Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Everythinghobby
•
ติดตาม
30 ส.ค. 2022 เวลา 08:02 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Arcus- 'เมฆอาร์คัส' ที่กำลังฮือฮาในกรุงเทพฯและปริมณฑล อยู่ขณะนี้
Science Insights : ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ
10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ‘อาร์คัส’
ช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม 2565 คงเป็นอีกวันที่หลายคนในกรุงเทพและปริมณฑลจะจดจำไปอีกนาน เหตุเพราะเช้าวันนั้น เมฆสีเทาเข้มปกคลุมท้องฟ้ากินพื้นที่กว้างมาก แถมในบางพื้นที่
เช่น มีนบุรี ยังเกิดเมฆรูปร่างแปลกๆ ในระดับต่ำใกล้พื้นมาก จึงดูคุกคามไม่น้อย
นักวิชาการบางท่านระบุว่าเหตุการณ์นี้เป็นปรากฏการณ์สภาวะอากาศแบบสุดขีด (extreme weather event) และเป็นผลพวงอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน (global warming) หรือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) อย่างไรก็ดี ในทางวิทยาศาสตร์คำกล่าวเช่นนี้ต้องถือว่าเป็นเพียงสมมติฐาน (hypothesis) เท่านั้น เพราะการที่จะสรุปเช่นนั้นได้จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบด้วยงานวิจัยอย่างละเอียดและรัดกุม
ระหว่างที่รอการตรวจสอบโดยวงการวิชาการด้านอุตุนิยมวิทยา ผมจะขอนำเสนอข้อเท็จจริงบางแง่มุมที่น่าสนใจโดยเจาะไปที่เมฆรูปแบบหนึ่งที่ดูยิ่งใหญ่ อลังการ และบางครั้งดูคุกคามหากเราอยู่ใกล้ๆ
.
เมฆรูปแบบนี้เรียกว่า อาร์คัส (arcus) เป็นอย่างไร ผมขอแยกแยะเป็นข้อย่อยๆ 10 ข้อดังนี้ครับ
1 ) อาร์คัสไม่ใช่เป็นก้อนเดี่ยวๆ แต่เป็น ลักษณะเสริม (supplementary feature) ของเมฆก้อนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมฆฝนฟ้าคะนอง หรือที่เรียกว่า คิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) เมฆฝนฟ้าคะนองนี้คือเมฆที่มีฟ้าร้องและฟ้าผ่าได้นั่นเอง (แต่ในบางครั้งอาจพบอาร์คัสในเมฆก้อนสกุลคิวมูลัส (Cumulus) ได้ด้วยเช่นกัน แต่พบน้อยกว่า)
2 ) หากเปรียบเมฆฝนฟ้าคะนองทั้งก้อนเป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ เช่น รถเทรลเลอร์ 18 ล้อ ส่วนที่เรียกว่า “อาร์คัส” จะเปรียบได้กับ “กันชนหน้า” ของรถบรรทุกนั้น นั่นคือ อยู่ด้านหน้าของรถทั้งคัน (เมฆทั้งก้อน)
3 ) การที่อาร์คัสได้ชื่อเช่นนี้เป็นเพราะมันมักมีลักษณะโค้ง คำว่า arcus ในภาษาละติน แปลว่า ส่วนโค้ง ลองนึกถึงคำในภาษาอังกฤษคือ arc (ส่วนโค้ง) หรือ arch (โครงสร้างโค้ง, ช่องโค้ง) ก็ได้ ด้วยเหตุนี้ฝรั่งบางคนจึงเรียกอาร์คัสว่า arch cloud
4 ) จากข้อ 2 ซึ่งมีการเปรียบอาร์คัสเหมือนกันชนหน้าของรถบรรทุก ผมจึงขอบันทึกไว้เป็นหลักฐานในบทความนี้ว่า ผมเป็นคนตั้งชื่อเล่นให้กับอาร์คัสว่า “เมฆกันชน”
.
อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุผลบางประการได้เกิดความสับสนในการเรียกชื่อเล่นนี้ คือมีผู้เรียกกลับกันว่า “เมฆชนกัน” (ซึ่งไม่ถูกต้อง) ลองค้นสองคำนี้ในเน็ตดูได้ครับ
5 ) แนวป่องโค้งของอาร์คัสบ่งบอกทิศทางการเคลื่อนที่ของเมฆฝนฟ้าคะนองทั้งก้อนโดยรวม หมายความว่า อาร์คัสป่องโค้งไปทางไหน เมฆฝนฟ้าคะนองทั้งก้อนก็จะเคลื่อนที่ไปในทิศทางนั้น และอาจจะนำพาเอาฝนไปในทิศทางนั้นด้วย
ผมนำภาพเมื่อปี 2558 มาใช้เป็นภาพปก คือ “อาร์คัสเหนือแม่น้ำเจ้าพระยา” ซึ่งถ่ายโดย นพ. ชลิต พงษ์สมบูรณ์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน 2558 เวลา 18.07น. มาให้ชมเป็นตัวอย่างเพราะสื่อเรื่องราวได้ชัดเจน
จะเห็นว่าอาร์คัสเคลื่อนมาจากทางขวาของภาพ ป่องโค้งไปทางซ้ายเล็กน้อย และอาร์คัสอยู่เหนือแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนสายฝนได้เริ่มโปรยปรายใต้ฐานเมฆทางฝั่งขวาของภาพ
มีข้อสังเกตเล็กๆ คือ บริเวณฐานของอาร์คัสเริ่มมีลักษณะไม่เรียบ คือดูขยุกขยุย ลักษณะเช่นนี้มีชื่อวิชาการเรียกว่า แพนนัส (pannus) คำๆ นี้เป็นภาษาละติน หมายถึง ผ้าขี้ริ้ว
6 ) ชื่อเรียกอื่นๆ ของอาร์คัสคือ shelf cloud หรือเมฆชั้น ชื่อเรียกนี้มาจากการที่บางครั้งอาร์คัสมีลักษณะคล้ายชั้น(วางของ) เดี่ยวๆ หรือชั้นวางของที่ซ้อนๆ กันอยู่มากกว่า 1 ชั้น
7 ) อาร์คัสเกิดขึ้นได้อย่างไร? คำอธิบายอย่างรวบรัดเป็นอย่างนี้ครับ
เมฆฝนฟ้าคะนองทุกก้อนจะมีกระแสอากาศพุ่งลงกระแทกพื้นค่อนข้างแรง จากนั้นกระแสอากาศจะกระจายออกไปโดยรอบ (คล้ายๆ เราทำขวดน้ำเปิดฝาตกพื้น น้ำในขวดจะกระจายออกไป) กระแสลมที่พุ่งลงพื้นนี้ทำให้เกิด ลมกระโชก (gust) ซึ่งหมายถึง ลมแรงที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ (ไม่เกิน 20 วินาที)
ลมกระโชกนี้จะช่วยยกกระแสอากาศอุ่นและชื้นให้พุ่งขึ้นเข้าสู่เมฆง่ายขึ้น เมื่อความชื้นเคลื่อนที่สูงขึ้น อุณหภูมิก็จะลดลง หากอุณหภูมิลดลงจนถึงระดับกลั่นตัว (condensation level) ก็จะเกิดเป็นอาร์คัสบริเวณขอบเมฆฝนฟ้าคะนองด้านล่างนั่นเอง
.
8 ) เหตุการณ์ครั้งแรกที่ทำให้คนไทยจำนวนมากสนใจอาร์คัส และเรียกชื่อได้อย่างถูกต้อง เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2557 เนื่องจากคุณพุทธิพร อินทรสงเคราะห์สามารถถ่ายภาพอาร์คัสได้ที่สนามบินนานาชาติอุดรธานี ภาพดังกล่าวมีเครื่องบินอยู่ด้วย ทำให้เห็นถึงขนาดความใหญ่โตของอาร์คัสได้อย่างชัดเจน
.
ชมภาพได้ใน
https://pantip.com/topic/32157759
.
