3 ก.ย. 2022 เวลา 00:00 • ปรัชญา
อยู่กับความซวยโดยไม่ทุกข์
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
1
แลร์รี กอพนิก เป็นอาจารย์วิชาฟิสิกส์ในวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เขาเป็นคนมีเหตุผลและตรรกะแบบวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างคำนวณได้ แม้แต่หลักฟิสิกส์ของ Schrodinger’s Cat ในช่วงหนึ่งเขาผ่านเหตุการณ์ร้ายต่างๆ ที่ประดังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ เขาสงสัยว่ามันมีเหตุผลหรือไม่
3
นี่ไม่ใช่เรื่องจริงของใคร (หรืออาจจะจริงก็ได้เพราะไม่ใช่เรื่องแปลก) มันเป็นหนังเรื่อง A Serious Man ผลงานของ Coen Brothers
ก่อนอื่น อะไรคือ Schrodinger’s Cat?
Schrodinger’s Cat เป็นการทดลองทางความคิดของ เออร์วิน เชรอดิงเออร์ (Erwin Schrodinger) นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ผู้ที่มีส่วนในการพัฒนาทฤษฎีควอนตัม
การทดลองนี้เริ่มโดยสร้างกล่องทึบขึ้นมาหนึ่งกล่อง กล่องนี้ปิดสนิททุกด้าน ภายในกล่องใส่สารกัมมันตภาพรังสี เครื่องวัดการแผ่รังสี (Geiger counter) ขวดยาพิษไซยาไนด์ และแมวหนึ่งตัว
1
ในกรณีที่สารกัมมันตภาพรังสีสลายตัว เครื่องไกเกอร์ เคาน์เตอร์ จะตรวจจับได้ และกลไกจะทำงานโดยปล่อยค้อนลงมาทุบขวดบรรจุยาพิษแตก แมวจะตาย แต่ถ้าสารรังสีไม่สลายตัว แมวก็รอด
เออร์วิน เชรอดิงเออร์
แปลว่าแมวมีโอกาส 50-50 ที่จะรอดหรือไม่รอด แต่ในสายตาของเราซึ่งเป็นผู้ดูเหตุการณ์อยู่นอกกล่อง เราไม่มีทางรู้ ‘ความจริง’ จนกว่าจะถึงขณะจิตที่เราเปิดกล่อง ก่อนหน้าที่เราเปิดกล่อง แมวตัวนั้นมีสิทธิ์ที่จะอยู่หรือตายเท่าๆ กัน หากพูดในภาษาปรัชญาก็คือ แมวอาจอยู่ในสภาวะเป็นและตายพร้อมกัน หรืออาจกล่าวว่าแมวอยู่ในสภาวะปริศนา
หนังเรื่อง A Serious Man ก็เป็นงานปริศนา
หนังเรื่องนี้ประกอบด้วยพล็อตสองท่อนที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน เรื่องแรกเป็นท่อนเปิดหนัง เรื่องที่สองคือตัวหนังหลัก
A Serious Man
(ต่อไปนี้มีสปอยเลอร์หนังเรื่อง A Serious Man)
ฉากเปิดเป็นเรื่องในยุคโบราณ ชาวบ้านคนหนึ่งขับเกวียนกลับถึงบ้าน บอกภรรยาว่าเกวียนของเขาเสียกลางทาง แต่มีคนชราใจดีคนหนึ่งช่วย และนางก็รู้จักเขาด้วย ชายชราคนนั้นก็คือ Traitle Groshkover
สีหน้าภรรยาเปลี่ยนไปทันที บอกว่า พวกเราถูกสาปแช่งแล้ว สามีถามว่าทำไม นางตอบว่า Traitle Groshkover ตายมาสามปีแล้ว คนที่คุณพบเป็น ‘dybbuk’ (ผีในตำนานยิว)
พลันปรากฏเสียงเคาะประตูดังขึ้น สามีบอกภรรยาว่าเขาได้เชิญ Traitle Groshkover มากินข้าวเย็นด้วยกัน
ชายชรานาม Traitle Groshkover ปรากฏตัว ทั้งสามสนทนากันอย่างกระอักกระอ่วน ภรรยาเจ้าของบ้านบอกว่าชายชราเป็นผี แล้วใช้เหล็กแหลมแทงหน้าอกชายชรา ปรากฏว่าไม่มีเลือดไหลออกมา ทั้งสองเชื่อว่าชายชราคือผี แต่ไม่นานปรากฏเลือดไหลออกมาจากแผลที่ถูกแทง แล้วชายชราก็เดินออกจากบ้านนั้นไป
2
จบเรื่องที่หนึ่ง
1
หนังตัดเข้าเรื่องหลัก เล่าถึงชีวิตของครอบครัวกอพนิก พวกเขาเป็นชาวยิวในสหรัฐฯ ตัวเอกของเรื่อง แลร์รี กอพนิก ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย เขาไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษ มีเมีย มีลูก มีภาระหนี้สินบ้านที่ต้องผ่อน
แล้ววันหนึ่งเรื่องร้ายก็มาเยือนแลร์รี เริ่มต้นที่ภรรยาขอหย่า ตามมาด้วยปัญหาเพื่อนบ้าน ปัญหาการงาน ปัญหาลูกศิษย์ติดสินบนอาจารย์ ปัญหาสมาชิกในครอบครัว ฯลฯ ความซวยหนึ่งตามมาด้วยอีกความซวยหนึ่ง ติดต่อกันเป็นพรวน ไม่หยุดหย่อน
1
แลร์รีเป็นนักฟิสิกส์ มองทุกอย่างเป็นสูตร แทบทุกเรื่องในโลกอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ ตามหลักฟิสิกส์ action ทำให้เกิด consequence แต่เขาพบว่าคนที่ไม่ทำอะไรเช่นเขา (no action)​ ก็มี consequence เช่นกัน
มันทำให้เขาต้องตั้งคำถามว่าทำไม ‘Hashem’ (พระเจ้า) จึงเล่นตลกกับเขา ความศรัทธาต่อศาสนายิวของเขาเริ่มตกอยู่ในเงามืดของเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ เขาไปปรึกษาแรบไบสามคน เพื่อหาคำตอบ เขาอยากรู้ว่าทำไมเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นกับเขาตลอดเวลาโดยที่เขาไม่ใช่คนก่อปัญหา
1
นี่ไม่ใช่ปัญหาและคำถามของแลร์รีคนเดียว แต่ของคนทั้งโลก ทำไมชีวิตคนเราต้องมีปัญหา? เราจะทำอย่างไรกับปัญหาที่มาเยือนเรา โดยที่เราไม่ได้ทำอะไรผิด?
3
คนเราไม่ค่อยถามอะไรเมื่อโชคดีมีความสุข แต่ตั้งคำถามเมื่อเกิดเรื่องร้าย โดยเฉพาะเมื่อเรื่องร้ายมาเป็นชุด
3
แต่ในสายตาของชาวสโตอิก เห็นว่าเรื่องร้ายเป็นแค่มุมมอง
3
Stoicism เป็นปรัชญากรีกโบราณ ผู้ก่อตั้ง Stoicism คือ ซีโนแห่งซีเทียม เกิดราว 334 ปีก่อนคริสตกาล ซีโนเป็นพ่อค้าร่ำรวย ประสบเรือแตกสูญเสียทุกอย่าง หลังจากนั้นเขาก็มองโลกด้วยมุมมองใหม่
ซีโนแห่งซีเทียม
เขาเสนอแนวคิดให้ลดทอนอารมณ์ด้านลบ และเพิ่มความรู้สึกด้านบวก ยอมรับเรื่องร้ายๆ ได้ด้วยรอยยิ้ม รักษาความสงบเยือกเย็น และกล้าหาญในยามเจออุปสรรคร้ายแรง ที่เรียกว่า stoic calm
4
ปราชญ์สาย Stoicism มีหลายคน คนหนึ่งคือเซเนกา งานเขียนเกี่ยวกับสโตอิกของเขาชิ้นหนึ่งที่อยู่รอดมาถึงปัจจุบันคือ จดหมายจากสโตอิกคนหนึ่ง (Letters from a Stoic หรือ The Epistulae Morales ad Lucilium) เป็นจดหมายจำนวน 124 ฉบับที่เซเนกาเขียนถึงเพื่อนชื่อ Lucilius Junior เล่าเรื่องทั่วไป แล้วโยงเข้าหาปรัชญา ข้อคิด และการจะเป็นสโตอิกที่ดี
เซเนกาเขียนในเรื่องนี้ว่า “เราทนทุกข์กับจินตนาการมากกว่าความจริง”
8
จักรพรรดิโรมัน มาร์คัส ออรีลิอัส ก็เป็นนักปรัชญาสโตอิกที่มีชื่อเสียง แม้จะเป้นนักรบ แต่ก็เก่งเรื่องปรัชญา งานเขียนของเขา เช่น meditations สอนให้ยอมรับสิ่งที่เป็น ยอมรับสิ่งที่มาปรากฏต่อหน้า และสร้างทัศนคติที่ปรับตัวได้ต่อโลกภายนอก
4
หลักของชาวสโตอิกคือไม่หนีความทุกข์ แต่โอบรับมัน เพราะรู้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ยอมรับเคราะห์ร้ายได้ ไม่สาปแช่งโชคชะตาฟ้าดิน ไม่บ่น เพราะไม่มีประโยชน์ ไม่ต่อต้านเรื่องร้ายๆ ด้วยอารมณ์ ยอมรับว่ามันเกิดขึ้น แล้วเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน
11
เพราะเคราะห์ร้ายก็เหมือนเชื้อโรคที่อยู่กับเรา กำจัดไม่ได้ มีแต่อยู่กับมันอย่างสันติ มันทำอะไรเราไม่ได้เมื่อเราแข็งแรง เราหนีมันไม่พ้น แต่เราอยู่กับมันได้
11
อยู่กับทุกข์ได้ก็จบไปแล้วครึ่งหนึ่ง
3
ชาวสโตอิกมองว่าความทุกข์ยากลำบากก็เป็นแค่บททดสอบชีวิต เรื่องร้ายไม่ใช่เรื่องร้ายหรือไม่ร้าย แต่อยู่ที่มุมมอง
6
จุดนี้คล้ายหลักเซน โลกไม่มีดีหรือร้าย มันเป็นเช่นนั้นเอง
2
ทัศนคติทำให้เราตัดสินและตีตราว่าเรื่องที่เกิดขึ้นดีหรือร้าย
6
บางทีในเรื่องร้ายก็มีเรื่องดีเสมอ เช่นถูกไล่ออก ก็อาจเปิดประตูบานใหม่
3
ความแตกต่างของความสุขกับความทุกข์จึงอยู่ที่ทัศนคติต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
6
ชีวิตมีเรื่องที่คุมได้ กับคุมไม่ได้ คุมสิ่งที่คุมได้ ถ้าอะไรแก้ไขได้ก็แก้ แก้ไม่ได้ก็ไม่ต้องแก้ อะไรทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ
10
แค่ไหนแค่นั้น อย่าคิดมาก เพราะจะทำอะไรได้เล่า มันไร้ประโยชน์ที่จะวิตกกับสิ่งที่เราคุมไม่ได้
5
เราไม่อาจคุมดินฟ้าอากาศ พายุ แผ่นดินไหว และการกระทำเรื่องร้ายๆ ของคนอื่นที่ส่งผลกระทบต่อเรา แต่เราสามารถจัดการตัวเองให้อยู่ในสถานการณ์ร้ายๆ ได้ โดยใช้สติ + ปัญญา + ความอดทน ฝ่าความยากลำบาก
7
หลวงพ่อชา สุภทฺโท ว่าเห็นธรรมชาติมันเกิดขึ้นแล้ว มันทรงอยู่ แล้วมันก็ดับไป เป็นธรรมชาติอย่างนี้ เข้าใจแล้ว จิตก็สบายขึ้น
5
ไม่เฉพาะแต่เหตุร้าย บ่อยครั้งเราก็เจอคนแย่ๆ ทำเรื่องไม่ดีกับเรา
3
การเจอคนอื่นทำให้เราเจอเรื่องแย่ๆ ก็ต้องยอมรับเขา ให้เข้าใจว่าธรรมชาติของมนุษย์มีทั้งดีและไม่ดี ก็แค่ยอมรับ
2
แต่ละคนมีวิธีของเขาเอง เราอาจไม่ชอบวิธีของเขา แต่เราไม่ใช่เขา อย่าพยายามไปเปลี่ยนคนอื่น
3
ถ้ามีคนเล่นตลกกับเรา เราก็แค่ยอมรับว่ามีคนเล่นตลก แต่ไม่รับมันมาทำร้ายเรา
5
เอพิคทีตัสกล่าวว่า “ใครก็ตามที่สามารถทำให้ท่านโกรธจะกลายเป็นเจ้านายของท่าน เขาสามารถทำให้ท่านโกรธเพียงเมื่อท่านอนุญาตให้เขารบกวนท่านเอง”
4
คนที่ให้ปัจจัยภายนอกตัวเป็นข้อแม้ของความสุข จะถูกชะตาภายนอกกำหนด ความสุขอยู่ภายใน
7
ตัวละครหลักในเรื่อง A Serious Man เป็นตัวแทนมนุษย์พวกที่พยายามค้นหาคำตอบ ค้นหาความหมายของทุกอย่าง แต่บางครั้งชีวิตก็บ้าและวุ่นวายเกินกว่าจะพบคำตอบ
เราอาจไม่มีทางรู้คำตอบทุกเรื่อง เช่นเดียวกับปริศนาแมวในกล่อง
1
หากมองด้วยหลัก Schrodinger’s Cat โลกอาจมีพระเจ้าและไม่มีพระเจ้าเท่าๆ กัน เรื่องๆ หนึ่งอาจเป็นเรื่องร้ายและดีได้เท่าๆ กัน
1
เรื่องบางเรื่องเป็นปริศนาที่ไม่มีประโยชน์ที่จะรู้คำตอบ หรือกระทั่งไม่มีคำตอบ ไม่ต้องพยายามหาเหตุผลว่าทำไมเรื่องร้ายเกิดขึ้นกับเรา บางทีอาจจะดีกว่าถ้าเรายอมปล่อยให้มันดำรงเป็นปริศนา ดังที่ตัวละครคนหนึ่งในเรื่องกล่าวว่า “Accept the mystery.”
3
กลับมาที่เรื่องเปิดฉาก บางทีมันอาจนำเสนอทฤษฎีความไม่แน่นอน บางทีชายชราผู้ถูกแทงเข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้งว่าการประสบเรื่องร้ายๆ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่จำเป็นต้องหาคำตอบว่าทำไม เขาจึงไม่โทษใคร ยอมรับชะตา แล้วเดินออกจากบ้านหลังนั้นไป
3
เอพิคทีตัส ศิษย์คนหนึ่งของซีโนกล่าวว่า “เรามิได้ทนทุกข์จากเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตของเรา หากจากวิธีที่ตัดสินมัน”
4
และ “มันไม่สำคัญว่าอะไรเกิดขึ้นกับท่าน แต่อยู่ที่ท่านมีปฏิกิริยาอย่างไรกับมัน”
3
ทัศนคติคือทุกอย่าง
6
โฆษณา