5 ก.ย. 2022 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
พ่อแม่อย่ารังแกฉัน! 10 เรื่องที่ต้องระวังถ้าไม่อยากเป็น Toxic Parent
“เมยเมย แกทำแบบนี้กับแม่ของแกได้ยังไง”
1
‘หมิง’ คุณแม่สุดเนี้ยบกล่าวด้วยความโกรธเกรี้ยว ก่อนที่เธอจะกลายร่างเป็นแพนด้าแดงตัวยักษ์ พร้อมถล่มเมืองโตรอนโตให้ราบเป็นหน้ากลอง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะ ‘เมยเมย’ ลูกสาวสุดที่รักและสมบูรณ์แบบของเธอ ไม่ได้สมบูรณ์แบบเหมือนที่จินตนาการไว้!
เรื่องราวของแม่-ลูกที่ถูกถ่ายทอดในแอนิเมชันเรื่อง “Turning Red” ซึ่งเป็นดั่งภาพสะท้อนชีวิตจริงของใครหลายๆ คน ทำให้ผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อย ต้องหันมามองครอบครัวตัวเองและตั้งคำถามว่า.. นี่เรากำลังทำร้ายลูกอ้อมๆ อยู่หรือเปล่า?
แม้ว่าหมิงจะไม่เคยมีเจตนาร้ายกับลูก เช่นเดียวกับพ่อแม่หลายๆ คนในชีวิตจริง แต่สุดท้ายทั้งหมดที่ทำไปก็ทำร้ายลูกทางอ้อมอยู่ดี
ถ้าหลายๆ เรื่องที่พ่อแม่คิดว่าทำดีแล้วกลับส่งผลร้าย แล้วต่อจากนี้จะทำอย่างไร ไม่ให้เผลอเลี้ยงลูกแบบพ่อแม่รังแกฉัน? วันนี้ Mission To The Moon มี 10 เรื่องที่ต้องระวัง หากไม่อยากเป็น Toxic Parent มาแบ่งปัน มาเรียนรู้กันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
1
1) ปกป้องลูกจากความเจ็บปวดมากเกินไป
1
พ่อแม่ยุคใหม่หลายๆ คนไม่อยากให้ลูกต้องเผชิญกับความเจ็บปวดเพียงเพื่อฝึกให้ลูก “เข้มแข็ง” และ “อดทน” พวกเขามองว่ามีวิธีอื่นในการสอนที่ดีกว่านั้น อย่างไรก็ตาม การไม่ให้เด็กเผชิญอารมณ์และความรู้สึกยากๆ เลยก็ไม่ใช่เรื่องดีนัก
ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเล็กๆ อย่างการโกหกว่าสัตว์เลี้ยงที่ตายไปแล้วแค่ “หนีเที่ยว” หรือ การตื๊อให้โค้ชเลือกให้ลูกเป็นตัวจริงในทีมฟุตบอล ความหวังดีเหล่านี้อาจจะทำให้ลูกไม่มีประสบการณ์ในการรับมือกับอารมณ์ลบ และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เปราะบาง เจอเรื่องยากลำบากนิดหน่อยก็ไปต่อไม่ได้
2) บอกปัดว่าความรู้สึกของลูกเป็นเรื่องเล็กๆ
คำพูดอย่าง “แค่นี้เองไม่เห็นต้องร้องเลย” หรือ “ร้องไห้ทำไม เรื่องนิดเดียว” อาจสื่อว่าการแสดงออกทางอารมณ์เป็นเรื่องผิด และอาจทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะซ่อนความรู้สึกเหล่านี้ในเวลาต่อมา จนพวกเขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนเก็บกด และมีสุขภาพจิตที่แย่เพราะระบายไม่เป็น
3) ชื่นชมแต่ความสำเร็จ
การชื่นชมเป็นเรื่องน่ายินดี แต่การชื่นชมเฉพาะ “ความสำเร็จ” นั้น อาจทำให้ลูกกลายเป็นคนที่มุ่งแต่จะเอาชนะให้ได้ โดยไม่สนว่าจะใช้วิธีการใดๆ ทางที่ดีพ่อแม่ควรจะชมลูกใน “ความพยายาม” ด้วย แม้พวกเขาจะทำไม่สำเร็จในบางครั้ง
ให้พวกเขาเรียนรู้ตั้งแต่เด็กๆ ว่าความล้มเหลวไม่ใช่จุดจบและชัยชนะก็ไม่ใช่ทุกอย่างเสมอไป
4) เอาความฝันของเราไปฝากไว้ที่ลูก
เคยเห็นไหม? พ่อแม่ที่อยากเป็นหมอแต่เป็นไม่ได้ จึงเคี่ยวเข็ญให้ลูกได้เป็นแทน นอกจากจะทำลูกไม่มีความสุขและรู้สึกกดดันแล้ว การกระทำเช่นนี้ยังทำให้ลูกเติบโตมาด้วย “ความไม่รู้จักตัวเอง” เช่นไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ชอบอะไร หรือมีความฝันแบบไหน เพราะที่ผ่านมาใช้ชีวิตตามความฝันของคนอื่นตลอด
5) มาตรฐานสูงเกินไป
การตั้งมาตรฐานให้ลูกพยายามเอื้อมให้ถึง ในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องดี เพราะพวกเขาจะได้ตระหนักถึงศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง และได้เรียนรู้ว่าหากพยายาม พวกเขาก็มีโอกาสจะได้สิ่งที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม หากมาตรฐานของเราสูงเกินไป อาจทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเอง “ไม่ดีพอ” และจมอยู่กับความรู้สึกนี้ไปตลอดชีวิต
6) ใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือในการปกครอง
1
ไม่ว่าจะเป็นการกวาดตามองแรงๆ หรือดุเสียงดัง การใช้ความกลัวในการเลี้ยงลูกนั้นไม่เคยส่งผลดีเลย โดยเฉพาะการใช้แต่อารมณ์ ไม่ใช้เหตุผล พวกเขาอาจโตมาเป็นคนที่ไม่กล้า ไม่มีความมั่นใจ หรือใช้ความกลัวเป็นตัวตัดสินก็ได้
2
เช่น เมื่อพบว่ามีการทุจริตในบริษัทโดยพนักงานอาวุโส แทนที่จะเผชิญหน้าและบอกความจริงให้ผู้อื่นรู้ พวกเขากลับเงียบ เลือกที่จะไม่บอกเพราะกลัวที่จะต้องเผชิญหน้ากับผู้ใหญ่
7) แข่งกันเป็นคนโปรดของลูก
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวังเป็นพิเศษสำหรับพ่อแม่ที่หย่าร้าง แต่ยังช่วยกันเลี้ยงลูกอยู่ เพราะอาจเผลอตามใจลูกมากเกินไปเพียงเพราะอยากรู้สึก “สำคัญ” หรืออยากให้ลูก “รักมากกว่า” อีกฝ่าย
8) ใช้ความรู้สึกผิดเป็นเครื่องมือ
1
พ่อแม่หลายคนใช้การทำให้ลูกรู้สึกผิด (เช่น การบอกว่าเราทำงานหนักและเหน็ดเหนื่อยแค่ไหนเพื่อเลี้ยงลูกให้เติบโตมา) เพื่อให้ลูกทำสิ่งที่ตัวเองต้องการ วิธีนี้นอกจากจะทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีแล้ว พวกเขาอาจจดจำและนำการทำให้ผู้อื่นรู้สึกผิดไปใช้ต่อในอนาคตได้
9) มอบความรับผิดชอบเกินอายุ
พ่อแม่ที่ไม่ค่อยมีความรับผิดชอบมักจะให้ลูกๆ รับผิดชอบเรื่องสำคัญตั้งแต่ยังเล็ก การที่พ่อแม่ซึ่งควรเป็นที่พึ่ง กลับกลายมาพึ่งลูกเสียเองเช่นนี้ สร้างความกดดันและกังวลให้แก่ลูก ซึ่งความรู้สึกนี้อาจติดตัวไปจนโต
10) ไม่ว่างใส่ใจลูกอย่างจริงจัง
พ่อแม่ที่ยุ่งหรือต้องเผชิญปัญหามากมายของตัวเอง มักจะไม่มีเวลาใส่ใจและตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ให้ลูก และอาจใช้เงินแก้ปัญหา เพราะคิดว่าแค่ให้ของขวัญก็พอ ตัวเราไม่ต้องไปอยู่ตรงนั้นก็ได้ แต่จริงๆ ไม่ใช่เช่นนั้น
เพราะความเหินห่างทางอารมณ์นี้ส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กอย่างมาก มีแนวโน้มว่ามันจะทำให้พวกเขาเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ในอนาคต
แม้ 10 ข้อนี้จะไม่ใช่การกระทำร้ายแรงอย่างการทอดทิ้งหรือการทำร้ายลูก แต่เราก็เห็นแล้วว่าบางเรื่องก็สามารถเป็นแผลใจให้เด็กตั้งแต่เล็กไปจนโต ดังนั้นเราจึงต้องระวังมากๆ ในการรักษาความพอดี ไม่ทำบางเรื่องน้อยเกินไปและมากเกินไปอย่างใน 10 ข้อที่กล่าวมา
เชื่อเถอะว่าการใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ ตั้งแต่วันนี้มันคุ้มค่า ถ้าจะได้เห็นเด็กน้อยในวันนั้น เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต
รับฟังในรูปแบบพอดแคสต์ได้ที่: https://bit.ly/3e6lSJM
อ้างอิง
- 10 toxic things parents do that make their children less functional in adulthood : Amy Morin, Insider – https://bit.ly/3KvNfsK
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- 'สุขสันต์' วันหยุดจริงหรือ? ทำไมเราถึงไม่มีความสุขเวลากลับบ้าน : https://bit.ly/3pXHqLe
- บาดแผลที่ไม่มีวันหาย จากความรุนแรงในครอบครัวและทัศนคติแบบเดิมๆ (Family and domestic violence) https://bit.ly/3BsqGAU
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society
โฆษณา