ภาพนี้โด่งดังในโลกโซเชียลมีเดีย แถมเป็นข่าวทีวีช่อง 3 ในรายการเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ (ในวันถัดมา) ในกรณีของโซเชียลมีเดีย ภาพเมฆนี้ถูกกระหน่ำแชร์ผ่าน facebook และ LINE อย่างรวดเร็ว บางเพจใน facebook มีคลิก Like สูงถึง 80,000 ครั้ง ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเกิดเหตุการณ์ ส่วน LINE นั้น เพื่อนผมคนหนึ่งบอกว่าได้รับภาพซ้ำๆ ถึง 3 รอบในเวลาใกล้เคียงกัน
.
9 ) เนื่องจากอาร์คัสเป็นส่วนหนึ่งของเมฆฝนฟ้าคะนอง จึงมีความเสี่ยงจากฟ้าผ่าแฝงอยู่ โดยเฉพาะฟ้าผ่าแบบบวก (positive lighting) ซึ่งสามารถผ่าออกมาไกลจากตัวเมฆได้หลายกิโลเมตร นอกจากนี้ ในกรณีที่เป็นพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง ก็จะทำให้เกิดลมกระโชก (gust wind) ออกมาจากใต้ฐานเมฆเร็วมากได้ถึง 90-160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว ลมกระโชกที่เร็วขนาดนี้อาจพัดพาวัตถุให้ไปกระแทกคน สัตว์ หรือโครงสร้างต่างๆ ได้
.
10 ) ฝรั่งหลายคนเรียก arcus อย่างไม่ถูกต้อง โดยขอแยกเป็น 2 กรณี คือ A และ B แบบนี้นะครับ
.
กรณี 10-A : เรียก arcus ว่า roll cloud (เมฆม้วน) - แบบนี้ไม่ถูกต้อง เพราะว่า roll cloud เป็นเมฆที่มีรูปร่างยาวเหมือนทรงกระบอก แต่ไม่อยู่ติดกับเมฆฝนฟ้าคะนอง
.
ชมภาพ roll cloud ได้ที่
https://www.earthtouchnews.com/natural-world/natural-world/rare-roll-cloud-sweeps-across-durban-south-africa/
.
ในกรณีข้อ 10 นี้ หากสนใจรายละเอียด ก็ลองค้นคำว่า roll cloud และ wall cloud ในอินเทอร์เน็ตดู คุณผู้อ่านจะพบว่าความสับสนเกิดจากการที่ roll cloud และ wall cloud มีรูปร่างบางอย่างคล้ายกับ arcus คือถ้าเห็นแค่ภาพบางส่วน จะแยกได้ยาก (หรือแยกไม่ออกเลยทีเดียว) ต้องดูภาพใหญ่ หรือมีข้อมูลอื่นประกอบ จึงจะตัดสินได้ว่าเป็นอะไรครับ
.
คุณผู้อ่านที่สนใจความรู้เกี่ยวกับเมฆและปรากฏการณ์ในบรรยากาศ ผมขอแนะนำให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ ใน Facebook ได้ที่
www.facebook.com/groups/CloudLoverClub
.
ขณะนี้ชมรมคนรักมวลเมฆมีจำนวนสมาชิกกว่า 3 แสนคนแล้วครับ
.
พบกับสาระน่ารู้ดีๆ เกี่ยวกับเมฆและฝนฟ้าอากาศได้ในตอนต่อไปครับ :-D
.
#อาร์คัส #เมฆ #MatichonMIC #ศูนย์ข้อมูลมติชน
คอลัมน์ Science Insights : ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ
อ่าน 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ‘อาร์คัส’ พร้อมชมรูปสวยๆ ได้ในเวอร์ชันเว็บไซต์ :
https://www.matichon.co.th/mic/news_3535083
โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจ หรือ ช่องทางอื่นๆ ของ MatichonMIC ได้ที่ :
Line ID : MatichonMIC
Website :
www.matichonelibrary.com
Instagram :
www.instagram.com/matichonmic/
YouTube :
bit.ly/YouTube_MIC
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0MQJEu9t8othQv5GRw76Mh11RMUFvHBYzP5azDbHgEVFKrQxMeGXdXUuJX4RewdCyl&id=100001124971034
เมฆ
วิทยาศาสตร์
ฤดูฝน
บันทึก
2
2
1
2
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย