6 ก.ย. 2022 เวลา 10:51 • สุขภาพ
การเตรียมเอกสารทำบัตรคนพิการ หนึ่งในสวัสดิการรัฐที่ถ้าคุณหมอไม่แนะนำเราก็จะไม่ทราบ
ก่อนอื่นหยกต้องขอขอบคุณโรงพยาบาลเลิดสินที่คุณหมอแนะนำให้ผู้สูงอายุในบ้านไปใช้สิทธินี้ เพราะคนทั่วไปน่าจะไม่ทราบและมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงอย่าง "กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (DEP: Department of Empowerment of Persons with Disabilities)"
เราอาจไม่ได้พิการมาแต่กำเนิด แต่ความชราก็ทำให้สมรรถภาพในการทำงานของร่างกายลดลงได้ เช่น การมองเห็นเลือนราง การได้ยินลดลงทำให้หูตึง หูหนวก การเคลื่อนไหวอ่อนแรง สภาวะทางจิตหรือพฤติกรรมแย่ลง ซึ่งแพทย์จะออก "เอกสารรับรองความพิการ" ตามดุลยพินิจจากการวินิจฉัยของแพทย์ให้
  • 4 ขั้นตอนหลักในการทำบัตรคนพิการ
ขั้นที่ 1. ไปโรงพยาบาล
ขั้นที่ 2. กลับบ้านเตรียมเอกสาร ไปร้านถ่ายรูป รูปสี 1 นิ้ว 2 รูป(อายุไม่เกิน 6 เดือน)
ขั้นที่ 3. ไปหน่วยงานทำบัตรคนพิการ
ขั้นที่ 4. ไปเขตหรืออำเภอตามทะเบียนบ้าน
(5.Optional) อาจไปที่โรงพยาบาลอีกรอบเพื่อเปลี่ยนสิทธ์บัตรทอง
ขั้นที่ 1. ไปโรงพยาบาล - เพื่อรับเอกสารรับรองความพิการจากแพทย์
เคสของคนในบ้านหยกก็คือไปตรวจสุขภาพโรงพยาบาลค่ะ แล้วคุณหมอสงสัย เลยพาตรวจทดสอบการได้ยินแล้วก็เจอว่าค่าการได้ยินมันไม่เท่าเดิม (ภาวะหูตึง2ข้าง)
ลิงก์ดาวน์โหลดเอกสารคนพิการจากกรม: https://bit.ly/3REJ28F
ข้อมูลจาก https://dep.go.th/
ข้อควรระวังก่อนดำเนินการต่อ:
- เจ้าหน้าที่ทำบัตรคนพิการถามหยกว่าชื่อหมอสะกดยังไง? ลายมือหมออาเนอะ~
- หมอต้องระบุค่าให้ด้วย เช่น หูตึงซ้ายได้ยินกี่เดซิเบล ขวาได้ยินกี่เดซิเบล
(เพราะสองขั้นตอนนี้ทำให้หยกต้องกลับไปแผนกหู คอ จมูกใหม่ และพยาบาลช่วยปั๊มตัวสะกดชื่อหมอแบบชัดๆมาให้ +ระบุค่าเสียงที่ได้ยินค่ะ)
- เอกสารแผ่นนี้มีอายุ 60 วัน รีบๆดำเนินการทำบัตรให้เสร็จภายในระยะเวลา
ขั้นที่ 2. กลับบ้านไปเตรียมเอกสาร
2.1 เจ้าตัว: ไปถ่ายรูปสี 1 นิ้ว 2 รูป
2.2 ผู้ดูแล: พ่อแม่/ ลูก/ สามีภรรยา/ พี่น้อง/ ปู่ย่าตายาย/ ลุงป้าน้าอา/ อื่นๆ
ง่ายที่สุดคือเป็นคนในครอบครัวเดียวกันและอยู่ทะเบียนบ้านเดียวกัน
ข้อมูลจาก https://dep.go.th/
💛 เอกสารของผู้พิการ (ต้องมี)
1. สำเนาบัตรประชาชน 1 ใบ (รับรองสำเนาหรือพิมพ์ลายนิ้วมือ)
2. สำเนาทะเบียนบ้าน 1 ใบ (รับรองสำเนาหรือพิมพ์ลายนิ้วมือ)
3. เอกสารรับรองความพิการ ฉบับจริง จากรพ.ที่ประกาศ
4. รูปสี 1 นิ้ว 2 รูป
เอกสารของผู้พิการ (เสริม)
5. สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)
6. หนังสือมอบอำนาจกรณีที่เจ้าตัวไม่ได้ไปเอง แต่ให้ผู้ดูแลไปดำเนินการให้
