Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
JusThat คดีเล็กงบน้อยเราดูแลให้
•
ติดตาม
27 ส.ค. 2022 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
รู้เท่าทัน 5 กลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ที่มักใช้หลอกล่อฉ้อโกงเหยื่อ
19
ปัจจุบันนี้ต้องยอมรับเลยว่าใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและสื่อโซเชี่ยลได้ เสมือนว่าโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต แล็ปท็อป ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ผู้คนในปัจจุบันขาดไม่ได้แล้ว เพราะนอกจากจะใช้ติดต่อสื่อสารกัน ยังใช้เพื่อติดตามข่าวสาร ดูคลิปสาระ บันเทิง ดูหนัง การ์ตูน อ่านหนังสือ หาเพื่อนคุย ทำธุรกรรมต่าง ๆ หรือใช้สำหรับซื้อขายของออนไลน์ แต่ในความสะดวกสบาย การฉ้อโกงออนไลน์ก็มีมากขึ้นไปด้วย เรียกว่าเยอะขึ้นเป็นเงาตามตัวเลยทีเดียว
12
JusThat จึงขอนำกลโกง 5 ข้อที่ถูกใช้ฉ้อโกงออนไลน์บ่อยๆ มาให้ได้ทราบ เพื่อให้คุณรู้ทันไม่ตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงอีกต่อไป
1. ร้านค้ามิจฉาชีพ โจรขายของฉ้อโกงเงิน
มิจฉาชีพเหล่านี้จะมาในรูปแบบของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ขายของด้วยกลวิธีต่าง ๆ พอเหยื่อหลงเชื่อสั่งของและโอนเงินให้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ
●
บ่ายเบี่ยงไม่ยอมส่งของให้ลูกค้า เพราะว่าพวกเขาไม่มีของอยู่กับตัวยังไงล่ะ
●
ส่งของที่ไม่ตรงปก เช่น สั่งโทรศัพท์แต่ส่งก้อนหินให้ เพื่อให้มีเลขพัสดุว่าส่งแล้วนะ
●
ได้เงินแล้วหนีหายไปเลย ไลน์ไม่อ่าน แชทไม่ตอบ และอาจบล็อกลูกค้าด้วย
ข้อสังเกตุคือมิจฉาชีพเหล่านี้มักประกาศขายสินค้าคุณภาพดี หรือเป็นของหายากในราคาที่ถูกกว่าร้านอื่นมาก ๆ และมักจะเร่งการตัดสินใจของเรา ทวงเงินเรื่อย ๆ เพื่อให้เราโอนเงินให้อย่างเร็วที่สุด แต่พอได้เงินแล้วจะเงียบ ไม่ค่อยอยากตอบ หรือไม่ตอบและหายไปเลย ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าจากร้านค้าออนไลน์ เราควรสังเกตเรื่องการตั้งราคาที่ถูกเกินจริง เช็กข้อมูลชื่อผู้ขาย เบอร์โทรศัพท์ บัญชีธนาคารของผู้ขายจากเว็บไซต์แจ้งโกงต่าง ๆ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงให้เราได้อีกทางหนึ่ง
2. แอบอ้างเป็นคนใกล้ชิด ทักมาขอยืมเงิน
“เธอโอนเงินให้เราหน่อยสิ จะจ่ายค่าของพอดีในบัญชีไม่มีเงิน เดี๋ยวโอนคืน”
“เพื่อนโอนเงินให้หน่อย ไม่มีเงินกินข้าวเลย”
ประโยคเหล่านี้ดูแล้วก็เหมือนกับการขอกู้ยืมเงินกันธรรมดา แต่ทำไมคนที่ไม่เคยทักมายืมเงินใครกลับมาขอยืมเงินคนอื่นง่าย ๆ หรือคำพูดคำจาแปลก ๆ ไปจากเดิม การฉ้อโกงแบบนี้มิจฉาชีพจะอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันของเหยื่อ โดยแอบอ้างเป็นเพื่อน พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ แล้วมาขอความช่วยเหลือจากเรา หากเราไม่ทันสังเกตและกดโอนเงินให้ เงินก็เข้ากระเป๋ามิจฉาชีพอย่างง่ายดาย
ข้อสังเกตของมิจฉาชีพที่มาฉ้อโกงในรูปแบบของคนใกล้ชิด คือ การพูดจาการจาจะแปลก ๆ ไม่เหมือนปกติ และเร่งให้เราโอนเงินให้เพราะการปล่อยให้เวลายืดยาวออกไปเรื่อย ๆ จะทำให้เหยื่อรู้ตัวก่อน แผนการหลอกล่อที่วางเอาไว้ก็จะไม่สำเร็จ
