1 ก.ย. 2022 เวลา 15:33 • การศึกษา
ทฤษฎีการตกเป็นเหยื่อ ๓ Theories of Victimization
ทฤษฎีการตกเป็นเหยื่อ ๓ Theories of Victimization
ทฤษฎีมีที่มาให้ครั้งนี้ เราจะนำเสนอเกี่ยวกับทฤษฎีการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมที่ถูกกล่าวถึงในงานวิจัยเกี่ยวกับอาชญกรรมจำนวนมาก ซึ่งเป็นแนวคิดที่สรุปผลได้จากการศึกษาเหยื่ออาชญากรรมหรือผู้ได้รับความเสียหายจากอาชญกรรม
ทฤษฎีการมีส่วนร่วมของเหยื่อ (Victim Precipitation) ถูกเสนอโดยนักอาชญวิทยา ชื่อว่า Marvin Wolfgang (1958) เขาได้ทำการศึกษาการฆาตกรรมของอาชญากร และสรุปได้ว่า เหยื่อบางคนเป็นตัวกระตุ้นให้ตัวเองเผชิญเหตุการณ์ที่นำไปสู่การบาดเจ็บหรือความตาย ซึ่งตัวเหยื่ออาจมีพฤติกรรมที่แสดงออก (Active Precipitation) หรือการอยู่เฉย (Passive Precipitation) อันเป็นการยั่วยุอาชญากรให้ก่อเหตุอาชญากรรมได้
พฤติกรรมที่แสดงออก (Active Precipitation) หมายถึงเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ตัวเหยื่อได้ใช้คำขู่ คำท้าทาย เป็นผู้ยั่วยุหรืออาจจะเป็นผู้เริ่มในการทำร้ายก่อนก็ได้ ซึ่งพฤติกรรมของเหยื่อเหล่านี้กระตุ้นให้อาชญากรต้องฆ่า ตัวอย่างเช่น ภรรยาที่ถูกประทุษร้าย และถูกสามีขู่ว่าจะฆ่า จนต้องฆ่าสามีก่อน
การอยู่เฉยของเหยื่อ (Passive Precipitation) หมายถึง พฤติกรรมหรือบุคลิกภาพส่วนตัวของเหยื่อได้ไปข่มขู่หรือยั่วยุอีกฝ่ายหนึ่ง โดยที่ตัวเหยื่อเองก็อาจจะไม่รู้ตัว ซึ่งในบางกรณีตัวเหยื่อเองอาจจะไม่เคยพบผู้กระทำมาก่อนเลยก็ได้ ผู้กระทำจะลงมือทำร้ายเหยื่อเมื่อเขารู้สึกว่ากำลังจะแพ้ให้แก่เหยื่อ ตัวอย่างเช่น ในการแข่งขัน การเลื่อนตำแหน่ง หรือเรื่องความรักเป็นต้น เช่น คู่รักที่ได้เลิกรากันไปและฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปมีคนรักใหม่
เหยื่อในอีกรูปแบบหนึ่งที่มักเกิดขึ้นบ่อย คือ เหยื่อจาก อาชญากรรมแห่งความเกลียด (Hate Crime) ซึ่งเหยื่อจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มๆหนึ่งที่ทำให้ผู้กระทำรู้สึกกลัว ไม่ปลอดภัย ทำลายชื่อเสียง เกียรติยศ สถานะ รวมถึงเศรษฐกิจความเป็นอยู่ต่างๆของผู้กระทำ
ตัวอย่างเช่น การอพยพของผู้ลี้ภัย ทำให้ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ หรือผู้ที่อยู่มาก่อนรู้สึกว่าถูกแย่งงาน ความมั่นคงในชีวิต ความเป็นอยู่เดิมๆ เปลี่ยนไป จนเกิดเป็นความเกลียดความกลัว กลุ่มผู้ลี้ภัยจึงตกเป็นเป้า หรือเหยื่อให้ถูกกระทำ ตัวอย่างเช่น กลุ่มคนผิวขาวใช้ถุงคลุมศรีษะเข้าร้านขายของชำของคนจีน และทำลายข้าวของเสียหาย โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้รู้จักกันมาก่อน
ทฤษฎีรูปแบบของวิถีชีวิต (Life Style) คือ รูปแบบที่คนใช้ชีวิต ซึ่งเป็นตัวสะท้อนความสนใจ ความคิดเห็นและลักษณะการดำเนินชีวิต มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคลนั้นๆ ดังนั้น ถ้าสามารถรู้ถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตของบุคคลใดได้ก็จะสามารถคาดคะเนพฤติกรรมของบุคคลนั้นได้เช่นกัน
นักอาชญาวิทยา Gary Sensen, David Brownfield เชื่อว่า รูปแบบของวิถีชีวิตของคนทำให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมได้ เขาอ้างจากข้อมูลสถิติที่แสดงว่า สาเหตุการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมเกิดจากการอยู่เป็นโสด ไปเที่ยวตามสวนสาธารณะยามวิกาล และการอาศัยอยู่แถบชานเมือง
จะเห็นได้ว่าการตกเป็นเหยื่อเกิดจากวิถีชีวิตของแต่ละคนหรือที่เรียกว่าวิถีชีวิตที่มีความเสี่ยงสูง (High Risk) อาจกล่าวได้ว่า การลดความเสี่ยงของการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมอาจทำได้โดยการอยู่บ้านยามค่ำคืน ย้ายมาอาศัยในตัวเมือง ไม่ไปเที่ยวตามที่สาธารณะยามวิกาล หาเงินให้มากขึ้น และการมีคู่ครอง
ทฤษฎีกิจวัตรประจำวัน (Routine Activities) นักทฤษฎี Lawrence e. cohen, Marcus felson ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันของคน (1979) โดยเริ่มจากแนวคิดที่ว่า คนจำนวนมากอยากที่จะฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อการแก้แค้น ความโลภ แรงจูงใจอื่นๆ และพบว่ากิจวัตรประจำวันมีส่วนทำให้คนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมได้ โดยประเภทอาชญากรรมที่เกิดจากการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน คือ อาชญากรรมล่าเหยื่อ (Predatory Crime) เป็นอาชญากรรม ที่ประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน หรือกระทำการที่รุนแรงต่อบุคคล
Cohen และMarcus ได้อธิบายว่าการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมหรือการประกอบอาชญากรรมนั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ ประการแรกคือเหยื่อหรือเป้าหมายที่เหมาะสม (Suitable Target) ซึ่งจำแนกได้เป็น คน สิ่งของมีค่าควรแก่การขโมย สถานที่ ประการที่สองคือ บุคคลที่มีแนวโน้มหรือแรงจูงใจในการกระทำความผิด (Likely and Motivation Offender)
1
และประการที่สามคือไม่มีผู้พิทักษ์หรือขาดผู้ดูแลที่มีความสามารถ (Absence of a Capable Guardian) ถ้าหากมีองค์ประกอบทั้งสามมากเท่าใด บุคคลหรือทรัพย์สินก็จะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม
ทฤษฎีทั้งสามที่อธิบายถึงการที่บุคคลๆหนึ่งมีโอกาศในการตกเป็นเหยื่อจากการถูกลักขโมย ถูกทำร้ายทั้งด้านร่างกายและจิตใจมากกกว่าบุคคลอื่นนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งจากสถานที่ที่ใช้ชีวิตประจำวัน และลักษณะการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่ลักษณะส่วนบุคคลของบุคคลนั้นๆก็มีส่วนทำให้สามารถตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมได้
ที่มา :
พิสิฐ ระฆังวงษ์.2561.การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพมหานคร
ทัศนีย์ แสวงสุข.2552.การสร้างความปรองดองในครอบครัวโดยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ : ศึกษาในกรณีความรุนแรงในครอบครัว
วรารัตน์ แสงดำ.2560.แนวทางการพัฒนาคำแถลงผลกระทบต่อเหยื่ออาชญากรรมที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย
โฆษณา