💛 เอกสารของผู้ดูแล กรณีทะเบียนบ้านเดียวกัน (หากคนละทะเบียนบ้านอ่านเพิ่มเติมได้ในใบสีชมพูค่ะ)
1. สำเนาบัตรประชาชน 1 ใบ (รับรองสำเนา)
2. สำเนาทะเบียนบ้าน 1 ใบ(รับรองสำเนา)
3. สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)
💚 เอกสารลงทะเบียนรับเบี้ยคนพิการ (รอไปทำที่เขตในขั้นที่ 4)
1. สำเนาบัตรประชาชนผู้พิการ 1 ใบ (รับรองสำเนา)
2. สำเนาทะเบียนบ้านผู้พิการ 1 ใบ (รับรองสำเนา)
3. สำเนาบัตรผู้พิการ 1 ใบ (รับรองสำเนา)
4. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร 1 ใบ
💚 เอกสารเอกสารลงทะเบียนรับเบี้ยคนพิการ....พกไปเผื่อนะคะ
1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ดูแล 1 ใบ (รับรองสำเนา)
2. สำเนาทะเบียนบ้านผู้ดูแล 1 ใบ (รับรองสำเนา)
ขั้นที่ 3. ไปหน่วยงานทำบัตรคนพิการ
3.1 ที่โรงพยาบาลที่คุณไปใช้บริการอาจมีหน่วยงานนี้อยู่แล้ว - สถานพยาบาลบางที่มีเจ้าหน้าที่จากกรมมาประจำการประจำสัปดาห์ที่ศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ (เจ้าหน้าที่รพ.ไม่ได้ทราบทุกคนนะคะว่ารพ.ที่ตัวเองทำงานมีแผนกนี้หรือไม่ ลองตรวจสอบดูก่อน อย่างในแผ่นพับก็ไม่ได้มีชื่อรพ.นี้ แต่เผอิญว่าเจ้าหน้าที่แผนกหู คอ จมูกเขาทราบ)
ของรพ.เลิดสินอยู่ชั้น 5 เจ้าหน้าที่กรมเข้าทุกวันพุธ (ข้อมูลปี2565)
3.2 ถ้าไม่มีอย่าเพิ่งตกใจ เขามีหลายที่ค่ะ สถานที่หลักอยู่ที่ราชเทวี
ที่อยู่ 255 ถ.ราชเทวี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400 โทร 02-354-3388 (ซึ่งโทรติดหรือไม่ ทุกคนทราบกันนะคะว่าขึ้นอยู่กับดวงในการติดต่อหน่วยราชการของท่านด้วย)
ข้อมูลจาก https://dep.go.th/
ก็คือหยกหิ้วเอกสารตามนี้ไปและได้บัตรวันนั้นเลย
💛 เอกสาร (ต้องมี)
1. สำเนาบัตรประชาชนผู้พิการ 1 ใบ (รับรองสำเนาหรือพิมพ์ลายนิ้วมือ)
2. สำเนาทะเบียนบ้านผู้พิการ 1 ใบ (รับรองสำเนาหรือพิมพ์ลายนิ้วมือ)
3. เอกสารรับรองความพิการ ฉบับจริง
4. รูปสี 1 นิ้ว 2 รูปของผู้พิการ
5. สำเนาบัตรประชาชนผู้ดูแล 1 ใบ (รับรองสำเนา)
6. สำเนาทะเบียนบ้านผู้ดูแล 1 ใบ(รับรองสำเนา)
💛 การที่เจ้าตัว (ผู้พิการ) ไปเซ็นเอกสารเองถ้าทำได้ จะทำให้ Process เร็วขึ้นมากๆค่ะ
เอกสารที่กรอกหน้างานมีแค่ "แบบคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ" หลักๆคือกรอกข้อมูลผู้พิการ + ข้อมูลผู้ดูแลค่ะ
ข้อมูลจาก https://dep.go.th/
แล้วเขาพรินต์บัตรให้เลย หน้าตาบัตรออกมาเหมือนบัตรประชาชนมาก!!! เท่าที่อ่านปกติบัตรอายุ 8 ปีค่ะ แต่เนื่องจากเป็นผู้สูงอายุเลยได้บัตรตลอดชีพมา ป.ล. ผู้ดูแลไม่ได้บัตรนะคะ แต่มีชื่ออยู่บนบัตรคนพิการ
เจ้าหน้าที่ทำบัตรถามอยู่ค่ะว่าจะเปลี่ยนสิทธิ์เป็นบัตรทองคนพิการ (ท.74) ไหม เพราะจะได้เดินไปแผนก "หน่วยสังคมสงเคราะห์" ของรพ.รัฐต่อ แต่สิทธิ์ปัจจุบันที่ใช้อยู่มันโอเคอยู่แล้ว หยกเลยไม่ได้ทำขั้นตอนนี้ก็เลยยังเอามาเล่าไม่ได้ค่ะ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สปสช. โทร 1330 กด 0 LINE OA: @ucbkk
ขั้นที่ 4. ไปเขตหรืออำเภอตามทะเบียนบ้าน
บอกเขาว่า "มายื่นเรื่องรับเบี้ยคนพิการที่ฝ่ายพัฒนาชุมชน"
💚 เอกสารลงทะเบียนรับเบี้ยคนพิการ
1. สำเนาบัตรประชาชนผู้พิการ 1 ใบ (รับรองสำเนา)
2. สำเนาทะเบียนบ้านผู้พิการ 1 ใบ (รับรองสำเนา)
3. สำเนาบัตรผู้พิการ 1 ใบ (รับรองสำเนา)
4. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร 1 ใบ (เจ้าหน้าที่ทำบัตรบอกว่าชื่อผู้พิการโดยตรงหรือผู้ดูแลก็ได้ แต่หยกไม่อยากเสี่ยงเลยใช้ชื่อผู้พิการโดยตรงเผื่อจะง่ายกว่า)
💚 เหมือนเดิมให้เจ้าตัว (ผู้พิการ) ไปเซ็นเอกสารเองถ้าทำได้ จะทำให้ Process เร็วขึ้นมากๆค่ะ
[เอกสารเอกสารลงทะเบียนรับเบี้ยคนพิการ....อาจจะไม่ได้ใช้แต่พกไปเผื่อนะคะ
1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ดูแล 1 ใบ (รับรองสำเนา)
2. สำเนาทะเบียนบ้านผู้ดูแล 1 ใบ (รับรองสำเนา)]
เจ้าหน้าที่เขตใช้แค่ 4 ใบบน (สำเนาบัตรปชช., สำเนาทะเบียนบ้าน, สำเนาบัตรผู้พิการ, สำเนาสมุดบัญชี) ให้กรอกเอกสารนิดหน่อย แล้วเขาจะให้ไปรับเรื่องมาค่ะ
ใบรับจากเขต จะได้รับเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาททุกวันที่ 10 เริ่มเดือนถัดไป
จบแล้วค่ะ สรุปหยกไป2 ที่โรงพยาบาล แล้วไปเขต... แต่บางพื้นที่ถ้าไม่ได้มีศูนย์ทำบัตรคนพิการเบ็ดเสร็จอยู่ในรพ.ก็อาจจะต้องไป 3 ที่นะคะ
(นอกเรื่อง1) จากประสบการณ์ใบรับแต่ละเขตจะไม่เหมือนกันมากๆ พูดถึงหลายๆกรณีที่หยกเคยยื่นนะคะ บางที่ก็ทำใบให้เรียบร้อยเป็นระบบมาก บางที่เจ้าหน้าที่จะ Copy สำเนาเอกสารที่เราเอาไปยื่นแล้วปั๊มชื่อเขาพร้อมเซ็นชื่อลงวันที่ให้เราเอากลับบ้าน 1 แผ่น บางที่ก็ไม่ให้อะไรเลยซึ่งดูอันตรายมากเพราะไม่มีหลักฐานจากฝั่งคนยื่นเรื่องเลยว่าเราเคยมายื่นแล้วจริงๆนะ ง่ายสุดที่หยกเคยทำคือซีร็อกแบบยื่นไปหลายใบและให้เจ้าหน้าที่เซ็นรับพร้อมลงวันที่ให้หน่อยว่าเคยมายื่นแล้วเพื่อความสบายใจของเอกสารบริษัทค่ะ
(นอกเรื่อง2) หยกประทับใจการทำงานของพนักงานเขตบางรักมากจนอดเขียนชมไม่ได้ว่าพัฒนากว่า 2-3 ปีที่แล้วมาก มาก มาก ตอนนั้นไปถึงเขตเกือบเที่ยงค่ะ แล้วพี่เจ้าหน้าที่ตรงที่จอดรถเขาก็ถามก่อนว่ามาแผนกไหน (นานไหม ให้จอดขวางไปก่อนได้ไหมเพราะที่จอดเต็ม ประมาณนั้น) พอบอกมาทำเบี้ยคนพิการ แล้วเจ้าหน้าที่คนเดิมตรงที่จอดรถเขาเห็นว่าคนที่ทำแผนกเบี้ยคนพิการเขากำลังเดินออกนอกประตูไปพักเที่ยง เขาก็วิ่งร้อยเมตรเลย ไปเรียกว่าอย่าเพิ่งไปกลับมาก่อน!!!
คือตอนนั้นกังวลมากว่าจะโดนอะไรไหมนะ ปรากฏเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องเบี้ยคนพิการกลับมาทำงานให้แบบเต็มที่ ให้คำแนะนำดี ไม่ชักสีหน้าใดๆ และขอบคุณที่เราเตรียมเอกสารไปครบให้เขาทำงานง่ายขึ้น ซึ่งเอาตรงๆไม่ใช่ภาพที่เห็นบ่อยเวลาไปหน่วยงานราชการ เป็นเรื่องน่าประทับใจมากค่ะ
ข้อดีหรือสิทธิประโยชน์
1. เบี้ยพิการ 800 บาทต่อเดือน (อันนี้คือ Extra เสริมเพิ่มมาจากเบี้ยคนชราอีกทีนะคะ)
2. "ฟรี" BTS, MRT, Airport Link(สาย City Line), เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก
3. "ลด 50%" การบินไทย (ผู้ดูแลลด 25%), รถขสมก., บขส., รถไฟ
4. การปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม เช่น ปรับห้องน้ำ ราวจับ รายละไม่เกิน 20,000 บาท
5. สิทธิทางการแพทย์ ท.74 เช่น ฟื้นฟูสมรรถภาพ การรักษาพยาบาล อุปกรณ์เครื่องมือช่วยคนพิการ
6. สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ดูแล ไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี (สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรมสรรพากร โทร 1161)
7. การช่วยเหลือทางกฎหมาย จัดหารทนายแก้ต่างให้คนพิการ
8. ฝึกอาชีพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด สถานบันพัฒนาฝีมือแรงงาน
ฯลฯ
ตัวอย่างอะไรที่นับว่าพิการ และอะไรที่ไม่ถือว่าพิการ?
ทางการเห็น
เข้าเกณฑ์ ✅ : ตาบอดทั้งสองข้าง, ไม่มีลูกตาทั้งสองข้าง, ตาขาวขุ่นทั้งสองข้าง, ตาเรือนรางทั้งสองข้าง
ไม่เข้าเกณฑ์ ❌: ตาบอดข้างเดียว, ตาเรือนรางข้างเดียว, สายตายาว, สายตาสั้น, ตาบอดสี, ตาเอียง, ตาเข
ทางการได้ยิน
เข้าเกณฑ์ ✅ : หูตึงทั้งสองข้าง, หูหนวกทั้งสองข้าง, พูดไม่ได้, พูดแล้วผู้อื่นฟังไม่เข้าใจ, ฟังคำพูดคนอื่นไม่เข้าใจ
ไม่เข้าเกณฑ์ ❌: หูตึงข้างเดียว, หูหนวกข้างเดียว
ทางการเคลื่อนไหว
เข้าเกณฑ์ ✅ : แขนขาอ่อนแรง, แขนขาขาดตั้งแต่ข้อมือข้อเท้า, คนแคระ, ข้อเข่าเสื่อมเดินเองไม่ได้, ปากแหว่งเพดานโหว่, ศีรษะผิดรูป, ไม่มีใบหู, ไม่มีรูหู คนเผือก, โรคเรื้อรังนอนติดเตียง
ไม่เข้าเกณฑ์ ❌: กล้ามเนื้อใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก, ข้อนิ้วมือขาด, นิ้วขาด, นิ้วอ่อนแรง
เป็นงานเอกสารที่ปกติไม่ได้เห็นบ่อย หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะคะ Enjoy Working ค่ะ
โฆษณา