2 ก.ย. 2022 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
นักท่องเที่ยวทะลุล้านคนต่อเดือน ผลักดันภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่อง
 
สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในเดือนล่าสุด แม้จะเห็นการชะลอตัวในบางภาคส่วน แต่โดยรวมยังมีแนวโน้มฟื้นตัวในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคบริการที่ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งกลับมาทะลุ 1 ล้านคนต่อเดือนเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดการระบาดของวิกฤติโควิด-19
📌 ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวแข็งแกร่ง
โดยข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติล่าสุด ในเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.1 ล้านคนต่อเดือน เป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ส่วนของอัตราการเข้าพักแรมก็เติบโตต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 47.04% เป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นกัน
ซึ่งถ้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวนต่อเดือนเท่านี้ไปจนถึงสิ้นปี จะทำให้ยอดรวมนักท่องเที่ยวทั้งปีอยู่ที่ถึงประมาณ 8.8 ล้านคน มากกว่าที่ทุกสถาบันเศรษฐกิจคาดการณ์กันไว้ เมื่อตอนต้นปีเป็นที่เรียบร้อย
แต่ด้วยแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังเติบโตต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสสูงที่ประเทศไทยจะรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในปีนี้ที่ 9-10 ล้านคนได้ แต่ก็ยังห่างจากระดับเกือบ 40 ล้านคนที่ไทย
การฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าว ก็สะท้อนออกมาที่การบริโภคภาคการบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การโรงแรมและที่พัก และการเดินทาง ที่ปรับตัวดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
ส่งผลให้ดัชนีภาคบริการ (Service Index) โดยรวมเมื่อปรับผลของฤดูกาล ปรับตัวขึ้นมาสู่ระดับเกือบเท่ากับปลายปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดแล้ว
อย่างไรก็ดี ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) และดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ในเดือนที่ผ่านมา ปรับตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยแรงกดดันสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีภาคการบริโภคทั้งสองชะลอตัวลงเล็กน้อย คือ อัตราเงินเฟ้อที่ยังค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี การบริโภคโดยรวมก็ยังอยู่ทิศทางที่ฟื้นตัวอยู่
1
📌 ภาคการผลิต
แม้ดัชนีภาคการบริโภคอาจจะชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่ภาคการผลิตของไทยยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ในเดือนสิงหาคมของไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน มายืนอยู่ที่ระดับ 53.7 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าก่อนช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เสียอีก
ซึ่งสวนทางกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหลายประเทศ ที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีน และยูโรโซน
โดยกรณีของประเทศจีน ดัชนี PMI ในเดือนสิงหาคมประกาศออกมาอยู่ที่ 49.5
อยู่ระดับต่ำกว่า 50 อีกครั้ง ซึ่งเป็นระดับที่แสดงถึงการหดตัว
เนื่องจากความกังวลในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังสูงอยู่ และปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นก็ยังมาซ้ำเติมทั้งภาคการเกษตร และการผลิตไฟฟ้าของจีน ทำให้โรงงานการผลิตจำนวนมากต้องหยุดชะงัก
ส่วนในกรณีของยูโรโซน (Eurozone) วิกฤติพลังงานราคาสูงยังเป็นปัญหาหลักอันดับหนึ่ง ที่ล่าสุดทางประเทศรัสเซียได้ประกาศหยุดส่งก๊าซธรรมชาติชั่วคราวผ่านท่อ Nord Steam 1 อีกครั้ง
ส่งผลต่อต้นทุนและความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ สะท้อนออกมาที่ PMI ซึ่งปรับลดลงมาเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 49.7
ส่วนทางสหรัฐอเมริกา ดัชนี PMI ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันเช่นกัน แต่ก็ยังยืนอยู่เหนือระดับ 50 ได้ที่ 51.3 โดยต้นทุนสำคัญมาจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อจัดการเงินเฟ้อ ที่ยังต้องขึ้นไปอีกพอสมควร ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสภาวะถดถอยได้ในอนาคต
📌 ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของไทย
ซึ่งรอบการขึ้นดอกเบี้ยอย่างเข้มข้นที่เราเห็นในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ยังเกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ หลายประเทศ ซึ่งเป็นแนวนโยบายปกติ เพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อ หลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมา
อย่างไรก็ดี ในกรณีของประเทศไทย แม้จะถูกกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่สูง จนมีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี ขนาด 0.25% ในการประชุมครั้งล่าสุด แต่การขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าก็มีแนวโน้มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่น่าจะมีการขึ้นอย่างเข้มข้นเหมือนในหลายประเทศ
เนื่องจากวัฏจักรเศรษฐกิจของไทยยังไม่กลับเข้าสู่ช่วงปกติอย่างเต็มตัว ยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวอยู่ แตกต่างจากเศรษฐกิจหลายประเทศกลับเข้าสู่ช่วงปกติก่อนหน้านี้แล้ว แต่มาเจอปัญหาเงินเฟ้อจากราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะสงครามในยูเครน
 
โดยเศรษฐกิจของไทยที่ยังไม่กลับมาเต็มตัว มีส่วนสำคัญมาจากการขาดหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งยังน้อยกว่าช่วงก่อนหน้านี้มากกว่า 30 ล้านคน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ยังเติบโตน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านพอสมควร
ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ยังถ่วงการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ให้เข้มข้นจนเกินไป เพราะยังต้องประคองให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง และเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างไม่ติดขัด (Smooth Takeoff)
📌 สรุป
จำนวนนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยบวกสำคัญที่จะช่วยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงระยะเวลาต่อไป โดยเฉพาะภาคบริการที่ได้รับอานิสงส์ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจในประเทศมหาอำนาจยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามอง
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา