27 ส.ค. 2022 เวลา 20:42 • ศิลปะ & ออกแบบ
‘เธอไม่ได้เขียนรูปเองหรอก’ คำกล่าวที่ ลาวัณย์ อุปอินทร์ เคยได้ยินอยู่เนืองๆ จากหลายๆ คนที่ตกตะลึงพรึงเพริดกับผลงานภาพวาดพอร์เทรตบุคคลที่สวยสมจริงมีชีวิตชีวา ในขณะเดียวกับที่ตะลึงงันและไม่เชื่อสายตาว่าศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานเหล่านี้ออกมาจะเป็นผู้หญิงเอวบางร่างน้อยที่สวยหยดย้อยระดับดารา
.
อาจจะเป็นเพราะภาพลักษณ์ของนางฟ้าเดินดิน ลาวัณย์ อุปอินทร์ นั้นช่างแตกต่างจากสเตอริโอไทป์ของจิตรกรนักวาดภาพในมโนทัศน์ของคนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ชายมาดเซอร์ๆ ซะเหลือเกิน แต่สำหรับในแวดวงศิลปะแล้วทุกคนต่างทราบว่าภายใต้ศิริโฉมอันงดงาม ลาวัณย์ อุปอินทร์ คือจิตรกรผู้มากล้นด้วยความสามารถตัวจริงเสียงจริง
.
เส้นทางชีวิตของลาวัณย์ ลูกสาวของนายพลใหญ่แห่งกองทัพเรือ มีอันต้องหักเหเมื่อเธอตัดสินใจแหกกฎของทางบ้านที่ไม่เชื่อว่าศิลปะจะใช้เลี้ยงชีพได้จริงๆ ไปแอบเรียนเตรียมศิลปากร และผ่านเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้สำเร็จ
.
ที่ศิลปากร ลาวัณย์ฉายแววศิลปินไม่แพ้พวกผู้ชาย เก่งทั้งปั้น คล่องทั้งวาด จะแกะสลัก ทำภาพพิมพ์ หรือเทคนิคอะไรต่อมิอะไรเธอก็ทำได้ดีหมด จนอยู่มาวันหนึ่งตอนปี 2 ขณะที่ลาวัณย์กำลังวาดภาพนู้ดจากแบบจริงในชั้นเรียน นักศึกษาคนอื่นๆ ต่างก็วาดแค่รูปร่าง เน้นส่วน
เว้าส่วนโค้งให้ดูเป็นสรีระของมนุษย์ แต่ลาวัณย์ไม่ได้จดจ่ออยู่แค่นั้น เธอกลับบรรจงวาดใบหน้าของคนแก้ผ้าที่มานั่งเป็นแบบจนออกมาซะเหมือนเป๊ะ พอ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี มาตรวจงานก็ประทับใจ เรียก อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ มาดู เมื่อศาสดาแห่งวงการศิลปะทั้งคู่พากันชื่นชม ลาวัณย์จึงรู้ตัวทันทีว่ามีพรสวรรค์ในการวาดภาพเหมือนบุคคลเป็นพิเศษ
.
ต่อมาสมัยเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ฝีไม้ลายมือของลาวัณย์ก็ได้กลายเป็นที่คุ้นตาของคนทั้งประเทศ เพราะถูกทาบทามโดยสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรม ทีวีช่องเดียวของเมืองไทยในสมัยนั้น ให้ไปวาดภาพประกอบข่าว และเป็นครูสอนศิลปะทางหน้าจอ สอนศิลปะทางทีวีนี่ไม่ใช่
ง่ายๆ เพราะเวลามีจำกัด อย่างรายการหนึ่งที่ลาวัณย์ไปร่วมถ่ายเป็นรายการเล่านิทาน ในฉากพูดถึงอะไรก็ต้องรีบวาดตัวละครนั้นออกมาอย่างรวดเร็วให้สอดคล้องไปกับคำบรรยาย คนที่จะทำแบบนี้ได้ต้องวาดทุกอย่างได้คล่องจัดเร็วจี๋ ไปๆ มาๆ ลาวัณย์ออกอากาศไป 3 รายการ เป็นเวลาถึง 9 ปี นานพอที่จะทำให้แฟนคลับน้อยใหญ่ทั่วฟ้าเมืองไทย รวมถึงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ต่างก็เรียก ‘ครูลาวัณย์’ จนติดปาก
.
เมื่อลาวัณย์เรียนจบจากคณะจิตรกรรมและประติมากรรม ในปี พ.ศ. 2503 เป็นบัณฑิตหญิงคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร เธอก็ยังรับหน้าที่ช่วยอาจารย์ศิลป์สอนรุ่นน้องๆ ต่อ จนหลังอาจารย์ศิลป์จากไปแล้วหลายปี ลาวัณย์ก็ได้ย้ายไปสอนภาควิชาประยุกต์ศิลปศึกษา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรต่อ ปั้นลูกศิษย์ลูกหาขึ้นมาสานต่อแวดวงศิลปะอีกมากมาย
.
เมื่อมีเวลาว่างจากการสอน ลาวัณย์ไม่เคยทิ้งการวาดภาพที่ตัวเองรักเป็นชีวิตจิตใจ โดยเฉพาะภาพเหมือนบุคคลที่ถนัดเป็นพิเศษ ลาวัณย์ได้รับการมอบหมายงานจากราชสำนัก และจากบุคคลสำคัญของประเทศให้วาดภาพแนวนี้อยู่บ่อยครั้ง แต่อย่างไรก็ตามผลงานส่วนใหญ่ที่ลาวัณย์สร้างสรรค์มักไม่ได้เกิดจากการว่าจ้าง แต่เป็นการวาดบุคคลที่ลาวัณย์คุ้นเคย
ขึ้นมาเอง ที่ชอบวาดคนรู้จักเพราะไม่ใช่แค่วาดออกมาได้เหมือน แต่ลาวัณย์ยังสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก อุปนิสัย และจิตวิญญาณของบุคคลผู้นั้นออกมาได้อย่างครบครัน
.
ด้วยคุณูปการต่อวงการศิลปะที่ปฏิบัติต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันลาวัณย์ในวัยกว่า 80 เพิ่งได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) มาหมาดๆ และเป็นศิลปินแห่งชาติที่เป็นผู้หญิงท่านแรกในสาขานี้ โชคร้ายที่พักหลังลาวัณย์มีอาการป่วยด้วยโรค
พาร์กินสัน ต้องต่อสู้กับมือที่สั่นเกร็งจนบางครั้งถึงขั้นบังคับไม่ได้ ลาวัณย์พยายามหาวิธีรักษาทุกวิถีทางทั้ง กินยา ผ่าตัด ทำกายภาพ แต่อาการก็ยังทรงๆ เป็นๆ หายๆ มิหนำซ้ำจู่ๆ ก็โชคร้ายบังเอิญไปโดนสุนัขไซบีเรียนสุดเลิฟที่บ้านพลาดมางับมือข้างที่ใช้วาดจนบาดเจ็บอีก
.
ถึงดูทีท่าไม่น่าจะดี แต่ลาวัณย์ก็ไม่เคยย่อท้อ หวนนึกถึงคำสอนของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ว่า การทำงานที่รักเป็นยารักษาโรคได้ และนำมาปฏิบัติใช้อยู่ตลอด ทุกๆ วันลาวัณย์จึงยังคงลงมือวาดภาพเป็นกิจวัตรประจำวันในสตูดิโอ
เล็กๆ หน้าบ้านตั้งแต่บ่ายจนค่ำวันละไม่น้อยกว่า 3-4 ชั่วโมงอยู่เสมอๆ แม้อาการพาร์กินสันจะรุมเร้ารุนแรงแค่ไหน ลาวัณย์ก็ยังคงฝืนวาดภาพต่อไปด้วยสมาธิอันแรงกล้า และจิตใจที่เบิกบานเพราะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักหัวปักหัวปำมาทั้งชีวิต ลาวัณย์เรียกสิ่งนี้ว่าการรักษาแบบ ‘ศิลปะบำบัด’
.
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เหมือนว่าคำกล่าวของอาจารย์ศิลป์ที่ไม่ได้อิงตำราแพทย์จะเป็นเรื่องจริง ศิลปะเป็นดั่งยาวิเศษ อาการของลาวัณย์ยิ่งดีวันดีคืน เห็นได้จากผลงานภาพวาดที่กลับมามีฝีแปรงแม่นยำเฉียบคม เปี่ยมล้นไปด้วยความรู้สึกเหมือนมีชีวิตจิตใจ แถมผลงานในยุคล่าสุดยังกล้าเล่นสีฉูดฉาดรุนแรง ดูสนุกสนานเร้าใจ ไม่แพ้ศิลปินหน้าไหน ทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่
.
นี่ถ้าเราไม่ได้รู้จัก ลาวัณย์ อุปอินทร์ หรือที่เราเรียกท่านด้วยความรักและเคารพว่า ‘อาจารย์แม่’ เป็นอย่างดี แล้วจู่ๆ มีคนเอาภาพวาดพอร์เทรตขั้นเทพเหล่านี้มาให้ดูแล้วบอกว่าวาดโดยศิลปินหญิงอายุอานาม 80 กว่าที่ถูกหมอวินิจฉัยว่าเป็นพาร์กินสัน เราคงไม่เชื่อสายตาตัวเองและกล่าวออกไปอย่างโง่เขลาเบาปัญญาว่า ‘เธอไม่ได้เขียนรูปเองหรอก’
.
.
หลงเลนส์ "นางฟ้าผู้ถูกครหา ลาวัณย์ อุปอินทร์" โดย ตัวแน่น 😊
ภาพ : “ลาวัณย์ อุปอินทร์ ขณะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร” เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 13 x 8.5 เซนติเมตร
โฆษณา