31 ส.ค. 2022 เวลา 02:13 • หนังสือ
ทฤษฎีสมคบคิด
โดย นำชัย ชีววิวรรธน์
photo by TravelScape
เคยได้ยินคำว่า “ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory)” กันบ้างหรือเปล่าครับ ?
พวกฝรั่งมังค่าจะคุ้นเคยกับคำนี้ดี เพราะว่าเวลามีเหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจขึ้นมาสักอย่าง ก็มักจะมีคำอธิบายแปลกๆ ออกมา โดยสรุปแนวคิดเบื้องหลังคล้ายๆ กันได้ว่า มีกลุ่มคนหรือองค์กรของรัฐหรือไม่ก็องค์กรลับที่ทรงอำนาจ มีเครื่องไม้เครื่องมือและเงินทองสำหรับการทำงานมากมาย คอยทำหน้าที่กลบเกลื่อนและเก็บงำความลับบางอย่างไว้
ทฤษฎีสมคบคิดที่โด่งดังในยุคหลังๆ ก็เช่น ทฤษฎีที่ว่าเหตุการณ์ 9/11 นั้น ไม่ได้มีผู้ก่อการร้ายจริงๆ แต่อย่างใด เป็นแต่เพียงการลงมือของหน่วยงานในสหรัฐฯ เองที่หวังผล เช่น งบประมาณทหาร
หรือแม้แต่ปีพิเศษอย่างปี 2012 นี้ ก็มีทฤษฎีสมคบคิดสำคัญคือ รัฐบาลสหรัฐฯ เองหรืออาจสมคบกับรัฐบาลของอีกหลายประเทศด้วย ด้วยรู้ว่าปีนี้จะมีมหันตภัยร้ายแรง และแอบต่อเรือยักษ์หรือไม่ก็ยานอวกาศใหญ่ยักษ์ไว้แล้ว ในกรณีฉุกเฉินที่ต้องหนีตายกัน เป็นต้น
ทฤษฎีสมคบคิดอีก 2 เรื่องที่โด่งดังก็คือ ความเชื่อที่ว่าการไปเหยียบดวงจันทร์ของนักบินอวกาศยานอะพอลโล 11 เป็นแต่เพียงเรื่องแหกตาเท่านั้น กับเรื่องที่ NASA เจอมนุษย์ต่างดาวแล้วหรืออย่างน้อยก็เจอซากพวกเขาที่มากับจานบินแล้ว แต่ปกปิดเรื่องพวกนี้เอาไว้เพราะกลัวว่าผู้คนจะแตกตื่น ภาพยนตร์แอ็กชันบู๊ล้างผลาญอย่าง Men in Black ก็สร้างขึ้นบนแนวคิดนี้
Photo by NASA on Unsplash
แต่ที่น่าสนใจก็คือทฤษฎีสมคบคิดบางทฤษฎีก็สนับสนุนกันดี แต่บางทฤษฎีก็ขัดแย้งกันเอง
1
ทีมนักวิจัยชาวอังกฤษจากมหาวิทยาลัยเคนท์นำโดย รอบบี ซัตตัน (Robbie Sutton) ก็เลยลงมือทำวิจัยเรื่องนี้ และตีพิมพ์ผลงานดังกล่าวในชื่อ Dead or Alive: Beliefs in Contradictory Conspiracy Theories ในวารสารชื่อ Social Psychological and Personality Science เมื่อปี 2011 นี่เอง
ตัวอย่างทฤษฎีสมคบคิดที่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ใช้ทดสอบ เช่น กรณีสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานาที่มีทั้งอ้างว่า โดนลอบปลงพระชนม์โดยหน่วยสืบราชการลับ MI6 ของอังกฤษ หรือโดยศัตรูทางธุรกิจของโมฮัมเมด อัล-ฟาเยด
1
และมีกระทั่งว่าเป็นเรื่องข่าวปลอมที่สร้างขึ้น และอันที่จริงแล้วยังมีพระชนม์ชีพอยู่ เป็นต้น
นักวิจัยสงสัยว่าหากมีหลายๆ ทฤษฎีเสียแล้ว ผู้คนจะเลือกเชื่อทฤษฎีสมคบคิดในแบบใด และหากมีบางเรื่องที่เกี่ยวพันกันหรือขัดแย้งกัน จะมีผลต่อการเลือกเชื่อดังกล่าวหรือไม่ เป็นต้น
การทดลองแรกพวกเขาทดสอบในอาสาสมัครนักศึกษาระดับปริญญาตรีปีที่สอง 137 คน โดยเป็นผู้หญิงเสีย 83% และอายุเฉลี่ยที่ 20.4 ปี
อาสาสมัครเหล่านี้จะต้องตอบแบบสอบถามรวม 17 ข้อที่ออกแบบเป็นพิเศษ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการก่อการร้าย 9/11 โดยฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐเอง มีเรื่องโลกร้อนที่นักวิทยาศาสตร์และนักการเมืองช่วยกันกุขึ้น รวมไปถึงการจัดฉากเรื่องลงเหยียบดวงจันทร์
