2 ก.ย. 2022 เวลา 23:00 • การตลาด
นวัตกรรมใหม่ของผ้าเส้นใยกัญชงในสหรัฐ
เมื่อวันที่ 19-21 กรกฎาคมที่ผ่านมา นิวยอร์กได้มีจัดงาน Apparel Sourcing ขึ้นที่ศูนย์การแสดงสินค้า Javits Center ภายในงานได้มีการจัดแสดงผ้า และวัตถุดิบสำหรับสินค้าประเภทเสื้อผ้า กระเป๋า และรองเท้า โดยวัสดุที่ได้รับความสนใจและกำลังเป็นกระแสคือ วัสดุที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ง่าย คงทน และสวมใส่สบาย เช่น ผ้าใยกัญชงที่ได้มีการพัฒนาการทอเส้นใยในรูปแบบใหม่ๆ
โดยบริษัท California Textile Group ซึ่งนำเส้นใยกัญชงไปผสมกับเส้นใยผ้าฝ้ายทำให้เกิดเป็นผ้าที่สามารถสวมใส่ได้สบาย และทนทาน นอกจากนี้ ยังมีการนำเส้นใยกัญชงไปผสมในเส้นใยผ้าชนิดอื่นๆ เช่น ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าไหม ผ้า Tencel ซึ่งเป็นผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ มีผิวสัมผัสละเอียดอ่อน และนำไปผลิตเป็นเสื้อผ้าและรองเท้า
จากรายงานของ Jan Conway จาก Statista ระบุว่ายอดขายของผลิตภัณฑ์ผ้าจากใยกัญชงในปี 2018 อยู่ที่ 119 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2022 คาดว่าจะมียอดขายผลิตภัณฑ์ผ้าจากเส้นใยกัญชาอยู่ที่ 183 ล้านเหรียญสหรัฐ
ผ้ากัญชง (Hemp) เป็นสิ่งทอที่ทำมาจากเส้นใยของพืชตระกูล Cannabis Sativa ซึ่งพืชกัญชงนี้มีความยืดหยุ่นและมีเส้นใยที่คงทนอย่างมาก โดยเส้นใยกัญชงจะได้มาจากพืชตัวผู้ของ Cannabis Sativa มีปริมาณสารTHC ต่ำเมื่อกัญชงถูกนำไปผลิตเป็นผ้าจะมี textureที่คล้ายกับผ้าฝ้ายมากและยังมีพื้นผิวคล้ายกับผ้าใบ ผ้ากัญชงมีน้ำหนักเบา มีความคงทนสูงมาก เนื่องจากเส้นใยของกัญชงจัดว่าเป็นหนึ่งในเส้นใยธรรมชาติที่แข็งแรงที่สุด ทำให้เสื้อผ้าที่ผสมใยกัญชงเข้าไปนั้นมีอายุการใช้งานยาวนาน
เนื่องจากเส้นใยของกัญชงโดยพื้นฐานนั้นมีความแข็งหยาบ หากใช้กัญชงเพียงอย่างเดียวมาผลิตเป็นเครื่องแต่งกายจะทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกไม่สบายตัว จึงได้มีการนำเส้นใยกัญชงไปผสมเส้นใยชนิดต่างๆ เช่นเส้นใยฝ้าย ด้วยกระบวนการเรียกว่า cottonize เป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก โดยจะนำกัญชงไปเข้ากระบวนการทำให้เป็นเส้นใยก่อนด้วยวิธี dry spinning, wet spinning
โดยอาจผสมกับสารชีวเคมี และนำส่วนประกอบที่ได้มาซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเส้นใยไปผสมกับเส้นใยฝ้าย โดยการจะผสมเข้าไปนั้น อัตราของเส้นใยกัญชงนั้นอาจแตกต่างกันออกไป โดยขึ้นอยู่กับคุณภาพเส้นใยกัญชง ประธานบริษัท Bear Fiber บริษัทด้านการจัดการค้าปลีกซึ่งชำนาญด้านพืชกัญชงระบุว่า หากมีการผสมเส้นใยกัญชงไปในอัตราส่วนร้อยละ 15-20 ในผ้าชนิดอื่น จะสามารถทำให้ผ้าชนิดนั้นมีความคงทนมากขึ้น นอกจากนี้ หากนำเส้นใยกัญชงผลิตผสมกับผ้าเดนิม เส้นใยกัญชงจะทำให้ดูดซับสีอินดิโก้ที่ใช้สำหรับยอมผ้าเดนิมได้ดี
