5 ก.ย. 2022 เวลา 21:09 • การศึกษา
เพจ The Potential.
“...เราไม่เปรียบเทียบว่า ใครเก่งกว่าใคร แต่เรามองว่า เขางอกงามยังไงต่างหาก นั่นคือสิ่งสำคัญ และไม่สามารถทำให้ทุกคนเท่ากันได้ด้วย แต่ทุกคนมีสิทธิงอกงามตามศักยภาพของเขา”
ครูพรรณทิพย์พา ทองมี หรือครูต้อย #โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ พูดในเวทีเยี่ยมชมโรงเรียนตัวอย่างออนไลน์ ครั้งที่ 3 โดย โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ กับหัวข้อ #การนำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปใช้ในโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL-Problem based learning และ PLC – Professional Learning Community ถึงประเด็นคำถามที่ว่า ถ้าไม่มีการให้คะแนน แล้วเด็กมีผลการเรียนอย่างไร? โดยเริ่มจากอธิบายคำว่า ‘ไม่ได้ให้คะแนน’ ของครูลำปลายมาศพัฒนา
“ยกตัวอย่างเช่น วิชาคณิตศาสตร์ 10 ข้อ ให้เด็กทำการบ้านแล้วกลับมาส่ง ปรากฏว่าเด็กถูกสองข้อ จะไม่สองส่วนสิบ ไม่มีแปดส่วนสิบ ไม่มีหนึ่งดาว สองดาว สามดาว กับเด็กอนุบาล แต่ครูที่นี่จะใช้วิธี empower ชื่นชมในความตั้งใจ ในความพยายามแม้ทำไม่ถูกก็ตามแต่เด็กตั้งใจ เด็กอนุบาลวาดภาพคน กล้ามเนื้อมือยังไม่แข็งแรงก็จะเป็นเส้นที่สะเปะสะปะไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่เด็กเขาตั้งใจในตอนนั้น ครูก็จะชมเขาว่า เยี่ยมมากค่ะลูก”
สิ่งที่ครูต้องทำการบ้านหนัก คือ ‘ความตั้งใจ’ กับ ‘ความเข้าใจ’ คนละเรื่องกัน ครูต้องแยกให้ออก จากตัวอย่างครูเองก็เริ่มเห็นแล้วว่า วิชาคณิตศาสตร์โจทย์สิบข้อเด็กทำถูกเพียงสองข้อ แสดงว่าเด็กคนนี้ยังไม่เข้าใจเนื้อหาเรื่องนี้ของวิชาคณิตศาสตร์ ครูจึงมีหน้าที่หาทางช่วย
ข้อควรระวังคือ “เราอย่าทำลายความตั้งใจของเด็ก ไม่อย่างนั้นเขาจะรู้สึกว่า ความพยายามนั้นไร้ค่า ครูมีหน้าที่ดันเขาต่อ เอาอีกลูก อีกนิดเดียว เรามาคุยกันอีกรอบนึง มาทวนกันอีกรอบนึง ตรงไหนนะ ตรงนี้หนูคิดว่ายังไง นี่คือหน้าที่ครูที่ต้องทำ”
ในส่วนของเกรดหรือคะแนนนั้น ที่ลำปลายมาศพัฒนาไม่ใช้การสอบ แต่ใช้วิธีประเมินผู้เรียนตามสภาพจริง ด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย ผ่านภาระงาน ชิ้นงาน
“ส่วนการประเมินฐานสมรรถนะก็ไม่มีคะแนน แต่จะทำให้เห็นว่าพฤติกรรมบ่งชี้ของผู้เรียนเป็นยังไง ที่ทำให้เห็นว่าเขาผ่านสมรรถนะแต่ละตัว แล้วมีชิ้นงาน ภาระงาน ตัวไหนที่เป็นตัวอ้างอิงได้ว่า อ๋อ…พฤติกรรมนี้มันดูจากชิ้นงานเหล่านี้ได้”
เรื่อง นฤมล ทับปาน
The Potential.
โฆษณา