สุด
โฆษณา