6 ก.ย. 2022 เวลา 03:49 • สุขภาพ
อาการก่อนมีประจำเดือน (PMS)
PMS (Premenstrual Syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือนประมาณ 7–10 วัน สาเหตุหนึ่งก็คือ ร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น ซึ่งทำให้เกิดอาการทั้งทางร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม โดยอาการมักดีขึ้นภายใน 4 วันหลังจากเริ่มมีประจำเดือน
ผู้ที่มีอาการ PMS แต่ละคนอาจพบอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกัน และอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนอาจไม่ซ้ำกัน อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น อ่อนเพลีย ท้องอืด ปวดเกร็งท้อง แขนขาบวม คัดตึงเต้านม น้ำหนักขึ้น เป็นสิว ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดหลัง ท้องผูก หรือท้องเสีย
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ รวมถึงพฤติกรรม เช่น เครียด วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง หิวบ่อยหรือเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อารมณ์ทางเพศลดลง หรือมีพฤติกรรมเก็บตัว เป็นต้น
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง เมื่อระดับฮอร์โมนเซโรโทนินลดต่ำลง อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และมีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการก่อนมีประจำเดือนได้
รวมทั้งพฤติกรรมเสี่ยงบางอย่าง เช่น การใช้สารเสพติด การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารรสจัดและอาหารแปรรูป ความเครียด การไม่ออกกำลังกาย และการพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการ PMS รุนแรงขึ้น
ทั้งนี้อาการของ PMS อาจคล้ายกับอาการของโรคอื่น ๆ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน ภาวะโลหิตจาง ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล แพทย์จึงอาจตรวจร่างกายด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การตรวจการตั้งครรภ์ และการตรวจภายใน เพื่อตัดสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องออก
โดยทั่วไปการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยอาจช่วยบรรเทาอาการ PMS ได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความรุนแรงของอาการไม่มากนัก การดูแลตนเองด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน โปรตีน แคลเซียมและใยอาหาร เช่น ธัญพืชขัดสีน้อย ผัก ผลไม้ นม และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง เพราะจะทำให้ระดับของเอสโตรเจนต่ำลงได้ โดยแบ่งรับประทานเป็นมื้อย่อย ๆ ในแต่ละวัน เพื่อลดอาการท้องอืด ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ถ้าสามารถงดน้ำอัดลม ชา กาแฟ ช็อกโกแลต โกโก้และแอลกอฮอล์ได้ก็จะยิ่งดี
หมั่นออกกำลังกายโดยการเดินเร็ว ขี่จักรยาน หรือว่ายน้ำ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยล้าและอาการซึมเศร้าได้
นอกจากนี้ การพักผ่อนให้เพียงพอ และจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม เช่น การทำสมาธิ การเล่นโยคะ การนวดผ่อนคลาย และการอ่านหนังสือ อาจช่วยให้อาการ PMS ดีขึ้นได้
ทั้งนี้ ควรจดบันทึกระยะเวลาและอาการ PMS ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน เพื่อเตรียมการรับมือกับอาการที่จะเกิดขึ้นด้วย
หากใช้วิธีดูแลตนเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรืออาการเหล่านี้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์อาจสั่งจ่ายยาและรักษาด้วยวิธีการอื่น เนื่องจาก PMS อาจพัฒนาไปสู่ PMDD ซึ่งเป็นอาการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาวะจิตใจและอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล โกรธ และอารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง
ยาที่ใช้อาจเป็นยากลุ่ม NSAIDs เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแอสไพริน ซึ่งช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ อาการปวดเกร็งท้อง หรืออาการเจ็บเต้านม
กลุ่มยาต้านเศร้า อย่าง SSRI เช่น ยาฟลูอ็อกเซทีน ยาเซอร์ทราลีน เพื่อรักษาอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลที่เกิดจาก PMS หรือรักษาอาการขั้นรุนแรงอย่าง PMDD ซึ่งยานี้มักต้องรับประทานติดต่อกันจนกว่าอาการจะดีขึ้น แต่ผู้ป่วยบางรายอาจรับประทานเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอาการทางอารมณ์ก่อนการเริ่มมีประจำเดือนประมาณ 2 สัปดาห์
หรือบางกรณีอาจใช้ยาคุมกำเนิด ซึ่งจะช่วยยับยั้งการตกไข่ และช่วยบรรเทาอาการปวดเกร็งท้อง ปวดศีรษะ หรือปวดตามร่างกาย
นอกจากนี้ อาหารเสริมบางชนิด เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม วิตามินบี 6 วิตามินอี และน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส ก็อาจช่วยบรรเทาอาการ PMS ได้
ถ้าคุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดกดถูกใจ กดดาว หรือแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นกำลังใจให้กับเรา
ขอบคุณค่ะ
โฆษณา