3 ก.ย. 2022 เวลา 12:33 • ความคิดเห็น
เล่าเรื่องอะไรจึงจะจับใจคนฟัง
2
ในโลกแห่งคอนเท้นท์ที่ไหลท่วมหัวอยู่ตลอดเวลา การหาเรื่องราวที่จับใจคนอ่านหรือคนฟัง พอได้รับรู้แล้วฝังอยู่ในใจได้นั้นทำได้ยาก แต่ถ้าสามารถทำได้แล้ว อาจจะทรงพลังมากต่อความคิด กระทบต่อจิตใจ หรืออาจจะเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนทัศนคติของคนฟังได้
ผมมีข้อสังเกตในเรื่องนี้จากประสบการณ์การทำหลักสูตร abc และมีโอกาสได้ฟังวิทยากรบรรยายต่างกรรมต่างวาระอยู่หลายประการ
กิจกรรมหลักของการเรียนการสอนในหลักสูตร abc ที่ผมทำร่วมกับพี่ตุ้มหนุ่มเมืองจันท์นั้นคือการมีวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์อันหลากหลายมาบรรยายเพื่อจุดประกายความคิดให้กับนักเรียน ซึ่งนักเรียนของหลักสูตรก็มีความหลากหลายทางอายุและอาชีพเป็นอย่างมากเช่นกัน
วิทยากรบางท่านก็เล่าเรื่องประสบการณ์ที่เจอของตัวเอง บางท่านก็เล่าองค์ความรู้ที่มี บางท่านก็มีหลักวิชาการจากตำรามาถ่ายทอด ในช่วงเจ็ดปีที่ทำหลักสูตร ผมมีโอกาสได้ฟังวิทยากรหลายสิบท่านซึ่งมีเรื่องราวที่น่าจดจำและประทับใจอยู่หลายเรื่อง
ในระหว่างการบรรยายและหลังการบรรยาย ผมจะสังเกตปฏิกิริยาและลองพูดคุยกับนักเรียนว่าชอบวิทยากรคนไหนเป็นพิเศษ ชอบการบรรยายช่วงไหน มีอะไรที่จำได้จากเนื้อหาการบรรยายบ้าง บางทีก็ถามเอาเมื่อเวลาผ่านไปนานพอสมควร แน่นอนว่าเนื่องจากนักเรียนมีความแตกต่างสูงตั้งแต่อายุหกสิบจนถึงยี่สิบกว่า มีผู้บริหาร ศิลปิน และอาชีพที่ต่างกันอย่างมาก ความชอบก็คงไม่เหมือนกันโดยรวมๆ
แต่ที่น่าสนใจคือ นักเรียนที่ผมถามมักจะชอบฟังและจำแม่นกับเรื่องราวที่เป็นเรื่องเล่าเล็กๆน้อยๆ เรื่องส่วนตัว ใกล้ตัว ที่สร้างแรงบันดาลใจของคนที่มาบรรยายมากกว่าทฤษฏีหรือข้อมูลระดับใหญ่โต นโยบายระดับประเทศ เรื่องที่ประทับใจส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องเล็กๆโดยเฉพาะเรื่องราวที่เป็นอุปสรรคและการเอาชนะอุปสรรคไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่
1
แต่จะไม่ค่อยจำพวก how to หรือเนื้อหาในแนว “สอน” แต่วิทยากรเวลาบรรยายที่ผมเคยฟังจากการไปสัมมนาที่ต่างๆ บ่อยครั้งมักจะอยากสอนอยากจะพูดภาพมหภาค อยากให้ความรู้แบบตรงไปตรงมา ซึ่งบ่อยครั้งผลลัพธ์ก็จะไม่เหมือนที่คิดไว้
1
ทำไมนักเรียนหรือผู้ฟังถึงชอบเรื่องเล่าและรู้สึกว่ามีประโยชน์กว่าการสอนตรงๆ พี่ป๊อบ อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา แห่งออร์คิดสลิงซ็อท ผู้เป็นที่ปรึกษาองค์กรและผู้บริหารระดับสูง และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเล่าเรื่อง (story telling) เคยเล่าให้ผมฟังว่า สมองคนเรานั้นนอกจากจะแบ่งเป็นซีกซ้ายซีกขวาแล้ว ยังทำงานแบบสมองส่วนหน้าและส่วนหลังอีกด้วย
