6 ก.ย. 2022 เวลา 05:26 • สิ่งแวดล้อม
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์บารอกะห์ ก้าวสำคัญของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ภาพจาก - orientxxi.
นับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2000 ,UAE ได้ริเริ่มแนวทางสำหรับการพัฒนาประเทศที่เริ่มออกห่างจากการพึ่งพาจากน้ำมัน กล่าวคือ UAE ได้ตระหนักแล้วว่า รายได้และการพึ่งพาประเทศจากน้ำมัน ไม่ได้เป็นสิ่งค้ำฟ้า สักวันมันต้องหมด ทำให้ในที่สุด UAE จึงจำเป็นต้องหาหนทางที่จะมาแทนที่ยุคปิโตรเลียม และ นำประเทศเข้าสู่อนาคตในยุคที่ปราศจากน้ำมันให้ได้
UAE ลงทุนในด้านการศึกษาในการพัฒนาเยาวชนของตนให้มีความรู้ด้านวิศวกรรมมากขึ้น เราได้เห็นแล้วว่า ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ประเทศ UAE ประกาศเข้าสู่การแข่งขันด้านอวกาศ พวกเขาริเริ่มโครงการอวกาศและนักบินอวกาศของตนเอง ไม่ใช่เพื่อการอวดแสดง แต่เพื่อค้นหาทรัพยาการจากนอกโลก รวมถึงขยายนิคมมนุษย์ไปสู่อวกาศ
แต่อีกโครงการที่ไม่แพ้กับโครงการอวกาศของUAE คือ โครงการพลังงานนิวเคลียร์ของ UAE ซึ่งถือได้ว่า เป็นก้าวสำคัญของประเทศที่จะหันไปใช้พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งถือว่าอาจเป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมด ใช้แทนพลังงานจากปิโตรเลียม ในที่สุดUAE ได้คลอดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกในคาบสมุทรอาหรับ
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์บารอกะห์(Barakah nuclear power plant) คือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของ UAE และ แห่งแรกของกลุ่มประเทศในคาบสมุทรอาหรับ โครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บารอกะห์ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2009 โดยบริษัท Emirates Nuclear Energy Corporation ของ UAE ร่วมกับบริษัท Korea Electric Power Corporation ของเกาหลีใต้ สำหรับการออกแบบและจัดตั้งสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมด 4 เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้
พิธีวางศิลาฤกษ์ของโรงงานได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2011 โดยมีประธานาธิบดีอี มย็อง-บัก ของเกาหลีใต้เข้าร่วม และ ตั้งแต่ปี 2012 ก็เริ่มมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเตาปฏิกรณ์หมายเลข1 สร้างเสร็จในปี 2017 และ เริ่มต้นทำงานในวันที่ 6 เมษายน ปี 2021 ตามมาด้วยเตาปฏิกรณ์หมายเลข2 ในวันที่ 24 มีนาคม ปี 2022 ขณะที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข3มีกำหนดจะเปิดภายในสิ้นปี 2022 และ เตาปฏิกรณ์หมายเลข4 มีกำหนดจะเปิดภายในปี 2023
เทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บารอกะห์ เป็นเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ โดยรุ่นเตาปฏิกรณ์ที่ถูกนำมาใช้ คือ เตาปฏิกรณ์รุ่น APR-1400 ซึ่งถือเป็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ยุคที่สาม(Generation III reactor) ซึ่งมีเพียงเกาหลีใต้และกาตาร์เท่านั้นที่ใช้เตาปฏิกรณ์รุ่นดังกล่าว
โดยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่น APR-1400 ที่โรงไฟฟ้าบารอกะห์ใช้ถือเป็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำความดันสูง (Pressurized Water Reactor : PWR)ซึ่งรูปแบบการทำงานที่ต้มน้ำภายในถังขนาดใหญ่ ซึ่งอัดความดันไว้เพื่อไม่ให้น้ำเดือดกลายเป็นไอ โดยจะนำน้ำส่วนนี้ไปถ่ายเทความร้อนให้แก่น้ำหล่อเย็นอีกระบบหนึ่งที่ไม่ได้ควบคุมความดัน เพื่อผลิตไอน้ำออกมา เป็นการป้องกันไม่ให้น้ำในถังซึ่งมีสารรังสีเจือปนอยู่แพร่กระจายไปยังอุปกรณ์ส่วนอื่นๆ ตลอดจนป้องกันการรั่วของสารกัมมันตรังสีสู่สิ่งแวดล้อม
อย่างเดียวที่เป็นความท้าทายของเตาปฏิกรณ์แบบน้ำความดันสูง คือ ความยุ่งยากในที่เดินเครื่องโรงไฟฟ้า
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์บารอกะห์ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวมทั้งหมด 24.4พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หากสามารถเปิดเตาปฏิกรณ์ครบทั้ง4เครื่อง จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 5380 MW ซึ่งจะคิดเป็น 25% ของไฟฟ้าใน UAE
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์บารอกะห์ อยู่ภายใต้การดูแลและควบคุมโดย Emirates Nuclear Energy Corporation หรือ ENEC ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านพลังงานนิวเคลียร์ของ UAE ,ในปัจจุบัน ENECได้เริ่มต้นโครงการ‘Energy Pioneers’เพื่อรับสมัครและฝึกอบรมพลเมืองของ UAE และเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เข้าร่วมทำงานกับ ENEC และมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของประเทศ โครงการนี้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแรงงานในท้องถิ่นที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ใหม่ของUAE
ENEC ยังเสนอโครงการทุนการศึกษาที่หลากหลาย การฝึกอบรมและโอกาสในการทำงานสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาเคมี นิวเคลียร์ เครื่องกล หรือวิศวกรรมไฟฟ้าในมหาวิทยาลัยภายใน UAE และ สหรัฐอเมริกา รวมถึง ปริญญาโทสาขาวิศวกรรมนิวเคลียร์เปิดสอนโดยมหาวิทยาลัยคาลิฟาในอาบูดาบี และสำหรับอนุปริญญาขั้นสูงด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ Abu Dhabi Polytechnic.
แน่นอนว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของ UAE และ มันจะเป็นการพลิกโฉมประเทศที่เคยพึ่งพาแต่น้ำมัน กลายมาเป็นประเทศที่หันมาพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกในคาบสมุทรอาหรับ
โฆษณา