Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เล่าเรื่องประกันชีวิต
•
ติดตาม
2 ก.ย. 2022 เวลา 04:45 • สุขภาพ
📌เส้นเลือดขอด (Varicose Veins)
เส้นเลือดขอด (Varicose Veins) เป็นความปกติของหลอดเลือดดำบริเวณใกล้ชั้นผิวหนังที่ขยายตัวบวมออกมา และมีเลือดมาสะสมมากจนเห็นเป็นเส้นเลือดสีฟ้าหรือม่วงเข้ม เส้นเลือดขอดมักเป็นที่ขาหรือเท้า เนื่องจากการยืนเป็นเวลานานจะส่งผลให้เลือดที่ร่างกายส่วนล่างไหลย้อนกลับไปที่หัวใจได้ยากขึ้น
📌อาการของเส้นเลือดขอด
ผู้ที่มีปัญหาเส้นเลือดขอดแรกเริ่มอาจสังเกตจากเส้นเลือดผ่านผิวหนัง โดยเห็นเป็นเส้นเลือดคดเคี้ยวและนูนออกมา หรือปรากฎเป็นสีม่วงเข้มหรือสีฟ้าบริเวณขา จากนั้นอาการเจ็บปวดหรืออาการอื่น ๆ จึงตามมา ได้แก่
- อาการเจ็บหรือรู้สึกหนักขา
- กล้ามเนื้อในขาส่วนล่างเป็นตะคริวหรือสั่นเป็นจังหวะ
- ขาส่วนล่างบวม แสบร้อน
- รู้สึกเจ็บมากขึ้นเมื่อนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน
- อาการคันรอบ ๆ เส้นเลือดเส้นใดเส้นหนึ่งหรือหลายเส้น
- มีเลือดออกจากเส้นเลือดที่บิดนูน
- อาการปวดในเส้นเลือดบริเวณที่ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง
เส้นเลือดแข็งหรือเปลี่ยนสี มีอาการอักเสบของผิวหนังหรือมีแผลพุพองที่ผิวหนังใกล้ข้อเท้า ซึ่งเป็นอาการรุนแรงของเส้นเลือดขอดที่ควรต้องได้รับการรักษา
- อาการของเส้นเลือดขอดมักแย่ลงในสภาพอากาศร้อนหรือเมื่อยืนเป็นเวลานาน และจะดีขึ้นเมื่อได้เดินหรือพักขาด้วยการยกขาขึ้น
ทั้งนี้เส้นเลือดขอดส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ขา โดยเกิดได้ทั้งบริเวณน่องหรือด้านในของขา แต่บางครั้งเส้นเลือดขอดก็อาจเกิดขึ้นได้ในส่วนอื่นของร่างกายเช่นกัน เช่น บริเวณหลอดอาหาร มดลูก ช่องคลอด เชิงกราน และช่องทวารหนัก
📌สาเหตุของเส้นเลือดขอด
เส้นเลือดขอดมักเกิดจากผนังหลอดเลือดและลิ้นควบคุมการไหลของเลือดที่อ่อนแอ เนื่องจากภายในหลอดเลือดจะมีลิ้นเล็ก ๆ คอยเปิดให้เลือดไหลผ่านแล้วปิดป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับไปสู่ส่วนล่างของร่างกาย
ผนังหลอดเลือดที่บางครั้งอาจขยายตัวออกจนสูญเสียความยืดหยุ่นเป็นสาเหตุให้ลิ้นที่คอยเปิดปิดนี้อ่อนแอลง เมื่อลิ้นหลอดเลือดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติจึงทำให้เลือดรั่วออกมาและไหลย้อนกลับไปที่ส่วนล่างของร่างกาย ส่งผลให้เลือดสะสมในหลอดเลือดและเกิดอาการบวมพองตามมา
สาเหตุที่ผนังหลอดเลือดยืดขยายตัวจนลิ้นเปิดปิดหลอดเลือดอ่อนแอลงนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดดังต่อไปนี้
- เพศหญิง เส้นเลือดขอดมีโอกาสเกิดขึ้นในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยนักวิจัยชี้ว่าอาจมีสาเหตุจากฮอร์โมนเพศหญิงที่ไปทำให้ผนังหลอดเลือดคลายตัวลง ส่งผลให้มีโอกาสเกิดการรั่วของลิ้นหลอดเลือด
- มีพันธุกรรม ผู้ที่บุคคลในครอบครัวเป็นเส้นเลือดขอดจะยิ่งมีโอกาสเกิดโรคนี้ ดังนั้นพันธุกรรมจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการเกิดเส้นเลือดขอด
- อายุมาก เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น หลอดเลือดก็เริ่มที่จะหลวมและหย่อนตัวลง เป็นเหตุให้ลิ้นหลอดเลือดทำงานได้ไม่ดีตามไปด้วย
- มีน้ำหนักมาก น้ำหนักตัวจะทำให้เกิดแรงดันบนหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อส่งเลือดกลับไปเลี้ยงหัวใจ ส่งผลให้เกิดแรงดันที่ลิ้นหลอดเลือดสูงขึ้นและเสี่ยงต่อการรั่วของเลือดยิ่งขึ้น
- มีอาชีพที่ต้องยืนเป็นเวลานาน จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดขอด เพราะเลือดจะไหลได้ยากขึ้นเมื่อยืนเป็นเวลานาน
- หญิงตั้งครรภ์ ในระหว่างตั้งครรภ์ ปริมาณของเลือดในร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูก แต่จะนำไปสู่การตึงของหลอดเลือด นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในหญิงตั้งครรภ์ที่สูงขึ้นยังสามารถทำให้ผนังกล้ามเนื้อของหลอดเลือดคลายตัวจนลิ้นเปิดปิดเลือดทำงานบกพร่องได้เช่นกัน
นอกจากสาเหตุและปัจจัยข้างต้น ผู้ป่วยบางรายที่เป็นเส้นเลือดขอดอาจมีสาเหตุจากภาวะอื่น ๆ เช่น เคยเกิดลิ่มเลือดอุดตัน อาการบวมหรือมีเนื้องอกในเชิงกราน หรือหลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ เป็นต้น
📌การวินิจฉัยเส้นเลือดขอด
แพทย์จะเริ่มวินิจฉัยด้วยการตรวจร่างกายโดยตรวจดูขาขณะยืนเพื่อสังเกตอาการบวม รวมทั้งสอบถามว่ามีอาการเจ็บใด ๆ ที่ขาหรือไม่ จากนั้นอาจทำอัลตราซาวด์โดยใช้หัวตรวจเคลื่อนไปบนบริเวณดังกล่าวเพื่อดูลักษณะการไหลของเลือดในเส้นเลือด รวมทั้งหาร่องรอยการสะสมของลิ่มเลือดที่อาจเป็นสาเหตุของการบวมและเจ็บดังกล่าว
นอกจากนี้ บางครั้งการตรวจเอกซเรย์หลอดเลือด (Angiogram) ก็เป็นอีกวิธีที่แพทย์อาจนำมาประเมินการเกิดเส้นเลือดขอดให้แน่ชัดยิ่งขึ้น โดยจะฉีดสารทึบรังสีชนิดพิเศษเข้าไปในขาและเอกซเรย์ดูบริเวณดังกล่าว ภาพเอกซเรย์ที่ปรากฏจะเห็นเป็นสารทึบรังสีเพื่อให้แพทย์มองเห็นการไหลเวียนของเลือดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ทั้งนี้การตรวจด้วยการอัลตราซาวด์และเอกซเรย์หลอดเลือดที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการตรวจเพื่อช่วยยืนยันว่าอาการเจ็บและบวมที่เกิดขึ้นที่ขาเป็นอาการจากเส้นเลือดขอด ไม่ได้เกิดจากลิ่มเลือดหรือสิ่งอุดตันใด ๆ
📌การรักษาเส้นเลือดขอด
ผู้ป่วยที่เป็นเส้นเลือดขอดอาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษาหากไม่มีอาการที่ทำให้รู้สึกเจ็บหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการของเส้นเลือดขอดจะทุเลาลงเองได้ใน 3-12 เดือนหลังคลอดบุตร ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดขอดอาจป้องกันไม่ให้มีเส้นเลือดขอดเพิ่มขึ้นด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังต่อไปนี้
- ออกกำลังกาย พยายามเคลื่อนไหวหรือเดินให้มาก เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในขา
- ควบคุมน้ำหนักด้วยการไม่รับประทานอาหารเกินพอดี การมีน้ำหนักตัวมากจะยิ่งส่งผลให้เกิดแรงกดที่หลอดเลือด และควรรับประทานอาหารที่มีเกลือแต่น้อยเพื่อป้องกันอาการบวมจากการคั่งของน้ำ
- หลีกเลี่ยงรองเท้าส้นสูง การใส่รองเท้าส้นเตี้ยเป็นผลดีต่อหลอดเลือดมากกว่า และไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่รัดรอบเอว ขา ต้นขา เนื่องจากจะไปลดการไหลเวียนของเลือด
- ยกขาให้สูงขึ้นเพื่อให้เลือดในขาไหลเวียนได้ดีขึ้น โดยควรพักด้วยการยกขาขึ้นเหนือระดับหัวใจบ่อย ๆ ผู้ป่วยอาจนอนลงแล้ววางขาบนหมอน 3-4 ใบ