ที่สำคัญคือในจำนวนนี้จะมีอยู่ 5 ข้อที่เกี่ยวข้องกับกรณีการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานาด้วย
ทีเด็ดอยู่ตรงที่ว่าแต่ละตัวเลือกไม่ได้ขัดแย้งกันเองอย่างเห็นได้ชัด มีบางส่วนที่กำกวมต้องตีความเอง และอาสาสมัครอาจเห็นด้วยกับตัวเลือกมากกว่าหนึ่งข้อก็ได้ แต่บางทฤษฎีก็จะขัดแย้งและไปด้วยกันไม่ได้อย่างมาก
สรุปผลที่ได้คือคนที่ไม่เชื่อถือเจ้าหน้าที่ ก็จะไม่ฟันธงเชื่อข้อใดข้อหนึ่งลงไปเสียทีเดียว แต่เลือกจะเชื่อตัวเลือกหลายๆ ทฤษฎีไปพร้อมๆ กัน แม้ว่าในจำนวนนั้นบางข้อจะขัดแย้งกันเองก็ตามที
ทีมวิจัยยังศึกษาเพิ่มเติมเป็นชุดที่ 2 อีก
คราวนี้พวกเขาเลือกข่าวการสังหารโอซามา บิน ลาเดน ในวันที่ 2 พ.ค. 2011 มาใช้ โดยทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ บิน ลาเดน ตายก่อนที่หน่วยพิเศษจะเข้าไปถึงตัวด้วยซ้ำ บ้างก็ว่าเสียชีวิตตั้แต่ปี 2000 หรือก่อนหน้านั้นอีก
ส่วนภาพวิดีโอต่างๆ ล้วนแล้วแต่หน่วยงานรัฐใช้ตัวปลอมแสดงแทน
ส่วนทฤษฎีสมคบคิดอีกแบบในเรื่องนี้คือ อันที่จริงแล้วเขายังมีชีวิตอยู่ บ้างเชื่อว่าโดนควบคุมตัวอยู่โดยพวก CIA ซึ่งฟังๆ ดูแล้วก็ตรงกันข้ามกับทฤษฎีแรกอย่างเห็นได้ชัด
แต่เนื่องจากผลในการศึกษาแรกนั้น ผู้วิจัยเชื่อว่าเป็นไปได้ว่าอาสาสมัครบางคนจะตอบไปทั้งสองทาง พวกเขาจึงเลือกถามผู้เข้าร่วมการทดลองถึง “ระดับของความเกี่ยวข้อง” ระหว่างรัฐบาลอเมริกันกับประเด็นต่างๆ ในการทดลองอันหลังนี้ ซึ่งใช้ผู้เข้าร่วมรวม 102 คน เป็นผู้หญิง 58% และอายุเฉลี่ย 21 ปี
การตอบคำถามทำในช่วง 1–6 สัปดาห์หลังข่าวการเสียชีวิตของบิน ลาเดน
คนกลุ่มนี้จะได้อ่านสรุปข่าวเป็นทางการสั้นๆ เกี่ยวกับเรื่องการจับกุมนี้
จากนั้นก็ถามความคิดเห็นเกี่ยวกับทฤษฎีต่างๆ 4 แบบคือ (1) บิน ลาเดน ถูกสังหารขณะเข้าจับกลุ่ม (2) บิน ลาเดน ยังมีชีวิตอยู่ (3) ตอนที่บุกเข้าไปจับตัว บิน ลาเดน เสียชีวิตก่อนแล้ว และ (4) ปฏิบัติการจับตัวชี้ว่ามีการปกปิดข้อมูลสำคัญบางอย่างไว้
2
จากนั้น ให้แต่ละคนแสดงระดับความเห็นด้วย มากน้อยรวม 6 ระดับ
เมื่อวิเคราะห์ผลออกมาก็พบว่า มีความเชื่อทฤษฎีที่ขัดแย้งกันเองอยู่อย่างเห็นได้ชัด โดยมีส่วนสำคัญร่วมกันเพียงประการเดียวคือ ความเชื่อที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐปกปิดหรือหลอกลวงเรื่องนั้นๆ อยู่
จึงไม่น่าแปลกใจว่าคนที่เชื่อทฤษฎีสมคบคิดคนเดียวกันนั้นเอง ก็อาจเชื่อว่าเจ้าหญิงไดอานาสิ้นพระชนม์ไปจริงๆ หรืออาจจะแค่เป็นการสร้างเรื่องขึ้น (และยังมีพระชนม์ชีพอยู่)
เช่นเดียวกับเชื่อว่าโอซามา บิน ลาเดน อาจจะตายไปนานแล้วก่อนที่จะมีการจัดฉากเข้าจับตัว ขณะเดียวกันก็เชื่อด้วยว่าอาจจะยังโดนจับขังอยู่ที่ไหนสักแห่ง ... ด้วยไปพร้อมๆ กัน
จึงสรุปได้ว่า ทฤษฎีสมคบคิดไม่ได้ทำให้คนเชื่อไปตามตัวเนื้อหาในทฤษฎีย่อยๆ แต่ละอันแต่อย่างใด แต่มันร้อยผู้คนทั้งหลายเข้าด้วยกัน จากความเป็นปฏิปักษ์กับเจ้าหน้าที่รัฐ และจากความเชื่อเบื้องหลังที่ว่า “มีการปกปิดหลอกลวง” ต่างๆ อย่างตั้งใจอยู่ !
บทความนี้ตีพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน
โฆษณา