1 ก.ย. 2022 เวลา 09:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
5 อัตราส่วนวัดความสามารถในการทำกำไร
ในการอ่านงบการเงินนั้น นอกจากเรื่องของงบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด เราต้องเข้าใจเรื่องของอัตราส่วนทางการเงิน ซึ่งอัตราส่วนทางการเงินนั้นจะทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของบริษัท และสามารถเทียบระหว่างธุรกิจที่คล้ายกันได้ด้วย มาเข้าใจ “5 อัตราส่วนวัดความสามารถในการทำกำไร” ของกิจการกัน...
มาเริ่มกันที่เข้าใจงบกำไรขาดทุนก่อน
งบกำไรขาดทุนนั้น หลักคือ รายได้ - รายจ่าย = กำไรหรือขาดทุน
ซึ่งรายจ่ายนั้นจะมีอยู่ 4 อย่างในธุรกิจ คือ
1.ต้นทุนขาย คือ ค่าวัตถุดิบ ค่าสินค้าที่เราซื้อมาเตรียมขาย หรือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต
2.ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพื่อให้สินค้าเราขายได้ เช่น เงินเดือนของผู้บริหาร ค่าโฆษณา
3.ต้นทุนทางการเงิน คือ ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจ่าย ถ้าบริษัทมีภาระหนี้สิน กู้ยืมมามาก ก็จะมีรายจ่ายตรงนี้มาก
4.ภาษี
ในงบกำไรขาดทุนนั้น เมื่อ รายได้ หักออกด้วย “ต้นทุนขาย” จะได้ออกมาเป็น “กำไรขั้นต้น”
เมื่อเอา กำไรขั้นต้น มาหักออกด้วย “ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร” จะได้ออกมาเป็น “ กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี” (earning before interest and tax; EBIT)
เมื่อนำ กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี หักออกด้วย ต้นทุนทางการเงินและภาษี จะได้ออกมาเป็น “กำไรสุทธิ” นั่นเอง
.
.
เมื่อเราเข้าใจตรงนี้แล้ว เราจะเข้าใจอัตราส่วนที่จะเล่าต่อไปได้ดีขึ้น
.
ใน 5 อัตราส่วนวัดความสามารถในการทำกำไรของกิจการ แบ่งเป็น 3 margin และอีก 2 อัตราส่วนที่นำงบดุลมาสัมพันธ์ด้วย
ใน 3 อัตรากำไร หรือ 3 margin นั้น มี อัตรากำไรขั้นต้น(Gross Profit Margin), EBIT margin และอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ดังนั้นจึงเป็นการบอกถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ในแต่ละขั้น
และนอกจากนั้นการรักษาอัตรากำไรต่างๆ ได้ดีอย่างสม่ำเสมอยังสามารถบอกความสามารถในการแข่งขันได้ของกิจการด้วย โดยเฉพาะเรื่องของอัตรากำไรขั้นต้น ที่คิดจาก กำไรขั้นต้น หารด้วยยอดขาย ถ้ารักษาได้ระดับได้ดีอย่างสม่ำเสมอ แสดงว่า กิจการนั้นไม่ต้องลงไปสู้กันด้วยสงครามราคา และเมื่อต้นทุนสินค้าเพิ่มก็สามารถปรับราคาสินค้าได้
ส่วนอีก 2 อัตราส่วนที่นำเรื่องของงบดุล คือ ROE และ ROA นั้น จะทำให้เราทราบว่า กิจการนั้นนำส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ สินทรัพย์รวมของกิจการไปทำให้เกิดกำไรได้ดีแค่ไหน
และอย่างที่เราเข้าใจกันว่า งบดุลนั้นคือ
สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น
ดังนั้นถ้าบริษัทที่มีหนี้สินมาก จะทำให้ค่า ROE ต่างจาก ROA มาก เนื่องจากตัวหารกำไรของ ROE คือ ส่วนผู้ถือหุ้น แต่ตัวหารของ ROA นั้นคือ สินทรัพย์
อัตราส่วนทางการเงินนั้นจะทำให้เราสามารถนำไปเทียบกับกิจการที่มีลักษณะคล้ายกันได้ เพราะเราไม่สามารถนำตัวเลขที่อยู่ในงบไปเทียกันโดยตรงได้ ดังนั้นการเข้าใจเรื่องอัตราส่วนทางการเงินจะทำให้เราเข้าใจกิจการได้ดีขึ้น
อัตราส่วนทางการเงินที่เล่ามาเหล่านี้ มีแสดงในเว็บไซต์ของ set ตรงหุ้นที่เราสนใจ ในหน้าสรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน ตารางอัตราส่วนทางการเงินนะ
#หมอยุ่งอยากมีเวลา
#งบการเงิน
#ROE
#ROA
#อัตรากำไรขั้นต้น
#อัตรากำไรจากการดำเนินงาน
#อัตรากำไรสุทธิ
#EBITMargin
#EBIT
#อัตราส่วนทางการเงิน
1
โฆษณา