5 ก.ย. 2022 เวลา 12:45 • การศึกษา
อยากเป็นคนมีความรู้มาก และต่อยอดในระยะยาวได้ดี มีเทคนิคที่สำคัญคืออะไรบ้าง ?
เคยมั้ย ที่เราอยากเป็นคนที่รู้มากๆ เราเลยพยายามที่จะรับรู้หลายๆ เรื่องจากหลายๆ ช่องทาง เพื่อสร้างขุมพลังความรู้ ต่อยอดให้ตัวเอง เป็นพหูสูตร
หลายครั้ง ที่เราได้ยินว่า ชีวิตคนประสบความสำเร็จ คือการ ต่อจุด ความรู้ ที่ผ่านๆมา และเชื่อมโยงจุดต่างๆได้ดี .. เราจึงอยาก มีจุด หลายๆจุด โดยการอ่านและรับรู้หลายสิ่งให้มากๆ
แต่ สังเกตุจริงๆแล้ว เคยมั้ยที่เราลืมไปหลายอย่าง ทั้งๆที่ได้ยินได้อ่านมาแล้ว แต่ถ้าใครถามให้เราอธิบาย เราก็เหมือนตอบไม่ได้ .. มักตอบได้แค่ว่า.. แนะนำให้ไปอ่าน เล่มนั้นเล่มนี้ รึส่งคลิปนั้นให้ไปฟังเอง..
แบบนี้ ก็เสมือนไม่ค่อยจะต่างจากการที่เรา ไม่รู้ เรื่องนั้นๆ เลย
จะดีกว่ามั้ย ถ้าเรามีเทคนิค เรียนรู้ได้ไว อ่านรึรับฟังอะไรแล้ว อยู่ในสมองเราได้นานๆ และอธิบายสิ่งนั้นได้ทันทีที่มีคนถาม
เทคนิคที่ว่านี้ ก็คือ การเน้นที่ ผลลัพธ์รึทางออก ของความรู้ (output) ให้ชัดและให้เป็นรูปธรรมที่สุด
เทคนิคดังกล่าว ได้แก่
ข้อ1. ทางออกที่เป็น การใช้งาน ว่าเราจะรู้เรื่องนี้ ไปทำไม.. เราต้องการรู้เรื่องนี้ ไปใช้ทำอะไร.. ยิ่งชัดเท่าไร เราจะมีประสิทธิภาพในเรียนรู้ได้ดีเท่านั้น .. เพราะ เรามี ความเชื่อมาจากข้างในตัวเองเรียบร้อยแล้วว่า ออ ฉันจะทำสิ่งนี้ และฉันเลยต้องการพัฒนาเรื่องนี้ และฉันเชื่อว่า ฉันจะใช้มันได้จริง
ซึ่งมันจะทำให้เรา มีใจจดจ่อ (focus) ได้ดีขึ้นเองจากภายใน โดยไม่รู้ตัวและไม่ต้องพยายามสรรค์สร้าง
ข้อ2. ทางออกที่ว่าชัด คือ ตอบคำถามที่มีในหัวได้ละเอียด .. รึกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ.. การมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องนั้นไว้แล้วล่วงหน้า.. ตัวอย่างเช่น.. ถ้าเราฟังความเห็นของ ดร.เอ๊ก เกี่ยวกับ ข้อตกลงทางธุรกิจระหว่างบริษัทA กับบริษัทB.. ถ้า แต่ละคนมีคำถามในหัวไว้ก่อนที่ไม่เหมือนกัน เราจะจำข้อมูลในรายละเอียด ได้ต่างกัน
ตัวอย่างเช่น
-1-ถ้าเราสนใจว่าเราอยากได้ ดร.เอ๊ก มาเป็นที่ปรึกษาให้เราในอนาคตได้มั้ย เราอาจตั้งคำถามเช่นว่า- ดร.เอ๊ก เค้าเป็นนักวิเคราะห์ที่เก่งในการมองมุมมองเกี่ยวกับอะไรบ้าง เช่น เก่งวิเคราะห์เงิน รึเก่งวิเคราะห์คน มากกว่ากัน และเค้าเน้นมองจุดไหนมากที่สุดในเรื่องนี้
-2-ถ้าเราสนใจ เกี่ยวกับบริษัทA เราอาจตั้งคำถามว่า - ดร.เอ๊กเค้ามีมุมมองต่อบริษัทA ในแง่บวกรึลบ จุดไหนบ้าง รึบริษัท A มีรายละเอียดอะไรบ้าง จากข้อมูลในวงสนทนานี้
-3-ถ้าเราอยากเรียนรู้ ลักษณะข้อตกลงระหว่างบริษัท เราอาจตั้งคำถามไว้ก่อนว่า - ข้อตกลงนี้ มันมีรายละเอียดยังไง เป็นต้น
การตั้งคำถามไว้ล่วงหน้า นั่นคือ เราหวังจะได้คำตอบซึ่งเป็น ผลลัพธ์ (output) ของการเรียนเรื่องนั้นๆไว้อย่างชัดเจนแต่แรก
ซึ่งนั่นจะทำให้เราได้ยินสิ่งนั้นได้ชัดขึ้น รึจดจำสิ่งนั้นได้ดี เพราะมันเหมือนการ เติมคำในช่องว่าง (ในสมอง) ที่เราร่างไว้ก่อน
ข้อ3. ทางออกแบบที่เป็น การสะท้อน (Reflection) ส่วนตัว
ข้อ4. ทางออกแบบที่เป็น การแชร์ ให้คนอื่นๆต่อๆไป
สองข้อนี้ เป็นทางออกแบบเป็นรูปธรรม คืออาจจะไม่ได้อยู่ในหัวเราแบบสองข้อแรก แต่เป็นการปฏิบัติบางอย่าง เพื่อตอกย้ำ ให้ความจำในเรื่องนั้นๆ อยู่ได้ยาวและมั่นคง
ข้อ3. ที่ว่า Reflection คือการหาเวลา ตกผลึก วิเคราะห์รึสังเคราะห์สิ่งที่เพิ่งได้เรียนรู้ ได้ยิน ได้ฟังมา.. อย่างน้อยๆ นึกให้ได้สัก 1ประโยค ที่เราสรุปได้ รึชอบใจ และเอาออกมาในลักษณะรูปธรรมอย่างหนึ่งอย่างใด เช่นอาจจะเขียนมันออกมาในสมุดโน๊ตส่วนตัวของเรา เป็นต้น
การตกผลึกนี้ ถ้าใครเคยดูซีรีย์เกาหลี พวกแดจังกึม ทงอี รึเรื่องอื่นๆ ที่มีการต่อสู้ทางความคิดของตัวละครฝั่งต่างๆ เค้ามักจะมีฉาก ที่ตัวละคร นั่งเงียบๆคนเดียว (พร้อมหน้าตาครุ่นคิด) ไม่ว่าจะฝั่งนางเอก รึฝั่งนางร้าย จะมีฉากนี้บ้างไม่มากก็น้อย
การตกผลึกความรู้ ถ้าขึ้นเริ่มต้น อาจจะเป็นแค่บันทึกสิ่งที่ได้มา แบบตรงไปตรงมา คือประโยคไหนเด็ด ก็จำและบันทึกประโยคนั้นไว้เลย เก็บไว้ต่อจุดทีหลัง
แต่ถ้าให้ดี ควรเป็นแบบ คิดต่อยอด ว่า เออ เค้าบอกมาแบบนี้ มันใช้ได้กับกรณีของเรามั้ยนะ เหมือนรึต่างกันที่จุดไหน .. และ .. สรุปแล้ว มันตอบคำถามที่เราอยากรู้ไว้ล่วงหน้า ได้มากน้อยแค่ไหน ขาดอะไรไป
รึถ้าระดับซับซ้อนขึ้นไป อาจจะต่อยอดเลยไปอีก เช่นว่า เราจะเชื่อสิ่งที่เค้าพูดมาได้แค่ไหน จุดไหนคือความจริง จุดไหนคือความเห็น และยังขาดรึควรเพิ่มความรู้ในมุมมองอื่น ในจุดไหนดี