ดังนั้น ก่อนที่เราจะกดโอนเงินให้ใคร เราควรตรวจสอบชื่อบัญชีที่จะโอนไปว่าใช่ชื่อของคนใกล้ชิดที่มายืมเงินเราหรือไม่ และโทรหาเขาก่อนเพื่อสอบถามว่าเขากำลังเดือดร้อนอยู่จริง ๆ ไหม ถูกใครแอบอ้างหรือใช้บัญชีLine Facebook หรืออื่น ๆ อยู่หรือเปล่า เพราะบางครั้งเพื่อนหรือญาติของเราก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังมีคนแอบอ้างเพื่อหลอกเอาเงินอยู่ วิธีนี้ก็จะช่วยปกป้องเงินในบัญชีเราได้และยังช่วยให้คนที่ถูกแอบอ้างรู้ตัวด้วย
3. ปล่อยกู้นอกระบบมีค่าดำเนินการ
มิจฉาชีพปล่อยกู้จะใช้สื่อออนไลน์ต่าง ๆ เช่น Facebook Line IG เป็นช่องทางในการฉ้อโกงเหยื่อให้หลงกล โดยไปคอมเม้นต์ไว้ตามโพสต์และให้แอดไลน์ กดลิงก์ที่แปะไว้ พอกดไปแล้วก็จะหลอกล่อให้เราบอกชื่อ นามสกุล เลขที่บัญชีธนาคาร และข้อมูลอื่น ๆ เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ
แต่เราจะไม่ได้เงินจากมิจฉาชีพเหล่านี้เลย เพราะเขาจะแจ้งกับเราว่าต้องทำเอกสารในการยื่นกู้ และเราต้องโอนเงินค่าดำเนินการให้ก่อน จากนั้นจึงจะโอนเงินตามจำนวนที่ขอกู้มาให้เรา และมักจะเร่งการตัดสินใจของเราโดยอ้างว่าจะทำให้กู้ได้เร็วยิ่งขึ้น หากเป็นคนที่กำลังร้อนเงิน หาทางออกไม่เจอ หรือไม่ได้ตรวจเช็กให้ละเอียดก็อาจหลงกลได้ พอได้เงินไปแล้วมิจฉาชีพก็จะหายไปอย่างไร้ร่องรอย ทิ้งไว้แต่ความเสียหายให้เหยื่อไปแจ้งความตามเงินกลับมาเอาเอง
4. ลิงก์ปลอมแฮ็กข้อมูล
ดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายของมิจฉาชีพในการหลอกล่อเหยื่อเพื่อให้ได้เงินในบัญชีไป แต่ก็ไม่ง่ายซะทีเดียวเพราะการที่มิจฉาชีพจะได้ข้อมูลของเรา เพื่อนำไปแฮ็กบัญชีจะต้องอาศัยการหลอกล่อให้เราเชื่อก่อนว่าลิงก์ที่ส่งมาเป็นของจริง ด้วยวิธี Phishing หรือ “สร้างเหยื่อล่อ” ปล่อยออกไปตามช่องทางต่าง ๆ เช่น SMS, Email, LINE, Facebook อาจมีการพูดคุย ตีสนิทกันก่อนก็ได้เพื่อให้เราตายใจ หรือทำทีเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ หรือร้านค้า แอพพลิเคชั่นที่ต้องมีการลงทะเบียน
เมื่อเราเชื่อแล้วก็จะกรอกข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ไป ทำให้มิจฉาชีพรู้ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล วัน-เดือน-ปีเกิด เลขที่ประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ อีเมล รหัสผ่าน เลขบัญชี เลขหน้าบัตร รหัสหลังบัตร รวมถึงรหัส OTP เมื่อได้ข้อมูลสำคัญมากไปแล้ว มิจฉาชีพจะเอาข้อมูลเหล่านี้ไปปลอมตัวเป็นเรา และโอนเงินออกจนหมดบัญชีได้โดยที่เราแทบไม่รู้ตัวเลย
ดังนั้น ก่อนที่เราจะกดลิงก์หรือกรอกข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ลงไป เราก็ควรตรวจสอบถึงที่มาที่ไปให้ดีก่อน โดยโทรสอบถามกับCall Center หรือเข้าไปดูรายละเอียดในเว็บไซต์หลักของบริการนั้น ๆ ว่ามีการให้กรอกข้อมูลตามลิงก์ที่ได้รับหรือไม่ และตั้งแจ้งเตือนแอพบัญชีธนาคารไว้เสมอเพื่อตรวจเช็กเงินเข้าและออกได้ตลอดเวลา นอกจากนี้เราควรเปลี่ยนรหัสบัญชีบ่อย ๆ และไม่ตั้งรหัสที่เดาได้ง่าย วิธีก็จะช่วยป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้พอสมควร
5. Romance Scam หลอกให้รักแล้วเชิดเงินหนี
มิจฉาชีพเหล่านี้จะมาในรูปแบบของเพื่อนคุย ต้องการหาคู่ชีวิต อยากใช้ชีวิตแต่งงานอยู่ด้วยกัน แต่มีธุระสำคัญที่ต้องทำให้เสร็จก่อนทำให้มาหาไม่ได้ เพื่อแทนคำขอโทษจะส่งของมาให้ โอนค่าบ้าน ค่ารถ หรือเงินทั้งหมดมาให้เหยื่อไว้ก่อนแล้วจะตามมาทีหลัง
โดยใช้โปรไฟล์ที่ดูหรูหรา ร่ำรวย ภูมิฐาน หรือเป็นคนในเครื่องแบบ เช่น ทหาร แพทย์ วิศวกร นักบิน นักธุรกิจ สถานะโสด หรือเคยแต่งงานมาแล้วแต่ภรรยาเสียชีวิตหรือหย่าร้างกัน และใช้รูปภาพที่แสดงให้เห็นรูปร่างหน้าตาที่ตรงกับ beauty standard เพื่อให้เหยื่อสนใจและหลงเชื่อจะได้ง่ายในการฉ้อโกง
วิธีการโอนเงินและส่งของมานั้นมิจฉาชีพก็มักปลอมแปลงหลักฐานขึ้นมา เมื่อเหยื่อได้รับหลักฐานการโอนเงินหรือการส่งของจากมิจฉาชีพ ว่ามีการโอนเงินหรือส่งของมาจริง ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานก็จะมีปัญหาติดขัดเกิดขึ้น มิจฉาชีพจะตีหน้าเศร้า เล่าความเท็จว่าเงินที่โอนหรือของที่มาถูกอายัดไว้ เพราะติดเงื่อนไขต่าง ๆ และขอให้เหยื่อโอนเงินค่าธรรมเนียม ค่าดำเนินการ หรือค่าทนายไปให้ โดยเรียกเก็บจากเงินจำนวนน้อย ๆ ก่อนแล้วเพื่มจำนวนให้มากขึ้นเรื่อย ๆ กว่าเหยื่อจะรู้ตัวว่าถูกหลอกก็สูญเงินไปเป็นจำนวนมากแล้ว
ถูกหลอกลวงฉ้อโกง จะทำอะไรได้บ้าง
สำหรับคดีหลอกลวงทําให้เสียทรัพย์ถือเป็นการฉ้อโกง ซึ่งเป็นคดีอาญาและมีความผิดทางแพ่งเกี่ยวด้วยเรียกว่า คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา เราจึงสามารถแจ้งความข้อหาหลอกลวงได้ ในความผิดฐานฉ้อโกง หรือฉ้อโกงประชาชนแล้วแต่กรณี
ฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ถ้าการหลอกลวงทำไปด้วยการแสดงข้อความเท็จ หรือปิดบังความจริงที่ควรบอกให้รู้ และต้องการให้คนทั่วไปทุกคนเชื่อแบบไม่เฉพาะเจาะจงคน จะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่จะมีโทษเพิ่มขึ้นอีก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 140,000 บาท ถ้า…
●
หลอกลวงด้วยการแสดงตัวเป็นคนอื่น
●
หลอกลวงเด็ก หรือคนที่มีความอ่อนแอทางจิต
สำหรับมาตรา 341 มีอายุความ 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวคนทำผิด เพราะเป็นความผิดต่อส่วนตัวสามารถยอมความได้ เราจึงต้องรีบดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ให้เร็วที่สุด อย่าให้พ้นกำหนด 3 เดือน เพราะไม่อย่างนั้นคนทำผิดก็จะลอยนวลไปได้ง่าย ๆ เลยนะ
ส่วนมาตรา 343 ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ยอมความไม่ได้ กรณีนี้จะมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95
มาตรา 95 ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
1.
20 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุก 20 ปี
2.
15 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า 7 ปี แต่ยังไม่ถึง 20 ปี
3.
10 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า 1 ปี ถึง 7 ปี
4.
5 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า1 เดือน ถึง 1 ปี
5.
1 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 เดือนลงมาหรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน
รู้หรือไม่?! JusThat ส่งหนังสือทวงถามและฟ้องให้เลยทันทีหากเพิกเฉย
1. แอดไลน์ @justhatapp หรือ คลิก
https://bit.ly/3uUti8X
2. เริ่มต้นทำแบบประเมิน
3. หากต้องการ ส่งฟ้องได้ทันที
อ่านเพิ่มเติม
justhat.app
รู้เท่าทัน 5 กลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ที่มักใช้หลอกล่อฉ้อโกงเหยื่อ - JusThat.app
รู้เท่าทัน 5 กลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ที่มักใช้หลอกล่อฉ้อโกง […]
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
คดีแพ่ง (ฟ้องด้วยตัวเองได้)
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย