28 ส.ค. 2022 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
6 เรื่องที่นักจิตวิทยาอยากบอกกับคนวัย 20-30
เคยจินตนาการ “ชีวิตวัยผู้ใหญ่” ของตัวเองไว้อย่างไรบ้าง?
พอเรียนจบเราจะทำงาน เก็บเงิน มีบ้าน มีรถ และมีครอบครัว เช่นเดียวกับพ่อแม่ หรือคนจากเจเนอเรชันก่อนหน้าหรือเปล่า หรือคิดว่าจะได้แต่งงานตั้งแต่อายุ 27-28 จะไม่เหมือนเหมยลี่ในหนังรถไฟฟ้ามาหานะเธอที่ยังโสดตอน 30 ใช่ไหม
แต่พอเราได้มาอยู่ในวัยนี้เอง เราก็รู้ว่ามันไม่ได้ง่ายเช่นนั้น
เมื่อเปิดหนังสือที่ชื่อว่า “ชีวิตหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย” เราพบว่ามันไม่ได้มี 5 บท ​(ทำงาน เก็บเงิน มีบ้าน มีรถ และมีครอบครัว) อย่างที่เคยจินตนาการไว้ตอนเด็ก แต่กลับเป็นหน้ากระดาษอันว่างเปล่า ที่คอยให้เราวาดเรื่องราวออกมาด้วยตนเอง พร้อมๆ กับข้อจำกัดและคำถามที่ต้องตอบมากมาย
จะเรียนต่อหรือทำงาน? จะทำงานที่ได้เงินเยอะหรืองานที่ได้ทำตามฝัน? จะย้ายออกมาอยู่คนเดียวหรืออยู่กับพ่อแม่? คำถามสารพัดเหล่านี้ มาพร้อมปัญหาอย่างเงินเฟ้อ ข้าวของราคาแพง อสังหาริมทรัพย์ราคาสูงลิ่ว ปัญหาสิ่งแวดล้อม โรคระบาด และการสูญเสีย ที่มีตั้งแต่การสูญเสียคนสำคัญ ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ อย่างการสูญเสียโอกาสในการใช้ชีวิตปกติ แบบตอนไม่มีโควิด
1
“ความวิตกกังวล ความเศร้าซึม ความปวดร้าว และการหลงทาง ได้กลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่” Satya Boyle Byok นักบำบัดวัย 39 ปี กล่าว เขาพบว่าในระยะหลัง คนวัย 16-36 ปี มาปรึกษาเขาด้วยปัญหาเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ
“Existensial Crisis” หรือปัญหาชีวิตที่คิดไม่ตกเช่นนี้เคยเป็นของผู้ใหญ่วัยกลางคน แต่ตอนนี้มันได้กลายมาเป็นปัญหาของคนหนุ่มสาวเสียแล้ว
แต่พวกเขาจะผ่านช่วงเวลาอันน่าสับสนนี้และเติบโตต่อไปได้อย่างไร? บทความเรื่อง What Psychologists Want Today’s Young Adults to Know จากเว็บไซต์ The New York Times ได้แนะนำ 6 เรื่องที่นักจิตวิทยาอยากให้คนหนุ่มสาวยุคนี้รู้ไว้ ดังนี้..
1) จริงจังกับตัวเองบ้าง
ชีวิตปัจจุบันเต็มไปด้วยความบันเทิง ข่าวสาร และสิ่งรบกวนเต็มไปหมด ทำให้บางครั้งเราใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ และวันหยุดของเราก็หมดไปกับหน้าจอ โดยละเลยหลายสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ
แน่นอนว่ามีหลายคนพึงพอใจในชีวิตแบบนี้ แต่ก็มีหลายๆ คนที่มักจะรู้สึกว่าตัวเอง “ไม่เอาไหน” และเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นบ่อยๆ จนไม่มีความสุข
หากเราคือหนึ่งคนที่รู้สึกเช่นนี้ จะทำอย่างไรดี?
“แบ่งเวลาให้เรามีเวลาเห็นแก่ตัวบ้าง” Angela Neal-Barnett ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Kent แนะนำ
“เวลาเห็นแก่ตัว” ของเธอนั้นหมายถึงช่วงเวลาที่เราได้กลับมาสำรวจตัวเอง ดูว่าตอนนี้ชีวิตเราเป็นอย่างไร เรารู้สึกไม่พึงพอใจหรือรู้สึกว่าตัวเองไม่ก้าวหน้าไปไหนหรือเปล่า? จากนั้นก็ค่อยหาว่าด้านไหนในชีวิตที่ทำให้เรารู้สึกเช่นนี้ และเราจะแก้ไขมันอย่างไร?
และจริงๆ แล้วเราสนใจอะไรเป็นพิเศษไหม? มีความฝันว่าอยากไปเที่ยวที่ไหน หรือเรียนภาษาอะไรเพิ่มเติมหรือเปล่า? ลองเอาตัวเองออกจากโลกที่วุ่นวาย และสำรวจความต้องการภายในใจดูบ้าง
เธอยังแนะนำอีกว่า คนหนุ่มสาวควรกลับมาเช็กอินกับตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ทุกๆ สามเดือน
2) อย่ารีบร้อน
หลายคนอาจรู้สึกถึงแรงกดดันให้รีบก้าวหน้าไปยังอีกขั้นของชีวิต จนลืมไปว่าบางเรื่องในชีวิตต้องใช้เวลา ดังนั้นอย่ารีบ “ทำให้เสร็จ” ราวกับว่าชีวิตคือการเช็กถูกในลิสต์ “สิ่งที่ต้องทำ” แต่ปล่อยให้ตัวเองได้โต้คลื่นไปพร้อมกับจังหวะชีวิตที่ขึ้นๆ ลงๆ บ้าง
3) ถามตัวเองว่ามีอะไรที่ขาดหายไป?
Satya Boyle Byok นักบำบัดที่เราพูดถึงในตอนต้นได้แบ่งคนวัยหนุ่มสาวไว้สองประเภท คือ กลุ่มที่เน้นความมั่นคง และ กลุ่มที่เน้นความหมาย
“กลุ่มที่เน้นความมั่นคง” มักจะให้ความสำคัญความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิต พวกเขาก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีแผนชีวิตที่ค่อนข้างมั่นคง และอาจกำลังคิดถึงเรื่องการสร้างครอบครัวอยู่ แต่ลึกๆ ในใจ พวกเขามักจะรู้สึกว่างเปล่า และได้แต่สงสัยว่า ‘ชีวิตมันก็แค่นี้หรือ?’
2
มองไปยังขั้วตรงข้ามอย่าง “กลุ่มที่เน้นความหมาย” ซึ่งเป็นกลุ่มคนช่างฝันที่โดดจากงานหนึ่ง ไปอีกงานหนึ่งเรื่อยๆ มองว่าชีวิตคือการตามหาแรงบันดาลใจและ Passion พวกเขาขยาดการใช้ชีวิตที่ต้องทำงานเข้าเช้า-ออกค่ำแสนน่าเบื่อ แต่สิ่งที่คนเหล่านี้มักจะรู้สึกคือ ความต้องการของสังคมนั้นช่างน่ากดดันและสวนทางกับตัวตนของพวกเขาเหลือเกิน
2
Satya Boyle Byok บอกว่าหากเราเป็นคนกลุ่มแรก ลองหันมาใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความฝัน แรงบันดาลใจ และPassion บ้าง แต่ถ้าหากเราเป็นคนกลุ่มหลัง ต้องลองหาความมั่นคงให้ชีวิตบ้าง ทั้งสองกลุ่มจึงจะมี ‘ความพอดี’ และเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปได้นั่นเอง
1
4) สร้างความแน่นอนบนความไม่แน่นอน
โลกนี้เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และนั่นอาจทำให้เหล่าคนหนุ่มสาวหนักใจยิ่งกว่าเดิม งานก็เปลี่ยน คนรอบตัวก็เปลี่ยน โลกก็เปลี่ยน ไม่มีอะไรเหมือนเดิมเลย!
แต่รู้ไหมว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนเหล่านี้ เราสามารถสร้างความแน่นอนเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันได้ ยกตัวอย่างเช่น การมี Self-care routine การคอยจดบันทึกสิ่งที่เรารู้สึกขอบคุณ (Gratitude Journal) การฝึกควบคุมการหายใจ การทานอาหารสุขภาพดี และการออกกำลังกายเป็นประจำ
สิ่งเล็กๆ ที่เราควบคุมได้นี่แหละจะคอยยึดเหนี่ยวจิตใจเราท่ามกลางความผันผวนของชีวิต
5) อย่ากลัวที่จะเปลี่ยน
ชีวิตนี้มีหลายอย่างที่เราเปลี่ยนไม่ได้ เช่น หัวหน้าที่น่ารำคาญ เพื่อนร่วมงานที่นิสัยไม่ดี หรือแฟนที่ไม่ค่อยเอาใจใส่ เป็นต้น การคาดหวังว่าเราจะสามารถเปลี่ยนคนอื่น หรือ คนอื่นจะเปลี่ยนเพื่อเรา ทำให้เราทุกข์ใจเสียมากกว่า
ในขณะเดียวกัน อย่าลืมว่ายังมีอีกหลายแง่มุมของชีวิตที่เราสามารถเปลี่ยนได้ เช่น การเปลี่ยนงาน การย้ายที่อยู่ หรือการยุติความสัมพันธ์
1
แน่นอน หลายคนเลือกที่จะอยู่ที่เดิมเพราะเรื่องพวกนี้พูดง่ายกว่าทำ และบางครั้งเราไม่พร้อมที่จะแลก (เช่น การยุติความสัมพันธ์อาจต้องแลกกับความเสียใจและความโดดเดี่ยวในช่วงแรก)
2
แต่สำหรับใครหลายๆ คนที่รู้ลึกๆ ในใจว่าเราอยากเปลี่ยนจริงๆ อย่ากลัวที่จะตัดสินใจ เชื่อเถอะว่าแม้จะยาก แต่เราก็รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อยู่แล้ว
1
6) รู้ว่าเมื่อไหร่จะต้องพึ่งคนอื่น และ เมื่อไหร่ที่ต้องพึ่งตัวเอง
พอเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เราเริ่มพึ่งพาคนอื่นน้อยลง (โดยเฉพาะคนในครอบครัว) หันมาเผชิญหน้าและแก้ปัญหาด้วยตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะเรียนรู้ เพราะในชีวิตนี้ ไม่มีใครที่จะสามารถอยู่กับเราและให้ความช่วยเหลือเราได้ตลอดเวลา ในช่วงเวลาวิกฤต ทางออกของเราอาจมีแค่ตัวเราเอง
ดังนั้นเราต้องหัดอยู่คนเดียวให้ได้
4
แต่ในขณะเดียวกันก็อย่าลืมว่าแม้จะอยู่คนเดียว เราก็ยังมีเพื่อน ครอบครัว คนรัก และสัตว์เลี้ยงคอยให้กำลังใจเราอยู่เสมอ และพวกเขาพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ เมื่อเราต้องการจริงๆ
2
“อยู่คนเดียวให้ได้โดยที่รู้ว่าตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยว” เป็นอีกหนึ่งทักษะที่ต้องฝึกฝนเมื่อก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
3
โลกที่เปลี่ยนไปนำมาซึ่งความท้าทายอย่าง “Quarterlife Crisis” ให้คนหนุ่มสาวได้เผชิญเร็วกว่าเดิม แต่แทนที่จะท้อแท้และยอมแพ้ ลองใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้ ปรับตัว (และนำ 6 คำแนะนำนี้ไปใช้!) เราจะเผชิญหน้ากับความท้าทายและก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ ด้วยความเข้มแข็งและประสบการณ์ที่มากกว่าเดิมแน่นอน
2
อ้างอิง
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
5 คำถามที่ตอบตัวเองแล้วจะมีความสุขกับวันนี้มากขึ้น :: https://bit.ly/3pIyObe
อายุเท่านี้ ไม่ต้องมีเท่านั้นก็ได้! โบกมือลาความกดดันจากนาฬิกาทางสังคม :: https://bit.ly/3TdxNWs
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#inspiration
โฆษณา