25 ส.ค. 2022 เวลา 18:46 • ปรัชญา
การภาวนา การสร้างภพ การสร้างปัญญา
Artist: Pavida Rujatikumporn Yoshida
การเกิดดับของความนึกคิด การปรุงแต่งของจิตจะเกิดต่อเนื่องกันไม่ขาดสายในวิถีของจิตของบุคคลทั่วๆไป นั่นคือจิตสังขารจะเกิดดับ เกิดดับ ต่อเนื่องจากรูปหนึ่ง อารมณ์หนึ่งไปสู่รูปอารมณ์อื่นอยู่ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุและปัจจัยที่ปรุงแต่งให้เป็นไป
อาการของจิตในลักษณะนี้ คือการสืบทอดที่เรียกว่าเป็น สันตติ
สันตติจะดำเนินไปไม่ขาดสายตามความยึดถือ อุปทาน และจริตนิสัยของบุคคลนั้นๆ ซึ่งคือวิชาอันเป็นพื้นฐานที่เกิดขึ้นที่จิต และนี่ก็คือสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นภพปัจจุบันของจิตใจ
การสืบทอดของภพ ของจิตใจ อุปทานการยึดถือไม่ขาดสาย ที่เป็นไปในลักษณะการต่อเนื่องโยงใยด้วยอาการของสันตตินั้น ถ้าเราจะสืบสวนย้อนขึ้นไปหาต้นตอ หรือต้นเหตุแห่งการเกิดภพเกิดอุปทานของจิตแล้ว เราก็จะได้ไปจนถึงตัวหนึ่ง คือ ผัสสะ
คือจากการมีอุปทานก็เพราะเกิดตัณหา มีตัณหาก็เพราะมีเวทนา มีเวทนาก็เพราะมีผัสสะ ตรงผัสสะนี่เองก็จะเห็นได้ว่าเพราะมีสฬายตนะ สฬายตนะก็คือ การมีการกระทบของอายตนะทั้งหก จากภายนอกกระทบกับอายตนะของภายในสังขารนี้นี่เอง
ที่แท้การสืบทอดของภพ การเกิดของอุปาทาน ก็มีต้นเหตุเข้ามาสู่จิตใจเราได้ก็โดยผ่านทางทวารทั้งหกที่เป็นอายตนะ ก็คือ รูปกระทบตา เสียงกระทบหู กลิ่นกับจมูก รสกับลิ้น รู้ร้อนอ่อนแข็งกับกาย ความคิดกับจิตใจ สันตตินี้เกิดขึ้นได้ก็โดยอาการของผัสสะที่ผ่านมาทางอายตนะหก ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ตลอดเวลา
การสืบทอดของภพจึงดำรงคงอยู่โยงใยไม่ขาดสาย เหนียวแน่น ถาวร ตราบเท่าที่มีผัสสะผ่านทางอายตนะทั้งหกเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไป
การตัดภพตรงนี้จึงเป็นของที่พูดง่าย ทำยาก และเข้าใจได้ยาก
เพราะตราบใดที่ผัสสะยังผ่านทางอายตนะหกอยู่ตลอดเวลา เราจะไม่มีความรู้ตัวที่จะไปคิดไปนึกอะไรอย่างอื่นเลย
ถึงแม้ในสภาวะอย่างนั้น เราจะคิด จะนึก อยากจะตัดภพ ตัดอุปทานความต่อเนื่องของอารมณ์ ก็คือ สันตติ จากสภาวะของจิตที่เป็นปรกติธรรมดา ก็จะทำให้เรานึกคิดไปตามจริตนิสสัยอุปทานที่เรายึดถือเป็นสัญญาเดิมอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
ซึ่งที่แท้ก็คือ ภพเดิม
ภพเดิมซึ่งสืบทอดทางสันตติทางอารมณ์ อุปทานผ่านทางผัสสะจากอายตนะหกอยู่ตลอดเวลา ตรงนี้คือ เงื่อนไขที่ลี้ลับที่ทำให้ไม่เข้าใจเรื่องจิตอย่างแท้จริง ไม่เข้าใจเรื่องอุปทาน เรื่องภพ เรื่องชาติว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร สีบทอดต่อเนื่องเป็นตัวเป็นตนอยู่ได้อย่างไร
การตัดภพชาติของบุคคลธรรมดาจึงเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เด็ดขาด
เพราะบุคคลทั่วไปดำเนินชีวิตอยู่ได้ก็อาศัยประสบการณ์จากผัสสะ จากอายตนะหก และขันธ์ห้าด้วยกันเท่านั้น ช่องว่างที่จะเอาอะไรไปตัดภพตัดชาติ จึงมองไม่เห็นว่ามีอยู่ได้ที่ตรงไหน เพราะต้องใช้อายตนะทั้งหก ขันธ์ห้าเป็นเงื่อนไขดำเนินชีวิตอยู่ตลอดมา
ถ้าเราเพ่งพิจารณาตรงจุดนี้ เราก็จะพบความจริงอันหนึ่งว่า ...
ตราบใดที่เรายังใช้อายตนะทั้งหกอยู่ เราจะถูกสะกดให้อยู่ในภพเดิม ประสบการณ์เดิมทุกอย่าง ขบวนการทางจิตก็จะเดินไปตามทางเดิมด้วยการทำงานของขบวนการ ที่เรียกว่าขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน ด้วยอาการปรุงแต่งและยึดถือเป็นอุปทานของขันธ์ห้านี้เองจึงได้เกิดอารมณ์ได้ต่างๆนาๆ เกิดมีประสบการณ์ใหม่ๆ เกิดการยึดติดในอุปทานในรูปแบบใหม่ๆ เสริมสร้างเร่งเร้าทางอารมณ์ให้เกิดอยู่ตลอดเวลา บางทีเราใช้ภาษาตลาดทั่วไปว่า เกิดความรู้ใหม่ๆ วิชาการใหม่ๆ
ถ้าในทางที่เป็นประโยชน์เราก็เรียกว่าเป็นวิชาความรู้เจริญขึ้น ถ้าในทางที่เลวมากขึ้นเป็นโทษเป็นภัยต่อตัวเองและผู้อื่นมากขึ้นเราก็เรียกว่า เป็นไปในทางเสื่อมเลวมากขึ้นนั่นเอง
ถ้าในทางศาสนาก็บอกว่าเป็นบุญเป็นบาป เป็นกุศลและอกุศล และมนุษย์ก็ติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้จนถอนไม่ได้ ไม่รู้ตัว เพราะการสืบทอดภพชาติต่อเนื่องกันเป็นสายใยส่งทอดกันเป็นสันตตินั่นเอง คือการสืบทอดของการสร้างภพชาติของสัตว์หรือมนุษย์ให้คงอยู่ได้ตลอดไป
Artist: Pavida Rujatikumporn Yoshida
เคล็ดลับที่จะเข้าใจในเรื่องการตัดภพตัดชาติตามที่สอนกันในพุทธศาสนา หรือตัดถอนสังโยชน์นั้นจึงต้องเข้าใจเงื่อนไขของรอยต่อของตรงนี้เสียก่อน ว่า...