ในปี 1997 Patagonia แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังของสหรัฐอเมริกาที่ชำนาญด้านเสื้อผ้ากันหนาวและเสื้อผ้าสำหรับใส่ออกกิจกรรมข้างนอก (outdoor activities) ได้ทดลองการผสมเส้นใยกัญชงซึ่งนำเข้าจากประเทศจีน เข้าไปในเส้นใยผ้าชนิดต่างๆเช่น ผ้าฝ้าย ผ้าโพลีเอสเตอร์และผา spandex โดยผลิตออกมาเป็นเสื้อผ้าและกางเกงยีนส์ แบรนด์ Patagonia ระบุว่า เสื้อผ้าจากเส้นใยกัญชงมีคุณสมบัติในการหน่วงไฟและสามารถต่อต้านจุลินทรีย์แบคทีเรียได้เหมือนผ้าใยสังเคราะห์
นอกจากความคงทนแล้ว กระบวนการผลิตผ้าจากเส้นใยกัญชงยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ในปี 2019 บริษัท Levi Strauss บริษัทผู้ผลิตยีนส์ชื่อดังของโลก ได้ออกสินค้าที่ผสมเส้นใยกัญชงเข้าไปให้ผ้ามีสัมผัสเหมือนผ้าฝ้ายในชื่อคอลเลกชัน Levi’s WellthreadTM x Outerknown collection
ซึ่งใช้เส้นใยกัญชงผสมในอัตราที่ร้อยละ 30 ซึ่งผ้าใยกัญชงใช้ปริมาณน้ำน้อยกว่าผ้าฝ้ายในการผลิตมาก จากข้อมูลของ Levi’s life-cycle การปลูกฝ้ายเพื่อผลิตกางเกงยีนส์จะต้องใช้น้ำถึง 2,565 ลิตร หากมีการผสมเส้นใยกัญชงในอัตราที่ร้อยละ 30 เข้าไปในเส้นใยฝ้าย จะสามารถลดปริมาณการใช้น้ำได้ถึง 1 ใน 3 นอกจากนี้การเพาะปลูกกัญชงยังใช้สารเคมีกำจัดแมลงในปริมาณน้อยอีกด้วย
จากการทดสอบโดย Institute of Natural Fibers เมื่อนำเส้นใยฝ้ายที่ผสมเข้ากับเส้นใยกัญชงมาทอเป็นผ้าแล้ว พบว่าผ้าชนิดนี้เหมาะสำหรับเสื้อผ้าสำหรับใส่หน้าร้อน เนื่องจากผ้าชนิดนี้ให้ความรู้สึกเย็น ระบายอากาศได้ดี สะอาด และสามารถป้องกันแสง UV ได้
ในปี 2021 Allbirds แบรนด์รองเท้าและเสื้อผ้า athleisure จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืน และมีกระบวนการผลิตที่ปลดปล่อยคาร์บอนในระดับต่ำ ได้ออกสินค้าประเภทเสื้อสเวตเตอร์ที่ผสมใยกัญชงในอัตราที่ร้อยละ 30 ด้วยความคงทนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผ้าใยกัญชงและผ้าผสมเส้นใยกัญชง จึงทำให้ผ้าใยกัญชงถูกนำไปผลิตเป็นรองเท้าอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าผ้าใบ รองเท้าคัตชู และรองเท้าบู้ท
โดยบริษัท Taos Shoes บริษัทรองเท้าในสหรัฐที่มีการผลิตรองเท้าผ้าใบจากใย กัญชงได้ระบุถึงประโยชน์ของรองเท้าผ้ากัญชงว่าช่วยลดการเกิดโรคตาปลา เนื่องจากรองเท้าจากผ้าใยกัญชงของ Taos นี้จะสามารถขยายออก เพื่อให้เข้ากับขนาดรูปเท้าของผู้สวมใส่อีกด้วย
ในประเทศไทย กัญชงได้รับการพัฒนาให้เป็นเส้นใยโดยชาวม้งทางภาคเหนือมาเป็นเวลานาน รวมทั้ง จากการแก้กฎหมายอนุญาตให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชงในเชิงพาณิชย์ได้ ทำให้กัญชงมีโอกาสที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรไทย
ซึ่งทางสคต. เห็นว่า หากมีการศึกษาพัฒนาแนวทางการผสมเส้นใยกัญชงกับเส้นใยชนิดอื่น เพื่อให้สามารถผลิตออกมาเป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย คงทน จะมีโอกาสในการขยายตลาดในต่างประเทศอีกมาก ประกอบกับผู้คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับกระแสรักษ์โลกและการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น
จึงเป็นโอกาสดีที่ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นจะได้มีการพัฒนาและเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกด้วย
โฆษณา