2 ก.ย. 2022 เวลา 09:00 • การศึกษา
8 ขั้นของการเป็นนักเดินเรือ [จากประสบการณ์ตรง ไม่อิงตำรา] ยาวหน่อยนะครับ
บทความนี้จุดประสงค์เพื่อทำความเข้าใจกับบุคคลทั่วไป ที่ไม่รู้ว่านักเดินเรือนั้นมีที่มาที่ไปยังไง มีบทบาทอย่างไรต่อการพาณิชย์ และทำไมอัตราค่าจ้างของนักเดินเรือ(เงินเดือน)ถึงดูเหมือนแพงขนาดนั้น เผื่อไว้เป็นแนวทางสำหรับผู้สนใจอาชีพนี้ จริงๆแล้วอัตราค่าจ้างของนักเดินเรือในแต่ละตำแหน่งนั้นไม่เท่ากัน ถึงแม้ว่าตำแหน่งเหมือนกันแต่คนละบริษัทก็มักจะได้รับไม่เท่ากันนั้นก็คล้ายๆกับการเลือกซื้อของในชีวิตประจำวัน เช่น ผักธรรมดากับผักออแกนนิค ราคาก็ไม่เท่ากันอยู่ละ ผมไม่ได้จะบอกว่าผักธรรมดานั้นไม่ดี
SEAFARER
แต่ผมสามารถบอกได้ว่ากระบวนการและการผลิตชนิดไหนใช้เวลาและซับซ้อนมากกว่ากัน ฉะนั้นแล้วก็ไม่แปลกที่ผักออแกนนิคจะมีมูลค่าสูงกว่า ในบทความต่อจากนี้ผมพยายามจะอธิบายตามความเข้าใจของผมว่าทำไมอัตราค่าจ้างของนักเดินเรือนั้นถึงสูง เบื้องต้นจะขอเล่าถึงที่มาก่อนนะครับ
1.Education
อยากเป็น 'นักเดินเรือ' คุณต้องเริ่มเข้าศึกษาในสถาบันที่ได้รับการรับรองตาม IMO model course ในเรื่องของหลักสูตรมาตราฐานสำหรับนายประจำเรือจะอยู่ที่ 5 ปี ซึ่งในประเทศไทยเราก็มีหลายแห่งทั้ง ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี , ม.บูรพา , ม.เกษตรศรีราชา เป็นต้น หรือหากคุณมีข้อจำกัดเรื่องของเวลาและคุณวุฒิก็มีหลักสูตรสำหรับลูกเรือ ซึ่งก็มีหลายแห่งเช่นกันที่ได้รับการรับรอง ลองหาข้อมูลดูเพิ่มได้ครับ
ผมขอเล่าแบบไม่ลงรายละเอียดนะ แต่ต้องบอกก่อนว่าหลักสูตรที่เรียนแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายหลักๆ คือ ปากเรือ(Deck) และห้องเครื่อง(Engine) // การศึกษาตลอดระยะเวลา 5 ปีก็มีทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกภาคประจำปี รวมถึงต้องฝึกงานบนเรือสินค้าอีก 12 เดือน รวมทั้งหมดแล้วโดยทางทฤษฎีถ้าคุณขยันตั้งใจเรียนและโอกาสดีจะจบภายใน 5 ปีตั้งแต่วันที่ก้าวเท้าเข้ามาเรียน แต่ความเป็นจริงมันมากกว่า 5 ปีเนื่องด้วยหลายปัจจัย ก็ต้องอดทนเอา ถ้าจบมาและได้ทำงานแล้วก็คุ้มอยู่ครับ
2.Apprentice (Cadet on board 12 months)
หลังจากจบภาคทฤษฎีตลอดระยะเวลาหลักสูตร ก็จะเป็นในส่วนของการลงฝึกปฏิบัติงานบนเรือสินค้า จะเป็นการเรียนรู้ระบบงานของเรือแต่ละประเภทที่เราอยากจะทำงานในอนาคต ซึ่งเรือสินค้ามีหลายประเภท เช่น Bulk, Container, Tanker เป็นต้น บนเรือจะเรียกเด็กฝึกงานว่า 'Cadet' ตลอดช่วงเวลา 12 เดือนที่ลงไปฝึกก็พยายามเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยหน่อยในชีวิตนักเดินเรือ
ความรู้ส่วนใหญ่ ไม่สิ!อาจจะเรียกได้ว่าแทบจะทั้งหมดบนเรือนั้นเป็นภาษาอังกฤษ ถ้าให้ดีควรจะจดจำเป็นภาษาอังกฤษ อาจจะเริ่มจากการจดทดโน็ต จำศัพย์ต่างๆ เริ่มพูดคุย อย่ามองว่าเป็นเรื่องดัดจริต แล้ววันนึงเมื่อตำแหน่งสูงขึ้นคุณจะมองย้อนกลับมาในวันที่เป็น Cadet ว่าทำไมไม่เรียนรู้ไว้ตั้งแต่ตอนนั้น // รักษาเนื้อรักษาตัวด้วยนะครับ "คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล" เขาว่ากันมาอย่างนั้น เก็บ Sea service ให้ครบ 12 เดือนเพื่อใช้เป็นคุณสมบัติในการสอบตั๋ว...หากคุณมีแฟนช่วงนี้แหล่ะเป็นช่วงวัดใจอย่างดีเลยครับ
3.Certification & Examination
เมื่อขึ้นจากเรือมา ต่อไปที่ต้องทำคืออบรมเพิ่มเติมที่ซึ่งนายประจำเรือแต่ละฝ่ายควรมีความรู้พื้นฐานเป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญา(Standards of Training, Certification and Watchkeeping for Seafarers : STCW) ถึงตรงนี้อยากจะบอกว่าแต่ละคอร์สราคาไม่เบาเลยครับ แน่นอนว่าเงินเดือนคุณมากแต่รายจ่ายเกี่ยวกับการอบรมคอร์สต่างๆ ก็มากเช่นกัน ไหนจะค่าที่พัก
ค่าเดินทางและค่ากินระหว่างที่อบรมล้วนแล้วแต่เป็นค่าใช้จ่ายที่เลี่ยงไม่ได้ และบางคอร์สก็ต้องมา Refresh ทุกๆ 5 ปี นั่นหมายความว่า..ก่อนครบกำหนดวันหมดอายุของคอร์สนั้นๆคุณต้องกลับมาอบรมทบทวนความรู้เพื่อออก Certificate ให้ใหม่ทุกๆ 5 ปี รายรับจากงานเรือก็จะต้องเจียดมาใช้จ่ายในส่วนนี้
จากนั้นก็ไปสอบเพื่อออกประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความสามารถของคนประจำเรือ(Certificate of Competency : COC) สำหรับพวกเรามันถูกเรียกสั้นๆว่า "ตั๋ว" ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายชั้นมีทั้ง นายเรือ , ต้นเรือ , นายประจำเรือฝ่ายเดินเรือ , ต้นกล , รองต้นกล , นายประจำเรือฝ่ายช่างกล ประมาณนี้ครับ // แต่ในขั้นต้นเมื่อคุณเรียนจบหลักสูตรมาตราฐาน 5 ปีมา และมี Sea service ครบ 12 เดือน
รวมถึงมี Certificate ตามที่อนุสัญญา STCW กำหนดแล้วถึงจะมีสิทธิ์สมัครสอบตั๋วชั้นแรกคือ นายประจำเรือฝ่ายเดินเรือ(Deck officer) หรือนายประจำเรือฝ่ายช่างกล(Engineer) แล้วแต่ว่าคุณเรียนจบฝ่ายใดมา การสอบมีอยู่ 2 ภาค คือ สอบทฤษฎีและสัมภาษณ์
ผ่านมาถึงจุดนี้ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มเรียนยันวันที่สอบผ่านจนได้รับตั๋ว จะใช้ระยะเวลายาวนานมากกว่า 5 ปีแน่นอน อีกทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆก็เยอะพอสมควร ถ้าไม่อยากเดือดร้อนเงินคุณพ่อคุณแม่อีก ก็ควรมีการวางแผนการใช้จ่ายให้ดี แต่หลังจากนี้จะเป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยวและกอบโกย ซึ่งจะเล่าผ่านวิธีการทำงานของเราเอง
4.Contract
เริ่มต้นสู่นักเดินเรือเต็มตัว หลังจากที่เราได้รับตั๋วแล้ว ส่วนใหญ่ก็มักจะกลับไปทำงานกับบริษัทเดิมที่เราไปฝึก Cadet มานั่นแหล่ะครับ แต่ก็มีบางคนที่เขามองหาโอกาสใหม่ๆแยกย้ายไปตามเส้นทางของตัวเอง การลงเรือไปทำงานจะถูกจ้างในรูปแบบของสัญญาจ้าง(Contract) ซึ่งก็มีตั้งแต่ 4-5-6-7-9 เดือน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งอะไรและเงื่อนไขของบริษัทด้วย
โดยปกติตำแหน่งแรกสำหรับผู้ที่จบหลักสูตร 5 ปีมาก็มักจะได้เริ่มตำแหน่ง 3/O(Deck) หรือ 4/E(Engine) แล้วค่อยๆไต่เต้าขึ้นไปตามความสามารถ จังหวะและโอกาส ผลตอบแทนได้รับเป็นรายเดือนจนกว่าจะครบ Contract หลังจากนั้นเราก็จะกลับบ้านมาพัก ทำเอกสารและอบรมเพิ่มเติมสำหรับการเดินทางในครั้งต่อไป เมื่อเราพร้อมลงไปทำงานต่อก็แจ้งไปทางบริษัทว่าเราพร้อมแล้วนะ ทางบริษัทก็จะจัดคิวให้ คุณก็แค่เตรียมตัวให้พร้อมและรอเขาเรียกเท่านั้นเอง
5.Work condition
ลักษณะของงานในภาพรวม คนเรือทุกคนได้รับหน้าที่หนึ่งคือเขาจ้างคุณมาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและพาเรือขนส่งสินค้าจากต้นทางไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย ตรงตามเวลาที่กำหนด
อย่างแรกเมื่อลงมาทำงานเรือนั่นหมายความว่าคุณจะต้องใช้ชีวิตอยู่บนเรือตั้งแต่ ตื่นนอน-กินข้าว-ทำงาน-ผ่อนคลาย-นอนหลับ การอยู่บนเรือ 24 ชั่วโมงต่อวัน 7วันต่อสัปดาห์ บางทีเส้นทางเดินเรือ(Voyage) นั้นสั้นเข้าออกเมืองท่าไวทำให้เวลาทำงานมากกว่าเวลาที่พักผ่อน แรกๆที่มาลงก็ยังไม่ค่อยรู้สึกอะไร
พอสักพักก็จะมีอาการอ่อนล้าบวกกับความคิดถึงบ้านคิดถึงคนรักกันบ้างล่ะ ถ้าเรือได้ไปเมืองท่าที่ดีๆ พอมีเวลาเหลือๆ นอกเหนือจากเวลางานคุณก็อาจจะลงไปเที่ยวได้ พอได้เป็นการผ่อนคลายกันอยู่บ้าง นับเป็นข้อดีของอาชีพนี้ละกัน จะเป็นอย่างนี้ยันจบครบ Contract ของคุณ
อย่างที่สองสภาพแวดล้อมกลางทะเลมันไม่เหมือนอยู่บนบกนะ กลางทะเลมีทั้งคลื่นทั้งลมและบางแห่งก็มีพายุ มรสุมต่างๆนาๆแล้วแต่พื้นที่ จนบางครั้งก็กินได้ไม่เต็มอิ่ม นอนหลับก็ไม่เต็มที่ แต่มีสองสิ่งที่ยังคงต้องดำเนินต่อไปคือ งานที่คุณรับผิดชอบและเรือยังคงต้องไปยังจุดหมายปลายทาง 'ได้อย่างปลอดภัยทั้งคน , เรือ , สินค้า และทรัพย์สิน'
อย่างที่สามคุณต้องพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความปลอดภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อคุณอยู่กลางทะเล ลองคิดดูเล่นๆนะครับ "หากเรืออยู่ห่างจากชายฝั่งสัก300ไมล์ทะเล แล้วเกิดไฟไหม้บนเรือ และในรัศมี100ไมล์ทะเลของคุณไม่มีเรือใดๆเลย คุณจะทำยังไง? การช่วยเหลือจากภายนอกต้องรอเป็นเวลาหลายชั่วโมงซึ่งถ้าจะให้รอนานขนาดนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็นหายนะได้ สุดท้ายก็มีแต่คนบนเรือนี่แหล่ะครับ ที่ต้องพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์
ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องได้รับการอบรมในคอร์สต่างๆตามหัวข้อที่อนุสัญญา STCW กำหนดไว้ตามที่กล่าวไว้ในตอนต้นเรื่องไงครับ และเมื่อเราลงเรือก็จะมีการจัดให้ฝึกสถานีฉุกเฉินต่างๆตามที่อนุสัญญา (The International Convention for the Safety of Life at Sea : SOLAS) ได้กำหนดไว้เพื่อรับรองได้ระดับหนึ่งว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉินคุณจะสามารถการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเล่าเท่านั้น และก็มีเรื่องจับฉ่ายอีกสารพัดให้คุณต้องพบเจอเมื่อมาทำงานบนเรือ ผมจะเรียกมันว่า 'ค่าไกลบ้าน' ละกันนะครับ
6.Responsibility and Systems
แต่ละคนก็จะมีหน้าที่ของตัวเองที่ต้องทำเพื่อให้เรือยังคงดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ดังนั้นสิ่งที่นักเดินเรือต้องมีคือความรู้พื้นฐานในตำแหน่งของตน ซึ่งได้มาจากการเรียนในภาคทฤษฎีในห้องเรียน การฝึกฝนจากการปฏิบัติงานจริง และการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมจาก Manual, Internet หรือจากพี่ๆบนเรือที่ได้สอนต่อๆกันมา กว่าจะมาเป็นนักเดินเรือที่มีคุณภาพแต่ละคนก็ไม่ง่าย ผมเรียกมันว่า 'ค่าวิชาชีพ'
ระบบการทำงานก็แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือปากเรือ(Deck) ก็ดูแลในส่วนของการนำเรือ ความปลอดภัยและสินค้า เพื่อไปส่งยังจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย รวมถึงการซ่อมบำรุงอุปกรณ์และตัวเรือให้สามารถใช้งานได้อย่างไม่มีข้อบกพร่อง
ส่วนที่สองคือห้องเครื่อง(Engine) เรือจะไปยังจุดหมายได้ก็ต้องเกิดจากการขับเคลื่อนของเครื่องจักร ซึ่งก็จำเป็นต้องมีทีม Engineer มาดูแล และทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ Machineries ก็ต้องอาศัยทีมห้องเครื่องทั้งนั้น
ส่วนสุดท้ายคือแผนกครัว(Catering) มีหน้าที่ดูแลเสบียงและจัดเตรียมอาหารให้กับคนเรือทุกคน นับเป็นส่วนสำคัญมากไม่แพ้กับส่วนแรกและส่วนที่สอง
ทั้งสามส่วนนี้แม้ว่าจะทำกันคนละหน้าที่แต่ก็ต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน เรือถึงจะยังคงดำเนินต่อไปได้ เพราะถ้าหากมีข้อผิดพลาดจนเรือต้องหยุดชะงัก จนเกิดการล่าช้า(Delay) ก็จะส่งผลให้เกิดการเสียเวลาและค่าใช้จ่าย(Cost) ที่มากยิ่งขึ้นตามมา จะเห็นได้ว่า...บนเรือแต่ละลำก็จะมีหลายตำแหน่ง ภาระหน้าที่ก็ย่อมแตกต่างกันออกไป ยิ่งตำแหน่งสูงเงินเดือนก็สูงและแน่นอนว่าความรับผิดชอบก็ต้องสูงตามมาด้วยเช่นกัน
7.Experience
หลังจากที่ได้เริ่มทำงานเป็นนักเดินเรือ ก็จะมีหลายอย่างให้คุณได้เรียนรู้เพิ่มเติมในทุกๆวัน การค้นคว้าและใฝ่รู้จะทำให้เรามีความรู้ที่มากขึ้น แต่การลงมือทำด้วยตัวเองจะทำให้เข้าใจและเกิดความคุ้นเคย
หลายต่อหลายครั้งในการแก้ไขปัญหาบนเรือ เพียงองค์ความรู้ในตำราอาจไม่เพียงพอที่จะนำมาแก้ปัญหาได้ ก็ต้องอาศัยประสบการณ์เข้ามาช่วยด้วยนี่แหล่ะครับ ค่าประสบการณ์นี้เป็นสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ และมันก็มีความยืดหยุ่นสูงบางครั้งอาจหลุดกรอบออกไปบ้าง แต่มันก็ช่วยแก้ไขปัญหาได้อยู่นะ มันเป็นเรื่องปกติในทุกสายงานครับที่เราต้องเจอกับปัญหา แต่งานเรือผมขอยกไว้งานนึง คุณสมบัติข้อนี้สำคัญจริงนอกเหนือจากความรู้พื้นฐาน
มีพี่ต้นเรือคนหนึ่งผมได้เรียนรู้จากเขามาพอควร "หากเปรียบความรู้เหมือนน้ำที่อยู่ในแก้ว คุณจะถือแก้วเปล่าไปเอาน้ำจากเขานี่ไม่ได้นะเขาจะไม่ให้ อย่างน้อยต้องมีน้ำในแก้วอยู่บ้าง แล้วค่อยมาขอเพิ่ม" เช่นเดียวกันกับที่เขาจะสอนครับอย่างน้อยคือต้องมีข้อมูลอยู่ในหัวบ้าง แล้วค่อยไปให้เขาสอนเพิ่มเติม หนึ่งเนี่ยมันแสดงถึงว่าเรามีความกระตือรือร้น สองคือมันจะช่วยให้เราต่อยอดได้และจำได้ดีขึ้น
ตอนที่ผมเข้าสัมภาษณ์งาน ก็โดนถามถึงประสบการณ์ซะมากกว่า โอเค!เรื่องความรู้ก็ส่วนหนึ่ง แต่เรื่องประสบการณ์และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านี่ก็อีกเรื่อง ยกตัวอย่างคำถามง่ายๆเช่น "คุณเข้าเวรสินค้า(Cargo watch) คุณพบว่าสินค้าเสียหาย(ไม่ได้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์) แต่สินค้านั้นถูกโหลดขึ้นมาบนเรือแล้ว
ในฐานะที่คุณเป็นนายยามคุณจะทำอย่างไร?" เป็นคำถามที่หลายคนก็คงตอบได้ แต่ผมนึกถึงพี่ต้นเรือคนนั้นทันที แกสอนตั้งแต่เปิด ISM ของบริษัทเขาเขียนว่าไง แกก็อธิบายทีละขั้นตอน ต้องตรวจสอบอะไรบ้าง ควรแจ้งใครก่อน สอนทำรีพอร์ต และremarkต่างๆที่จำเป็น บวกกับเคยเจอเคสนี้มาบ้าง ทำให้ตอบได้อย่างมีหลักการตามสเต็ป 1 2 3...
8.Lose opportunity
ในชีวิตเรามักจะมีเรื่องราวต่างๆมากมายแล้วแต่จังหวะชีวิตของแต่ละคน แต่สำหรับนักเดินเรือแล้ว คงต้องยอมรับที่จะพลาดโอกาสสำคัญๆให้ได้ บางที่ลูกจะคลอด ยังไม่สามารถกลับมาอยู่เคียงข้างเมียได้ หรืองานแต่ง งานมงคลต่างๆของคนในครอบครัวบางครั้งคุณก็อาจจะพลาดงานเหล่านี้ไป ผมจะเรียกมันว่า 'ค่าเสียโอกาส' จริงๆแล้วมันก็มีแนวทางแก้ไขคือวางแผนล่วงหน้าไว แต่บางครั้งมันก็มักจะมาในรูปแบบที่เราไม่ทันได้เตรียมตัวเตรียมใจ
ผมจะเล่าเคสที่เจอกับตัวเองนะ เมื่อ Contract ที่แล้วคุณแม่ผมป่วย ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยครั้ง และหลังๆก็ต้องนอนโรงพยาบาลอยู่หลายคืน ผมนี่เป็นห่วงคุณแม่มากๆ อยากกลับไปดูแลแต่ก็ติดที่ยังต้องทำงานบนเรือนี่แหล่ะ ทำได้เพียงโทรไปหาทุกครั้งที่ว่าง แต่ในใจผมนี่ร้อนลุ่มอยู่ทุกวัน ไม่รู้สิว่าจะมีใครเข้าใจความรู้สึกนี้มั้ย แต่ผมจะบอกว่าสุดท้ายคุณแม่ผมก็เสียไปในขณะที่ผมยังอยู่บนเรือ
ผมไม่มีโอกาสได้ดูแลคุณแม่และบอกลาท่านในช่วงสุดท้ายของชีวิต แม้แต่พิธีเผาศพผมก็ยังไม่ได้เข้าร่วม ตอนนั้น Passion ทั้งหมดในชีวิตของผมต้องเซตศูนย์เลย ทุกวันนี้ผมก็ยังคงรู้สึกเสียใจอยู่ครับ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ผมคงอยู่บ้านดูแลท่านต่อไป แต่ใครจะไปหยั่งรู้อนาคตได้ล่ะจริงมั้ย
สิ่งที่ควรตระหนักในทุกวันก็คือ เรายังมีแรงทำงานได้แต่ต้องรู้ว่าเราทำไปเพื่อใคร?? และอย่าลืมหาความสุขให้ตัวเอง หรืออาจมอบความสุขเล็กๆน้อยๆให้กับคนที่เรารักและรักเราบ้างในบางโอกาส รักงานรักบริษัทคุณรักไปเถอะครับแต่ควรจะรักครอบครัวให้มากกว่า คิดถึงคนข้างหลังที่เขารอคุณให้มาก จบงานจบ Contract ก็กลับบ้านค่อยว่ากันใหม่ลำหน้า เป็นข้อแนะนำในพาสสุดท้ายนี้
"คุณอาจจะได้รับค่าตอบแทนจากงานเรือที่มากก็จริงแต่คุณก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับการสูญเสียโอกาสสำคัญในชีวิตคุณไปให้ได้เช่นกัน เพราะมันเป็นราคาที่คุณต้องจ่าย"
สรุปแล้วจะเห็นได้ว่าภาระหน้าที่ของนักเดินเรือที่ทำงานบนเรือนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การขนส่งสินค้าจากต้นทางไปยังจุดหมายปลายทาง แต่ป็นเรื่องของความรับผิดชอบในการขนส่งสินค้า ซ่อมบำรุงเรือ และรักษาทรัพย์สินบริษัทตั้งแต่เริ่มต้นจนจบครบ Contract รวมถึงดูแลครอบครัวและคนที่เรารัก ย้อนกลับมาที่เรื่องอัตราค่าจ้างของนักเดินเรือ หากคุณกำลังมีข้อสงสัยว่าทำไมเงินเดือนถึงสูงจัง ลองนำบทความนี้ไปพิจารณาเบื้องต้นดูได้ครับ ว่าค่าตอบแทบต่อเดือนนั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่
นักเดินเรือในตำแหน่งเดียวกันแต่บางบริษัทจ่ายให้น้อย ก็ไม่ผิดแต่ก็ต้องมาดูว่าค่าจ้างนั้นครอบคลุมความรับผิดชอบใดบ้าง หรือบางบริษัทยินดีจ่ายให้มาก ซึ่งแน่นอนว่าความรับผิดชอบก็มากขึ้นและคุณก็อาจจำเป็นต้องมี Performance ที่ดีในระดับนึง อยากให้วิชาชีพเราได้ทำงานในมาตราฐานเดียวกันครับ ส่วนการเลือกทำงานในบริษัทเดินเรือต่างๆให้เป็นเรื่องของความพึงพอใจของแต่ละบุคคล
#Lifeatsea
ข้อมูลจาก FB: Supagothz Chan
โฆษณา