1
โดยปกติเวลาเราทำอะไรแบบซ้ำๆ อัตโนมัติ เช่นแปรงฟัน ขับรถ หรือทำงานที่เราคุ้นชิน แม้กระทั่งกระบวนการตัดสินใจที่ทำมาบ่อยๆซ้ำๆ เราจะใช้สมองส่วนหลังทำงาน และก็จะเป็นพฤติกรรมเดิมๆ ด้วยความจำเดิมๆ พอมีใครมาสอนหรือมีแนวคิดตรรกะอะไรที่ผิดไปจากที่เราเชื่อเดิม เราก็จะรู้สึกฝืน ต่อต้านและไม่เห็นด้วย
แต่พี่ป๊อบบอกว่า ถ้าจะเปลี่ยนพฤติกรรมคน เราจะต้องท้าทาย ต้องกระตุ้นการเปลี่ยนทัศนคติและความเชื่อของคนเสียก่อน ในการเปลี่ยนความเชื่อของคนนั้น ต้องทำให้สมองส่วนหน้าทำงาน ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ไว้ใช้ “คิด” พี่ป๊อบบอกว่า มีสองอย่างที่ทำให้คนฉุกคิดก็คือ คำถาม และเรื่องเล่า เพราะทั้งสองอย่างจะทำให้สมองส่วนที่คิดซ้ำๆอย่างส่วนหลังหยุดทำงานและสมองส่วนหน้าทำงานแทน
5
พี่ป๊อบเล่าขำๆถึงการทำงานของคำถามและชวนให้ผมทดลองดูกับเด็กๆที่กำลังร้องไห้ ถ้าเด็กร้องไห้อยู่แล้วเราไปถามตอนร้องเลยว่าปวดฉี่มั้ย เด็กส่วนใหญ่จะหยุดร้อง (สมองส่วนหลังหยุดทำงาน) แล้วมาสนใจคำถามแป๊บนึง และถ้าร้องต่อก็ให้ลองถามอะไรก็ได้ให้เด็กฉุกคิด ซักพักเด็กก็จะหยุดร้องเอง ซึ่งผมยังไม่ได้มีโอกาสทดลองเรื่องนี้เพราะลูกสาวผมเป็นวัยรุ่นแล้ว ไม่ได้ร้องไห้กลางห้างให้ทดลองได้อีก แต่ก็เป็นแนวคิดที่น่าสนใจน่าลองมาก
2
ส่วนเรื่องเล่า (story) ที่ทำงานได้ผลในการทำให้คนฉุกคิดได้นั้น ก็เพราะเมื่อเราฟังเรื่องเล่า เราจะไม่รู้สึกต่อต้านกับตรรกะเดิมที่เรามี เพราะเราไม่ได้ถูก “สอน” แต่พอฟังเรื่องราวที่ดีที่น่าประทับใจจบ เราก็จะนำมาคิดและเปรียบเทียบกับประสบการณ์ตัวเอง ในบางครั้งก็อาจจะได้แรงบันดาลใจจนเปลี่ยนความเชื่ออะไรบางอย่างได้
3
ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าตัวเองจะมีเรื่องเล่าอะไรไปกระทบใจคนได้บ้าง เพราะชีวิตก็แสนธรรมดาเอามากๆ ไม่ได้มีเรื่องยิ่งใหญ่อะไรที่จะไปเล่าให้คนประทับใจได้เลย
1
ผมเคยไปนั่งฟัง workshop สั้นๆเรื่อง storyteller ที่จัดโดยศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่เมืองไทย ใน workshop นั้นผู้เชี่ยวชาญที่มาบรรยายเปิดสุนทรพจน์ดีๆของคนเก่งในระดับโลกให้ดู ในวันนั้นเขาเปิดของโอบาม่าและสตีฟ จอบส์ (ผมเคยใช้ตัวอย่างมาเขียนบทความเป็นสุนทรพจน์ที่ว่ากันว่าดีที่สุดครั้งหนึ่งของโลก สตีฟ จอบส์พูดไว้ที่สแตนฟอร์ดในปี 2005)
1
