29 ส.ค. 2022 เวลา 06:59 • ประวัติศาสตร์
รัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์นักบิน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการทหาร หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยดันทรูน โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมการบินและอากาศยาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความสนพระราชหฤทัย และทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านวิศวกรรมการบินและอากาศยาน โดยทรงสนพระราชหฤทัยมาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์
เมื่อ พ.ศ. 2522 รัชกาลที่ 10 ขณะทรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองทัพอากาศจัดถวายการฝึกบินตามหลักสูตรโรงเรียนการบินของกองทัพอากาศ โดยทรงเริ่มทำการบินตามหลักสูตร การฝึกบินกับเครื่องบินปีกหมุนหรือเฮลิคอปเตอร์
วันที่ 20 ธ.ค. 2522 ทรงทำการบินกับเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1H จำนวน 54.4 ชั่วโมงบิน และเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1N จำนวน 134.8 ชั่วโมงบิน และทรงสำเร็จตามหลักสูตร เมื่อวันที่ 23 ก.ค. พศ. 2523
เฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป ฮ.ท.1 UH-1H นับเป็นอากาศยานปีกหมุนกำลังหลักของกองทัพบกไทย ตั้งแต่ที่มีการจัดตั้งกิจการบินทหารบกยุคใหม่ ซึ่งในส่วนกองพันบินที่ 1 หรือนามหน่วยเดิม คือ กองบินปีกหมุนที่ 1 (1st AirMobile Company) ได้นำเข้าประจำการในปี พ.ศ. 2511 โดยสหรัฐฯ ได้มอบเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป ฮ.ท.1 เบลล์ UH-1 Iroquois ตามโครงการความช่วยเหลือทางทหารแก่กองทัพไทยชุดแรก จำนวน 25 เครื่อง ในปีที่จัดตั้งโรงเรียนการบินทหารบก (Army Aviation School) พ.ศ. 2510 (1967)
เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2523 ในระหว่างติดตามสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา พระองค์ทรงเข้ารับการฝึกและศึกษาตามโครงการของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ทรงรับการฝึกบิน เฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1H ของกองทัพบกสหรัฐ ณ Fort Bragg รัฐ North Carolina สหรัฐอเมริกา
ทรงรับพระราชทานประดับเครื่องหมายแสดงความสามารถในการบินของกองทัพอากาศ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชบิดา เมื่อวันพฤหัสบดี 21 ส.ค.2523 ณ โรงเรียนนายเรืออากาศ
11 ธันวาคม 2523 ทรงฝึกบินเครื่อง Marchetti ณ ฝูงฝึกขั้นปลาย ณ โรงเรียนการบิน ทรงสำเร็จตามหลักสูตรเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2524
เครื่องบินฝึกแบบ SF-260 ผลิตโดย บริษัท SIAI-Marchetti ประเทศอิตาลี จำนวน 11 เครื่อง กำหนดชื่อเรียกว่า “เครื่องบินฝึกแบบที่ 15” (จัดซื้อเมื่อปี 2516) และเครื่องบินฝึกแบบ CT-4A ผลิตโดยบริษัท Pacific Aerospace Corporation ประเทศนิวซีแลนด์ จำนวน 19 เครื่อง
(จัดซื้อเมื่อปี 2517) กำหนดชื่อว่า “เครื่องบินฝึกแบบที่ 16” (ในปีเดียวกันนี้ซื้อ บ.ฝ.16 เพิ่มอีก 5 เครื่อง รวมเป็น 24 เครื่อง) เพื่อใช้ฝึกบินนักบินใหม่