สันตติทางจิตสังขารนั้นเกิดขึ้นโยงใยเหนียวแน่นไม่ขาดสายจนเป็นอภิสังขารเป็นภพเป็นชาติเหนียวแน่นเหลือเกิน
ถ้าอยากจะเข้าใจต่อไปถึงขั้นตอนการดำเนินการที่จะตัดภพตัดชาติตรงนี้
เราจะทำอย่างไร?
แน่นอนเราต้องมีความรู้ในเรื่องของจิตได้ดีพอ ต้องรู้ว่าจิตเป็นอะไร?
จิตดำเนินการเป็นไปตามการปรุงแต่งของกิเลสตัณหาอุปทานในขันธ์ห้าอย่างไร? อายตนะหกคืออะไร?
การเกิดขึ้นของผัสสะมีองค์ประกอบอะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร?
และอวิชามีอิทธิพลต่ออุปทานในขันธ์ห้าอายตนะหกอย่างไรบ้าง? เหล่านี้เป็นต้น
เรามาดูกันต่อไปว่า ถ้าจะตัดภพชาตินี้เราจะต้องทำอะไรบ้าง?
เนื่องจากอายตนะหกเป็นปัจจัยสำคัญ สำหรับสัตว์ สำหรับมนุษย์ทั้งหลาย เพราะทำให้เกิดผัสสะขึ้น และดำเนินไปเป็นเวทนา เป็นตัณหา เป็นอุปทาน เป็นภพ เป็นชาติ เป็นความทุกข์
และผัสสะ อายตนะหกก็เป็นคุณสมบัติ หรือพูดง่ายๆก็คือเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นธรรมชาติของสัตว์และมนุษย์นั่นเอง การเกิดขึ้นของสัญชาติญาณต่างๆอันเร้นลับของสัตว์ของมนุษย์ก็เกิดขึ้นผ่านทางผัสสะ อายตนะหกเหล่านี้นั่นเอง เช่น
เพราะเห็นภัยจึงหนีเอาตัวรอด
เพราะเห็นอาหารจึงเข้ายื้อแย่งแสวงหา
เพราะเห็นเพศตรงข้ามจึงเกิดความพึงพอใจ กามตัณหาเกิดขึ้นเหล่านี้ เป็นต้น
ดังนั้นก่อนอื่นจึงต้องหาทางดับอายตนะทั้งหกนี้ก่อน เพื่อดับอารมณ์การปรุงแต่งสืบทอดทางสันตติที่เป็นตัวเป็นตนนี้เสียก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่า...
ตามความเป็นจริงนั้นเราดับอายตนะทั้งหกนี้ได้หรือไม่?
...คำตอบ ก็คือ ถ้าอายตนะทั้งหกดับ ก็คือตายนั่นเอง
แต่เราทำได้เพียงว่า สงบเท่านั้น ไม่ถึงกับดับไปเลยคือหาทางทำให้สงบลงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งเราก็ทำได้ง่ายๆ คือ
...ถ้าปิดตาเสียหนึ่ง อายตนะทางตาก็สงบลงไม่เห็น อารมณ์ที่ผ่านทางตาก็จะไม่มี
...หู จมูก เราปิดไม่ใด้ แต่เราก็เลี่ยงได้ คือการเลี่ยงไปหาสถานที่วิเวก สงบ ที่ไม่มีเสียงเร่งเร้าอารมณ์ และกลิ่นต่างๆที่เร่งเร้าอารมณ์ ถึงปิดไม่ได้ก็เลี่ยงไปหาที่สงบเงียบได้ลดการเร่งเร้าทางอารมณ์ไปได้มาก
รวมทั้งกายและลิ้นที่ปิดดับไม่ได้ แต่เราก็เลี่ยงไปสงบได้นับตั้งแต่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ทั้งห้าอย่างนี้ อย่างที่กล่าวแล้วว่าหาทางดับหรือสงบชั่วคราวได้ โดยการแยกตัวออกไปจากหมู่คณะ หาที่วิเวกว่างเปล่าตามธรรมชาติ ที่เงียบสงัด แต่ก็ต้องมีความสะดวกสบายพอสมควร ที่ภาษาคัมภีร์บอกว่าต้องเป็นสถานที่สัปปายะ และตัดความกังวลห่วงใยให้มากที่สุดที่เรียกว่าปลิโพธ
แต่ถึงแม้เราจะเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมดี เพื่อการสงบ อายตนะทั้งห้าอย่างนั้นแล้วก็ตาม ก็ยังตัดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งคือ ใจ หรือจิตที่นึกคิดไปตามอารมณ์เก่าๆ ก็คือการคิดฟุ้งไปในอารมณ์ต่างๆที่เคยผ่านเข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจนั้น ซึ่งเราเรียกว่า เป็น ธรรมารมณ์ หรือธรรมสัญญา ก็คือจิตที่คิดฟุ้งไปในอารมณ์ต่างๆนั่นเอง
ตรงนี้จึงต้องหาอุบายเพื่อจะสงบอารมณ์ให้ได้ ซึ่งถ้าทำได้นั้นก็หมายความว่า เราสามารถสงบอายตนะทั้งหกได้ คือปิดผัสสะทั้งหมดเสีย เพื่อที่จะสงบหรือดับอารมณ์ปัจจุบันเสียชั่วคราว ซึ่งที่แท้ก็คือการตัดช่วงการปรุงแต่งของจิตสังขารที่สืบสายโยงใยเกิดดับเป็นสันตติ ซึ่งก็คือภพชาติเดิมที่เต็มไปด้วยอุปทานตัณหาจากผัสสะนั่นเอง
อุบายที่จะนำมาใช้เพื่อสงบธรรมารมณ์ หรือความฟุ้งซ่านของใจก็คือ การเจริญสติในการ “บริกรรมภาวนา” หรือพูดง่ายๆว่า ก็คือการ “ภาวนา” ดังนั้น คำว่าภาวนาจึงมีเป้าหมายอยู่ที่การทำให้จิตใจสงบ เพื่อให้สติเกิดขึ้นมาที่ใจ
องค์ประกอบของภาวนาเจริญสติมีบริกรรมเป็นเบื้องต้น โดยให้จิตมีที่ยึดเกาะ
มิฉะนั้นจิตจะฟุ้งไปยากแก่การควบคุม ดังนั้น บริกรรมจึงเป็นอุบายที่ให้จิตยึดเกาะ บริกรรมจึงเป็นอุบายที่ออกมาในรูปของ มนต์คาถา เพื่อให้จิตมุ่งไปจดจ่ออยู่กับสิ่งๆหนึ่ง ทั้งนี้ ก็เพื่อสงบตัวของธรรมารมณ์
นี่คือสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ต้องเป็นภาวนาเพื่อให้เกิดสติ ที่เรียกว่า
อาตาปีสัมปชาโนสติมาในสติปัฎฐานสี่
การเพ่งกสิน ก็เป็นการบริกรรมอย่างหนึ่งเช่นกัน
การที่จิตจดจ่ออยู่กับสิ่งๆหนึ่ง คือการบังคับสติให้อยู่กับสิ่งนั้นๆอยู่ตลอดเวลาในทางปฎิบัติตามความเป็นจริงนั้น ยากที่จะบังคับสติให้จดจ่ออยู่กับบริกรรมภาวนา หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่ฟุ้งไหลไปในอารมณ์ต่างๆได้ง่าย ซึ่งเป็นพื้นฐานจริตเดิมของจิต การกระทำตรงนี้จึงต้องใช้ความเพียรและความศรัทธาอย่างมากทีเดียว เมื่อศรัทธาความเพียรมิได้ลดละ การเพ่งบังคับจิตให้มีสติอยู่กับสิ่งที่ตั้งไว้ จึงเป็นการต่อสู้ชักคะเย่อกันระหว่างอารมณ์กับสติ ้
เมื่อแรกๆนั้น อารมณ์จะฟุ้งไปทั่วๆ สัมปชัญญะจึงต้องตามรู้
สติจึงรู้อารมณ์ว่า อารมณ์จะไปทางไหน คิดสอดส่ายไปทางไหน การเผลอสติจะเกิดขึ้นตลอดเวลาในการปฎิบัติแบบนี้
แต่ถ้าความเพียรศรัทธาไม่ลดละ ตั้งใจทำสติตามรู้อารมณ์ของจิตตลอดเวลา เช่นเมื่อลืมตัวคิดฟุ้งตามอารมณ์ไปก็ให้มีสัมปชัญญะและสติระลึกรู้ แล้วตั้งสติตามรู้อีก การดำเนินไปของจิต คือสติกับอารมณ์ที่ฟุ้งจะเป็นไปในลักษณะนี้อยู่ตลอดเวลา จนถึงสภาวะหนึ่งที่สติเข้มแข็งตามรู้อารมณ์ได้โดยไม่ลดละ อารมณ์ก็จะอ่อนลงๆในขณะเดียวกัน สติก็จะค่อยๆ เข็มแข็งๆ ขึ้นจนกระทั่งถึงที่สุดที่เรียกว่า...
อาตาปีสัมปชาโนสติมาในสติปัตฐานสี่ เมื่ออารมณ์สงบและสติเข็มแข็ง คือควบคุมอารมณ์ได้ ธรรมารมณ์ก็ดับหรือสงบไป
แต่ในทางปฎิบัติเริ่มแรกนั้น ความสงบของธรรมารมณ์โดยสติ วิธีนี้จะเกิดขึ้นชั่วคราวประเดี๋ยวเดียวเป็นระยะเวลาสั้นๆ แล้วจิตก็จะตกกลับอยู่ในอารมณ์ที่ฟุ้งไปอีกเช่นเคย ในการปฎิบัติจึงต้องอาศัยความเพียรพยายามและความศรัทธาอย่างมาก บางคนใช้เวลานานหลายๆปีทีเดียว บางคนอาจจะเร็วหน่อย ย่อมขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายๆอย่าง หลายๆทาง ซึ่งในคัมภีร์ใช้คำว่า ขึ้นอยู่กับบารมีของแต่ละบุคคล และความเพียรพยายาม ในการกระทำแบบนี้เราก็เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า การเจริญสติ ซึ่งก็คือการทำให้เกิดสตินั่นเอง
เรามาพิจารณากันต่อไปว่า เมื่อสติสามารถตั้งอยู่ได้ในจิต ขบวนการของจิตจะเป็นอย่างไร?
Artist: Pavida Rujatikumporn Yoshida
ในธรรมารมณ์ที่ฟุ้งไปก่อนที่สติจะควบคุมจิตรารมณ์ได้นั้น เรากล่าวได้ว่า การฟุ้งไปของอารมณ์ของจิตก็ฟุ้งไปในทวารทั้งห้าของอายตนะเดิม คือฟุ้งไปในอารมณ์ที่เคยเข้ามามางทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็คือสัญญาเดิมที่เราเรียกว่า ธรรมสัญญา ในภาษาชาวบ้านก็คือประสบการณ์ของชีวิตของแต่ละคนนั่นเอง ในภาษาคัมภีร์บางทีใช้เรียกว่าฟุ้งไปในกามคุณทั้งห้า คืออารมณ์ของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็คือผ่านทางตา หู จมูก ลิ้นและกาย ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน
ในทางคัมภีร์ได้จำแนกอารมณ์ที่ฟุ้งไปแบบนี้ว่า เป็นอารมณ์ของนิวรณ์ 5
ซึ่งก็คืออารมณ์ห้าอย่างที่เป็นเครื่องขวางกั้นมิให้จิตสงบนั่นเอง
อารมณ์ทั้งห้านั้นได่แก่
1. กามฉันทะ คืออารมณ์ความพึงพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง โผฎฐัพพะ
2. พยาบาท คืออารมณ์ที่ฟุ้งไปในความพยาบาททั้งหลาย
3. ถีนมิทธะ คือความง่วงเหงาหาวนอน ท้อถอย
4. อุทธจกุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
5. วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย
นี่คือนิวรณ์ห้า คืออารมณ์ที่เป็นเครื่องกั้นขวางมิให้จิตสงบ ด้วยอุบายของบริกรรมภาวนา อาตาปี สัมปชาโน สติมา จึงทำให้จิตละนิวรณ์ห้าเสียได้ ก็คือการเพียรสร้างสตินั่นเอง จิตจึงละนิวรณ์ห้าเสียได้ ธรรมารมณ์ก็สงบ จิตก็สงบความสงบชองจิตตรงนี้ เราเรียกสมาธิ คือจิตสงบเป็นสมาธิ
การดำเนินของจิตตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การปิดทวารทั้งห้าของอายตนะ การภาวนาเพื่อเจริญสติเพื่อดับธรรมารมณ์คือนิวรณ์ห้า คือตัวสุดท้ายของอายตนะตัวที่ 6 เป็นผลให้จิตเข้าไปสู่สภาวะที่สงบอย่างแท้จริง ที่เราเรียกว่าสมาธิ
การดำเนินความสงบของจิตก็จะรุดหน้าต่อไปเรื่อยๆ อย่าลืมอาตาปี สัมปชาโน สติมา ถ้าเราไม่ลดละความเพียรอยู่เพียงเท่านี้ แต่ฝึกให้จิตอยู่ในความสงบได้นานขึ้น ได้สงบมากขึ้น การสงบในขั้นแรกๆของจิต มักจะสงบเดี๋ยวเดียวก็จะออกสู่ธรรมารมณ์อีก ซึ่งเราเรียกความสงบเดี๋ยวเดียวนี้ว่าเป็น ขณิกกะสมาธิ
ถ้าเราเพียรพยายาม(ข่ม)ฝึกฝนการเจริญสตินี้ให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ความสงบของจิตก็จะลึกลงไปมากขึ้น และอยู่ได้นานมากขึ้น ซึ่งเราเรียกความสงบของจิตที่ลึกและนานมากขึ้นนี้ว่าเป็น อุปจารสมาธิ
ในขั้นของอุปจารสมาธิ จิตก็ยังคงออกมาสู่ธรรมารมณ์ได้ง่าย คือยังมีความเข้าๆออกๆ ระหว่าง ธรรมารมณ์กับอุปจารสมาธิอยู่เสมอ จนกระทั่งจิตดำเนินไปสู่ความสงบที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีก ซึ่งเราเรียกว่า อัปปนาสมาธิ คือความนิ่งสงบของจิตอย่างแท้จริง ตรงนี้นี่เองที่จิตตัดนิวรณ์ห้าได้อย่างเด็ดขาดหรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า จิตสงบตัดจากโลกภายนอก คือโลกของผัสสะจากอายตนะทั้งหกได้อย่างแท้จริง จิตอยู่ได้ในอารมณ์ที่พ้นจากผัสสะ อายตนะหกและนิวรณ์ห้าทั้งหลาย
ถ้าพูดเป็นภาษาคัมภีร์จะได้ดังนี้คือ จิตที่เป็นอัปปนาสมาธินั้น
วจีสัขารดับ
กายสังขารดับ
สัญญาสังขารดับ
วจีสังขารดับ ก็คือ บริกรรมภาวนาเช่นท่องมนต์คาถา หรือท่องพุทธ-โธ เป็นบริกรรมอยู่ก็จะหยุดไปโดยไม่รู้ตัว คือลืมไปเอง
กายสังขารดับ ก็คือ การรู้สึกว่าตัวเริ่มเบาหวิว ลมหายใจก็ไม่มี บางครั้งคล้ายตัวชาแล้วหายไป ไม่มีความรู้สึก บางครั้งถึงแม้จะหายใจแรงๆก็ไม่รู้สึกว่ามีลมหายใจผ่าน จึงไม่มีการปรุงแต่งลมหายใจ เหล่านี้เป็นต้น (กายสังขารดับไม่ใช่ตาย)
สัญญาสังขารดับ คือความทรงจำจากสัญญาเดิม ก็คือประสบการณ์ของชีวิตที่ผ่านๆมาจะลืมไปหมด วันเวลาที่กำลังจะผ่านไปก็จะไม่รู้ด้วย บางคนอยู่ในสมาธิแบบนี้นานเท่าไร เป็นวันเป็นคืนโดยไม่รู้ตัว ก็เพราะอายตนะดับสงบหมดจึงรู้สึกวันเวลาที่ผ่านไปไม่ได้ ตื่นจากสมาธิแล้วจึงใช้สัญญาเดิมวัดว่าหลับไปกี่วัน กี่ชั่วโมง ก็คืออายตนะหก ขันธ์ห้า ทำงานแบบเดิมเต็มที่นั่นเอง จึงรู้ได้ดังเดิม คือมีอดีต มีปัจจุบัน มีอนาคตแบบเดิม
สภาวะของจิตตรงนี้ก็คือ ภพอีกภพหนึ่งของจิต เป็นภพใหม่ของจิตที่ปราศจากอายตนะหกและขันธ์ห้าเป็นตัวปรุงแต่งแบบเดิมๆหรือมีอิทธิพลต่อจิต มีอารมณ์เดียวเป็นอุเบกขานิ่งอยู่ เนื่องจากจิตเมื่อถึงภพใหม่สภาวะเช่นนี้ จิตจะมีอารมณ์ของจิตเฉพาะพิเศษต่อสภาวะของจิตเช่นนั้น ความพึงพอใจเช่นนั้นเป็นอารมณ์ละเอียดอ่อนมาก เราจึงเรียกในภาษาคัมภีร์ว่าเป็นอารมณ์ของรูปราคะ และอรูปราคะ ตามสภาพของจิตที่ยึดเหนี่ยว เราเรียกสภาพจิตและภพของจิตตรงนี้ว่า รูปภพ และอรูปภพ (เพ่งในรูป กับเพ่งสิ่งที่ไม่มีรูปเช่นอากาศเป็นต้น)
1
อัปปนาสมาธิ บางทีก็เรียกรวมเป็นอัปปนาญาณ
รูปภพจึงเรียกเป็นรูปฌาณ
อรูปภพคืออรูปฌาณ
รูปราคะ และอรูปราคะ จึงเป็นความยึดเหนี่ยวติออยู่ในราคะ คืออารมณ์ที่ละเอียดสูงขึ้นไปในภพต่างหากจากปัจจุบัน คือภพของกามปัจจุบัน ได้แก่พวกที่ติดในฌาณไม่ก้าวหน้าในทางปัญญา เช่นพวกฤาษีต่างๆและนักปฎิบัติทางสมาธิแทบทุกคนจะต้องเคยติดและยึดถือ มีความพึงพอใจในสภาวะของภพที่สูงขึ้นไปจากปัจจุบันคือ ทิ้งภพของอายตนะทั้งหกเสียแล้ว ความทรงจำ ความคิดแบบอายตนะหก ขันธ์ห้า และผัสสะก็ไม่มีอีกแล้ว
ความสำคัญของตรงนี้จึงอยู่ที่ตัวสติตัวเดียว คือถ้าสติอ่อนลงๆด้วยเหมือนกัน จิตจะไม่รู้อะไรทั้งสิ้นเลย นอนสงบนิ่งเป็นอัปปนาฌาณ ไม่มีความรู้ตัว รู้สติอะไรอีกต่อไป แต่ถ้าหากตัวสติยังเข้มแข็งดีอยู่ จิตจะไม่ตกไปที่อัปปนาญาณ แต่จะยังคงเป็นอัปปนาสมาธิอยู่
ในเชิงปฏิบัติตรงนี้ ส่วนมากที่ถึงอัปปนาจิต จิตมักจะตกลงไปสู่อัปปนาฌาณอยู่เสมอโดยไม่มีสติรู้ตัว ซึ่งแน่นอนไม่เกิดประโยชน์ทางด้านปัญญา แต้ก็เป็นประโยชน์อย่างมากทางด้านความสงบระงับ การป้องกันมิให้จิตตกไปสู่อัปปนาฌาณ ขึ้นอยู่กับการปฎิบัติของผู้นั้นว่า มีจิตใจยึดมั่นและเข้าใจในหลักของสติปัฎฐานสี่หรือไม่ และปฎิบัติฝึกฝนในทางสติปัฎฐานสี่เป็นประจำหรือไม่
ถ้าเข้าใจและฝึกฝนสติปัฎฐานสี่เป็นประจำ ก็คืออาตาปี สัมปชาโน สติมา คือเพียรทำบ่อยๆมีสติสัมปชัญะ เพื่อให้ตามรู้สภาพจิตในปัจจุบันให้ได้ เพื่อให้มีสติตามรู้จิตขณะปัจจุบัน
ถึงแม้ระยะแรกๆจิตจะตกลงไปสู่อัปปนาญาน ซึ่งส่วนมากจะเป็นอย่างนั้น แต่จะไม่มีวันที่มีโอกาสถอนออกจากอัปปนาฌาน เป็น อัปปนาสมาธิ คือตัวรู้อยู่ ตื่นอยู่ ไม่หลับไหลและสลายอยู่คือสติสามารถตามรู้จิตในขณะปัจจุบันได้ คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพราะความรู้ตัวคือ สติสัมปชัญญะ จะตามรู้จริงได้เอง ถ้าหมั่นเฝ้าพิจรณาเข้าไปถึงสภาวะของจิตของตนอยู่เนืองๆ ซึ่งถ้าทำเช่นนั้นก็คือการทำจิตตานุปัสสนา ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานสี่
ในขณะที่ทำจิตตานุปัสสนาก็จะพบกับธรรมานุปัสสนาไปด้วยในตัว
ในเชิงปฎิบัติก็คือในขณะที่จิตตกอยู่ในอัปปนาฌานนั้น ความรู้ตัวคือสติจะไม่มี ดังนั้นจึงสงบนิ่งหลับไหลไปนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ตัว ( ก็ไม่เป็นไร เป็นสมถะชั้นยอดอยู่แล้ว เพราะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างสงบระงับอย่างแท้จริงรวมทั่งกิเลสและตัณหาได้ชั่วขณะหนึ่งเหมือนหินทับหญ้า ไม่ให้โผล่หัวตั้งขึ้นมา)
แต่ว่าเมื่อจิตถอนออกจากอัปปนาสู่อุปปจารสมาธิ (ธรรมสัญญาบางอย่าง หรือุปปทานในสังขารบางอย่าง อาจจะเป็นสังขารที่เป็นอภิสังขาร จากแรงอธิษฐาน จากบุพกรรมจะผุดเกิดผ่านเข้ามาในมโน ซึ่งสังขารหรืออารมณ์เหล่านี้ก็คืออุปทานในขันธ์ห้าจากบุพกรรมที่เคยพูด เคยอยู่ เคยเป็น เคยอยาก เคยทำกรรมเอาไว้ เคยรู้เห็นก็จะผุดเกิดขึ้นมาให้รู้เห็นและเข้าใจ
บางครั้งก็ต้องถามถ้าไม่ขัดเจน ก็จะเข้าใจรู้เห็นได้โดยภาพ หรือได้ยินเป็นเสียงชัดเจนเข้าใจได้แจ่มแจ้ง บางครั้ง คือรู้ตัวแล้วจงถามว่าอะไรได้เกิดขึ้นกับตัวเรา แล้วเพ่งพิจรณาถึงสภาพความรู้สึกของอารมณ์ในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร อะไรเกิดขึ้นที่จิตของเรา เฝ้าเวียนถามสิ่งเหล่านี้อยู่ตลอดเวลาก็จะทราบได้ว่า
ความจริงคือ จิตได้ประสบกับสภาวะธรรมอันหนึ่ง เป็นสภาวะธรรมที่เป็นผลมาจากการเพียรศรัทธาปฏิบัติจนบรรลุถึงสภาพจิตที่เบาสบายหลุดจากอายตนะสิ่งภายนอกทั้งปวง ไปสงบนิ่ง พึงพอใจในสภาวะธรรมของมันเอง นี่เข้าการเข้าไปพิจรณาถึงธรรมานุปัสสนา และจิตตานุปัสนา คือรู้ว่าจิตได้ถึงสภาวะธรรมอย่างหนึ่ง ความพึงพอใจ หรือสุขใจจึงเกิดขึ้นที่จิต ความความสำคัญจีงอยู่ที่สติตามรู้จิต รู้สภาวะธรรมที่กำลังเกิดขึ้นที่จิต
ถ้าสติตามรู้ในขณะที่จิตอยู่ในสภาวะของช่วงรอยต่อของอัปปนาสมาธิกับอุปปาจารสมาธิ บางครั้งความรู้บางอย่างจะผุดขึ้นมาในขณะนั้น ความรู้ที่ผุดขึ้นมานั้น บางครั้งปรากฏมาให้เห็นคล้ายเห็นด้วยดวงตา และจิตก็รู้ได้เองว่าเป็นอะไร
Artist: Pavida Rujatikumporn Yoshida
เราเรียกความรู้ที่เห็นได้ในขณะนั้นว่าเป็นญาณทัศนะ คือรู้เห็นได้ด้วยจิตโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านการปรุงแต่งของขันธ์ห้า อายตนะหกแบบผัสสะด้วยตาเปล่า หรือที่เราเรียกว่าตาเนื้อ แต่เป็นการรู้เห็นได้ด้วยจิตโดยตรง เราจึงเรียกความรู้โดยผ่านทางมโนทวารโดยตรงอย่างเดียว เป็นญาณทัศนะ หรืออาจเรียกว่าเป็นทิพจักขุญาณก็ได้
ถ้าปรากฏเป็นเสียง เป็นคำพูด เป็นภาษิต เป็นมนต์คาถาปรากฏให้ได้ยินและได้รู้ความหมายของมันได้แจ่มแจ้งชัดเจนเข้าใจโดยจรง สิ่งนั้นก็ไม่ใช่ผ่านทางหูที่เป็นอายตนะ ขันธ์ห้า ผัสสะเพราะว่าในขณะนั้นสิ่งเหล่านี้ดับสงบ คือสงบการปรุงแต่งชั่วขณะ เพราะฉะนั้นการได้ยินได้รู้เป็นศัพท์สำเนียงก็คือ ญาณทัศนะที่รู้ผ่านมโนทวารอย่างเดียวจึงอาจเรียกเป็นทิพยโสตญาณได้
สิ่งเหล่านี้คือ อภิญญา หรือ อภิญญาณนั่นเอง ถ้าความรู้ความเห็นด้วยญาณทัศนะเหล่านี้เป็นความรู้ความเห็นที่ออกไปนอกตัว คือเรื่องราวต่างๆนอกตัว ก็คืออภิญญาณโดยแท้ เป็นโลกีย์ญาณ เช่น
1. ทิพย์จักขุญาณ
2. โสตทิพย์ญาณ
3. เจโตปริญาณ
4. บุพเพนิวาสานุสติญาณ
5. อิทธิวิธี คือจิตมรฤทธิ์
ในช่วงที่จิตถอนจากอัปปนาสมาธิลงมาสู่อุปปจารสมธินั้น จิตในขั้นอุปจารสมาธิไม่สงบลึกนิ่งเท่าอัปปนาสมาธิ จิตในขั้นอุปจารสมาธิ ยังคงรับสัญญาเดิมเข้ามาได้บ้าง ดังนั้นบางครั้งจิตจะรับอารมณ์จากสัญญาเดิม หรือนิมิต สัญญาอะไรก็ตามที่ผ่านเข้ามาในจิตขณะนั้น หรืออารมณ์จากภายนอกจะผ่านเข้ามาเป็นห้วงๆ
โดยที่อารมณ์นั้นอาจจะเป็นเรื่องภายนอกตัวของเรา หรือเป็นเรื่องภายในตัวของเราเอง เช่นความวิตกกังวลต่อความเจ็บป่วย ทุกข์ร้อนของตัวเองเหล่านี้เป็นต้น
ถ้าจิตตามอารมณ์ออกไปนอกตัว คิดออกไป มองออกไปนอกตัวไปเรื่อยๆจะเกิดความหลงไปกับอารมณ์แบบนี้ได้มาก เพราะจิตที่เพ่งจนเป็นปฏิภาคนิมิตนั้น นิมิตจะเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของจิตได้ เมื่อจิตอยากเห็นอะไร อยากรู้อะไร นิมิตก็ดูเหมือนจะแสดงให้ดูให้รู้ให้เห็นได้ดังใจที่ปรารถนา ซึ่งอาจเป็นจริงบ้างไม่จริงบ้าง จึงทำให้เกิดหลงในนิมิต และภาพหลอนความรู้ลวงต่างๆได้ง่าย
แต่ถ้าอารมณ์ที่ผ่านเข้ามาไม่ว่าจากภายนอกหรือภายในตัวของเรา เราสีบสวนค้นคว้าโดยนำมาเปรียบเทียบเข้ามาในตัวสังขารรูปนามของเรา หรือคิดหรือถามในภาษาคัมภีร์บอกว่าตั้งวิตกถามด้วยองค์ของวิปัสสนาญาณ
องค์ของวิปัสสนาญาณนี้ คือ เรื่องที่เป็นองค์ประกอบทำให้เกิดความรู้ทางวิปัสสนาญาณได้ ได้แก่ความรู้ในเรื่องเหล่านี้ คือ
1. ขันธ์ห้า
2. อายตนะ 6
3. ธาตุ 4
4. อสุภะ
5. ไตรลักษณ์
6. อริยสัจ 4
7. ปฏิจสมุปบาท
คือ สืบสวนให้เป็นไปในทางเหล่านั้นจะเกิดผลเป็นความรู้
ตัวรู้ เป็นญาณทัศนะที่เรียกว่า วิปัสนาญาณ ในที่สุด
และญาณทัศนะของจิตที่บริสุทธิ์และแก่กล้า คือญาณทัศนะวิสุทธิ์จะเป็นปัญญาที่แก่กล้าในการรู้เรื่องของภายในสังขารของตัวของเราตามความเป็นจริง ได้แก่สัมมาทิฏฐิในอริยมรรคมีองค์แปด โดยสามารถถอนประหารสังโยชน์หรือกิเลสที่ร้อยรัดจิตอยู่ให้หายไปได้
เมื่อญาณทัศนะวิสุทธินั้นแก่กล้าจนรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกับมรรคอีกเจ็ด ก็คือ 1 2 3 4 5 6 7 เป็น เอกมรรค ที่เรียกว่ามรรคสมังคีจะปรากฏเป็น มรรคญาณและผลญาณ เช่นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกะทาคามิมรรค สกะทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหันตมรรค อรหันตผล
มีผลทำให้เกิดสมุจเฉทปหาน ตัดสังโยชน์ไปโดยลำดับ ทั้งหมดนั้นคือ ขั้นตอนของการอุบัติขึ้นของปัญญาในจิต อันเป็นผลมาจากการใช้สติตามรู้จิต จนระงับการปรุงแต่งจิตสังขารและได้พิจารณาสิ่งต่างๆในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสังขารตามความเป็นจริง โดยเฉพาะการระงับการปรุงแต่งของนันทิราคะตามกิเลสตัณหาของสังขาร
เมื่อวิปัสสนาปัญญาเกิดการรู้เห็นเท่าทันธรรมชาติของอาสวะในขณะปัจจุบัน จึงวางสังขารเสียได้ด้วยป้ญญาที่ดับอุปปาทานในขันธ์ห้าเสีย
ทำไมเราจึงกล่าวว่าความรู้จากวิปัสสนาญาณ จะให้ความรู้เรื่องราวของสังขารตามความเป็นจริง
เราจะเห็นว่าองค์ประกอบของการสีบสวนพินิจพิจารณาในขั้นของอุปจารสมาธิภายหลังที่ถอยออกมาจากอัปปนาสมาธินั้นมิได้เป็นไปตามอารมณ์ของผัสสะ อายตนะหกและขันธ์ห้า ซึ่งเป็นสัญญาเดิมในส่วนที่เกี่ยวกับประสบการณ์ของชีวิตตามสัญชาติญาณที่เต็มไปด้วยความปรุงแต่งของกิเลสตัณหาของจริตของจิต
แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ได้ถูกสงบลงไปเสียแล้วส่วนมากด้วยอำนาจของสมาธิ เหมือนกับสัญญาเดิม ความทรงจำเกี่ยวกับประสบการณ์เดิมของชีวิตถูกสงบลงไปไม่ออกโลดแล่นตามความเคยชินแบบเดิม แต่กลับมีข้อมูลใหม่ ความคิดใหม่ ซึ่งความคิดใหม่หรือสัญญาใหม่ที่แท้ก็คือองค์ประกอบของวิปัสสนาญาณได้แก่ อายตนะหก ขันธ์ห้า ธาตุ 4 อสุภะ ไตรลักษณ์ อริยสัจ 4 ปฏิจสมุปบาทนั่นเอง
เนื่องจากในขณะนั้นจิตสงบจากสัญญาเดิม ความคิดที่เคยชินจากการปรุงแต่งของขันธ์ห้าและการทำงานของอายตนะหก จึงทำให้ความคิดการสืบสวนใหม่ในชั้นของอุปจารสมาธินั้นปลอดจากอิทธิพลของขันธ์ห้า อายตนะหกและสัญญาเดิมซึ่งเป็นประสบการณ์ของชีวิต ของความนึกคิดตลอดมาซึ่งก็คือ การสืบทอดทางอารมณ์ของกามภพที่เป็นอุปทานและภพที่เกิดดับๆ เป็นสันตตินั่นเอง
ดังนั้นเมื่อจิตสงบว่างเปล่าจากอิทธิพลของภพเดิมเช่นนี้ จิตจึงเป็นอิสระอย่างมากในการคิดค้น เพ่งพินิจพิจารณาให้เป็นทางข้อมูลใหม่ คือองค์ประกอบของวิปัสสนาญาณ ซึ่งด้วยสัญญาใหม่เหล่านี้จะพาให้จิตสืบสวนไปพบกับความเป็นจริงของสังขารในแนวข้อมูลใหม่ ซึ่งเป็นความจริงของชีวิตอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งไม่เคยเห็นประทับจิตประทับใจมาก่อนเลย
การเห็นความจริงตามข้อมูลใหม่ในลักษณะประทับจิตประทับใจตามความเป็นจริงนี้ จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อจิตใจในขณะนั้น จะเป็นปัญญาที่เรียกว่า วิปัสสนาญาณ หรือความรู้คือญาณทัศนะฝังจิตฝังใจมิรู้ลืม และตราตรึงอย่างถาวร เนื่องจากเป็นปัญญาความรู้เนื่องจากจิตสงบปราศจากอิทธิพลของความคิดเดิม สัญญาเดิมคือภพเดิม เราจึงกล่าวได้ว่า ปัญญาหรือความรู้ในภพใหม่นี้ จึงสามารถถอดถอนความเชื่อหรือประหารลบล้างความเชื่อความเห็นจากสภาพของภพเดิมได้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสังขาร อุปทาน ความทุกข์ของชีวิต
ทำให้เห็นสภาพความจริงของชีวิตเป็นไปในอีกรูปหนึ่ง นั่นก็คือ จากอวิชชาก็กลายเป็นวิชชา (การเห็นไตรลักษณ์ของสังขารตามความเป็นจริง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
ดังนั้นเมื่อจิตถอนออกมาสู่สภาพปรกติ ความรู้ความเห็นหรือวิชชานั้นก็ยังคงตราตรึงจิตอยู่มิรู้คลาย อันเป็นผลทำให้คูณภาพของจิตเปลี่ยนไปนั่นคือ สามารถตัดอุปทาน ตัณหา ตัดภพในปัจจุบันได้ ซึ่งก็คือรู้เห็นเท่าทันการเกิดดับของอารมณ์ของจิต การปรุงแต่งของขันธ์ห้า อายตนะหก และตัดอาการสืบต่อทางสันตติของจิตที่เป็นไปด้วยอวิชชาได้ด้วยอำนาจพลังที่เป็นปัญญาในสัมมาทิฏฐิในอริยมรรค
นั่นคือ ไม่เกิดอุปทานซึ่งก็คือไม่เกิดภพสืบต่อไปในสังขารเหล่านั้น และในที่สุด ชาติในสังขารเหล่านั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้ ความทุกข์จึงถูกทำให้ถึงที่สุดโดยแจ้งก็คือ นิโรธนั่นเอง ทั้งนี้ก็โดยอำนาจของพลังจิตที่เป็นสติทำให้เกิดเป็นวิปัสสนาญาณเป็นความรู้เป็นปัญญา ที่สร้างขึ้นที่จิตที่มโนที่สงบนิ่งเป็นสมาธิ ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นภพอีกภพหนึ่งที่สูงจากภพปัจจุบัน จึงสรุปได้ว่า ปัญญาที่สร้างขึ้นในภพที่สูงกว่าคือ ในสมาธิของขั้นที่เป็นรูปภพ และอรูปภพ มีอำนาจมาตัดภพปัจจุบันได้
โดยวิธีนี้ความรู้ตามความเป็นจริงตามนัยของวิปัสสนาจะต้องเกิดขึ้นที่มโนที่เป็นไตรลักษณ์ จึงสามารถยับยั้งกระบวนการของขันธ์ห้า คือตังสังขารที่จะเกิดอาการปรุงไปตามอวิชชา ความรู้ที่เกิดขึ้นที่มโนนั้นจึงเป็นวิชชา แท้จริงวิชชานั้นเองเป็นตัวยับยั้งไม่ให้อวิชชาปรุงสังขารไปจนสุดโต่ง และปล่อยวางอุปทานได้
การไขปํญหาในเรื่องนี้ จึงอยู่ที่ว่าจะทำให้วิชาเกิดขึ้นที่มโนได้อย่างไร
เพราะขบวนการของการดำเนินชีวิตนั้นเป็นไปตามขบวนการของขันธ์ห้าอย่างรวดเร็ว เมื่อมโนยังไม่มีวิชชา มโนก็กลายเป็นอุปทานในขันธ์ห้าทั้งหมด คืออยู่ภายในอิทธิพลของอุปทานในขันธ์ห้าที่เป็นอวิชชา ดังนั้น จึงต้องหามโนให้พบเสียก่อน
วิธีการก็โดยการหาอุบายสงบอุปทานในขันธ์ห้าให้ได้ เมื่ออุปทานในขันธ์ห้าสงบก็คงเหลือแต่มโน ซึ่งที่แท้ก็คือตัวสติสัมปชัญญะนั่นเอง
แล้วยกรูปนามคือขันธ์ห้า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขึ้นเพ่งพิจารณาตามนับแห่งองค์ประกอบของวิปัสสนา ก็จะเกิดปัญญาหรือวิชชาขึ้นที่มโนมากบ้างน้อยบ้างตามเหตุแห่งสติสัมปชัญญะและสมาธิ และวิชชาที่เกิดขึ้นที่มโนนี่เองที่จะเป็นตัวแล่นออกไปรู้ตามความเป็นจริง และยับยั้งตัวสังขารขันธ์มิให้เกิดปรุงขึ้นที่มโนอีกต่อไป
มโนจึงวางอุปทานในขันธ์ได้ด้วยฉะนี้เอง สันตติที่ปรุงโดยขันธ์ห้าตามอิทธิพลที่ถูกครอบงำของอวิชชาก็จึงขาด ต่อไม่ติด ภพชาติของสังขารจึงสะดุด หยุดลงด้วยตัวปัญญาวิชชานี่เอง (ที่แท้ก็คือการเห็นการเกิดขึ้นของสังขารที่มโนจิต และ.. ความดับของสังขารที่มโนจิต เห็นความเปลี่ยนแปลง ทนอยู่ไม่ได้ด้วยกิเลสตัณหาที่ยึดถือติดกับสังขารที่เกิดและดับเหล่านั้น จึงเห็นนามเกิดและรูปเกิด เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันระหว่างนามกับรูปจึงเป็นความเป็นไปตามอิทัปปัจจยตาในปฏิจสมุปบาท)
ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นได้ง่ายเช่น ถ้าภพของเราในขณะนี้เปรียบเป็นแผ่นโลหะที่มั่นคงแข็งแรง ถ้าเราต้องการจะตัดแผ่นโลหะอันนี้ ซึ่งก็คือตัดภพชาติปัจจุบันนี้ของเรานั่น เราจะเอาโลหะชนิดเดียวกันนั้นตะไบเหลาให้แหลมอย่างไรก็ตาม ก็จะไม่สามารถมาตัดโลหะแผ่นนั้นได้เลย เพราะโลหะชนิดเดียวกันถึงแม้จะแหลมคมสักปานใดก็ตามก็ไม่สามารถตัดโลหะคุณภาพชนิดเดียวกันได้เลยเด็ดขาด
Artist: Pavida Rujatikumporn Yoshida
เปรียบเสมือนบุคคลธรรมดาถึงแม้จะมีปัญญาความรู้ดีในทางปริยัติเรื่องภพเรื่องชาติรู้เจนจบในคัมภีร์รู้เรื่องกิเลสตัณหามากมาย คือเป็นเหล็กแหลมคม ความแหลมคมนั้นก็ไม่มีประโยชน์ที่จะตัดเหล็กคือภพชาติของตนเองได้เลย
นั่นคือจะเกิดสมุจเฉทปหานไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะปลายแหลมคมของเหล็กนั่นแหละจะถูกความหนาแน่นของแผ่นเหล็กซึ่งเปรียบเหมือน (สังขารที่เหนียวแน่น แผ่นหนาด้วย)กิเลสตัณหา อวิชชาที่เป็นแผ่นเหล็กผืนใหญ่หนาแน่นทำให้ความแหลมคมของแท่งเหล็กนั้นหมดความหมายสิ้นอำนาจลงไปในที่สุด
จึงต้องมีอุบายปัญญาทำความเพียรสร้างจิตให้เป็นอภิสังขารเป็นสติพละ สร้างแท่งเหล็กให้เป็นเหล็กกล้าที่แข็งแกร่งเสียก่อนเปรียบเหมือนการสร้างภพของจิตให้สูงขึ้นไปแข็งกล้าเสียก่อนซึ่งก็คือตัวสมาธิจึงถึงขั้นรูปภพหรืออรูปภพ คือได้เหล็กกล้าที่แข็งแกร่งกว่าแผ่นเหล็กธรรมดา
ขั้นต่อไปจึงใช้ปัญญาเฝ้าฝนแท่งเหล็กกล้านั้นให้แหลมคม ปัญญาที่แหลมคมดังเช่นแท่งเหล็กกล้าที่แหลมคมก็คือวิปัสสนาปัญญานั่นเอง เมื่อเฝ้าเพียรฝนเหล็กกล้าจนแหลมคมในขั้นของวิปัสสนาปัญญาแล้ว จึงนำแท่งเหล็กกล้าแหลมคมดีแล้วนั้นมาตัดแผ่นเหล็กชาติปัจจุบันของตนที่เต็มไปด้วยกามฉันทะ กิเลส โมหะ โลภะ โทสะ นี้เสียได้ จึงตัดสังโยชน์ด้วยสมุจเฉทปหานเสียได้
จึงเห็นได้ว่าในชั้นของปุถุชนคนธรรมดา มักจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกามที่เรียกว่ากามฉันทะ ก็คือองค์ประกอบของอายตนะหก ขันธ์ห้า และผัสสะนั่นเองที่เป็นตัวการ
และในชั้นรูปภพ กามฉันทะถูกสงบระงับไปชั่วคราว ปรากฏให้เห็นให้รู้และพึงพอใจอยู่แต่เพียงรูปอย่างเดียวจึงเป็นรูปราคะ
และในขั้นของอรูปภพจิตจะทิ้งรูปอีก แต่ไปเพ่งพึงพอใจกับความว่างเปล่าที่ไม่มีรูป มีแต่เพียงนามธรรมล้วนๆ เช่นอากาศ คืออากาสานัญจายตนะ วิญญาณ คือ
วิญญานัญจายตนะ เพ่งที่ความไม่มีอะไรเลย อากิญจัญญายตนะและเพ่งที่ความมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ คือเนวสัญญานสัญญาตนะ เป็นต้น
จึงเป็นอรูปราคะ จึงเป็นลำดับของภพของจิตจากปุถุชนที่มีชีวิตพึงพอใจอยู่ได้ด้วย กามภพคือ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ
ถัดขึ้นมาอีกภพหนึ่งของจิต คือพึงพอใจแค่เพียงรูป ตัดกามออกไปได้ชั่วขณะ คือรูปภพ และในชั้นของอรูปภพ ก็ตัดกามออกไป และตัดรูปวัตถุออกไป จึงเหลือเพียงนามธรรมล้วนได้แก่อากาศวิญญาณ ความว่างเปล่าและความมีสัญญาณก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ จึงเห็นว่าเป็นการไต่ขึ้นสู่ภพที่สูงขึ้นๆ ของจิต คือจิตจะสร้างภวังค์ขึ้นเป็นภพได้ตามลำดับตังที่กล่าวนี้
แต่ในที่สุดจิตก็ต้องกลับตกวนออกมาสู่กามภพคือ ภพปัจจุบันของการมีชีวิตอยู่ที่จะต้องสัมผัสด้วยอายตนะหก ขันธ์ห้า เมื่อมาได้รับความเย้ายวนจากกาม จากสิ่งกระตุ้นทางรูป รส กลิ่นเสียง โผฐัปผะอีกก็โลดแล่นไปตามอารมณ์ปรุงแต่งได้อีก เพราะขาดปํญญาเข้าใจความเป็นไปของขันธ์ห้าและอุปทานในขันธ์ห้า อายตนะหก จึงต้องวนเวียนสร้งภพสร้างชาติสลับไปสลับมาอยู่อย่างนี้
ทั้งนี้ ก็เพราะขาดปัญญาที่เป็นวิปัสสนาปัญญาอันแก่กล้านี้นั่นเอง และความจริงแล้ว ปัญญาวิปัสสนาญาณนี้ก็สามารถสร้างขึ้นได้ในชั้นของจิตที่เป็นรูปภพและอรูปภพนั่นเอง ซึ่งการเดินทางไปสู่เป็าหมายดังที่กล่าวนี้ก็อาศัยหลักธรรมที่เรียกว่าโพธิปักขิยธรรม 37
และในโพธิปักขิยธรรมทั้งหมดนั้นรวมให้ย่อเข้าก็รวมลงที่ สิกขาสามที่เรียกว่าไตรสิขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือสติ สมาธิ ปัญญา ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นทางสายกลางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ นั่นเอง
โฆษณา