- เลี่ยงการนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน และเปลี่ยนท่าบ่อย ๆ เพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น
- ไม่นั่งไขว้ขาเป็นเวลานาน ๆ
ผู้ป่วยเส้นเลือดขอดที่จำเป็นต้องการรักษา เบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้ใส่ถุงน่องสำหรับรักษาเส้นเลือดขอดก่อนรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ โดยใส่รัดขาไว้ตลอดวัน เพื่อช่วยบีบไล่ให้หลอดเลือดและกล้ามเนื้อขาพาเลือดเคลื่อนตัวกลับสู่หัวใจได้ดียิ่งขึ้น
ส่วนผู้ป่วยเส้นเลือดขอดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยตนเองหรือการใช้ถุงน่องรัดขา หรือมีอาการเส้นเลือดขอดที่รุนแรงกว่านั้นอาจได้รับคำแนะนำจากแพทย์ถึงวิธีการรักษาต่อไปนี้
- การฉีดสารเข้าหลอดเลือดที่ขอด โดยเลือกใช้กับเส้นเลือดขอดขนาดเล็กถึงปานกลางเพื่อให้เกิดแผลเป็นและปิดเส้นเลือดเหล่านี้ เส้นเลือดแต่ละเส้นอาจได้รับการฉีดสารชนิดนี้มากกว่า 1 ครั้ง วิธีนี้จะช่วยให้เส้นเลือดขอดทุเลาลงภายในไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งเป็นการรักษาที่ได้ผลหากทำอย่างถูกวิธี และระหว่างการรักษาไม่จำเป็นต้องใช้ยาระงับความรู้สึกแต่อย่างใด
- การฉีดสารผสมโฟมเข้าหลอดเลือดที่ขอด ใช้รักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่ เป็นวิธีการใหม่ที่อาจช่วยปิดและผนึกเส้นเลือดที่รั่วได้เช่นเดียวกับการฉีดน้ำยาแบบธรรมดา
- การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ การรักษาด้วยเลเซอร์ในปัจจุบันเป็นอีกเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกนำมาใช้ ด้วยการยิงแสงที่มีความจ้าสูงไปยังหลอดเลือดให้หลอดเลือดที่ขอดหายไปอย่างช้า ๆ วิธีนี้ไม่ต้องอาศัยการผ่าตัดหรือการใช้เข็มแต่อย่างใด
- การใช้สายสวนหลอดเลือดด้วยการใช้คลื่นความถี่วิทยุหรือเลเซอร์ มักใช้ในการรักษาหลอดเลือดที่มีขนาดใหญ่ โดยแพทย์จะสอดท่อบาง ๆ เข้าไปในหลอดเลือดที่บวมและทำให้ปลายของท่อนี้ร้อนขึ้นด้วยการใช้คลื่นความถี่วิทยุหรือเลเซอร์ ความร้อนนี้จะไปทำลายหลอดเลือดโดยการปิดผนึกและทำให้หลอดเลือดยุบตัวลง
- การผูกและดึงหลอดเลือด แพทย์จะผูกหลอดเลือดก่อนที่หลอดเลือดดังกล่าวจะเข้าไปรวมกับหลอดเลือดที่ลึกลงไป จากนั้นนำเอาเอาหลอดเลือดที่ผูกออกมาโดยการผ่าตัด ทั้งนี้การนำเอาหลอดเลือดออกไปจะไม่ส่งผลเสียต่อการไหลเวียนของเลือดในขาแต่อย่างใด ผู้ป่วยที่ใช้วิธีนี้สามารถกลับบ้านได้ทันที
- การผ่าตัดด้วยการเจาะรูเล็ก ใช้สำหรับเส้นเลือดขอดขนาดเล็ก เป็นการเจาะรูขนาดเล็กผ่านผิวหนังเพื่อนำเอาเส้นเลือดขอดออก วิธีนี้แพทย์จะใช้ยาชาเพื่อให้ส่วนที่ถูกเจาะไร้ความรู้สึก หลังการผ่าตัดเรียบร้อย ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล
- การผ่าตัดส่องกล้อง การรักษาด้วยวิธีนี้อาจใช้เฉพาะในกรณีที่มีอาการรุนแรงของเส้นเลือดขอด มีการอักเสบที่ขา หรือหลังจากใช้วิธีอื่นแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เป็นการผ่าตัดโดยนำกล้องขนาดเล็กใส่เข้าไปผ่านรอยผ่าขนาดเล็กที่ขาเพื่อช่วยให้สามารถมองเห็นเส้นเลือดขอด จากนั้นจึงปิดเส้นเลือดขอดที่รั่วและตัดออกมา
📌ภาวะแทรกซ้อนของเส้นเลือดขอด
ผู้ป่วยที่เป็นเส้นเลือดขอดส่วนใหญ่มักไม่มีการพัฒนาต่อไปเป็นภาวะแทรกซ้อน หากมีก็อาจใช้เวลาหลายปี ซึ่งเส้นเลือดขอดที่เป็นสาเหตุให้ประสิทธิภาพในการไหลเวียนของเลือดลดลงนี้สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาดังนี้
- มีเลือดออก เส้นเลือดขอดที่อยู่ใกล้ผิวหนังอาจทำให้มีเลือดออกหากเกิดการกระทบที่แผล ซึ่งเลือดที่ออกมานี้ยังอาจหยุดไหลได้ยาก วิธีรักษาเบื้องต้นควรนอนลงแล้วยกขาขึ้น จากนั้นกดแแผลไว้ให้เลือดหยุดไหล และหากเลือดยังคงไหลอย่างต่อเนื่องให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- มีลิ่มเลือด กรณีที่เกิดลิ่มเลือดแถวหลอดเลือดที่อยู่ใกล้ผิวหนังมาก ๆ อาจนำไปสู่การอักเสบของผนังหลอดเลือดดำจนมีอาการเจ็บ ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง หรือรู้สึกร้อน สามารถรักษาได้ด้วยการใส่ถุงน่องรัดเช่นเดียวกับการรักษาเส้นเลือดขอด และบางครั้งแพทย์อาจให้รับประทานยาลดอาการบวมอักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
- ไม่เพียงเท่านี้ การมีลิ่มเลือดยังอาจนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดขาอุดตัน โดยผู้ป่วยที่มีลิ่มเลือดในหลอดเลือดใกล้ผิวหนังถึง 20 เปอร์เซ็นต์ที่สามารถพัฒนาไปสู่ภาวะนี้ และเกิดความรู้สึกเจ็บ บวมที่ขา หรืออาจกลายไปเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอย่างโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด
- หลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง ประสิทธิภาพการไหลของเลือดที่ลดลงสามารถส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนออกซิเจน สารอาหาร และการขับของเสียผ่านผิวหนัง ซึ่งหากเกิดขึ้นเป็นเวลานานจะส่งผลให้หลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง จนเกิดภาวะอื่น ๆ เช่น โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่ขาส่วนล่าง ผิวหนังหนาตัว มีสีเข้มขึ้น และเกิดแผลอักเสบที่ขาตามมาได้ ผู้ป่วยที่พบความผิดปกติบนผิวหนังเหล่านี้ควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ให้เร็วที่สุด
📌การป้องกันเส้นเลือดขอด
การเกิดเส้นเลือดขอดไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด แต่สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดขอดด้วยการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและลดการตึงของกล้ามเนื้อที่มีปฏิบัติดังนี้
- หมั่นออกกำลังกาย
- รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงและใช้เกลือปรุงอาหารน้อย
- ควบคุมน้ำหนัก
- พักขาด้วยการยกขาขึ้นสูง
- หลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูงหรือถุงเท้ารัด ๆ และคอยเปลี่ยนท่าทางการนั่งและยืนอยู่เสมอ
📌ข้อมูลจาก
POBPAD
📌สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่ :
เมธวัจน์ อัศวกมลวิทย์ (ต้าร์)
มือถือ 097-195-1642
Line ID : smarttar
Email :
mathawatha@gmail.com
Inbox :
m.me/InsuranceOPD
#ประกันสุขภาพผู้ป่วยนอกOPD
#ประกันสุขภาพเมืองไทยประกันชีวิต
#ตัวแทนเมืองไทยประกันชีวิต
#อยากทำประกันสุขภาพ
การเงิน
ไลฟ์สไตล์
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย