5 ก.ย. 2022 เวลา 23:00 • การตลาด
วิกฤตน้ำอัดลมในอิตาลี และโอกาสของไทย
เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน การบริโภคเครื่องดื่มอัดลมเพื่อดับกระหายมักได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอิตาลีที่อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นทุกปี โดยข้อมูลจาก Assobibe (สมาคมผู้ผลิตเครื่องดื่มที่ปราศจากแอลกอฮอล์ของอิตาลี) แสดงให้เห็นว่าในปี 2564 การบริโภคเครื่องดื่มที่ปราศจากแอลกอฮอล์เติบโตขึ้น +30% หากเทียบกับปีก่อนหน้าโดยการจำหน่ายเครื่องดื่มอัดลม (soft drinks) ในซูเปอร์มาร์เก็ตเติบโตขึ้น +1.7%
อย่างไรก็ตามแนวโน้มดังกล่าวจะชะลอตัวลงในปี 2565 โดยมีสาเหตุหลักจากการขาดแคลนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สำหรับอัดก๊าซในน้ำเปล่าและเครื่องดื่ม ซึ่งได้กลายเป็นสินค้าหายากในตลาดอิตาลีกว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้สัญญาณเตือนดังกล่าว และขณะนี้น้ำเปล่าอัดลม (sparkling water) ได้เริ่มขาดตลาดในอิตาลีแล้ว และในระยะต่อไป หากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข เครื่องดื่มอัดลมก็จะเริ่มขาดแคลนเช่นกัน
หนึ่งในผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคือ แบรนด์น้ำ Acqua Sant’Anna ที่ต้องหยุดการผลิตเป็นระยะเวลา 2-3 วัน และขาดการส่งสินค้าแก่ซูเปอร์มาร์เก็ต โดยปัญหาหลักมาจากการขาดแคลนก๊าซ CO2 ที่จำเป็นสำหรับการผลิตราคาของก๊าซ CO2 ที่จำเป็นสำหรับการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า โดยราคาเพิ่มจาก 3 พันยูโรมาอยู่ที่ 2.1 หมื่นยูโรต่อตัน รวมถึงความล่าช้าอย่างมากในการส่งมอบ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้ผลิตก็ไม่สามารถ หาก๊าซ CO2 ได้ และด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงไม่สามารถรับประกันการส่งน้ำเปล่าอัดลมในเดือนสิงหาคมและกันยายนนี้ได้ อย่างไรก็ตามวิกฤตการณ์การขาดก๊าซ CO2 ไม่ใช่เรื่องใหม่ และโดยปกติก๊าซ CO2 ถูกนำมาใช้ในภาคส่วนต่างๆ ดังนี้
1. ภาคอุตสาหกรรมอาหาร นอกเหนือจากน้ำเปล่าและเครื่องดื่มอัดลมแล้วก๊าซ CO2 ยังใช้ในการผลิตเบียร์ และเครื่องดื่มอื่นๆ การใช้เพื่อจำกัดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราในกระบวนการเก็บรักษาอาหาร เป็นสารทำความเย็น (ก๊าซ CO2 ถูกนำมาใช้สำหรับอัดความเย็นของตู้เย็นในบาร์ร้านอาหาร) การสกัดสารคาเฟอีนออกจากกาแฟ และการบรรจุภัณฑ์อาหาร
2. ภาคการเกษตรก๊าซ CO2 ถูกนำมาใช้ในโรงเรือนเพื่อเสริมการเจริญเติบโตของพืช และการรมควันสัตว์ ก่อนฆ่าในกระบวนการปศุสัตว์
3. ภาคสาธารณสุขก๊าซ CO2 ถูกนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อเครื่องมือและสำหรับการตรวจวินิจฉัยต่างๆ
อย่างไรก็ตามด้วยอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบด้านพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตก๊าซ CO2 เช่นกัน บริษัทต่างๆ ได้ตัดสินใจให้ความสำคัญต่อภาคการแพทย์ การเกษตร และการเก็บรักษาอาหาร จึงเป็นเหตุผลของการขาดแคลนก๊าซ CO2 สำหรับอุตสาหกรรมน้ำเปล่า/เครื่องดื่มอัดลม
