2 ก.ย. 2022 เวลา 05:23 • ข่าว
1 กันยายน 2533
สิ้น ‘สืบ นาคะเสถียร’ บุรุษนักอนุรักษ์ผืนป่า
.
ย้อนกลับไปวันที่ 1 กันยายน 2533 ท่ามกลางความสงัดเงียบยามรุ่งสาง ณ เขตรักษาพันธุ์ป่าห้วยขาแข้ง มีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด นั่นเป็นฉากสุดท้ายในชีวิตของชายชื่อ สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง บุรุษผู้สละชีวิตเพื่อปกป้องผืนป่า ปลุกจิตสำนึกความรับผิดชอบของสังคมต่อสัตว์ป่าและผืนป่าอนุรักษ์ รวมถึงสะท้อนความล้มเหลวของระบบราชการไทย ผ่านมาแล้วกว่า 32 ปี แต่เสียงปืนในวันนั้นยังคงดังสะท้อนก้องในใจของสาธารณชนจวบจนปัจจุบัน
สืบเกิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2492 ที่ตำบลท่างาม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีชื่อเล่นว่า ‘แดง’ เป็นบุตรของ สลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี กับบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน โดยสืบเป็นคนโต
.
ในวัยเด็ก สืบเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนประจำจังหวัดปราจีนบุรี และมีผลการเรียนดีมาตลอด เขามีนิสัยทำอะไรมักจะทำให้ได้ดีตั้งแต่เด็ก เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ย้ายไปเรียนโรงเรียนเซ็นต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และทำกิจกรรมด้านศิลปะ ทั้งการเป็นนักเป่าทรัมเป็ตมือหนึ่ง และนักวาดภาพฝีมือดีของโรงเรียน ก่อนจะสอบติดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รุ่นที่ 35
.
หลังสำเร็จการศึกษา สืบเข้าทำงานที่ส่วนสาธารณะการเคหะแห่งชาติ และศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวนวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาในปี 2518 ก่อนจะเข้ารับราชการเป็นพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้น เพราะต้องการทำงานเกี่ยวกับสัตว์ป่า งานแรกของสืบคือการประจำอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี
.
หลังจากนั้น สืบได้รับทุนจากบริติช เคานซิล (British Council) ไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในสาขาอนุรักษ์วิทยา และหลังเรียนจบ เขามีโอกาสทำงานเกี่ยวกับเรื่องสัตว์ป่าอีกหลายตำแหน่ง อาทิ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน นอกจากนี้ก็ยังทำงานวิจัยไปพร้อมกัน บทบาทหน้าที่เหล่านี้ทำให้เขาผูกพันกับสัตว์และป่า รวมถึงได้เดินทางไปพื้นที่อนุรักษ์สัตว์หลายแห่ง และได้รับรู้ว่ายังมีสัตว์จำนวนมหาศาลที่ต้องตายจากการพัฒนาเขื่อน
.
จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของสืบเกิดขึ้นในปี 2530 หลังจากเขาได้เปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการไปสู่นักอนุรักษ์ โดยได้เข้าร่วมการต่อสู้หลายครั้ง อาทิ การคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี
ซึ่งทำให้สัตว์จำนวนมากล้มตาย หรือการคัดค้านกรณีที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ที่ป่าห้วยขาแข้ง ก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในปี 2532 หลังจากปฏิเสธทุนเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ และตั้งกองทุนเพื่อรักษาป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรในปี 2533 เพื่อดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า
.
ในการรับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบได้พบปัญหาต่างๆ มากมายในห้วยขาแข้ง อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า อย่างไรก็ดี ปัญหาต่างๆ เหล่านี้กลับไม่ได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเท่าที่ควร
.
กระทั่งวันที่ 1 กันยายน สืบได้เขียนพินัยกรรมและจดหมายชี้แจงการฆ่าตัวตาย โดยระบุว่า “ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น” และกระทำอัตวินิตบาตกรรมที่บ้านพักในห้วยขาแข้ง เพื่อเรียกร้องให้สังคมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบราชการหันมาสนใจปัญหาเกี่ยวกับธรรมชาติและสัตว์ป่าอย่างจริงจัง
.
ภายหลังการเสียชีวิต มีการก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของ สืบ นาคะเสถียร และจัดให้วันที่ 1 กันยายน ของทุกปี เป็นวันสืบนาคะเสถียร รวมถึงมีการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงการจากไปของวีรบุรุษผู้ปกป้องผืนป่าคนสำคัญ ผู้มีวลีติดปากว่า “ผมขอพูดในนามสัตว์ป่าทุกตัว เพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้”
.
สำหรับปี 2565 นี้ จะมีการจัดงานรำลึก สืบ นาคะเสถียร ในรูปแบบกิจกรรมอีกครั้งในรอบ 2 ปี โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจะจัดกิจกรรมในธีมงานว่า ‘NO NATURE NO FUTURE - รำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร’ เพื่อสื่อสารประเด็นเชื่อมร้อยถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ระบบนิเวศในมิติต่างๆ ผ่านเรื่องราวที่หลากหลายและกิจกรรมต่างๆ ทั้งสัมมนาวิชาการ กิจกรรมที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง การฉายภาพยนตร์ที่มิวเซียมสยาม กิจกรรมรำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) และอีกมากมาย
.
สนใจดูรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ เว็บไซต์ seub.or.th หรือเฟซบุ๊กมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
.
ภาพ: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
โฆษณา