3 ก.ย. 2022 เวลา 09:07 • ท่องเที่ยว
Lolab valley ชื่อที่มาจาก Maharaja Lolo ย้อนกลับไปช่วงศตวรรษที่ 19(คศ.1846) ดินแดนแห่งนี้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ โดยได้สถาปนาให้เป็นรัฐมหาราชา คือ อังกฤษอนุญาตให้คนพื้นเมืองปกครองตนเองได้แต่ต้องขึ้นตรงกับรัฐบาลกลางอังกฤษอีกที
Sat Barran (7 doors)
ต่อมาในปี 1947 มีปัญหาการแบ่งแยกและรวมตัวจัดตั้งประเทศกันใหม่ ซึ่งแบ่งพื้นที่ฝั่งซ้าย-ปากีฯ(อิสลาม) ขวา-อินเดีย(อินดู) ตามประชากรที่อาศัยเป็นหลัก แต่พื้นที่แคชเมียร์นี้ผู้นำไม่ตามเสียงประชากรที่เป็นมุสลิม เพราะท่านเป็นฮินดูเลยจุดประเด็นมีการนำกำลังทหารอินเดียเข้าพื้นที่มาควบคุมการจลาจลที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ จนเป็นปัญหาที่ไม่นำพามาซึ่งการสงบสุขอยู่ระยะใหญ่
จนท้ายที่สุด ปี 1948 การมาของสหประชาชาติเพื่อไกล่เกลี่ยให้สงครามสิ้นสุดลงและเหตุการณ์นี้เป็นเหตุให้พื้นที่แคชเมียร์เองก็ต้องถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยเส้นควบคุมเขตแดน หรือ Line Of Control (LOC) โดยแคชเมียร์ฝั่งตะวันตก เรียกว่า Azad Kashmir (ปากีสถาน) ซึ่งมีอีกหมู่บ้านที่น่าเดินทางไปสัมผัสมากอีกแล้ว 555 นี่เป็นอีกเป้าการเดินทาง ไปได้เมื่อไรจะมาเล่าให้ฟังอีก
ขอบคุณภาพ/ข้อมูล https://www.blockdit.com/posts/610b82e998d7fb06b82f36e2
ส่วนวันนี้พวกเรายืนอยู่ทางแคชเมียร์ตะวันออก(อินเดีย) มาค่ะเรามาว่าเรื่องราวของพวกเรากันต่อเถอะ...
เที่ยวอะไรใน Lolab valley
Lolab is known as Land of Love and Beauty
อากาศสบายๆ กับระดับความสูงแค่ 1,590 เมตรจากน้ำทะเลเอง
นอกจากอากาศสบาย ที่ราบลุ่ม น้ำท่า เหมาะกับการเพาะปลูกพบเห็นนาขั้นบันไดเขียวๆ ก็สวยงั้นๆ แต่กล้าข้าวสีเขียวนี่เรียกวิญญาณนักผจญภัยได้มาก
เขต Kupwara เรายังท่องเขตแดนตะวันตกเฉียงเหนือของแคชเมียร์กันต่อไป นอกจากความเขียวชะอุ่ม ความน่ารักของผู้คนแบบไม่มีจริตคิด(ตัง)มากกับนักท่องเที่ยว นับว่าพื้นที่นี้เป็นอีกภูมิภาคที่ยังไม่ได้พบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติบ่อยนัก ส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบของนักสำรวจต่างชาติมากกว่า
จากเมื่อวานเราเข้าไปท่องแผ่นดินที่ใกล้ชิดติดเพื่อนบ้านของอินเดียที่ไม่ค่อยสมานฉันท์กันแล้วก็รีบออกมา เพราะเจ้าหน้าที่แค่อนุญาตให้เที่ยวและชื่นชมเท่านั้นแต่ต้องกลับลงมานะจ้ะ จ้าาาาานาย
ระหว่างทางแวะตลาดคุปวารา ซื้อเสบียง ผัก ผลไม้ พวกเราจะขึ้นไปนอนที่หุบเขา Lolab valley (นี่ก็ส่วนหนึ่งของหิมาลัย)
แน่นอน เราทำอาหารทานเองดีที่สุด เพราะที่พักของเราเป็นไม่กี่แห่งที่มีบริการนักเดินทาง ไม่ต้องเลือกมาก แต่ว่าไม่ขี้เหร่นะบอกเลย อบอุ่น กันเอง แบบเข้าครัวก่อนพนักงานทุกเช้า ทำอาหารเสร็จ พี่แกเพิ่งตื่นเดินมาชงชา เออชิลด์นะพ่อหนุ่ม
ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ผลไม่ที่นี่สมบูรณ์มากจริงๆ
ประตูเข้าเขตหุบเขา Lolab
เมื่อผ่านประตูเข้าเขตหุบเขา Lolab ที่นี่ก็หิมาลัยนะค่ะ ช่วงนี้มีทั้งความชุ่มชื้น เขียวสบายตา ทางเข้าหุบเขาอยู่ห่างจากเมือง Kupwara ไปทางตะวันออก 9 กม. และศูนย์กลางของหุบเขาอยู่ห่างจากSrinagarเมืองหลวงของรัฐ Jammu และ Kashmir ไป ทางตะวันตกเฉียงเหนือ 114 กม LOLAB เป็นที่รู้จักในนามดินแดนแห่งความรักและความงาม เป็นหุบเขารูปวงรียาว 24 กม
มีกระท่อมสำหรับนักท่องเที่ยวสองสามแห่งและจุดตั้งแคมป์มากมาย ซึ่งเราก็ได้มีโอกาสพักกระท่อมหนึ่งในนั้น ที่เกริ่นมาแล้วตอนบน ว่าเป็นกระท่อมไม้สนธรรมดา น่ารัก เป็นกันเอง พักแล้วสบายใจ ใกล้ชิดป่าสน น่าจะเรียกได้ว่าชื่อ 10 Bedroom Guest House
วิวปลอบใจละดูออก เหมือนรู้ว่าสถานที่ต่อไปพวกเราต้องปีน ต้องไต่ใช้ชีวิตแบบแพะภูเขามาก เพื่อไปให้ถึง Kalaroos cave
Kalaroos cave หัวแห่งรัสเซียหรือช่องทางสู่รัสเซีย
ไปพิสูจน์เส้นทางลับจากอินเดียสู่รัสเซีย หืมมม จริงหรือ???
เราขับผ่านทางแคบๆ ลึกเข้ามาในหมู่บ้าน Lashtiyal เพื่อมาเจอนายพรานผู้นำทีมนักสำรวจมือใหม่หัดปีนแบบพวกเรา คุณลุง...ลืมชื่อจริงๆ แต่จำน้ำใจลุงได้ แกพาพวกเราเดินอ้อมไปดูถ้ำก่อน แกบอกถ้าเดินขึ้นไปที่ประตู 7 บานเลยมันเหนื่อยกว่าและไม่ตื่นเต้น 55⁵55 เอาละ พอคำนี้มาก็รู้เลย มันไม่ธรรมดา
Qila-a-Roos” (tunnel to Russia) ใช่เค้าว่ามันคือช่องทางหรืออุโมงค์สู่รัสเซียหรืออีกนัยยะหนึ่งคือ เป็นช่องทางแบบไม่มีที่สิ้นสุด หาทางออกไม่เจอ เพราะไม่มีใครเคยไปถึงปลายทางซักคนแม้แต่นายพรานของเราก็พาเราไปชี้จุดที่เค้าไปได้ไกลสุด ก็ยังคงอยู่ในท้องถ้ำอยู่ดี
ระยะทางเดินเท้าไปถึงปากถ้ำ ไม่แน่ใจว่ากี่กิโลเมตร เพราะวกไปบนป่าสน แต่เล่นเอาเหนื่อย กินเวลาเป็นชั่วโมงกว่าจะถึงปากถ้ำ
เมื่อเดินออกจากปากถ้ำได้แล้วก็เดินลงมาด้านล่างอีกราว 500 เมตร มาถึงก้อนหินสกัดช่องหน้าต่าง 7 ช่อง หรือชาวบ้านเรียก sat baran คือประตูทั้ง 7 บาน ชาวบ้านเรียกก้อนหินสกัดประตูทั้ง7 นี้เป็น 7 เขตพื้นที่ๆ สามารถออกไปสู่รัสเซียได้และยังเชื่อกันว่าในอดีตที่นี่คือ วัดที่พวกปาณฑป สมัยมหาภารตะยุทธโน้นนน ใช้สักการะองค์เทพมาก่อน
และอีกคำตอบที่ได้จากการสกัดหิน 7 doors หรือประตูทั้งเจ็ด และภายในถ้ำบางจุดยังคงหลักฐานให้แน่ใจว่านี่คืออดีตสถานที่วิปัสนาหรือเคยใช้เป็นวัดในพุทธศาสนาเมื่อครั้งที่มีการเผยแผ่มาสู่แคว้นกัษมีระในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นแน่
เมื่อปี 2018 เคยมีนักสำรวจชาวอเมริกัน เข้ามาแล้วบอกว่าในถ้านี้มีการเชื่อมกัน 2 ทางคือ ถ้ำบนและถ้ำล่างด้วยลักษณะการยกตัวของชั้นหิน แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครสร้างและมันมีอายุเท่าไรกันแน่
https://www.facebook.com/DivineKashmir/photos/pcb.1416139578594877/1416139538594881
และที่แน่ๆ อีกอย่าง ด้านในถ้ำเดินยากมาก ทางแคบ เพดานต่ำหลายช่วง มืด และความชื้นสูง ทำให้ลื่น มีเสียงน้ำหยดและกลิ่นขี้ค้างคาว อากาศหายใจน้อยลงไปทุกที ที่เดินเข้าไปด้านใน
ในที่สุดคำคมที่ว่า...เมื่อเราหาทางออกไม่เจอกับชีวิต ให้เดินออกมาบนทางเข้า นั้นละดีที่สุด...
มหัศจรรย์เรื่องเล่าอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์น่าสนุก ตื่นเต้นแค่ไหนอยากให้มีนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ ได้ลองมาสัมผัส ชาวบ้านที่นี่รอต้อนรับด้วยความเต็มใจ
นี่ไงค่ะ โฉมหน้านายพรานผู้ที่ชั้นจำชื่อไม่ได้จริงๆ แต่น้ำใจลุงและครอบครัวไม่ลืมแน่กับน้ำเย็นชื่นใจ ใสแจ๋ว หมดไปแก้วแล้วแก้วเล่า ทั้งๆที่บ้านไม่มีตู้เย็น น้ำเย็นชื่นใจมาจากไหน?
บ่อน้ำซับใต้ดินที่กักเก็บไว้กิน เย็นเจี๊ยบ
ตบท้ายกับการต้อนรับที่อบอุ่นด้วยถั่ววอลนัตใหม่ๆ ของฤดูกาลนี้ น้ำชาแคชเมียร์อุ่นและบิสกิตหอมๆ เป็นแหล่งผ่อนคลาย ยืดขาได้ดี ดีมากจนอยากจะลากหมอนมานอนซะเลย
นักเดินทางที่มา Lolab จะสัมผัสได้ถึงความเป็นธรรมชาติที่แท้ทรู ทั้งสภาพแวดล้อมและธรรมชาติของผู้คนไม่ปลอม วิถีเกษตร เนื่องจากขาดการแทรกแซงจากรัฐบาล คือยังไม่ได้รับการสนับสนุนเหมือนเขตใกล้เมือง ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่มากพอ ถ้าในแง่ของเศรษฐกิจและการพัฒนาคงเรียกว่าไม่ดีพอ แต่ในทัศนะของนักเดินทางจริงๆ พวกเค้าปราถนาสิ่งนี้ ซึ่งให้คะแนนเต็มสิบกับทริปนี้ ตรงนี้ที่ Lolab Valley
และยังมีอีกหลายที่ๆ เราจะพาคุณออกไปสำรวจหุบเขาในแคชเมียร์ในกลางเดือนนี้
แล้วกลับมาเล่าให้ฟัง...ออกไปกันย์
โฆษณา