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สงสัยว่าทำไมไม่สามารถนำก๊าซ CO2 ที่พบในอากาศมาใช้ โดยพิจารณาว่าการปล่อยก๊าซ CO2 ในชั้นบรรยากาศเป็นหนึ่งปัญหาสำคัญที่เราต้องเผชิญในปัจจุบัน โดยปกติก๊าซ CO2 ที่พบในอากาศมีความหนาแน่นค่อนข้างต่ำ การดำเนินการดึงสกัดก๊าซ CO2 ออกมาจึงเป็นเรื่องที่ยากและมีค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืนและก่อให้เกิดมลพิษสูง
ทั้งนี้ หากผู้ผลิตต้องการผลิตก๊าซ CO2 มากขึ้น อาจสามารถพึ่งพาการปศุสัตว์ได้ โดยใช้ปฏิกรณ์ชีวภาพที่ทันสมัย และปรับให้เข้ากับการสกัดก๊าซ CO2 นอกเหนือจากก๊าซมีเทน (ทั้งนี้ ปัจจุบันก๊าซ CO2 สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหารในยุโรปส่วนใหญ่มาจากโรงงานปุ้ย ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการแปรรูปแอมโมเนีย หรือเป็นผลพลอยได้จากโรงงานไบโอเอทานอล และจากแหล่งธรรมชาติ)
ปัญหาของอุตสาหกรรมน้ำเปล่าอัดลมได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว ประเทศอิตาลีเป็นแหล่งน้ำแร่ที่ดีโดยมีกลุ่มผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีแบรนด์กว่า 200 แบรนด์ในตลาดที่สามารถผลิตได้ 13.7 พันล้านลิตรในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม น้ำแรงอัดลมส่วนใหญ่ที่จำหน่ายในตลาด (ยกเว้น 2-3 แบรนด์ที่เป็นน้ำแรงที่มีก๊าซตามธรรมชาติ) ได้รับการอัดก๊าซ CO2 เช่นเดียวกับ
เครื่องดื่มอัดลม
ทั้งนี้ การขาดก๊าซ CO2 ได้สร้างความกังวลให้กับ Assobibe (สมาคมผู้ผลิตเครื่องดื่มที่ปราศจากแอลกอฮอล์ของอิตาลี) ซึ่งกล่าวว่าการขาดแคลนก๊าซ CO2 เป็นผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนด้านพลังงาน พลาสติก อะลูมิเนียม กระดาษแข็ง และแก้ว นอกจากนี้ วันที่ 1 มกราคม 2566 ภาษีน้ำตาล (sugar tax) จะมีผลบังคับใช้หลังจากที่ถูกเลื่อนออกไปในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 10 ยูโรต่อเฮกโตลิตร
ปัญหาการขาดแคลนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับการผลิตน้ำดื่ม/เครื่องดื่มอัดลมในอิตาลีส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุปทานสินค้าในอิตาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อนที่ความต้องการสินค้าของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนก๊าซดังกล่าว อาจเป็นโอกาสในการส่งออกของผู้ประกอบการไทยในภาคอุตสาหกรรม เครื่องดื่มที่ปราศจากแอลกอฮอล์
ซึ่งข้อมูลการส่งออกเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ของไทยมายังอิตาลีในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีมูลค่า 1.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวถึง 37.58% อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงปัจจัยในเรื่องภาษีน้ำตาลที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2566 ที่จะทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น
ดังนั้น เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดและขยายการส่งออกในอิตาลี ผู้ประกอบการไทยควรมีการพัฒนาสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและมีนวัตกรรมเพื่อสร้างความแตกต่าง โดยแนวโน้มสินค้าที่เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคในอิตาลี ได้แก่ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่ม functional และเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ปราศจากสารปรุงแต่ง เป็นต้น
โฆษณา