28 ส.ค. 2022 เวลา 14:45 • การศึกษา
บทที่ 2 สถิติพรรณา Descriptive Statistics
นำเสนอข้อมูลในรูปสารสนเทศอย่างถูกต้อง น่าสนใจ
ที่มา: https://www.nxpo.or.th/th/report/9519/
สถิติพรรณา (Descriptive Statistics หรือสถิติบรรยาย) เป็นชื่อของวิธีการทางสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลปริมาณมาก เพื่อพรรณาหรือบรรยายลักษณะโดยรวมของข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์หนึ่งๆ ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะเป็นข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างหรือข้อมูลประชากร
เครื่องมือของสถิติพรรณามีหลายชนิด สามารถแยกใช้ หรือเลือกใช้ประกอบกันให้เหมาะสมกับประเภทตัวแปรของข้อมูลเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจสาระสำคัญของข้อมูลชุดนั้นได้กระชับรัดกุม อาจกล่าวได้ว่าวิธีการทางสถิติพรรณาแบ่งได้เป็นสามประเภท คือ การสร้างตาราง การสร้างแผนภูมิ และการคำนวณค่าสถิติที่ใช้เป็นตัวแทนชุดข้อมูล
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการคำนวณและสารสนเทศช่วยให้การใช้สถิติพรรณาได้รับความสำคัญมากขึ้น โปรแกรมสำเร็จรูป แอปพลิเคชั่น และคลาวน์คอมพิวติ้งเซอร์วิส เช่น Microsoft Excel, Google Sheet, Google Forms, Tableau และ Power BI ช่วยให้ผู้วิเคราะห์สามารถจัดวางข้อมูลจำนวนมากให้มีโครงสร้างน่าสนใจ ง่ายต่อการนำเสนอ
การใช้ข้อมูลขยายขอบเขตจากเดิมที่มีจุดเน้นด้านการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลที่มีโครงสร้างชัดเจน ไปเป็นการให้ความสนใจกับข้อมูลทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง ข้อมูลจากสื่อออนไลน์ ปริมาณข้อมูลจึงมีมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด และมีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ข้อมูลเหล่านี้มักเป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้ผ่านการจัดโครงสร้าง ทำให้ขอบข่ายงานของการวิเคราะห์ข้อมูลซับซ้อนมากขึ้น เกิดความต้องการทักษะอาชีพใหม่ๆ ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น
นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือวิศวกรข้อมูล (Data Scientist, Data Engineer) เพื่อทำหน้าที่ออกแบบและจัดระบบข้อมูลให้สามารถนำไปวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือทางสถิติต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิผล
ผลลัพธ์ที่ได้จากสถิติพรรณา เช่น แผนภาพ ตาราง การคำนวณค่าสถิติที่ใช้เป็นตัวแทนชุดข้อมูล เช่น ค่ากลาง และค่าวัดการกระจาย รวมทั้งการใช้คำบรรยายหรือภาพประกอบเพื่อบ่งชี้ประเด็นสำคัญเป็นสารสนเทศที่มีประโยชน์ต่อการสื่อสารและการตัดสินใจ
ปัจจุบัน สถิติพรรณาถูกนำไปใช้ในลักษณะสื่อผสม โดยสร้างเป็นวิดีโอสั้น (Clip) และแผนภูมิสารสนเทศ (Infographic) ซึ่งนำเสนอสารสนเทศโดยการจัดวางในพื้นที่จำกัด แสดงในรูปกราฟ ตาราง สัญลักษณ์และภาพประกอบ ช่วยให้สื่อความเข้าใจง่าย ครอบคลุม ชัดเจน และดึงดูดความสนใจจากผู้รับสารได้ดี
ตัวอย่างการนำเสนอข้อมูลด้วยสถิติพรรรณาสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งจากการโฆษณา การรายงานข่าว รายงานผลการสำรวจความคิดเห็น ผลการสำรวจความพึงพอใจในการรับบริการจากร้านค้าหรือหน่วยงานต่างๆ และการรายงานผลประกอบการขององค์กรทั่วไป เช่น ภาพประกอบโพสต์ที่แนะนำโอกาสของอาชีพใหม่ๆ ในอนาคตก็เป็น Infographic อย่างง่ายที่สร้างจากกราฟที่ตกแต่งข้อมูลเพิ่มเติม อ่านต่อได้ที่ https://www.nxpo.or.th/th/report/9519/
การใช้วิธีการทางสถิติพรรณาเพื่อแปรข้อมูลให้เป็นสารสนเทศและนำเสนออย่างมีประสิทธิผลจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อผู้วิเคราะห์กำหนดวัตถุประสงค์ในการนำเสนอข้อมูลอย่างชัดเจน
นั่นคือ กำหนดวัตถุประสงค์ในการสื่อสาร และกำหนดผู้รับสารกลุ่มเป้าหมาย จึงจะระบุได้ว่าควรนำเสนอสารสนเทศใด ต้องการข้อมูลดิบของตัวแปรใด ความสามารถในการจำแนกตัวแปร และรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการที่น่าเชื่อถือ จึงเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สำคัญต่อการจัดโครงสร้างข้อมูล เพื่อให้สามารถพรรณาภาพรวมของข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับปรากฎการณ์ที่สนใจได้ถูกต้อง กระชับ เข้าใจง่าย
ลองหาตัวอย่าง Infographic ดีๆ มาอวดกันบ้างมั้ย 😉
โฆษณา