26 ส.ค. 2022 เวลา 09:31 • หุ้น & เศรษฐกิจ
☕‘รัฐมนตรีฯ กาแฟ’ คนแรกของโลกกำเนิดขึ้นแล้วในปาปัวนิวกินี หลังรัฐบาลชุดใหม่หวังใช้กระทรวงกาแฟ ยกระดับอุตสาหกรรมกาแฟของประเทศ
ไม่น่าเชื่อว่า กาแฟที่เป็นเครื่องดื่มยอดฮิตที่เราดื่มอยู่ที่ทุกวัน มีขนาดอุตสาหกรรมทั่วโลกใหญ่ระดับ 4.33 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี (15.5 ล้านล้านดอลลาร์) แต่โลกนี้เพิ่งจะมีการแต่งตั้ง ‘กระทรวงกาแฟ’ ที่ดูแลภาพรวมอุตสาหกรรมกาแฟ โดย ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกาแฟคนแรกของโลก’ ขึ้น ในประเทศ ปาปัวนิวกินี ประเทศที่ 1 ใน 4 ของประชากร เลี้ยงชีพด้วยการปลูกกาแฟ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีอันดับสอง รองจากน้ำมันปาล์ม
☕ตั้ง ‘รัฐมนตรีกระทรวงกาแฟ’ คนแรกของโลก
หลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (ที่เต็มไปด้วยการฉ้อฉล) ของประเทศ ปาปัวนิวกินี ประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 54 ของโลก (ไทยอยู่ที่ 50) อยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศอินโดนีเซีย อยู่ทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย ได้ผู้ชนะคือ ประธานาธิบดีคนเดิมตั้งแต่ปี 2019 ‘James Marape’ ได้ดำรงตำแหน่งไปอีกหนึ่งสมัย
แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในรัฐบาลชุดใหม่นี้ คือ 2 กระทรวงใหม่ที่เกิดขึ้นมาเพื่อดูแลผลผลิตหลักในประเทศ ได้แก่ กระทรวงปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีนาย Francis Maneke นั่งตำแหน่งรัฐมนตรี และกระทรวงกระแฟ ซึ่งมีนาย Joe Kuli นั่งเก้าอี้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกาแฟคนแรกของโลก
โดยภารกิจของ Kuli ก็คือ การคืนชีพอุตสาหกรรมกาแฟเพื่อที่จะสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศได้เพิ่มขึ้น ซึ่งตัวของ Kuli เองเหมาะกับตำแหน่งนี้มากกว่าใคร เพราะเขาเติบโตมาจากจังหวัด Jiwaka ซึ่งครั้งหนึ่ง เคยเป็นไร่กาแฟขนาดใหญ่มาก่อน
สัดส่วนของ ‘สวนกาแฟ’ หรือการเพาะปลูกกาแฟโดยเกษตรกรท้องถิ่นจากแต่ละหมู่บ้าน มีสัดส่วนมากถึง 85% ของอุตสาหกรรมกาแฟทั้งหมดในปาปัวนิวกินี สร้างรายได้ให้กับประชาชนชาวปาปัวฯ กว่า 2 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด มีตลาดส่งออกหลักได้แก่ เยอรมนี, ญี่ปุ่น, สหรัฐ และอังกฤษ แต่มีสัดส่วนเพียง 1% ของอุตสาหกรรมกาแฟทั้งหมด
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมกาแฟในปาปัวฯ เอง ก็ประสบปัญหาจากระบบสาธารณูปโภคที่ยังขาดการพัฒนา และการลักลอบขโมยเมล็ดกาแฟตามไร่ตามสวน ก่อให้เกิดความเสียหายให้กับผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ไม่ต่ำกว่า 50% ต่อปี
ด้านเจ้าของไร่ขนาดเล็ก ก็ยังขาดทักษะด้านการแปรรูปอยู่มาก จึงมีความพยายามในการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจกาแฟขนาดเล็ก จึงมีการจัดตั้ง สหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟปาปัวนิวกินี รวมถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานส่งออก-นำเข้ากาแฟของสหรัฐที่ชื่อ ‘Coffee Pacifica’ ในการช่วยพัฒนากระบวนการแปรรูป และเพิ่มโอกาสในการส่งออกและนำเข้าเมล็ดกาแฟ เพื่อนำมาคั่ว และขายปลีก
☕กาแฟ ปาปัว นิวกินี ดีอย่างไร?
กาแฟ ปาปัวนิวกินี เป็นกาแฟที่ปลูกบนพื้นที่ที่มีภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยเทือกเขาขนาดใหญ่ แทรกด้วยภูเขาไฟ ทำให้ดินอุดมไปด้วยดินภูเขาไฟ ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ธาตุ นอกจากนี้ ยังตั้งอยู่ในเขตมรสุม เหมาะอย่างนยิ่งสำหรับการปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า
เมล็ดกาแฟที่ถูกนำมาปลูกบนแผ่นดินของปาปัวนิวกินี ชุดแรกๆ เป็นเมล็ดกาแฟพันธุ์ Jamaica Blue Mountain ซึ่งยังถ่ายทอดเอกลักษณ์ส่วนหนึ่งไว้ในกาแฟ ปาปัวฯ ในปัจจุบัน สำหรับสายพันธุ์ที่นิยมปลูกในปัจจุบันได้แก่ Blu Mountain, Catimor, Caturra, Mundo Novo และ Arusha
เนื่องจากเป็นดินแดนที่ติดกับประเทศอินโดนิเซีย กาแฟ PNG จึงมีความเปรี้ยว (acidity) น้อยถึงปานกลางคล้ายๆ กับกาแฟอินโดนีเซีย แต่มีบอดี้ที่กลมกล่อมกว่า มีกลิ่น (Aroma) หอมแบบฟรุตตี้ คล้ายมะม่วงและมะละก้อ แถมมีกลิ่นคล้ายไวน์แอปเปิล (Apple wineyness) อ่อนๆ เป็นกาแฟที่มีเสน่ห์ของความสดชื่นของผลไม้เมืองร้อนแฝงอยู่ และด้วยขั้นตอนการแปรรูปกาแฟด้วยกรรมวิธีแบบเปียก (Wet Process) ทำให้ ให้ได้รสชาติกาแฟที่สะอาด เด่นชัด และชุ่มฉ่ำจากรสเปรี้ยวผลไม้มากกว่า
กาแฟจากปาปัวนิวกินี (บางครั้ง เรียกสั้นๆ ว่า PNG) จึงเป็นที่เสาะแสวงหาของบรรดาคอกาแฟที่นิยมชมชอบ Specialty Coffee หรือกาแฟพิเศษ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บรรดาร้านกาแฟ Specialty Coffee รวมถึงแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Starbucks หรือ Nespresso จึงสรรหาเมล็ดกาแฟจากปาปัวนิวกินี มาให้ลูกค้าได้ลิ้มลอง
 
ที่มา : The Guardian, Statista, กรุงเทพธุรกิจ, Espresso & Coffee Guide, Home Grounds
 
#Spotlight #กาแฟ #สภากาแฟ #กระทรวงกาแฟ #รัฐมนตรีกาแฟ #กาแฟปาปัว #PNGCoffee #Papuanewguinea #ปาปัวนิวกินี #Economy
ติดตามข้อมูล ด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจการเงิน ของ #Spotlight เพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ : https://www.amarintv.com/spotlight
ยูทูป : https://bit.ly/31rtDUM
อินสตาแกรม : https://www.instagram.com/spotlight_biz
โฆษณา