8 ก.ย. 2022 เวลา 12:19 • การศึกษา
ค่าขนส่งสินค้าทางอากาศ ตอนที่ 7
หลังจากเราได้ทราบประเภทของน้ำหนักในการขนส่งสินค้าทางอากาศไปแล้วถึง 6 ตอน โดยที่ยังไม่ได้เริ่มราคาค่าขนส่งเลยนะครับ เพราะราคาค่าขนส่งสินค้าทางอากาศ ตามที่ผมได้เกริ่นไปแล้ว ค่าขนส่งสินค้าทางอากาศ เป็นการนำตัวเลขที่เป็นตัวแปร 2 ตัว มาคูณกัน คือ
สูตร : ค่าขนส่งสินค้าทางอากาศ = น้ำหนัก (Weight) x อัตราค่าขนส่งต่อหน่วย (Rate)
Air Cargo Transport Charge = Chargeable Weight x Applicable Rate
จากสูตรจะเห็นว่า ตัวแปรแรกเรื่องน้ำหนักทั้ง 4 ประเภทเราได้คุยกันไปแล้ว แต่ตัวแปรที่สองเรื่องอัตราค่าขนส่งสินค้าต่อหน่วย (บาท/ตัน/กิโลเมตร) นั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง
อัตราค่าขนส่งสินค้าทางอากาศ หรือ ค่าระวางขนส่งสินค้าทางอากาศ เป็นคำที่นิยมเรียกกันอย่างคุ้นเคย
เป็นอัตราค่าขนส่งสินค้าทางอากาศ ที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้กำหนดขึ้น เพื่อใช้กับบริษัทการบินสมาชิกและสายการบินอื่น ที่ให้บริการขนส่งและขนถ่ายแลกเปลี่ยนสินค้าทางอากาศระหว่างกัน ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่มีมาตรฐานเดียวกันทุกบริษัทการบิน ทั้งนี้เพื่อให้สามารถจัดแบ่งค่าระวางขนส่งสินค้าได้อย่างถูกต้องและไม่มีข้อขัดแย้งระหว่างกันของสายการบินที่ร่วมขนส่งสินค้า เมื่อจำเป็นต้องเปลี่ยนบริษัทการบินในการขนส่งสินค้าหลายบริษัทการบิน
เราจะหาอัตราค่าขนส่งสินค้าทางอากาศได้จากที่ไหน?
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้ออกหนังสือแสดงรายละเอียดกฎระเบียบในการขนส่ง และอัตราค่าระวางในการขนส่งสินค้าทางอากาศขึ้นมา เพื่อใช้ในการอ้างอิง จำนวน 3 เล่ม แต่ละเล่มมีลักษณะและคุณสมบัติ คือ
  • 1.
    TACT Rules Book (Orange) : แสดงรายละเอียดกฎระเบียบทั่วไปในการขนส่งสินค้าทางอากาศ หนังสือตีพิมพ์ออกมาทุกๆ 4 เดือน
  • 2.
    TACT Rates Book (Green) : แสดงรายละเอียดอัตราค่าระวางขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ยกเว้น สินค้าที่มีต้นทางและ/หรือปลายทางในอเมริกาเหนือ หนังสือตีพิมพ์ออกมาทุกๆ 2 เดือน
  • 3.
    TACT Rates Book (Red) : แสดงรายละเอียดอัตราค่าระวางขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ที่มีจุดต้นทางและหรือปลายทางในอเมริกาเหนือ หนังสือตีพิมพ์ออกมาทุกๆ 2 เดือน
เมื่อหลุดเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ก็ออกยากแล้วครับ เพื่อน พี่ น้อง ของผมบางคนถึงกับพูดว่า “ถ้าวันไหนไม่ได้ยินเสียงเครื่องบินจะนอนไม่หลับ” การที่เราจะเห็นเครื่องบินได้ก็คือ ต้องมาทำงาน และทำตลอด 24 ชั่วโมงตลอดทั้ง 7 วัน (24x7) โดยหมุนเวียนสลับกันไป ที่สนามบินจะมีเครื่องบิน บินขึ้นลงตลอดเวลาทั้ง 24 ชั่วโมง ผู้โดยสารและสินค้าก็จะถูกขนส่งไปยังสนามบินต่างๆ ทั่วโลก
ตอนต่อไป เรามาดูกันว่า..อัตราค่าขนส่งสินค้าทางอากาศ มีอยู่กี่ประเภทอะไรบ้าง
TACT
ติดตามความรู้ ข่าวสาร และกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ :
เพจ การขนส่งสินค้าทางอากาศ
Facebook Public Group : AC TEAM : ชุมชนการขนส่งสินค้าทางอากาศ
โฆษณา