27 ส.ค. 2022 เวลา 04:52 • ความคิดเห็น
Balance of Convenience
กับคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่า "ศาลรัฐธรรมนูญ" จะมีคำวินิจฉัย
นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้ความเห็นผ่านรายการโทรทัศน์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาเกี่ยวกับเรื่อง “คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย”
ตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ นายจรัญได้เอ่ยคำว่า “balance of convenience” ขณะอธิบายแนวทางของศาลในการพิจารณาออกคำสั่งด้วย
คำ ๆ นี้หมายความหมายว่าอะไร และเกี่ยวอะไรกับการพิจารณาสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว และนายกฯ อยู่ในตำแหน่งเกิน 8 ปีจริงหรือไม่ เราลองมาอ่านกันครับ
1. Balance of Convenience หลักชั่งประโยชน์ระหว่างผลดีกับผลเสีย
คำว่า balance of convenience or inconvenience แปลตรง ๆ ตัวเลยก็คือ “สมดุลระหว่างประโยชน์ที่ได้รับกับความเดือดร้อนรำคาญ” เป็นหลักการหนึ่งในการพิจารณาสั่ง “คุ้มครองชั่วคราว” (injunction) ในระหว่างพิจารณาของศาลในระบบ “common law”
สาระสำคัญของหลักการนี้ คือ การ “ชั่งน้ำหนัก” ระหว่างความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์อาจได้รับ “เมื่อเทียบกับ” ของจำเลยหากศาลปฏิเสธไม่ยอมคุ้มครองชั่วคราวให้ตามคำร้อง (preponderance of inconvenience)
ตัวอย่างเช่น ในระหว่างที่มีโรคระบาด กระทรวงสาธารณสุขออกคำสั่งให้สร้างโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยที่ติดโรค นาย ข. เจ้าของบ้านบริเวณนั้นได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากการก่อสร้าง จึงฟ้องกระทรวงสาธารณสุขและผู้รับเหมาเป็นคดีละเมิดและคดีระงับความเดือดร้อนรำคาญ (nuisance) พร้อมทำคำร้องขอให้ศาลสั่ง “คุ้มครองชั่วคราว” ในระหว่างพิจารณาเพื่อให้กระทรวงฯ “หยุด” สร้างโรงพยาบาล “ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา”
เมื่อได้รับคำร้องแล้ว ศาลในระบบ common law จะต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ รวมถึงปัจจัยหลัก ๆ ดังต่อไปนี้คือ
1) ฟ้องของโจทก์ (นาย ข.) มีโอกาสชนะหรือไม่ (the plaintiff's likelihood of prevailing on the merits)
2) โจทก์ (นาย ข.) ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจนไม่อาจเยียวยาได้เลยหรือไม่ (irreparable injury)
3) ค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายเพียงพอเยียวยาความเสียหายนั้นได้หรือไม่ (inadequate remedy available at law)
4) ความเดือดร้อนที่โจทก์ (นาย ข.) ได้รับมีมากกว่าความเดือดร้อนที่จำเลย (กระทรวงฯ) จะได้รับหากศาลอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้คุ้มครองชั่วคราวตามคำร้องหรือไม่ (balance of convenience or inconvenience) และ
5) ถ้ามีเรื่องสาธารณชนเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องพิจารณาด้วยว่าคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้คุ้มครองชั่วคราวอาจกระทบต่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่ (public inconvenience)
หากเข้าเงื่อนไขทั้ง 5 นี้แล้ว ศาลก็จะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่โจทก์ขอและจำเลยต้องหยุดสร้างโรงพยาบาลไว้ชั่วคราวในระหว่างพิจารณา
จากคดีดังกล่าว เมื่อ “ชั่งน้ำหนัก” ระหว่าง “ความเดือดร้อน” ที่โจทก์ได้รับกับ "ประโยชน์สาธารณะ" ที่อาจเสียไปจากการหยุดสร้างโรงพยาบาลไว้ชั่วคราวแล้ว จะเห็นได้ว่ามี “น้อยกว่า” ความเสียหายที่สาธารณชนจะได้รับอย่างมากเพราะการ "หยุด" สร้างโรงพยาบาลชั่วคราวอาจทำให้สาธารณชนเสียโอกาสไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ศาลจึงสมควร “ยกคำร้อง” ขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ (นาย ข.) นี้เสีย
อย่างไรก็ตาม โจทก์ (นาย ข.) ยังมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตามเหตุที่อ้างใน “คำฟ้อง” ได้อยู่หากพิสูจน์ได้ว่าการก่อสร้างนั้นทำให้สิทธิของตนเสียหาย เช่น เศษอิฐเศษปูนตกใส่หลังคาบ้านเป็นรู เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับกรณีที่คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวถูก “ยก” แต่อย่างใดเพราะพิจารณาแยกกัน
2. คำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
คำสั่งนี้เป็น “วิธีการคุ้มครองชั่วคราว” อย่างหนึ่งที่เพิ่งบัญญัติเข้ามาในรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายกฯ หรือบุคคลตามรัฐธรรมนูญแล้ว และมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องขาดคุณสมบัติจริงตามที่ถูกร้อง ศาลก็จะมี “คำสั่ง” ให้ “หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย” ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่โดยขาดคุณสมบัติดังกล่าว
เมื่อคำสั่งนี้เป็น “วิธีการคุ้มครองชั่วคราว” อย่างหนึ่ง จึงควรนำหลักการทั่วไปเกี่ยวกับการพิจารณาคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมาปรับด้วย (แต่ไม่ถึงกับต้องอนุโลมนำ ป.วิ.พ. มาตรา 253 – 270 มาใช้เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีกฎหมายวิธีพิจารณาของตนเองอยู่แล้ว) ดังนั้น หลัก balance of convenience ของ common law จึงอาจนำมาเป็นแนวทางในการพิจารณาสั่งได้ กล่าวคือ ศาลต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสียหายต่อสิทธิของผู้ร้อง สิทธินายกฯ และความเสียหายต่อบ้านเมืองประกอบกันด้วย
3. นัยสำคัญของคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
จากที่กล่าวไว้ในข้อ 1. แล้วว่าองค์ประกอบ “หนึ่ง” ของการพิจารณาสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวคือ “โอกาสชนะคดีของโจทก์” (ในที่นี้คือ ส.ส. ฝ่ายค้านในฐานะ “ผู้ร้อง”) หรือ “น้ำหนัก” ของคดีว่าจะเป็นไปในทางใด เพราะหากศาลเห็นว่ามี “เหตุอันควรสงสัย” แล้วว่า “ผู้ถูกร้อง” (นายกรัฐมนตรี) น่าจะมีเหตุตามที่ถูกร้องจริง (กล่าวคือ น่าจะขาดคุณสมบัติเพราะดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี)
ศาลก็จะออกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว และเมื่อออกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยนี้แล้ว น้ำหนักของคดีก็น่าจะเป็นไปในทางที่ “ผู้ร้อง” (กลุ่ม ส.ส. ฝ่ายค้านที่ยื่นคำร้อง) อ้าง (กล่าวคือน่าจะขาดคุณสมบัติเพราะอยู่ครบ 8 ปีจริง)
4. แม้มีโอกาส แต่ผลคำวินิจฉัยก็อาจไม่เป็นดังคาด
ที่พูดเช่นนี้เพราะการ “รับ” คำร้องและมี “คำสั่ง” ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยศาลรัฐธรรมนูญเป็นเพียงมาตรการ “เบื้องต้น” เนื่องจากมี “เหตุอันควรสงสัย” ว่ามีเหตุตามคำร้องเท่านั้น ยังไม่ใช่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในชั้นที่สุดว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงจริงหรือไม่ จึงต้องรอดูกันต่อไปว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาเช่นไร
5. บทเฉพาะกาลที่ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารประเทศก่อนประกาศรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้หมายความว่าอะไร
รัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 264 บัญญัติว่า
“ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ …”
ท่อนที่ว่า “ให้ … เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้จนกว่า …” หมายความว่าอะไร
“อาจ” มองได้ 2 ทางครับ คือ
1) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ คนนี้ “สิ้นสุดลงแล้ว” เพราะว่า
เมื่อนายกฯ คนปัจจุบันได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้เป็น “นายกรัฐมนตรี” และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แล้ว นายกฯ คนนี้ก็มีฐานะเป็น “นายกรัฐมนตรี” อีกฐานะหนึ่งนอกเหนือจากฐานะการเป็น “หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ด้วย จะถือว่าเป็นหัวหน้า คสช. เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายกฯ คนนี้จึงต้อง “เริ่มนับ” ตั้งแต่ประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีฉบับวันที่ 24 สิงหาคม 2557 มีผลบังคับ
และเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มี “บทเฉพาะกาล” ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารแผ่นดินก่อนประกาศใช้ รธน. ฉบับนี้เป็นคณะรัฐมนตรี “ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” นี้ต่อไปจนกว่าจะมี ครม. ชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง ความเป็นนายกรัฐมนตรีขอนายกฯ คนนี้จึงต้อง “นับต่อเนื่อง” จากของเดิมด้วย ไม่ใช่สิ้นสุดลงไปพร้อมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2557 แต่อย่างใด เมื่อดำเนินมาครบ 8 ปีแล้ว ความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายกฯ คนนี้จึง “สิ้นสุดลง” อย่างสมบูรณ์ในตอนนี้ บุคคลนี้จึงขาดคุณสมบัติในการเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ
2) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ คนนี้ “ยังไม่สิ้นสุดลง” เพราะว่า
การดำรงตำแหน่งของนายกฯ คนนี้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 เกิดจากการลงมติของ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” (สนช.) ซึ่ง “ไม่ถือเป็น” “รัฐสภาหรือสภาผู้แทนราษฎร” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 “ช่วงเวลา” ที่ดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้จึง “ไม่นับรวมเข้ามาด้วย” และต้องถือว่านายกฯ คนนี้เป็นรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการไปจนกว่ามีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จากการเลือกตั้งในปี 2562 เท่านั้น
มีข้อสังเกตว่า ความเห็นที่ 2) เป็นการแปลตัวบทภาษาไทยแบบตรง ๆ และขาดฐานทางกฎหมายที่ควรพิจารณาหลายประการ จึงมีข้อบกพร่องทั้งในแง่ความถูกต้องและในแง่ทฤษฎีอยู่มาก แต่ก็เป็นความเห็นที่เจ้าหน้ารัฐหลายคนไม่ว่าจะอายุน้อยหรือมากพึงใจจะเดินตาม
ส่วนตัวไม่ขอออกความเห็นในเรื่องนี้ครับ
หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ
ขอบคุณครับ
พุทธพจน์ นนตรี
นิติ มธ., เนติบัณฑิตไทย, ทนายความและโนตารี
นักแปลเอกสารทางกฎหมาย
เอกสารอ้างอิงบางส่วน
Frederick G. McKean, The Balance of Convenience Doctrine, 39 DICK. L. REV. 211 (1935).
โฆษณา