และชี้ให้เห็นว่าสุนทรพจน์ที่กินใจของสองคนนั้นไม่ได้เล่าเรื่องราวอะไรใหญ่โตเลย แต่เล่าเรื่องตัวเองเป็นหลัก เรื่องราวของชีวิตเล็กๆน้อยๆที่เป็นจุดพลิกผัน แต่สร้างแรงบันดาลใจอย่างมาก
1
หลังจากดูตัวอย่างแล้ว ก็มีการให้ทุกคนในห้องทดลองเล่าเรื่องตัวเองดู โดยแบ่งเป็นสามช่วง ช่วงแรกให้เปิดเรื่องด้วยการเข้าเรื่องตรงๆ ช่วงสองให้เล่าถึงอุปสรรค ปัญหาและความท้าทายของเรื่องนั้น ส่วนช่วงสามให้เล่าถึงการคลี่คลายของปัญหาหรือบทเรียนที่ได้รับ เป็นโครงสร้างพื้นฐานของการเล่าเรื่อง
2
มีหลายคนอึกอัก ไม่รู้จะเล่าเรื่องอะไรเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรจะเล่า ผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่าทุกคนมีเรื่องเล่าทั้งนั้น ยิ่งเป็นเรื่องธรรมดาเท่าไหร่ก็จะยิ่งไม่ธรรมดาเท่านั้น และก็ยกตัวอย่างถึง workshop ก่อนหน้าที่เธอไปทำที่เมืองจีน ในวันนั้นมีหญิงสาววัยกลางคนมาสารภาพว่าชีวิตที่ผ่านมาไม่มีเรื่องอะไรจะเล่าเลย ใช้ชีวิตน่าเบื่อมาก เรียนจบมาก็ทำงานบัญชีซ้ำๆมาเป็นหลายสิบปี ไม่มีอะไรที่น่าจะเล่าให้ประทับใจได้เลย
ผู้เชี่ยวชาญคนนี้ใช้เวลานั่งคุยกับหญิงสาวนักบัญชีซักพัก และขอให้เธอเล่าเรื่องที่เธอ “จำได้แม่น” ในวัยเด็กที่เธอประทับใจ เธอก็เลยนึกได้ถึงเรื่องที่เล็กมาก ไม่น่าจะมีใครสนใจ แต่บังเอิญเธอจำได้ ก็คือตอนที่เธอเด็กๆนั้น แม่เธอหัดให้เธอหุงข้าวเอง ครั้งแรกก็ใส่น้ำเยอะเกินไป ข้าวก็แฉะแทบกินไม่ได้ วันต่อมาก็ใส่น้ำน้อยไป ข้าวก็แข็ง สลับแฉะสลับแข็งแบบนี้อยู่อาทิตย์กว่าๆ จนเธอหุงข้าวเป็น
ที่เธอจำได้แม่นก็เพราะว่า ไม่ว่าเธอจะหุงข้าวแฉะหรือแข็งแค่ไหน แม่เธอก็ไม่เคยบ่นและกินจนหมดทุกครั้ง….
2
เรื่องราวเล็กๆที่เธอคิดว่าน่าจะเล็กเกิน ไม่น่ามีใครสนใจ แต่กลับติดอยู่ในหัวผมอย่างแกะไม่ออก ติดแน่นกว่าข้อมูล คำสอน หรือคำบรรยายใหญ่โตอะไรมากมาย จำได้จนวันนี้แถมต้องเอามายกตัวอย่างในการเขียนบทความนี้ด้วย เพราะเรื่องเล่าที่ดีนั้นมีพลังที่ทำให้ “ฉุกคิด” ในมุมของตัวเอง และทำให้ประทับเข้าไปในใจอย่างมาก
4
ในยามที่อะไรๆก็ไม่เหมือนเดิม มีความจำเป็นที่เราต้องหาทางให้ลูกค้า พนักงาน หรือคนรอบข้าง จำ เชื่อและคล้อยตามในสิ่งที่เราอยากถ่ายทอด เปลี่ยนพฤติกรรมหรือความเชื่อเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ลองใช้วิธีเล่าเรื่องประกอบบทสนทนาแทนการสอนหรือเทศนาดูบ้างก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งก็ได้นะครับ
2
เอาเข้าจริงๆแล้ว จะแอบบอกว่า เทคนิคเรื่องเล่า โดยเฉพาะเรื่องเล็กๆ หรือเรื่องส่วนตัว ก็เป็นเทคนิคหลักของผมที่ใช้เขียนเพจนี้ด้วยเช่นกันครับ…
1
โฆษณา