4 ก.ย. 2022 เวลา 07:26 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ส่ององค์ประกอบศิลป์ เบื้องหลัง Midsommar
หนังสยองขวัญมักคู่กับสีดำและบรรยากาศมืดทึมมาแต่ไหนแต่ไร เพราะฉะนั้น Midsommar ภาพยนตร์สีสดสว่างไสวก็คงจะเป็นหนังแบ๊วๆ ใสๆ อบอุ่นใจดูได้ทั้งครอบครัว… ใช่ป่ะ?
☀หากใครไม่เคยรู้จักภาพยนตร์ Midsommar มาก่อน มันถูกปล่อยออกมาในปี 2019 เป็นเรื่องเกี่ยวกับคู่รักที่เดินทางเข้าไปในหมู่บ้านประหลาดแห่งหนึ่งกลางสวีเดนที่กำลังทำพิธีฉลอง Summer solstice วันที่พระอาทิตย์ขึ้นยาวนานที่สุด
ภาพเทศกาล Midsommar ในสวีเดน (ของจริง)
แน่นอนว่าพระอาทิตย์มาพร้อมกับแสงสว่าง ท่ามกลางธรรมชาติที่กำลังเบ่งบานต้อนรับความอบอุ่นในเมืองที่แทบจะเย็นจัดตลอดทั้งปี เทศกาล Midsommar จึงเป็นตัวแทนของการเริ่มต้นที่สดใสและคงเป็นเทศกาลสุดท้ายที่ใครจะหยิบมันมาทำเป็นหนังสยองขวัญ
แต่นั่นไม่ใช่กับ Ari Aster ที่ฉีกกฎข้อนี้ลงอย่างไม่ใยดี
Midsommar จัดอยู่ใน Horror film แต่ไม่ใช่หนังผี มันคือหนังสยองขวัญที่เล่นกับความประหลาดลึกลับที่ชวนขนลุก ผู้กำกับ Ari Aster เรียกหนังเรื่องนี้ว่าเป็น หนัง Break up ทั้งในแง่ของการแยกทางกับคนรัก และจิตใจที่แตกสลายที่จะนำไปสู่การเริ่มต้นใหม่
อันที่จริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแรกที่หยิบเอาสีสันมาใช้ในหนังสยองขวัญ และไม่ใช่เรื่องแรกที่นำเอาธีมลัทธิประหลาด-เมืองลับแลมาเล่น แต่เทคนิคการกำกับ การออกแบบ การใช้แสง-สี การแช่กล้อง และการใช้ความเงียบ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ จนอยากจะหยิบมาชวนถกกัน
ใครเคยดูแล้วอยากซ้ำ ตอนนี้ Midsommar เข้า @netflix แล้ว
⚠️มีสปอยล์ในโพสต์⚠️
☀ความเปลี่ยนแปลงจากเมืองหนึ่ง ไปเมืองหนึ่ง
ช่วงเปิดเรื่อง Dani ผู้ซึ่งกำลังจมอยู่ในความทุกข์จากการสูญเสียครอบครัวไป อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์ที่วังเวง สภาพบ้านเมืองและบนเครื่องบินล้วนถูกออกแบบมาให้เย็นยะเยือกหม่นเศร้าสะท้อนสภาพจิตใจของเธอนั่นเอง
ก่อนเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศเมื่อเดินทางเข้ามาที่สวีเดน เส้นทางการนำไปสู่หมู่บ้านเป็นเส้นทางเดียวที่ทอดเข้าไปกลางป่าที่เขียวชอุ่ม มุ่งสู่หมู่บ้านที่สว่างไสว
เราจะเห็นความต่าง (Contrast) ของสภาพจิตใจของดานี่และของชาวหมู่บ้านได้อย่างชัดเจน แต่สีสันที่สดใสมากไป ก็อาจหมายถึงความเกินพอดีได้เหมือนกัน
ช่วงต้นของการเดินทางโดยรถ ณ จุดหนึ่งมุมกล้องที่ถ่ายถนนที่มุ่งสู่หมู่บ้านจะถูกหมุนกลับหัว นั่นเป็นสัญญาณบางอย่างที่หนังกำลังบอกว่า โลกที่เรากำลังเดินทางไปจะตาลปัตรบิดเบี้ยวไปจากโลกที่เราเคยเจอ
☀การใช้สีที่สดใส สว่างพร่าราวกับไม่อยู่บนโลกแห่งความจริง
ปกติแล้วหนังสยองขวัญจะเล่นกับความรู้สึกกลัวของคนผ่านความไม่รู้ ความลับ ความไม่ชัดเจน ชวนให้คนดูรู้สึกหวาดกลัวกับสิ่งที่กำลังจะเกิด ดังนั้นการซ่อนองค์ประกอบที่น่ากลัวไว้อย่างวับแวม ช่วยทำให้คนรู้สึกสงสัยและไม่ไว้ใจ
จะมีอะไรโผล่ออกมาไหม? ห้องนั้นมีอะไร? อะไรอยู่ในมุมมืด? ไม่แปลกที่สีดำและบรรยากาศมืดทึมจะถูกนำมาใช้เยอะในภาพยนตร์สไตล์นี้
แต่ Midsommar ไม่ใช่แบบนั้น...
ภาพยนตร์เรื่องนี้เลือกใช้สีขาวเป็นหลัก ประกอบกับสีสดๆ อย่างสีเหลืองอบอุ่นของแสงอาทิตย์ สีเขียวชอุ่มของต้นไม้ สีแดงและชมพูสดของดอกไม้ แต่เขาทำให้สีเหล่านี้ดูน่าขนลุกได้ด้วยความ ‘มากเกินไป’
แสงอาทิตย์ที่สว่างทั้งคืน สีสันที่สดใสงดงามราวกับอยู่อีกโลก หมู่บ้านที่สะอาดเกินไป เรียบร้อยเกินไป ชาวบ้านที่ยิ้มแย้มเป็นมิตรเกินไป ทุกสิ่งทำให้คนดูรู้สึกถึงความอึดอัดตะหงิดๆ บิวด์ให้คนดูรู้สึกว่าเราหลุดเข้ามาอยู่ในที่แปลกๆ เข้าซะแล้ว
☀สว่างจนตาพร่า ชัดเจนเต็มตา
หนังผีทั่วไปสร้างความกลัวจากความไม่รู้ว่ากำลังรับมือกับอะไร หรือการเล่นกับสิ่งที่มองไม่เห็น ในขณะที่ Midsommar เลือกที่จะสร้างความกลัวจากการ ‘มองเห็น’
ตลอดทั้งเรื่องหมู่บ้าน Hårga แทบไม่เคยมืด
แม้แต่ภายในอาคารก็มีแสงส่องถึงตลอด ดังนั้นความกลัวของเรื่องนี้คือความไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ความผิดปกติต่างๆ ถูกเผยให้เห็นต่อหน้าผู้ชมทีละน้อย และเราเริ่มรู้สึกได้ เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์เมื่อไหร่ บางครั้งอาจไม่มีอะไร แต่บางครั้งก็… ปั้ก!
ความสว่างทำให้เราเห็นได้ทุกรายละเอียด หนังจะค่อยๆ นำเราเข้าไปสู่ห้วงอารมณ์ที่น่าอึดอัด และแสดงความวิปริตที่บิดเบี้ยวออกมา แถมผู้กำกับยังไม่มีความคิดจะซ่อนภาพที่โหดร้ายเหล่านี้เลย
☀องค์ประกอบภาพที่เรียบง่าย เทคนิคการแช่กล้องนิ่งๆ และความเงียบถูกใช้ตลอดทั้งเรื่อง มันมีส่วนช่วยอย่างมากให้สมาธิของคนดูจดจ่ออยู่กับภาพตรงหน้า บังคับให้เราเห็นความสยดสยองเต็มตาทุกรายละเอียดแม้จะไม่อยากเห็นก็ตาม
(และมันโคดจะติดตา แช่ภาพนานมาก บางทีปิดตาแล้ว เปิดมายังเจออยู่เลย)
☀สีเหลือง ตัวแทนของ ‘ความอันตราย’
สีเหลืองมันก็ต้องสดใสราวทานตะวัน อบอุ่นเหมือนพระอาทิตย์ ยิ่งเหลืองพาสเทลมันก็ต้องขนมปังหอมกรุ่นซึ่งเรื่องนี้ก็ใช้เยอะ แต่ไม่ได้แบ๊วใสอย่างที่มองเห็น
แต่ละอย่างที่มีสีเหลืองล้วนมีนัยยะสำคัญ
-หนังสือ(แนวคิดนาซี)
-ป้าย(ต่อต้านคนอพยพ)
-เครื่องดื่ม(สมุนไพรหลอนประสาท)
-วิหารไม้(บูชายัญ)
เพราะในอีกนัยหนึ่ง ‘สีเหลือง’ ถูกใช้ในการทำ ‘ป้ายเตือน’ ได้เหมือนกัน
☀แกนสมมาตร ความสมบูรณ์ที่อาจทำให้อึดอัด
ถ้าสังเกตดูดีๆ จะมีซีนที่สมมาตรเยอะมาก เทคนิคเหล่านี้ผู้กำกับมักใช้เพื่อสื่อสารบางอย่างกับคนดู เบื้องต้นมันช่วยทำให้คนพุ่งความสนใจไปตรงกลาง เราจะโฟกัสกับองค์ประกอบตรงกลางอย่างมาก แค่ยืนคุยกันธรรมดาก็น่าอึดอัดแล้ว
แท่นบูชา เสาหิน โต๊ะอาหาร วิหารไม้ ทุกอย่างตั้งบนแกนสมมาตรหมด
มันแสดงถึงระบบบางอย่างที่แฝงอยู่ในหมู่บ้าน ลัทธิประหลาดนี้มีการสถาปนาระบบอำนาจของตัวเอง
บ้านเรือนที่มีความสมมาตร เป็นระเบียบ สะอาดไร้ที่ติ แต่ละหลังอยู่ห่างๆ กัน ดูโดดเดี่ยว ทำให้รู้สึกว่าไม่มีอยู่จริง และน่าขนลุก
☀ภาพเขียนตอนเปิดเรื่อง สปอยล์ทั้งเรื่องไว้หมดแล้ว
อย่างที่บอกไปแล้วว่านโยบายของเรื่องนี้เน้นความชัดเจนจะๆ ไม่เน้นซ่อน ไม่เน้นกั๊ก
ภาพเขียนต่างๆ ที่ปรากฎในเรื่องไม่ว่าจะเป็นตอนต้นเรื่อง หรือระหว่างเรื่อง ภาพเขียนในพิธีกรรม หรือแค่ผนังห้องนอน ล้วนบอกใบ้เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในเรื่อง เพียงแต่ว่าเราจะดูทันหรือไม่เท่านั้นเอง
ใครเคยดูแล้วอยากซ้ำ ตอนนี้ Midsommar เข้า @netflix แล้วนะ ไปตามกันได้
#ARTof #ARTofFilm #Midsommar #AriAster #A24
――――――――――――――――――
โฆษณา