27 ส.ค. 2022 เวลา 13:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ความแห้งแล้งในรัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา ทำให้เราได้เห็นรอยเท้าของไดโนเสาร์ที่มีอายุมากกว่า 110 ล้านปี
ฟอสซิลรอยเท้าของไดโนเสาร์ บริเวณแม่น้ำ Paluxy River ในรัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา (ภาพ : Dinosaur Valley State Park)
ไดโนเสาร์เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ซึ่งมีหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่ามันมีหลากชนิดหลายขนาด
โดยหลักฐานที่พบส่วนใหญ่มักจะเป็นฟอสซิลของกระดูกและอวัยวะส่วนต่างๆ แต่บางครั้งก็อาจจะพบหลักฐานในลักษณะอื่น เช่น รอยเท้าของมันที่ถูกพบในหลายพื้นที่ทั่วโลก
ล่าสุดเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการพบฟอสซิลรอยเท้าของไดโนเสาร์อายุประมาณ 113 ล้านปี บริเวณแม่น้ำ Paluxy River ที่ไหลผ่านอุทยาน Dinosaur Valley State Park ในรัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในปีนี้มีน้ำเหลืออยู่ในแม่น้ำน้อยมาก เนื่องจากภาวะความแห้งแล้งอย่างรุนแรง
จากการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญระบุว่ารอยเท้าที่พบเป็นฟอสซิลรอยเท้าของไดโนเสาร์ Acrocanthosaurus ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อที่มีขนาดยาวได้ถึง 36 ฟุต และมีนิ้วเท้า 3 นิ้ว โดยรอยเท้าที่พบซึ่งยาวประมาณ 1 ฟุตจะเป็นรอยเท้าที่กดย่ำลงไปในโคลนที่อยู่ใต้แม่น้ำ
ภาพจำลองของไดโนเสาร์ Acrocanthosaurus (ภาพ : wikiedia)
อุทยาน Dinosaur Valley State Park ที่อยู่ในรัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน น่าจะเคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของไดโนเสาร์หลายชนิดในยุคครีเตเชียส (Cretaceous Period) ตอนต้นเมื่อประมาณ 130 - 110 ล้านปีก่อน เนื่องจากมีการพบฟอสซิลรอยเท้าของไดโนเสาร์เป็นจำนวนมากในบริเวณนี้ โดยพบครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1907
รอยเท้าที่เคยพบมีทั้งฟอสซิลรอยเท้าของไดโนเสาร์กลุ่มเทอโรพอด (theropod) ที่มีนิ้วเท้า 3 นิ้ว และไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด (sauropod) ที่เดินด้วย 4 ขา ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีภายใต้โคลนและน้ำในแม่น้ำ แต่ทันทีที่ความแห้งแล้งมาเยือน รอยเท้าของสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดนี้ก็จะปรากฏออกมาให้เราเห็นทันที
ฟอสซิลรอยเท้าของไดโนเสาร์ Acrocanthosaurus ที่ถูกพบล่าสุดในรัฐเท็กซัส (ภาพ : Dinosaur Valley State Park)
โฆษณา