3 มีนาคม 2524 ทรงฝึกบินกับเครื่องไอพ่นแบบ T-37 ณ ฝูงฝึกขั้นปลาย โรงเรียนการบิน ทรงสำเร็จตามหลักสูตรเมื่อ 10 กรกฎาคม 2524
T-37 B (Tweet หรือ Tweety Bird) เป็นหนึ่งในความช่วยเหลือทางทหารตามโครงการ MAP ของสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศไทย โดยได้รับมาเมื่อเดือน ส.ค.04 และได้รับการกำหนดชื่อว่า บ.ฝ.12 (เครื่องบินฝึกแบบที่ 12) ซึ่งภายหลังจากการตรวจรับและเข้าประจำการไปเมื่อเดือน ก.ย.04 แล้ว ภายหลังจึงได้จัดให้มีพิธีรับมอบอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 มี.ค.05 พร้อมๆ กับ บ.ข.17 (F-86F Sabre) อีกจำนวน 20 เครื่อง ของฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ 12 กองบินน้อยที่ 1 ดอนเมือง
บ.ฝ.12 จำนวน 8 เครื่องนี้ถือว่าเป็น เครื่องบินฝึกไอพ่นสำหรับศิษย์การบินแบบแรกของ ทอ. ก็ว่าได้ เนื่องจาก บ.ฝ.11 หรือ T-33 ของฝูงบินที่ 10 (11) กองบินน้อยที่ 1 ที่ได้รับมาก่อนหน้าในปี 2498 นั้น ไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อฝึกบินให้กับศิษย์การบินของ รร.การบิน แต่มีภารกิจในการฝึกเปลี่ยนแบบสู่ บ.ไอพ่น (Jet Transition) สำหรับนักบินขับไล่ที่เคยทำการบินกับ บ.ขับไล่ใบพัดก่อนที่จะเปลี่ยนแบบไปทำการบินกับ
บ.ขับไล่ไอพ่น บ.ฝ.12 ทั้ง 8 เครื่อง ได้รับการบรรจุในฝูงฝึกขั้นปลาย รร.การบิน โคราช เพื่อใช้ฝึกบินศิษย์การบินชั้นมัธยม เป็นจำนวนประมาณ 115 ชั่วโมง ก่อนที่จะสำเร็จไปเป็นนักบินประจำกองเพื่อทำการบินกับ บ.ไอพ่น ในฝูงบินรบต่อไป ซึ่งศิษย์การบินรุ่นแรกที่ได้ทำการฝึกบินกับ บ.ฝ.12 คือ รุ่น น.28 - 05 - 1 โดยในการฝึกบินจะประกอบไปด้วย การบินเกาะภูมิประเทศ การบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน การบินเดินทาง การบินหมู่ การบินกลางคืน และการบินด้วยเครื่องฝึกบินจำลอง
ต่อมาทรงฝึกบินหลักสูตรนักบินพร้อมรบขั้นพื้นฐาน (ไอพ่น) T-33 ณ กองบิน 1 ฝูงบิน 101 ทรงสำเร็จตามหลักสูตรเมื่อ 19 มีนาคม 2525
ในปี 2498 ทอ.ไทย ได้รับ บ.ฝึกไอพ่น และ บ.ตรวจการณ์ไอพ่นแบบแรกคือ T-33 และ RT-33 ซึ่งถือว่าเป็น บ.ไอพ่นแบบแรกสุดของ ทอ.ไทย แต่ว่ามันก็ยังไม่ใช่ เครื่องบินรบเต็มรูปแบบที่จะใช้เป็นหลักในการป้องกันภัยทางอากาศสำหรับประเทศไทย ซึ่งจุดประสงค์ในการที่สหรัฐฯ มอบ บ.ฝึกไอพ่นมาให้ก่อนนั้น ก็เพื่อเป็นการเตรียมพื้นฐานของนักบินและเจ้าหน้าที่ของไทยให้มีความรู้และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานกับ บ.ไอพ่น ก่อนที่จะได้ปฏิบัติงานกับ บ.ขับไล่ไอพ่นที่จะมอบให้ในเวลาต่อมา
และหลังจากจากนั้นในปลายเดือน พ.ย.2499 นักบินของ ทอ.สหรัฐฯ ก็ได้นำหมู่บิน บ.ขับไล่ทิ้งระเบิดแบบ F-84G Thunderjet ชุดแรกจำนวน 4 เครื่อง (ในจำนวน 6 เครื่องแรก) มาลงจอดที่กองบินน้อยที่ 1 ดอนเมือง และถัดจากนั้นมาอีก 13 วัน ก็ได้รับ บ.ชุดที่ 2 อีกจำนวน 7 เครื่อง และเมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจรับแล้ว บ.ทั้ง 13 เครื่องนั้นก็ได้ถูกกำหนดชื่อให้เป็นเครื่องบินขับไล่แบบที่ 16 หรือ บ.ข.16 และได้นำไปบรรจุเข้าประจำการใน
ฝูงบินขับไล่ทิ้งระเบิดที่ 12 กองบินน้อยที่ 1 ทดแทน บ.ข.15 (F8F-1/1B Bearcat ที่ได้โอนไปให้ กองบินน้อยที่ 2 ใช้งานต่อในช่วงก่อนหน้านี้) ซึ่งในการบินมาส่งมอบนั้น บ.ทั้งหมดก็ยังติดเครื่องหมายของ ทอ.สหรัฐฯ อยู่ แต่ในส่วนของ ทอ. นั้นไม่ได้มีการบันทึกว่า บ. ชุดแรกทั้ง 4 เครื่องนั้น บินมาจากฐานทัพอากาศสหรัฐฯในประเทศใด ซึ่งจะเป็นในประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ก็ไม่อาจจะทราบได้ แต่ที่น่าสังเกตคือในจำนวนที่รับมาทั้ง 2 ชุดนี้
มี บ.หลายเครื่องนั้นได้เคยประจำการอยู่ในกองทัพอากาศของกลุ่มประเทศนาโต้ อย่างเช่น อิตาลี เบลเยียม และฝรั่งเศส มาก่อน และภายหลังสหรัฐฯ จึงนำ บ.เหล่านี้มามอบให้ ทอ.ไทย ใช้งานต่อ
เมษายน-ตุลาคม 2525 ทรงฝึกบินหลักสูตรนักบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูง F-5E/F ณ กองบิน 1 ฝูงบิน 102
เครื่องบินขับไล่แบบ F 5 คืออากาศยานไอพ่นความเร็วเหนือเสียงในรูปแบบเครื่องบินรบที่เข้าประจำการในกองทัพอากาศ จากโครงการช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐอเมริกา โดยมอบให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา ในช่วงปี พ.ศ.2509 เพื่อทำการป้องกันและเข้าต่อตีกับเครื่องบินรบของค่ายคอมมิวนิสต์ ประเทศไทยเริ่มต้นรับมอบเครื่องบิน F 5B (รหัส B ต่อท้ายจะเป็นเครื่องสองที่นั่ง) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2509 และปี 2510 กองทัพอากาศไทยได้รับมอบเครื่อง F 5 A จำนวน 8 เครื่อง ตามมาด้วยปี 2513 ได้รับเครื่องบิน RF 5 A จำนวน 4 เครื่อง
เพื่อใช้ในการปฏิบัติการถ่ายภาพทางอากาศ ปี พ.ศ.2517 ก็ได้รับ F 5 A เพิ่มเติมจากสหรัฐอเมริกาอีกเป็นจำนวน 5 เครื่อง หนึ่งปีหลังจากนั้น นักบินของกองทัพอากาศเวียดนามใต้นำเครื่อง F 5 A บินลัดเลาะลี้ภัยมาขอลงจอดที่สนามบินตาคลี จังหวัดนครสวรรค์อีก 1 เครื่อง
F 5 A และ B ที่กองทัพอากาศของอเมริกันให้ความช่วยเหลือทางการทหาร เริ่มเข้าประจำการในฝูงบิน 13 กองบินที่ 1 ดอนเมือง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2509 และขึ้นทำการบินครั้งแรกเมื่อวันที่20 เมษายน 2509 ใช้นามเรียกขานว่า ไลท์นิ่ง (Lightning) ปี 2519 กองทัพอากาศได้ย้ายฝูงบิน F 5 A/B จากฝูงบิน 13 กองบินที่ 1 ไปยังฝูงบิน 103 กองบินที่ 1 จังหวัดนครราชสีมา
ใช้นามเรียกขานคงเดิม และในปี 2525 กองทัพอากาศได้ทำการจัดซื้อเครื่องบิน F 5 B แบบสองที่นั่งจากมาเลเซียเพื่อใช้ในการฝึกนักบินและเข้าร่วมอยู่ในฝูงบิน 103 ต่อมาในปี 2530 กองทัพอากาศไทยได้จัดซื้อเครื่อง F 5 B สองที่นั่งอีก 2 เครื่องจากสหรัฐอเมริกา และรับโอนเครื่อง F 5 E อีกจำนวน 5 ลำเข้าไปประจำการในฝูงบิน 231 อุดรธานีในระหว่างปี 2529-2541
ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2525-กันยายน 2526 เสด็จไปฝึกบินหลักสูตรการบินขับไล่พื้นฐาน และหลักสูตรการบินขับไล่ขั้นสูงแบบ F-5E/F ณ William Air Force Base รัฐ Arizona ในวันที่ 22 กันยายน 2526 ที่ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรการบินขับไล่ทางยุทธวิธีขั้นสูงของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ผู้บังคับฝูงเครื่องบินขับไล่ทางยุทธวิธีที่ 425 เทิดพระเกียรติในบันทึกว่า “นาวาอากาศโท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในระหว่างการศึกษาว่า
ทรงมีความมั่นพระราชหฤทัยที่จะทรงนำในการออกปฏิบัติภารกิจการรบทางอากาศ ทรงมีความกล้าหาญที่จะทรงตัดสินพระราชหฤทัยที่ยากเย็นได้ภายในเสี้ยววินาที อีกทั้งยังมีพระปรีชาสามารถในการเลือกแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องในการป้องกันประเทศชาติของพระองค์”
ในการเป็นนักบินขับไล่ พระองค์ทรงต้องรับการตรวจพระวรกายจากคณะแพทย์ และจะต้องผ่านการทดสอบต่างๆ ตามเกณฑ์จากคณะกรรมการของกองทัพอากาศอย่างสม่ำเสมอ การเป็นนักบินไอพ่นทำการรบ เป็นการปฏิบัติงานที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และเสี่ยงอันตราย สมเด็จพระบรมฯ ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแกร่งตามเกณฑ์ที่กำหนด เมื่อเสด็จกลับมาแล้ว พระองค์ทรงฝึกบินหลักสูตรการบินรบขั้นสูง (Advance Fighter Course) และทรงฝึกบินทบทวนหลักสูตรต่างๆ ของ F-5E/F ที่กองบิน 1 ฝูง 102 จนจบหลักสูตร
ในวันที่ 29 ธันวาคม 2526 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศ ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ซึ่งพระองค์ทรงทำการบินเครื่องบินขับไล่ F-5E เข้าแข่งขันด้วย
30 ตุลาคม 2528 ในระหว่างการฝึกรหัส Commando West-9 พระองค์ทรงทดลองบินเครื่อง F-15 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ
พ.ศ. 2529 ทรงเข้าร่วมการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศและทรงชนะเลิศการใช้อาวุธทางอากาศประเภทปืนกลอากาศ ประเภทบุคคล ทรงชนะเลิศการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศในการแข่งขันเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2530
พลอากาศเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงทำการบินทบทวนหลักสูตรต่างๆ ของเครื่องบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูง F-5E/F อย่างสม่ำเสมอตามขั้นตอนและตามวัฏภาค จนทรงพร้อมรบและทำการบินครบ 1,000 ชั่วโมง เมื่อ 17 เมษายน 2532
ทรงเข้าร่วมการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศประจำปี ทรงใช้อาวุธทางอากาศ ทำคะแนนสูงตามกติกา ซึ่งกองทัพอากาศได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องหมายความสามารถในการใช้อาวุธทางอากาศขั้นที่ 1 ประเภทอาวุธระเบิด 4 ดาว อาวุธจรวด 4 ดาว และอาวุธปืน 4 ดาว
วันที่ 4 พฤษภาคม 2540 บริษัทนอร์ธรอป ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูงแบบ F-5 E/F ทูลเกล้าฯ ถวายเกียรติบัตรการบิน ที่ทรงทำการบินกับเครื่องบินขับไล่ F-5E/F ครบ 2,000 ชั่วโมง
 
ข้อมูลจาก มติชน ภาพเก่า…เล่าตำนาน : พระมหากษัตริย์นักบินรบ : โดย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก
โฆษณา