การสังเคราะห์เชิงลึก นี้ เป็นทักษะ ที่ผู้จบระดับปริญญาเอก ที่มีมาตรฐานสากล คงจะมีความคุ้นเคยอยู่บ้าง เพราะอย่างน้อยจะอยู่ใน พื้นฐานของหลักการการเรียนรู้ที่ใช้กับคนเรียนระดับนี้
รวมถึงคนที่ open-minded คือ เปิดใจเรียนรู้อย่างแท้จริง เป็นแก้วน้ำที่ไม่เต็มแก้ว จะคุ้นเคยกับลักษณะคำถามสังเคราะห์แนวๆนี้ อยู่เป็นปกติ
ทักษะการคิด reflect ในลักษณะการตกผลึกนี้ จะช่วย ให้ เรา เข้าใจเรื่องนั้นๆ ในระดับที่ลึก ไม่ใช่เข้าใจแบบผิวเผิน
และการเข้าใจระดับลึก จะเป็นการฝังความจำในระยะยาวได้ดีกว่า เป็นการสร้างจุดแห่งความรู้ ได้เข้มข้นกว่า ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการดึงมาใช้ในภายหลัง รึในระยะยาวได้
ข้อ4 ก็ใกล้เคียงกับข้อ 3 เพียงแต่ อาจจะเน้นการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น และการตั้งความตั้งใจตั้งแต่แรก ในการ เรียนรู้ เพื่อสอนผู้อื่น (คือส่งต่อความรู้ให้ผู้อื่น ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อช่วยเค้า ฯลฯ) จะเป็นแรงผลักดันทางอ้อม ที่ทำให้ สมอง เราหาทาง จดจำ รึเชื่อมโยงข้อมูล การรับรู้ ให้ได้ดีที่สุด
ยิ่งถ้าเราได้มีโอกาสถ่ายทอดออกมาอย่างเป็นรูปธรรมจริง มันก็คือ การ เปลี่ยนจากจุดในจินตนาการ ให้ออกมาเป็น หมึกจริง ในกระดาษชีวิตของเรา ได้นั่นเอง
medium.com
และนี่ก็คือเทคนิค4ข้อ ที่เป็นหนึ่งในศาสตร์ของ การพัฒนา กระบวนการเรียนรู้ Learn How to Learn
.. ใช่แล้ว.. เรียนรู้ ศาสตร์นี้ ให้ดี มันก็จะเป็นรากฐาน ที่มั่นคง ก่อนการต่อยอด การเรียนรู้ เรื่องต่างๆ อื่นๆ ในโลกนี้
ถ้าเรา เก่งศาสตร์นี้ เมื่อเราจะเรียนอะไรต่อ มันก็จะทำได้แบบฉลาดขึ้น ระยะเวลาสั้นลง...
เรียกได้ว่า ทำน้อยได้มาก นั่นเอง
.. น่าแปลก ที่เรื่องนี้ ไม่ค่อยได้สอนกันในหลักสูตร ในโรงเรียนทั่วไป ซึ่งเค้า เน้นสอน ที่ ตัวความรู้ (content) เพียงอย่างเดียว และก็พยายามให้เรียนหลายๆอย่าง แบบกระจัดกระจาย เรียกว่า ใส่ความพยายามมาก แต่อาจจะได้ผลในการต่อจุดชีวิต น้อยกว่าที่ควรจะเป็น
หวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน ได้นำไปต่อยอดต่อไป :)
โฆษณา