31 ส.ค. 2022 เวลา 00:00 • ธุรกิจ
มีนิทานเก่าแก่เรื่องนึงมาเล่าให้ฟังครับ The story of Goldilocks and three bears เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงผมสีทอง ที่เดินหลงทางเข้าไปในป่า แล้วก็ไปพบกับกระท่อมของครอบครัวหมี 3 ตัว
หนูน้อย Goldilocks เข้าไปในกระท่อมของหมี ก็เกิดหิวขึ้นมา หันไปเห็นชามข้าวต้ม 3 ชามวางอยู่บนโต๊ะ เธอเดินไปตักข้าวต้มที่ชามของพ่อหมีก่อน แต่ก็พบว่ามันร้อนเกินไป พอเดินไปชิมชามข้าวต้มของแม่หมี ชามนั้นมันเย็นกินไป ในขณะที่ชามข้าวต้มของลูกหมี กลับมีความร้อนที่พอดิบพอดี เธอก็เลยกินจนเกลี้ยงชาม
พอท้องอิ่ม ก็เริ่มง่วง เธอทิ้งตัวนอนลงบนเตียงของพ่อหมี แต่ก็พบว่า เตียงนั้นมันแข็งจนเกินไป เธอย้ายไปเตียงของแม่หมี แต่มันก็นุ่มจนเกินไป สุดท้ายเธอเลยทิ้งตัวนอนที่เตียงของลูกหมี ที่มันพอดีพอดิบ จนเธอได้นอนหลับอย่างสบาย
เรื่องราวของหนูน้อย Goldilocks กำลังสอนให้เรา รู้จักเรื่องของการปรับตัว และเลือกอยู่สภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม
นอกจากนี้ คำว่า Goldilocks ยังถูกใช้เป็นคำคุณศัพท์ ในหลากหลายวงการไม่ว่าจะเป็น Goldilocks Economy ที่หมายถึง สภาพเศรษฐกิจที่ไม่ร้อนแรง แต่ก็ไม่ได้ชะลอจนถดถอย
หรือในวงการดาราศาสตร์ ก็ใช้คำว่า Goldilocks zone ที่หมายถึง บริเวณที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต เป็นต้น
ในหนังสือ Atomic Habits ของ James Clear ได้พูดถึง The Goldilocks Rule หรือ สภาวะที่เหมาะสมต่อการสร้างนิสัยใหม่ ๆ
คุณ James Clear ได้ยกตัวอย่างให้ฟังว่า มนุษย์เราชอบความท้าทาย ถ้าสมมติว่า เราอยากตีเทนนิสให้เก่งขึ้น การจะไปท้าเด็ก ป.4 มาเล่นด้วย ถึงต่อให้เด็กคนนั้น จะเป็นแชมป์มาก่อน เราก็ยังไม่รู้สึกว่าง่ายเกินไป มีโอกาสที่เราจะชนะได้ง่ายๆ
หรือถ้าเราไปท้าแชมป์เทนนิสอย่าง Roger Federer หรือ Serena Williams เราก็จะรู้สึกว่ามันโคตรยากที่จะชนะ มีความหวังริบหรี่และหมดกำลังใจไปได้ง่ายๆ
แต่ถ้าเลือกแข่งกับคนที่ใกล้ๆ กัน เขาอาจเก่งกว่าเราสักหน่อย คุณก็ยังพอเล่นแบบมีความหวัง มีความเป็นไปได้หรือโอกาสที่จะชนะ ก็จะทำให้เกิดสภาวะที่เหมาะสมต่อการแข่งขัน และนี่คือ ที่มาของ The Goldilocks Rule
ในชีวิตลองพยายามหาสภาวะที่เหมาะสม ที่จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หา The Goldilocks Rule ของตัวเองให้เจอ แล้วจะทำให้เรามีแรงบันดาลใจ มีไฟที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งใหม่ๆ ได้นั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก jamesclear.com

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา