Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
HUMANITAS
•
ติดตาม
5 ก.ย. 2022 เวลา 05:09 • สิ่งแวดล้อม
"เมล็ดพันธุ์ที่แข็งแรง" ของฝากจากห้องอบรมดอยหลวงเชียงดาว
เช้าวันเสาร์ที่ 8 มกราคม 2565 เทศบาลตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว
กระดาษสีน้ำตาลแผ่นใหญ่วางปูอยู่ที่หน้าประตูห้องอบรม พร้อมหยดสีโปสเตอร์คละสีกันอยู่แทบทั่วแผ่น ขวางการเดินเข้าประตูชนิดที่ว่ายังไงก็ต้องเหยียบถ้าไม่ตั้งใจก้มลงสังเกตที่พื้น
.
ที่แห่งนี้เตรียมไว้สำหรับนักศึกษาธรรมชาติที่เดินทางมาเพื่อเตรียมตัวขึ้นดอยหลวงเชียงดาวในวันถัดไป
.
แห้งหรือยังเนี่ย เราชะงักหนึ่งทีและสงสัยในใจ ก่อนเท้าขวาจะเหยียบโดนสีขาวเข้าไปเต็ม ๆ จนต้องเดินแบบเขย่ง ๆ เข้าห้องต่อไปด้วยความงวยงง
.
ผู้เข้าร่วมอบรมคนอื่น ๆ บ้างก็เหยียบติดเท้าเข้ามาหลายสี บ้างก็สีเดียว หรือบางคนอาจจะไม่เหยียบเลย เพราะได้ยินเพื่อนข้างหน้าเตือนไว้ทัน
.
อาจจะดูเหมือนกิจกรรมสนุกทั่วไป แต่นี่คือหนึ่งในกระบวนการสื่อความหมายธรรมชาติของบรรดาทีมงานอาสาสมัครที่มาช่วยจัดการอบรม ที่ช่วยกระตุกความสนใจได้ไม่น้อยทีเดียว
.
ผู้เข้าร่วมอบรมคนอื่น ๆ บ้างก็เหยียบติดเท้าเข้ามาหลายสี บ้างก็สีเดียว หรือบางคนอาจจะไม่เหยียบเลย เพราะได้ยินเพื่อนข้างหน้าเตือนไว้ทัน
.
อาจจะดูเหมือนกิจกรรมสนุกทั่วไป แต่นี่คือหนึ่งในกระบวนการสื่อความหมายธรรมชาติของบรรดาทีมงานอาสาสมัครที่มาช่วยจัดการอบรม ที่ช่วยกระตุกความสนใจได้ไม่น้อยทีเดียว
.
ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการจัดอบรมก่อนขึ้นไปเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยหลวงเชียงดาว-อ่างสลุง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยหลวงเชียงดาว และนี่คือสิ่งที่กวนใจนักเดินป่าหลายคน เพราะการอบรมไม่ไปด้วยกันกับสถานการณ์โรคระบาด ณ ตอนนี้เอาเสียเลย คือการไปอบรมร่วมกันออนไซต์ แทนที่จะออนไลน์ เพราะถึงตอนนี้ทุกคนก็เคยชินกับการทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านหน้าจอกันหมดแล้ว อบรมทางวิดีโอคอลก็น่าจะเป็นไปได้
.
“ทำไมมันยุ่งยากจัง ถ้างั้นไม่ไปดีกว่า” ข้อความเพื่อนร่วมทริปคนหนึ่งบอกลากันในขณะที่การเดินทางยังไม่เริ่มด้วยซ้ำ แค่ได้เห็นขั้นตอนที่ต้องผ่านด่านก็ถอดใจเสียแล้ว
.
ไม่มีข้อโต้แย้ง และก็เห็นด้วยกับเพื่อน...แต่ยืนยันที่จะไปต่อเพื่อป้องกันทริปล่ม
ตั้งแต่มีประกาศจากยูเนสโกขึ้นทะเบียนให้ดอยหลวงเชียงดาว เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลโลก (Biosphere Reserve) แห่งที่ 5 ของประเทศไทย เมื่อ 15 กันยายน 2564 การจัดการเส้นทางศึกษาธรรมชาติของที่นี่ก็เปลี่ยนไป
.
จากที่เคยรับนักท่องเที่ยวเป็นพัน ๆ ต่อวัน ก็จำกัดเหลือแค่วันละ 100 คน
จากที่เคยปล่อยให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นยอดดอยตามใจชอบ ก็ต้องให้ลงทะเบียนอย่างเข้มงวด และจัดการอบรมอย่างจริงจัง
จากที่เคยเรียก “นักท่องเที่ยว” ก็ให้นิยามใหม่ว่าเป็น “นักศึกษาธรรมชาติ”
จากที่เป้าหมายของการเดินป่าคือการ “พิชิต” ยอดดอย ก็เปลี่ยนมาเป็นการ “อนุรักษ์”
.
ทุกอย่างเปลี่ยนไป แต่ในทางที่ดีขึ้น
ขึ้นชื่อว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เดิมก็ไม่ใช่สถานที่เพื่อการท่องเที่ยวอยู่แล้ว และยิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล การท่องเที่ยวจึงถูกจำกัดลงยิ่งกว่าเดิม แต่ด้วยการเปิดให้คนได้เข้ามาร่วมศึกษาธรรมชาติก็เป็นเหมือนกันขยายพันธุ์มนุษย์ที่มีใจรักษ์ให้ได้เข้าใจธรรมชาติ พืชพรรณ และพร้อมที่จะอนุรักษ์ไม่ว่าจะเป็นป่าผืนไหน จึงทำให้เรายังมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสดอยหลวงเชียงดาวที่เขาร่ำลือ และนำประสบการณ์มาบอกต่อให้คนอื่นได้ฟัง
.
ความเสียหายเมื่อครั้งเกิดไฟป่ารุนแรงในปี 2562 ได้พรากความอุดมสมบูรณ์บนดอยหลวงเชียงดาวไปกว่าครึ่ง การฟื้นฟูหลังเหตุการณ์ที่ดีที่สุดคือการเร่งปิดป่า เพื่อให้ป่าได้มีเวลารักษาตัวเอง
.
ชาวบ้าน อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ และกลุ่มคนรักเชียงดาว ต่างช่วยเหลือกันดับไฟป่าครั้งนี้สุดกำลัง การได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่สงวนฯ คราวนี้จึงไม่ได้หมายถึงแค่การคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของธรรมชาติบนเขา แต่รวมไปถึงชุมชนรอบ ๆ ที่มีความพร้อม และศักยภาพที่จะดูแลรักษาดอยหลวงเชียงดาวแห่งนี้ด้วย
.
แม้ว่าการอนุรักษ์ที่ดีคือการปล่อยให้ธรรมชาติได้อยู่กับพวกพ้องของตัวเอง ตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติจึงต้องมีเวลา “ปิดป่า” เพื่อให้ธรรมชาติได้พักผ่อน แต่การอนุรักษ์ที่ยั่งยืนอาจจะต้องมีมือมนุษย์เข้ามาช่วย โดยเมื่อถึงช่วงที่เปิดป่าจึงต้องมีการจัดการ และวางมาตรฐานที่ช่วยเซฟป่าไม้ให้มากที่สุด
.
หนึ่งในนั้นก็คือการเริ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ด้วยการจัดการอบรม โดยทีมงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่แห่งนี้ จึงตั้งคณะทำงานที่ไม่ได้มีแค่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ หรือเจ้าหน้าที่เขตฯ แต่ยังรวมไปถึงภาคประชาชนที่ประกอบไปทั้งชาวเชียงดาว และชุมชนคนรักเชียงดาวมาร่วมคิด ร่วมออกแบบ และร่วมวางแผนการจัดการนี้อีกด้วย
.
และนี่ก็เป็นไปตามเป้าหมายของการเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล ซึ่งก็คือการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างมนุษย์และธรรมชาตินั่นเอง
.
การอบรมที่หลายคนต่างเบือนหน้าหนี และบ้างก็ถอดใจกับการลงทะเบียนเพื่อมาศึกษาธรรมชาติกลับเป็นช่วงที่เราประทับใจมากที่สุด
.
หลังจากทุกคนเหยียบสีที่หน้าประตูห้องติดเท้ามาคนละหยดสองหยดเข้ามานั่งพร้อมหน้าวิทยากรพาทุกคนให้รู้จักเชียงดาวมากขึ้น ผ่านเรื่องราวจากมุมมอง วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ความหมายที่แท้จริงของดอยหลวงเชียงดาว และความเชื่อของผู้คนที่เสมือนเป็นกาวใจในการอนุรักษ์
.
ข้อแนะนำ สิ่งที่ควรปฏิบัติ ข้อบังคับร่วมกัน วิทยากรต่างให้ข้อมูลโดยมีเหตุผลรองรับด้วย ไม่ว่าจะเป็นการห้ามปล่อยของเสียลงดินโดยตรง เช่น ปัสสาวะ ที่หากมีปริมาณมากก็ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศได้ หรือแม้แต่การห้ามไม่ให้ทิ้งขยะอยู่บนดอยหลวงเด็ดขาด นักศึกษาธรรมชาติทุกคนต้องพากลับลงมาที่พื้นราบด้วย และดูเหมือนจะใช้ได้จริงเพราะเจ้าหน้าที่เข้มงวดกับการเก็บค่ามัดจำขยะ พร้อมทั้งทำเช็กลิสต์สิ่งที่แต่ละคนนำขึ้นไป เพื่อตรวจสอบหลังจากลงเขามาว่าครบจำนวนตามที่ได้แจ้งไว้หรือไม่
.
และไม่ลืมเฉลยว่าสีโปสเตอร์ที่ผู้เข้าร่วมอบรมได้ติดเท้ากันมาคนละหยดสองหยดจากหน้าประตูห้องนั่นคือสัญลักษณ์แทนดอกไม้และพืชพันธุ์ที่อยู่ในป่า บางทีเราอาจเดินมุ่งหน้าไปที่ยอดดอยโดยไม่ทันสังเกตธรรมชาติรอบ ๆ ตัว จนไม่ได้ระวังและอาจเผลอประทับรอยเท้าไว้บนดอกไม้จนตายไป
.
ใครจะไปรู้ว่านั่นอาจเป็นดอกอะไรสักอย่างสายพันธุ์สุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ก็ได้ เพราะที่นี่มีพืชภูเขากึ่งอัลไพน์แห่งเดียวในประเทศไทย ที่เป็นบ้านของพืชหายากหลายชนิดที่ไม่สามารถพบเจอได้ที่ไหน
.
สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ สร้างความเข้าใจให้คนนอกที่เพิ่งมาเยือนอย่างพวกเราให้มีความรู้สึกรัก หวงแหน และอยากรักษาเหมือนที่คนเชียงดาวดูแลดอยหลวงเชียงดาวมาตลอด
.
.
เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร
#Sustainability #ChiangDao #Conservation #Humanitas
สิ่งแวดล้อม
ธรรมชาติ
บันทึก
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย